เดบิต-เครดิต เป็นคำที่คุ้นเคยสำหรับนักบัญชี ผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชี แต่สำหรับผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปอาจจะไม่เข้าใจความหมายหรืออาจเข้าใจผิดได้ บางคนเข้าใจว่า เดบิต คือ รายรับ เครดิตคือรายจ่าย อันที่จริง เดบิต เครดิต เป็นหลักการพื้นฐานของบัญชี การที่เจ้าของกิจการเข้าใจหลักการของเดบิตเครดิตจะช่วยให้มองเห็นที่มาที่ไปของรายการค้า เป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบและช่วยให้วางแผนตัดสินใจในการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เดบิต เครดิต คืออะไร
มีผู้ให้คำนิยามของเดบิต เครดิต ไว้ดังนี้
1. คุณหญิง พยอม สิงห์เสน่ห์และนรีนุช เมฆวิชัย,2535
เดบิต (Debit) หมายถึง ด้านซ้ายของบัญชีแยกประเภทซึ่งใช้บันทึกสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น และหนี้สินกับส่วนของเจ้าของที่ลดลง รายการที่บันทึกทางด้านซ้ายของบัญชีแยกประเภทเรียกว่าเดบิต
เครดิต (Credit) หมายถึง ด้านขวาของบัญชีแยกประเภทซึ่งใช้บันทึกสินทรัพย์ที่ลดลง และหนี้สินกับส่วนของเจ้าของที่เพิ่มขึ้น รายการที่บันทึกทางด้านขวาของบัญชีแยกประเภทเรียกว่าเครดิต
2. Federal of Accounting Professions,1995
เดบิต (Debit) หมายถึง จำนวนเงินที่แสดงทางด้านซ้ายของบัญชี หรือการลงรายการทางด้านซ้ายของบัญชี หรือการผ่านบัญชีอันกระทำให้สินทรัพย์หรือค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น หรือการลงรายการซ้ายของบัญชีหรือการผ่านบัญชีอันกระทำให้หนี้สิน รายการเงินทุน (ส่วนของเจ้าของ) หรือรายได้ลดลง
เครดิต (Credit) หมายถึง จำนวนเงินที่แสดงทางด้านขวาของบัญชี หรือการลงรายการทางด้านขวาของบัญชี หรือการผ่านบัญชีอันกระทำให้หนี้สิน, รายการเงินทุน (ส่วนของเจ้าของ) หรือรายได้เพิ่มขึ้น (หรือทำให้สินทรัพย์หรือค่าใช้จ่ายลดลง)
3. ราชบัณฑิตยสถาน, 2555
เดบิต (Debit) หมายถึง รายการทางด้านซ้ายของบัญชี ซึ่งแสดงการเพิ่มขึ้นของรายการทรัพย์สินของกิจการ หรือรายจ่ายของกิจการ
เครดิต (Credit) หมายถึง รายการทางด้านขวาของบัญชี
สินเชื่อ (Credit) หมายถึง ระบบที่ให้ผู้ใช้สินเชื่อสามารถซื้อสินค้า หรือบริการโดยชำระเงินในภายหน้า(ไม่ใช่ปัจจุบัน) ซึ่งขึ้นอยู่กับความเชื่อถือ หรือความไว้วางใจทางการเงินของบุคคลหรือหน่วยธุรกิจ (ผู้ให้สินเชื่อ)
ในทางปฏิบัติ การที่นักบัญชีจะบันทึกรายการบัญชีว่ารายการใดเป็นเดบิตหรือเครดิต ต้องเข้าใจสมการบัญชีพื้นฐานก่อนคือ
สินทรัพย์ = หนี้สิน+ส่วนของเจ้าของ(+รายได้-ค่าใช้จ่าย)
Assets = Liability+ Shareholders’ Equity (+ Income -Expense)
จากสมการบัญชีจึงขอสรุปความหมายของเดบิต เครดิต ได้ดังนี้
ในการบันทึกรายการบัญชีและจำนวนเงินจะมี 2 ด้าน รายการทางด้านซ้ายคือ เดบิต รายการทางด้านขวาคือ เครดิต โดยเดบิตมาจากคำว่า Debtor ใช้ตัวย่อ Dr ส่วนเครดิตมาจากคำว่า Creditor ใช้ ตัวย่อ Cr ส่วนผลของรายการบัญชีจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงขึ้นอยู่กับประเภทของบัญชี ดังแสดงในรูปสมการบัญชี
สินทรัพย์ = หนี้สิน+ส่วนของเจ้าของ(+รายได้-ค่าใช้จ่าย)
เดบิต ทำให้ เพิ่มขึ้น ลดลง ลดลง ลดลง เพิ่มขึ้น
เครดิต ทำให้ ลดลง เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น ลดลง
ในการบันทึกบัญชี จำนวนเงินที่บันทึกทางด้านเดบิตและเครดิตต้องเท่ากันเสมอตามสมการบัญชี ถ้า ไม่เท่ากันแสดงว่ามีการลงบัญชีด้วยจำนวนเงินที่ไม่ถูกต้อง
นอกจากนี้คำว่า เครดิต ที่ใช้ในทางบัญชียังหมายถึง สินเชื่อจากการซื้อสินค้าหรือบริการ เป็นเงินเชื่อ ทำให้เกิดรายการเจ้าหนี้การค้า โดยที่ผู้ซื้อได้รับเครดิตหรือสินเชื่อจากผู้ขาย หรือเกิดจากการขายสินค้าหรือบริการเป็นเงินเชื่อ ทำให้เกิดรายการลูกหนี้การค้า โดยผู้ขายให้เครดิตหรือสินเชื่อแก่ผู้ซื้อ เครดิตจึงหมายความรวมถึงทั้งทางด้านเจ้าหนี้การค้าและลูกหนี้การค้า
นอกจากนี้ยังพบว่ามีการใช้คำว่า เดบิต เครดิต ในเรื่องอื่นๆ ดังนี้
1. บัตรเดบิตและบัตรเครดิต
บัตรเดบิต (Debit Card) หรือ ATM Card เป็นบัตรที่ผูกกันกับบัญชีเงินฝากธนาคาร ใช้ในการเบิกถอน ฝาก โอน จ่าย หรือสอบถามจำนวนเงิน โดยใช้งานผ่านเครื่อง ATM และบัตรเดบิตยังสามารถนำไปใช้ซื้อสินค้าหรือบริการที่ร้านค้าหรือช่องทางออนไลน์ได้อีกด้วย
บัครเครดิต (Credit Card) เป็นบัตรที่ออกโดยธนาคารหรือห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ โดยการกำหนดวงเงินเชื่อให้แก่ผู้ถือบัตรที่เป็นบุคคลธรรมดาที่มีเครดิตหรือความน่าเชื่อถือว่ามีความสามารถชำระหนี้คืนเมื่อครบกำหนดเวลา โดยผู้ออกบัตรจะชำระเงินแทนผู้ถือบัตรไปก่อนแล้วเรียกเก็บเงินจากผู้ถือบัตรในภายหลัง
2. เอกสารเดบิตโน้ต เครดิตโน้ต
เดบิตโน้ต หรือใบเพิ่มหนี้ คือ เอกสารใบกำกับภาษีที่ผู้ขายออกให้ลูกค้าเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดจากใบกำกับภาษีเดิมที่ออกไป เนื่องจากมีการเพิ่มราคาสินค้าหรือบริการจากสินค้าที่ส่งไป มีจำนวนเกินกว่าที่ตกลงซื้อขายกัน หรือมีการให้บริการเกินกว่าข้อกำหนดที่ตกลงกัน หรือเกิดจากการคำนวณราคาสินค้าต่ำกว่าความเป็นจริง
เครดิตโน้ต หรือใบลดหนี้ คือ เอกสารประกอบใบกำกับภาษีที่ผู้ขายออกให้ลูกค้า เมื่อมีการลดราคาสินค้าหรือบริการ เนื่องจากผู้ขายส่งของให้ลูกค้าขาดไปจากจำนวนที่ตกลงซื้อขายกัน หรือการให้บริการผิดไปจากที่ตกลงกันไว้ หรือเกิดจากการคำนวณราคาผิดไปสูงกว่าความเป็นจริง หรือเกิดจากลูกค้าคืนสินค้าที่มีการชำรุดบกพร่องไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้
หลักบัญชีคู่คืออะไร
ในการบันทึกบัญชีโดยทั่วไปมี 2 แบบ คือ
1. ระบบบัญชีเดี่ยว (Single Entry System)
เป็นการทำบัญชีอย่างง่าย โดยการบันทึกบัญชีรับ-จ่าย มีรายละเอียด ของวันที่ รายการ รายรับ รายจ่าย ยอดคงเหลือ การทำบัญชีแบบนี้เหมาะกับร้านค้าขนาดเล็กที่มีรายการค้าจำนวนไม่มาก บางรายการค้ากิจการก็จดบันทึกแบบเดบิต เครดิต คล้ายกับระบบบัญชีคู่ แต่บางรายการก็จดบันทึกเฉพาะด้านเดบิตหรือด้านเครดิตด้านใดด้านหนึ่ง ระบบบัญชีแบบนี้จึงไม่สมบูรณ์ตามหลักสมการบัญชี ทำให้ไม่สามารถจัดรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำงบทดลองได้ จึงไม่สามารถพิสูจน์ความถูกต้องของการบันทึกบัญชีเหมือนระบบบัญชีคู่ได้
โดยมีสมุดบันทึกที่ใช้ในระบบบัญชีเดี่ยวได้แก่
1.1 สมุดเงินสด
เป็นการบันทึกรับจ่ายเงินประจำวัน ทำให้เจ้าของร้านค้าทราบว่ามีรายรับ รายจ่าย รายการอะไรบ้าง เกิดขึ้นเมื่อไร มีเงินสดคงเหลือเท่าไร การบันทึกบัญชีเดบิต เครดิต เป็นไปตามหลักบัญชีคู่ หลักบัญชีคู่ คือการบันทึกรายการบัญชี 2 ด้าน โดยแบ่งออกเป็นด้านเดบิต และด้านเครดิต โดยเมื่อรวมจำนวนเงินของแต่ละด้านจะต้องมียอดเท่ากันซึ่งเป็นไปตามสมการบัญชี โดยในแต่ละด้านมีจำนวนรายการไม่เท่ากันได้
1.2 สมุดแยกประเภทรายตัวลูกหนี้และเจ้าหนี้
ร้านค้าที่ใช้ระบบบัญชีเดียว จะมีหมวดบัญชีไม่ครบทุกหมวดเหมือนระบบบัญชีคู่ อย่างบัญชีลูกหนี้และเจ้าหนี้ก็บันทึกเป็นรายตัว หรืออย่างบัญชีสินทรัพย์ถาวรก็อาจทำในรูปทะเบียนสินทรัพย์ แต่ร้านค้าที่ใช้ระบบบัญชีเดียวมักจะไม่เปิดหมวดรายได้และค่าใช้จ่าย
1.3 สมุดรายวันทั่วไป
ใช้สำหรับบันทึกรายการค้าที่ไม่ได้บันทึกในสมุดเงินสด เช่น รายการซื้อขายสินค้าเป็นเงินเชื่อ
ดังนั้น การบันทึกบัญชีในระบบบัญชีเดี่ยว การบันทึกบัญชีจะไม่ถูกต้องและครบถ้วน ตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป เพราะใช้หมวดบัญชีไม่ครบทุกหมวด และไม่สามารถพิสูจน์ความถูกต้องได้ กิจการที่ทำบัญชีในลักษณะนี้จะขาดการควบคุมภายในที่ดี ขาดการประสานงานและการแบ่งหน้าที่งานภายในหน่วยงานบัญชี มีโอกาสเกิดการทุจริตได้ง่าย
2. ระบบบัญชีคู่ (Double Entry System)
เป็นการบันทึกบัญชีตามหลักสมการบัญชี ซึ่งเมื่อมีรายการค้าเกิดขึ้นนักบัญชีจะวิเคราะห์รายการค้าและบันทึกข้อมูลสองด้านคือ ด้านเดบิตและด้านเครดิต โดยหลักบัญชีคู่จะใช้สมุดบัญชี 2 ประเภท ได้แก่
2.1 สมุดรายวัน
ถือเป็นสมุดขั้นต้นในการบันทึกบัญชี เป็นการบันทึกรายการค้าตามลำดับวันที่ที่เกิดรายการ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
2.1.1 สมุดรายวันเฉพาะ สำหรับบันทึกรายการเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ได้แก่ สมุดรายวันซื้อ สมุดรายวันขาย สมุดรายวันรับเงิน สมุดรายวันจ่ายเงิน เป็นต้น
2.1.2 สมุดรายวันทั่วไป เป็นการบันทึกรายการค้าที่เกิดขึ้นทุกรายการ เมื่อกิจการไม่ได้ใช้สมุดรายวันเฉพาะ โดยบันทึกรายการตามผังบัญชีซึ่งกำหนดรหัสบัญชีไว้ตามหมวดหมู่บัญชี
เป็นจำนวน 5 หมวดหมู่ดังนี้
(ก) หมวดสินทรัพย์ ได้แก่ เงินสด เงินฝากธนาคาร ลูกหนี้การค้า ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ เป็นต้น
(ข) หมวดหนี้สิน ได้แก่ เจ้าหนี้การค้า เงินเดือนค้างจ่าย ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย เป็นต้น
(ค) หมวดส่วนของเจ้าของ ได้แก่ ทุน กำไรสะสม เป็นต้น
(ง) หมวดรายได้ ได้แก่ ขาย รายได้อื่นๆ เป็นต้น
(จ) หมวดค่าใช้จ่าย ได้แก่ เงินเดือน ค่าเช่า ค่าไฟฟ้า เป็นต้น
2.2 สมุดบัญชีแยกประเภท
เป็นการสรุปรายการจากสมุดบัญชีรายวัน ให้เป็นประเภทและหมวดหมู่เข้าใจง่ายและสะดวกต่อการจัดทำงบการเงิน โดยแบ่งออกเป็น
2.2.1 สมุดบัญชีแยกประเภททั่วไป
เป็นสมุดบัญชีที่รวบรวมรายการบัญชี โดยแยกเป็นประเภทของรายการตาม 5 หมวดหมู่บัญชี
2.2.2 สมุดแยกประเภทย่อย
เป็นสมุดที่แสดงรายละเอียดของสมุดบัญชีแยกประเภททั่วไป ได้แก่ สมุดแยกประเภทย่อยลูกหนี้ สมุดแยกประเภทย่อยเจ้าหนี้ เป็นต้น
ตัวอย่างการบันทึกรายการเดบิต เครดิต
เพื่อให้เข้าใจการบันทึกรายการเดบิตและเครดิตที่บันทึกตามหลักบัญชีคู่ จะขอยกตัวอย่างให้เห็นตามหลักสมการบัญชีดังต่อไปนี้
ตัวอย่างที่ 1 บริษัท ABC จำกัด เจ้าของกิจการนำเงินสดมาลงทุนเปิดบริษัท เป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาท
การวิเคราะห์รายการค้า
Debit (Dr) | Credit (Cr) |
เงินสด 1,000,000 บาท | ทุน 1,000,000 บาท |
Dr = 1,000,000 | Cr =1,000,000 |
ตัวอย่างที่ 2 กิจการซื้ออุปกรณ์สำนักงานเป็นเงินเชื่อ จำนวน 30,000 บาท
Debit (Dr) | Credit (Cr) |
เงินสด 1,000,000 บาท อุปกรณ์สำนักงาน 30,000 บาท | ทุน 1,000,000 บาท เจ้าหนี้ 30,000 บาท |
Dr = 1,030,000 | Cr = 1,030,000 |
ตัวอย่างที่ 3 กิจการขายสินค้าเป็นเงินเชื่อ 30,000 บาท เป็นเงินสด 20,000 บาท
การวิเคราะห์รายการค้า
Debit (Dr) | Credit (Cr) |
เงินสด 1,000,000 บาท อุปกรณ์สำนักงาน 30,000 บาท เงินสด 20,000 บาท ลูกหนี้ 30,000 บาท | ทุน 1,000,000 บาท เจ้าหนี้ 30,000 บาท ขาย 50,000 บาท |
Dr = 1,080,000 | Cr = 1,080,000 |
ตัวอย่างที่ 4 กิจการบันทึกค่าเช่าสำนักงานค้างจ่าย เป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท
การวิเคราะห์รายการค้า
Debit (Dr) | Credit (Cr) |
เงินสด 1,000,000 บาท อุปกรณ์สำนักงาน 30,000 บาท เงินสด 20,000 บาท ลูกหนี้ 30,000 บาท ค่าเช่า 20,000 บาท | ทุน 1,000,000 บาท เจ้าหนี้ 30,000 บาท ขาย 50,000 บาท ค่าเช่าค้างจ่าย 20,000 บาท |
Dr = 1,100,000 | Cr = 1,100,000 |
ตัวอย่างที่ 5 กิจการซื้อสินค้ามูลค่า 70,000 บาท เป็นเงินเชื่อ 50,000 บาท ชำระเป็นเงินสด 20,000 บาท
การวิเคราะห์รายการค้า
Debit (Dr) | Credit (Cr) |
เงินสด 1,000,000 บาท อุปกรณ์สำนักงาน 30,000 บาท เงินสด 20,000 บาท ลูกหนี้ 30,000 บาท ค่าเช่า 20,000 บาท สินค้า 70,000 บาท | ทุน 1,000,000 บาท เจ้าหนี้ 30,000 บาท ขาย 50,000 บาท ค่าเช่าค้างจ่าย 20,000 บาท เงินสด 20,000 บาท เจ้าหนี้ 50,000 บาท |
Dr = 1,170,000 | Cr = 1,170,000 |
จากตัวอย่างที่ 1-5 แสดงการวิเคราะห์รายการค้า แยกเป็นรายการ เดบิตและเครดิตโดยบันทึกบัญชีตามหลักบัญชีคู่
เมื่อวิเคราะห์รายการค้าแล้ว ตามระบบบัญชีคู่จะบันทึกรายการในสมุดรายวันและผ่านรายการไปยังสมุดบัญชีแยกประเภท ดังตัวอย่างที่ 6
ตัวอย่างที่ 6
สมุดรายวันทั่วไป (General Journal)
หลังจากบันทึกรายการค้าในสมุดรายวันทั่วไปแล้ว ระบบจะผ่านรายการไปยังบัญชีแยกประเภท ซึ่งจะแสดงในรูปแบบดังนี้
สมุดบัญชีแยกประเภท
เมื่อนำมาจัดทำงบทดลอง จะได้ดังนี้
งบทดลองบ.ABC
จะเห็นว่าเมื่อจัดทำงบทดลองแล้ว กิจการจะสามารถพิสูจน์ความถูกต้องของรายการค้าและข้อมูลมีความครบถ้วน
PEAK โปรแกรมบัญชีออนไลน์ ช่วยแยกรายการเดบิต เครดิตและบันทึกบัญชีให้อัตโนมัติ มีฟังก์ชันการนำเข้ารายการสมุดรายวันด้วยไฟล์ Excel
ผู้ประกอบการสามารถเรียกดูงบการเงินได้ทุกที่ทุกเวลาโดยไม่ต้องปิดงบ
ติดตามความรู้จาก โปรแกรมบัญชี PEAK ได้ที่ https://peakaccount.com/blog
หรือเข้าใช้งานโปรแกรม คลิก เข้าสู่ระบบ PEAK
หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมทาง inbox ของ Facebook PEAK โปรแกรมบัญชีออนไลน์
อ้างอิง:
เดบิตและเครดิต ในหลักการบัญชีคู่ (Double Entry Accounting), 27 กรกฎาคม 2564
เดบิตและเครดิต คืออะไร, Station Account Co., Ltd.
ระบบบัญชีคู่คืออะไร, AMT Group
บทความวิชาการ เดบิตและเครดิต : ภาษาบัญชี วารสารวิชาชีพบัญชี ปีที่ 13 ฉบับที่ 39 กันยายน 2560, ร.ศ.นิพันธ์ เห็นโชคชัยชนะ