ประเด็นสำคัญ เรียกได้ว่าเหล่าร้านค้าออนไลน์ต้องเตรียมตัวอย่างหนักเลยทีเดียว เมื่อกรมสรรพากรได้ออกกฎหมายบังคับให้กลุ่มแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น Shopee, Lazada, Line, Grab และอื่นๆ ต้องนำส่งข้อมูลรายได้ บัญชีธนาคาร เลขบัตรประชาชน ทั้งหมดของร้านค้าที่ขายสินค้าหรือให้บริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์นั้นให้แก่กรมสรรพากรทุกปี มีผลบังคับใช้เริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 รายละเอียดเชิงลึกมีอะไรบ้าง เรามาดูกันต่อครับ ทำไมกรมสรรพากรต้องบังคับแพลตฟอร์มออนไลน์ให้ส่งรายได้ของร้านค้าออนไลน์? ก่อนหน้านี้สรรพากรเคยออกกฎหมาย E-payment ที่บังคับให้เหล่าธนาคาร หรือผู้ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ต้องนำส่งรายการบัญชีของผู้ฝากเงินที่เข้าเงื่อนไขที่มีเงินเข้า 3,000 ครั้ง หรือเงินเข้า 400 ครั้งและมียอดเกิน 2 ล้านบาทให้แก่กรมสรรพากร เพื่อตรวจจับบุคคลที่หลีกเลี่ยงภาษีหรือส่งภาษีไม่ครบ ส่วนตัวเชื่อว่าวิธีการดังกล่าว บางครั้งก็พิสูจน์ได้ยากว่าเงินรับมาจากรายได้หรือเงินโอนทั่วไป และยังมีช่องโหว่ในการหลบหลีกเพื่อไม่เข้าเงื่อนไขดังกล่าว กรมสรรพากรจึงหาแนวทางใหม่เพิ่มเติมที่ตรงประเด็นมากขึ้น โดยเล็งเป้าไปยังกลุ่มผู้ค้าขายออนไลน์ที่ยังมีแนวโน้มว่าส่งภาษีไม่ครบหรือไม่ถูกต้อง แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ต้องส่งข้อมูลรายได้ให้กรมสรรพากร รายละเอียดต่างๆ ของกฎหมายฉบับนี้ถูกกำหนดอยู่ที่ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ เรื่อง กำหนดให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มมีบัญชีพิเศษ โดยแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ต้องนำส่งข้อมูลร้านค้าออนไลน์ต้องเข้าเงื่อนไขทั้ง 2 ข้อ ได้แก่ 1. จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทย และ 2. มีรายได้เกิน 1 พันล้านบาทต่อปี PEAK ขอเล่า : ร้านค้าออนไลน์จะต้องถูกนำส่งข้อมูลอะไรบ้าง? จากเอกสารแนบที่กรมสรรพากรกำหนดรายละเอียดข้อมูลที่ต้องนำส่ง ผมขอสรุปเฉพาะข้อมูลสำคัญของร้านค้าออนไลน์ที่ต้องถูกนำส่งไว้ ดังนี้ครับ 1. เลขประจำตัวประชาชน หรือเลขทะเบียนนิติบุคคล 2. ชื่อผู้ประกอบการ หรือชื่อนิติบุคคล 3. จำนวนรายได้ที่ใช้คิดฐานคำนวณค่านายหน้าและค่าธรรมเนียมการชำระเงิน (พูดง่ายๆ คือ รายได้ทั้งหมดของร้านค้าแต่ละร้าน) 4. ชื่อธนาคารและเลขที่บัญชีธนาคารที่ใช้รับเงินจากแพลตฟอร์มออนไลน์ นั่นแปลว่ากรมสรรพากรจะรู้รายได้ของร้านค้าอย่างละเอียด ทุกบาท ทุกสตางค์ และรู้ว่าร้านค้าชื่ออะไร และใช้บัญชีอะไรในการรับรายได้อีกด้วย พออ่านมาถึงตรงนี้ผู้ประกอบการคงเริ่มขนลุกกันแล้วใช่ไหมละคร๊าบบ ข้อมูลจะถูกส่งให้กรมสรรพากรเมื่อไหร่? กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป นั่นหมายความว่าข้อมูลรายได้ที่ร้านค้าออนไลน์ขายสินค้าหรือให้บริการในแพลตฟอร์มออนไลน์จะเป็นรายได้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป จนถึงสิ้นรอบบัญชีของแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยแพลตฟอร์มออนไลน์ต้องนำส่งข้อมูลดังกล่าวภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ตัวอย่าง เช่น แพลตฟอร์มออนไลน์ S จะต้องนำส่งข้อมูลรายได้ของร้านค้าทุกร้านที่ขายบนแพลตฟอร์ม S ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 – 31 ธันวาคม 2567 ให้แก่กรมสรรพากรภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2568 (150 วัน) PEAK ขอเล่า : กฎหมายฉบับนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างไร? เชื่อว่าคำถามนี้หลายคนคงมีคำถามในใจกันแล้ว แต่คำตอบนั้นก็อาจจะไม่ได้เหมือนกัน ส่วนตัวผมคิดว่าเป็นทั้งผลดีและผลเสีย ขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังมองในฝั่งไหน เช่น ในมุมของคนที่เสียภาษีอย่างถูกต้องมาโดยตลอด เขาจะเชื่อว่ากฎหมายนี้จะส่งเสริมความเป็นธรรมในการค้าขายมากขึ้น เพราะเดิมคู่แข่งไม่เสียภาษีอย่างถูกต้อง ทำให้คู่แข่งขายสินค้าได้ดีกว่าเพราะมีต้นทุนที่ต่ำกว่า และเกิดกระแสเงินสดที่มากกว่า แต่ในมุมของคนที่เสียภาษีไม่ครบถ้วนหรือหลีกเลี่ยง กฎหมายตัวนี้จะเข้ามาปิดช่องโหว่แทบทุกด้านที่เคยมีอยู่ ทำให้การหลีกเลี่ยงยากมากขึ้น สุดท้ายนี้กฎหมายฉบับนี้จะบังคับให้ทุกคนทำบัญชี ภาษีได้ถูกต้องมากขึ้น ทางผู้ประกอบการต้องเตรียมพร้อม โดยเริ่มจากเก็บเอกสารให้ครบถ้วน ถูกต้อง หรือหาสำนักงานบัญชีที่น่าเชื่อถือมาช่วยจัดการ รวมถึงการหาโปรแกรมจัดการด้านบัญชีที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลจากแพลตฟอร์มออนไลน์มาลงบันทึกบัญชีได้แบบเรียลไทม์ ที่ PEAK เรามีพันธมิตรสำนักงานบัญชีมากกว่า 1,200 แห่งทั่วประเทศ พร้อมช่วยดูแลคุณ สนใจ คลิก หรือสนใจโปรแกรมบัญชีออนไลน์ PEAK เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลจากแพลตฟอร์ม Shopee Lazada TikTok ทดลองใช้ฟรี 30 วัน คลิก