ผู้ประกอบการหลายท่านอาจเข้าใจผิดคิดว่า รายจ่ายที่บันทึกไว้ในระบบบัญชี ล้วนสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ทั้งหมด แต่ความจริงแล้ว “รายจ่ายทางบัญชี” กับ “รายจ่ายทางภาษี” นั้นมีความแตกต่างกัน
“ขาดทุนแต่ยังเสียภาษี” หรือ “กำไรน้อยแต่เสียภาษีเยอะ” เป็นประโยคที่ขัดแย้งกับความรู้สึกของผู้ประกอบการหลายคน นั่นก็เพราะรายได้ ค่าใช้จ่าย และกำไรทางบัญชี ไม่ได้มีความหมายเหมือนทางภาษีครับ
ความแตกต่างระหว่างรายจ่ายทางบัญชีและรายจ่ายทางภาษี
รายจ่ายทางบัญชี หมายถึง ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่กิจการเกิดขึ้นในระหว่างรอบบัญชี รายจ่ายเหล่านี้ถูกบันทึกลงในงบการเงิน เพื่อสะท้อนถึงสภาพคล่องของกิจการ รวมถึงต้นทุนการดำเนินงาน เช่น ค่าเช่า ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าแรงงาน เป็นต้น รายจ่ายทางบัญชีมีความสำคัญเนื่องจากจะส่งผลต่อกำไรสุทธิของกิจการ
รายจ่ายทางภาษี หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่กฎหมายภาษียอมรับให้หักออกจากรายได้รวมของกิจการได้ก่อนที่จะคำนวณภาษี รายจ่ายเหล่านี้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด เช่น ค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจ ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา หรือค่าใช้จ่ายในการทำการตลาด เป็นต้น
ทำไม“กำไรทางบัญชี” ไม่เท่ากับ “กำไรทางภาษี”
ยกตัวอย่าง เช่น กิจการมีรายได้ขายสินค้า 1,000,000 บาท มีค่าใช้จ่าย 400,000บาท ธุรกิจจึงมีกำไรทางบัญชี 600,000 บาท ถ้ากำไรเท่านี้ คิดในใจไว้ก่อนเลยว่าจะเสียภาษี 600,000 X 20% = 30,000 บาท
แต่สมมติค่าใช้จ่ายมีการจ่ายเงินจริง แต่ไม่มีเอกสารรับรองที่น่าเชื่อถือว่าจ่ายให้ใคร หรือเอาค่าใช้จ่ายส่วนตัวมาลงเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการ แบบนี้สรรพากรจะไม่ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายในทางภาษีได้ เวลาคำนวณภาษีจะถูกคิดว่า รายได้ 1,000,000 แต่ค่าใช้จ่ายเป็น 0 บาท ทันที แปลว่าธุรกิจจะมีกำไรทางภาษี 1,000,000 บาท นำมาคำนวณภาษี 1,000,000X 20% = 200,000 บาท นั่นหมายความว่าต้องเสียภาษีถึง 200,000 บาทนั่นเอง
PEAK ขอเล่า :
ปกติแล้วบริษัทโดยทั่วไปจะเสียภาษีจากกำไรในอัตรา 20% แต่กรณีที่บริษัทนั้นมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้าน หรือรายได้ไม่เกิน 30 ล้านต่อปี จะได้รับสิทธิเสียภาษีที่ถูกกว่า เพราะมองว่าเป็นกิจการขนาดเล็ก ซึ่งจะเสียภาษีในอัตราก้าวหน้าตั้งแต่ 0%-20%
เห็นไหมว่าถ้าเราเอารายได้ หักค่าใช้จ่ายทางบัญชีเป็นตัวตั้งจะได้กำไรตัวเลขหนึ่ง(ตอนคำนวณภาษีจะไม่ใช้กำไรทางบัญชีนี้) แต่พอคำนวณภาษีก็ต้องใช้รายได้ หักค่าใช้จ่ายตามนิยามภาษี ก็จะได้กำไรอีกตัวเลขหนึ่งไปคำนวณภาษีครับ
รายจ่ายทางบัญชี ที่เป็น รายจ่ายทางภาษี “ไม่ได้” มีอะไรบ้าง? มาดูกัน
ใครที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว จะต้องสงสัยกันแน่ๆ ว่าค่าใช้จ่ายอะไรที่ทางภาษีไม่ยอมรับบ้าง ผมได้เตรียมตัวอย่างที่เจอบ่อยๆ มาให้ดูกันครับ
1. รายจ่ายที่ไม่มีใบเสร็จ
เช่น ซื้อของจริง จ่ายเงินจริง แต่ผู้ขายออกเอกสารให้ไม่ได้ เรามักจะเจอแบบนี้บ่อยๆ เวลาไปซื้อของในตลาด หรือร้านขายของชำที่จะออกเอกสารรับเงินให้เราไม่ได้ ทำให้สรรพากรไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเราซื้อของไปจริง หรือว่าจ่ายไปเป็นค่าอะไร
2. รายจ่ายที่เอกสารไม่น่าเชื่อถือ
เช่น ร้านค้าบางร้าน เขียนรายการสิ่งของที่เราซื้อในกระดาษเปล่าๆ ลายมือก็อ่านไม่ออกว่าเขียนอะไร แบบนี้สรรพากรมองว่าใครๆ ก็เขียนบนกระดาษเปล่าได้ ซึ่งตรวจสอบไม่ได้เลยว่าร้านค้าเป็นคนเขียน หรือว่าเราตกแต่งรายจ่ายโดยเขียนขึ้นมาเอง
3. รายจ่ายส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการ
เช่น กรรมการซื้อเสื้อผ้าส่วนตัว จ่ายค่าอาหารส่วนตัวแล้วเบิกบริษัท แบบนี้สรรพากรถือว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริษัทโดยเลย อีกทั้งกรรมการได้ผลประโยชน์ล้วนๆ
บทความนี้เราไม่ได้โฟกัสเรื่องของภาษีนะครับ ข้างบนเป็นการยกตัวอย่างให้เห็นว่าเวลาพูดเรื่องทางบัญชีและภาษี ไม่ได้เป็นเรื่องเดียวกันเสมอไป
“บัญชี” ไม่เท่ากับ ”ภาษี” ทำไมต้องคิดให้แตกต่างกัน ทำไมไม่ทำให้มันเข้าใจง่ายๆ?
จริงๆ แล้วมันก็มีเหตุผลเบื้องหลังที่ทำให้เราไม่สามารถใช้กำไรทางบัญชีและทางภาษีเป็นตัวเดียวกันได้ แล้วสิ่งนั้นคืออะไร มีอะไรบ้าง ผมสรุปออกมาเป็นตารางแบบเข้าใจง่ายให้แล้วครับ
ตารางสรุปความแตกต่างทางบัญชีและภาษี
Financial Accounting | Tax Accounting | |
วัตถุประสงค์ | บัญชีการเงิน | บัญชีภาษี |
เพื่อใช้สื่อสารข้อมูลทางการเงินให้กับผู้ใช้ข้อมูลภายนอก เช่น นักลงทุน เจ้าหนี้ หน่วยงานกำกับดูแล | เพื่อใช้ในการคำนวณและจัดการด้านภาษี | |
มาตรฐาน/กฎหมาย | มาตรฐานการบัญชี | มาตรฐานการบัญชีประมวลรัษฎากร |
ความรู้ที่ใช้ | บัญชีตามมาตรฐาน | กฎหมายบัญชี |
จะเห็นว่าทางบัญชีและภาษีที่แตกต่างกัน จริงๆ มาจากวัตถุประสงค์การใช้ที่ไม่เหมือนกัน พอวัตถุประสงค์ต่าง ก็ต้องใช้วิธีวัดที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์นั้นๆ ด้วย สิ่งที่ใช้วัดก็คือ มาตรฐานหรือกฎหมาย เพื่อกำหนดว่าสิ่งใดถูก ผิด อะไรทำได้ ไม่ได้นั่นเอง
บัญชีการเงิน (Financial Accounting) คืออะไร ?
บัญชีการเงิน คือ บัญชีที่ใช้สำหรับส่งงบการเงินให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า(DBD) เป็นประจำทุกปี เพื่อสื่อสารข้อมูลทางการเงินให้กับผู้ใช้ข้อมูลภายนอกไม่ว่าจะเป็น นักลงทุน ผู้ให้กู้ หรือหน่วยงานกำกับดูแล
เนื่องจากมีบุคคลภายนอกใช้งบการเงินของเราไปตัดสินใจ ข้อมูลควรถูกต้อง ครบถ้วน และน่าเชื่อถือ ภาครัฐจึงกำหนดข้อมูลทางบัญชีนี้ต้องจัดทำภายใต้ข้อกำหนดของมาตรฐานการบัญชีไทย ซึ่งปัจจุบันมี 2 ฉบับใหญ่ๆ ได้แก่ มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ(PAEs) ใช้กับบริษัทมหาชน และมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ(NPAEs) ใช้กับบริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เป็นต้น
ดังนั้นกำไรที่ได้จากบัญชีการเงิน เรียกว่า “กำไรทางบัญชี” นั่นเอง
บัญชีภาษี (Tax Accounting) คืออะไร ?
บัญชีภาษี คือ การนำบัญชีทางการเงินมาปรับปรุงให้เป็นบัญชีทางภาษีเพื่อคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายให้ภาครัฐ และจะปรับปรุงเฉพาะรายการที่นิยามทางบัญชีและภาษีไม่เหมือนกัน เช่น ค่าใช้จ่ายทางบัญชีบางกรณี สรรพากรไม่ยอมรับให้เป็นค่าใช้จ่ายที่ใช้ตอนคำนวณภาษี
จากตัวอย่างที่เคยยกไป เช่น กิจการจ่ายค่าใช้จ่ายไปจริง แต่ไม่มีเอกสารที่น่าเชื่อถือประกอบการจ่ายเงิน แบบนี้ทางบัญชีให้เป็นรายจ่ายได้ แต่ทางบัญชีจะไม่ถือว่าเป็นรายจ่าย เวลาคำนวณภาษีจึงเสียภาษีมากขึ้น
พอเป็นเรื่องภาษี จึงควรมีความเท่าเทียมในการจัดเก็บภาษีของแต่ละกิจการ ภาครัฐจึงออกกฎหมายฉบับหนึ่งที่เรียกว่า “ประมวลรัษฎากร” มาเป็นมาตรฐานในการกำหนดนิยามรายได้ ค่าใช้จ่ายทางภาษีคืออะไร และต้องยื่นภาษี ยื่นอย่างไร เป็นต้น
ดังนั้นกำไรทางบัญชีที่ปรับปรุงทางภาษีแล้ว เรียกว่า “กำไรทางภาษี” นั่นเองครับ
ผมหวังว่าทุกคนน่าจะเข้าใจความหมายของ “บัญชี” ไม่เท่ากับ “ภาษี” กันมากขึ้นนะครับ จะได้เข้าใจว่าตัวเลขบัญชีเป็นแบบนี้ ทำไมนักบัญชีถึงคำนวณภาษีออกมาไม่ตามที่เห็นตัวเลขทางบัญชี และสิ่งที่ก่อให้เกิดความแตกต่างนั้นก็มาจากวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน
โดยบัญชีการเงิน ใช้สื่อสารข้อมูลทางการเงินให้กับผู้ใช้ข้อมูลภายนอก เช่น นักลงทุน เจ้าหนี้ หน่วยงานกำกับดูแล ส่วนบัญชีภาษี จะใช้เพื่อคำนวณภาษีและนำส่งภาษีแก่ภาครัฐ
ใน Ep ถัดๆไป เราจะเริ่มเจาะลึกเข้าไปในเรื่องบัญชีและภาษีมากขึ้น โดยจะเริ่มจากการใช้บัญชีในการบริหารกิจการให้มีระบบ กับหัวข้อ “บัญชีทำให้ตรง ลดความงงในการบริหาร” รอติดตามตอนถัดไปได้เลย
โปรแกรมบัญชีออนไลน์ PEAK ช่วยผู้ประกอบการจัดการบัญชีอย่างเป็นระบบ รองรับการเติบโต ช่วยให้ธุรกิจก้าวไปสู่ความสำเร็จ
ทดลองใช้งานโปรแกรมบัญชี PEAK ฟรี! 30 วัน มูลค่า 1,200 บาท
คลิก https://peakaccount.com (ไม่มีค่าใช้จ่าย)
PEAK Call Center : 1485
LINE : @systemseedwebs-comสอบถามเพิ่มเติม คลิก https://m.me/peakengine