บริหารเงินสดและกระแสเงินสดอย่างไรให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

ใน Ep นี้เป็นภาคต่อจากครั้งที่แล้วในหัวข้อ “บัญชีทำให้ตรง ลดความงงในการบริหาร” เดิมเราพูดถึงเรื่องพื้นฐานที่ผู้ประกอบการต้องรู้เรื่องแรก คือ เรื่อง “ผลประกอบการ” ซึ่งประกอบไปด้วย “รายได้” “ค่าใช้จ่าย” และ “กำไร” ว่าคืออะไรและสำคัญอย่างไร

ก่อนจะเริ่มเรื่องถัดไป เพื่อเป็นการทบทวน ผมขอสรุปอีกครั้งว่า 2 เรื่องที่ผู้ประกอบการต้องรู้มีอะไรกันบ้างครับ

2 เรื่องพื้นฐานที่ผู้ประกอบการต้องรู้

เรื่องที่ 1 ผลประกอบการ

เรื่องที่ 2 เงินสดและกระแสเงินสด

ตอนที่ 2 : บริหารเงินสดและกระแสเงินสดอย่างไรให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

“82% ของธุรกิจเจ๊งเพราะเรื่องเงิน!” นี้เป็นงานวิจัยที่ U.S. Bank เคยทำขึ้น โดยสาเหตุอาจมาจากการละเลยเรื่องเงิน หรือการบริหารเงินได้ไม่ดีพอ จากประสบการณ์ ผมพบว่าผู้ประกอบการหลายรายประเมินค่าการบริหารเงินต่ำเกินไป ชอบคิดว่าเรื่องเงินเป็นเรื่องง่าย เช่น “ขายของได้รับเงิน เอาเงินที่รับมาไปซื้อของมาขายต่อ แค่นั้นเอง” 

ถ้าในโลกแห่งความเป็นจริงเงินที่เราได้รับมาในแต่ละวันมันมากกว่าเงินสดจ่ายเสมอ ประโยคข้างบนคงเป็นเรื่องจริง สิ่งที่ตลกร้ายคือ ความจริงมันตรงกันข้าม มีหลายเหตุการณ์ที่เข้ามาทำให้เงินสดบางครั้งไม่เพียงพอต่อการจ่าย และที่สำคัญเคยเกิดขึ้นกับธุรกิจที่มีรายได้ และกำไรก็ดีมาแล้ว ทำไมจึงเป็นแบบนั้นได้ สาเหตุเบื้องหลังคืออะไร มาดูกันต่อครับ

ทำไมเงินสดมีปัญหา?

ท่านผู้อ่านเคยเจอสถานการณ์ที่ เราต้องขายของเป็นเงินเชื่อ แต่ซื้อของต้องจ่ายเป็นเงินสด หรือขายของเป็นเงินเชื่อ แต่เก็บหนี้ไม่ได้ หรือขายของได้ แต่รายจ่ายมีเยอะกว่า ไหมครับ? บางคนอาจแย้งว่าก็ขายของเป็นเงินสดสิ จะให้ติดหนี้ทำไม บางธุรกิจถ้าไม่ขายเชื่อ ลูกค้าก็จะหนีไปซื้อคนอื่นครับ จะรอแต่แต่ขายเป็นเงินสดธุรกิจคงไม่รอด บางคนแย้งว่าลูกหนี้ไม่จ่ายเงิน ก็ไปตามทวงสิ คุณเคยได้ยินคำว่า “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” ไหมครับ? แหละครับคำตอบ

วิธีวัดว่าเงินสดกำลังจะมีปัญหาหรือไม่?

แม้เราจะพยายามแก้ปัญหาต่างๆ ให้ดีขึ้น แต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงปัญหาได้ตลอด ผู้ประกอบการเองต้องตรวจสอบสถานะการเงินของตัวเองอยู่เสมอว่าคล่องตัวหรือมีความเสี่ยงอยู่หรือไม่ ตามวิธีดังนี้

1. เงินสดและเงินฝากธนาคาร

ทั้งเงินสดและเงินฝากธนาคารเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเอาไปใช้คำนวณสถานะทางการเงิน ดังนั้นเราต้องมีข้อมูลทางการเงินที่ถูกต้องและครบถ้วน

แต่ปัญหาที่เจอคือ กิจการหลายแห่งไม่ได้บันทึกบัญชีอย่างถูกต้อง ใช้เงินส่วนตัวปนกับเงินกิจการทำให้เงินสดไม่ตรงกับความเป็นจริง จึงยากมากที่จะคำนวณได้ว่าเงินสดเงินฝากธนาคารที่มีอยู่เพียงพอการใช้จ่ายในธุรกิจหรือไม่

ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำอันดันแรก คือ แยกเงินส่วนตัวกับเงินกิจการออกจากกัน บันทึกบัญชีให้ถูกต้อง ตรวจสอบเงินที่มีอยู่จริงกับเงินที่บันทึกบัญชี แล้วดูว่าตอนนี้มีเงินสดคงเหลือในกิจการกี่บาท เพียงพอจะจ่ายค่าใช้จ่ายในวันพรุ่งนี้ สัปดาห์หน้า หรือในเดือนหน้าหรือไม่

2. กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (OCF)

ใครที่ยังไม่รู้จักคำว่า “กระแสเงินสด” ให้เราจินตนาการว่า “เงินสด” คือเงินที่คงเหลือในกระเป๋า แต่ “กระแสเงินสด” คือ การไหลเข้าของเงินที่รับและการไหลออกของเงินที่จ่ายออกไป กระแสเงินสด จะบอกเราได้ว่าในช่วงเวลาหนึ่ง เช่น ใน 1 ปี เรารับเงินหรือจ่ายเงินมากกว่ากัน แต่จะไม่ได้บอกว่าเงินสดคงเหลือเท่าไหร่ คนที่เคยอ่านงบกระแสเงินสด จะพบว่างบกระแสเงินสดจะแสดงการไหลเวียนของเงินเป็น 3 ส่วน ดังนี้

  • กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน แสดงการไหลเวียนของเงินจากการทำธุรกิจ เช่น เงินเข้าจากการขาย/ให้บริการ และเงินจ่ายค่าสินค้า ค่าจ้าง เป็นต้น
  • กระแสเงินสดจากการลงทุน แสดงการไหลเวียนของเงินจากการลงทุนต่างๆ เช่น เงินจ่ายซื้อคอมพิวเตอร์ โต๊ะ เครื่องจักรมาใช้ในกิจการ และเงินรับจากการขายสินทรัพย์ดังกล่าว
  • กระแสเงินสดจากการจัดหาเงิน แสดงการไหลเวียนของเงินที่ใช้ในกิจการ เช่น การกู้ยืมเงิน หรือคืนเงินที่กู้มา เป็นต้น

แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ “กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน” เพราะการไหลเวียนของเงินสดจากการทำธุรกิจ ไม่รวมการลงทุนและจัดหาเงิน โดยถ้าเงินรับมากกว่าเงินจ่าย แบบนี้ดี แต่ถ้าเงินจ่ายมากกว่าเงินรับบ่อยๆ แสดงว่าเราเก็บเงินจากลูกหนี้หรือขายของไม่ค่อยได้ แต่รายจ่ายมีทุกวัน แบบนี้จะเสี่ยงมาก เพราะสุดท้ายธุรกิจหาเงินมาจ่ายไม่ทัน

3. กระแสเงินสดสุทธิ (Net Cash Flow)

แค่อ่านชื่อหัวข้อก็ยากแล้ว แต่จริงๆ “กระแสเงินสดสุทธิ” มันคือจับกระแสเงินสดทั้ง 3 ส่วนในงบกระแสเงินสดมารวม แล้วสรุปว่าในช่วงเวลาหนึ่ง เช่น ใน 1 ปี กิจการมีเงินสดรับหรือเงินจ่ายมากกว่ากัน ในเมื่อดู “กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน” แล้ว ทำไมยังต้องดู “กระแสเงินสดสุทธิ” อีก? เพราะมีบางกรณีที่ธุรกิจขายสินค้าดีมาก เก็บเงินได้ดี แต่ดันเอาเงินไปลงทุนมากกว่าเงินที่จากการดำเนินงาน จนธุรกิจสะดุด ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ว่า “ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่ยังเจ๊งอยู่ดี” สรุปเราต้องให้ความสำคัญกับ “กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน” แต่ก็อย่าละเลยดูภาพรวมของกระแสเงินสดผ่าน “กระแสเงินสดสุทธิ” ด้วยครับ

4. ระยะเวลาจนกว่าเงินจะหมด (Runway)

Runway พอแปลเป็นไทยนี้ดูแปลกมากเลยครับ การคำนวณนี้จะเหมาะกับกิจการที่รายจ่ายมากกว่ารายรับ และไม่รู้รายรับจะครอบคลุมรายจ่ายเมื่อไหร่ สิ่งที่เราต้องกังวลคือเงินจ่ายออกทุกวัน แต่เงินสดคงเหลือที่มีอยู่จะเพียงพอได้อีกกี่วันก่อนเงินจะหมด 

การคำนวณง่ายมากเลยครับ ตัวอย่าง เช่น เงินสดคงเหลือตอนนี้มี 100,000 บาท รายได้ต่อเดือน 20,000 บาท รายจ่ายต่อเดือน 30,000 บาท คุณจะเห็นว่ารายจ่ายมากว่ารายรับ 10,000 บาทต่อเดือน

Runway = เงินสดคงเหลือ / รายจ่ายส่วนเกิน

จากตัวอย่าง Runway = เงินสด 100,000 / รายจ่ายส่วนเกิน 10,000 = 10 แปลว่าถ้ารายจ่ายยังมากกว่ารายรับในอัตราเท่าเดิม เงินที่เหลืออยู่ใช้ได้แค่อีก 10 เดือนเท่านั้น ถ้าหาเงินจากที่อื่นมาหมุนไม่ได้ เท่ากับธุรกิจต้องปิด ดังนั้น สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้เลย คือ ลองดูเงินคงเหลือทั้งเงินสดและเงินฝาก และดูว่าแต่ละเดือนเฉลี่ยแล้วเราจ่ายมากกว่ารับกี่บาท ลองคำนวณดูครับ แต่ผมเชื่อว่าธุรกิจของผู้อ่านคงมีเงินเข้ามากกว่าเงินจ่ายอยู่แล้วล่ะครับ

ทำไมการบริหารเงินสดและกระแสเงินสดถึงสำคัญ

การบริหารเงินสด เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ที่ยังไม่เกราะป้องกันทางการเงินที่ไม่แข็งแรง ทั้งในเรื่องความเข้าใจในการบริหารเงินสด รวมถึงการเข้าแหล่งเงินทุนได้ยากกว่าบริษัทใหญ่ๆ ดังนั้นควรเข้าใจในการบริหารเงินสด และการติดตามจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ถ้าในสถานะที่เงินคล่องก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเงินเริ่มฝืด แล้วเรารู้ตัวทันว่ากำลังจะมีปัญหา เราจะหาทางออกได้เร็วขึ้น เช่น เตรียมหาแหล่งเงินทุนล่วงหน้า บริหารจัดการค่าใช้จ่าย ซึ่งคงจะเป็นเรื่องเลวร้ายมากๆ ถ้าไปรู้ตัวอีกทีตอนเงินหมดแล้วครับ และแม้กิจการจะทำกำไรได้มากมายแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีเงินสดมาหมุนเวียนเพื่อซื้อสินค้าหรือจ่ายเจ้าหนี้ก็จะทำให้กิจการขาดสภาพคล่อง หรือร้ายแรงที่สุดอาจโดนเจ้าหนี้ฟ้องร้องและปิดกิจการได้เลยครับ

สำหรับ Ep ถัดไป ผมจะพาทุกท่านไปค้นหาคำตอบว่า เมื่อเรารู้แล้วว่ากิจการกำลังจะมีปัญหาด้านเงินสด แล้วปัญหาหาในอยู่ในส่วนไหนของกิจการ เราจะพบคำตอบนี้ได้จากสิ่งที่เรียกว่า วงจรเงินสด หรือ Cash Cycle 

โปรแกรมบัญชีออนไลน์ PEAK ช่วยผู้ประกอบการจัดการบัญชีอย่างเป็นระบบ รองรับการเติบโต ช่วยให้ธุรกิจก้าวไปสู่ความสำเร็จ
ทดลองใช้งานโปรแกรมบัญชี PEAK ฟรี! 30 วัน มูลค่า 1,200 บาท
คลิก https://peakaccount.com (ไม่มีค่าใช้จ่าย)
PEAK Call Center : 1485
LINE : @systemseedwebs-com
สอบถามเพิ่มเติม คลิก https://m.me/peakengine