ชวนทำความรู้จักกับใบกำกับภาษี หรือ Tax invoice คืออะไร? สำคัญแค่ไหน? ซึ่งต้องบอกเลยว่าใบกำกับภาษีเป็นเอกสารที่สำคัญมากในการช่วยแสดงมูลค่าของสินค้าหรือบริการของทุกกิจการที่อยู่ในระบบภาษี เราจึงขอพาทุกคนไปไขข้อสงสัยว่าTax invoice คืออะไร? ใครบ้างเป็นผู้มีหน้าที่ในการออกใบกำกับภาษีได้ตามที่กฎหมายกำหนดกัน
ใบกำกับภาษี หรือ Tax invoice คืออะไร
ใบกำกับภาษี หรือ Tax invoice คือ เอกสารหลักฐานสำคัญที่ผู้ขายสินค้าหรือให้บริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจัดทำและออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการทุกครั้งที่มีการขายสินค้าหรือให้บริการ โดยใบกำกับภาษีจะแสดงมูลค่าสินค้าหรือบริการและจำนวนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนเรียกเก็บหรือพึงเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในแต่ละครั้ง
โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT ย่อมาจาก Value added tax) เป็นการเก็บภาษีจากการขายสินค้าหรือให้บริการในแต่ละขั้นตอนการผลิต ทั้งที่ผลิตภายในประเทศหรือนำเข้าจากต่างประเทศ โดยปกติผู้ประกอบการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% จากผู้ซื้อหรือผู้รับบริการ แล้วนำส่งให้กรมสรรพากรโดยการยื่นแบบภ.พ.30
Invoice หรือ อินวอย คืออะไร แตกต่างกับ Tax invoice อย่างไร
Invoice หรือ อินวอย คือ ใบแจ้งหนี้ เป็นเอกสารที่ผู้ขายออกให้ผู้ซื้อเพื่อแจ้งรายละเอียดในสิ่งที่ซื้อไป เช่น จำนวน ราคา และเงื่อนไขการชำระเงิน โดยถ้าผู้ขายไม่ได้อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ไม่ต้องใส่ VAT ลงไป แตกต่างจาก Tax invoice ซึ่งเป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับภาษีเพื่อใช้ในการยื่นหรือขอคืนภาษี โดยจะต้องแยกรายละเอียดภาษีมูลค่าเพิ่มในสิ่งที่ขายไป และระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีทั้งสองฝ่าย
ใครเป็นผู้มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษี
- เมื่อกิจการมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีจากการประกอบกิจการ ผู้ประกอบการมีหน้าที่ยื่นคำขอ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากรภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่กิจการมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท
- ผู้มีหน้าที่ออก Tax invoice คือผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ
การออกใบกำกับภาษีแต่ละประเภท
กรมสรรพากรได้แบ่งประเภทของใบกำกับภาษีออกเป็น 7 ประเภทดังนี้
- ใบกำกับภาษีอย่างเต็มรูป (Full Tax Invoice) ใบกำกับภาษีชนิดนี้มีรายละเอียดครบถ้วน เช่น ชื่อ-ที่อยู่ของผู้ซื้อและผู้ขาย เลขประจำตัวผู้เสียภาษี รายการสินค้า/บริการ ราคา ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และวันที่ออกใบกำกับภาษี มักใช้ในการทำธุรกรรมระหว่างบริษัทหรือองค์กรขนาดใหญ่
- ใบกำกับภาษีอย่างย่อ (Abbreviated Tax Invoice) ใบกำกับภาษีชนิดนี้ใช้ในธุรกรรมที่เป็นการขายปลีก เช่น ร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้า โดยมีข้อมูลสำคัญ เช่น วันที่ ชื่อสินค้า จำนวนเงิน รวมภาษี แต่ไม่ต้องระบุชื่อ-ที่อยู่ของผู้ซื้อ
- ใบเพิ่มหนี้ (Debit Note) ใช้ในกรณีที่ต้องเพิ่มมูลค่าหรือจำนวนเงินในรายการสินค้าหรือบริการที่ออกใบกำกับภาษีไว้ก่อนหน้า เช่น การคิดค่าส่งเพิ่มเติม
- ใบลดหนี้ (Credit Note) ใช้ในกรณีที่ต้องลดมูลค่าหรือจำนวนเงินในรายการสินค้าหรือบริการ เช่น การคืนสินค้า การลดราคาภายหลัง หรือการคิดค่าส่งผิด
- ใบเสร็จรับเงินที่ส่วนราชการออกให้ในการขายทอดตลาดหรือโดยวิธีอื่น ใช้ในกรณีที่ส่วนราชการขายสินค้าหรือทรัพย์สินโดยการขายทอดตลาดหรือวิธีอื่น ใบเสร็จรับเงินนี้จะทำหน้าที่แทนใบกำกับภาษีตามที่กฎหมายกำหนด
- ใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากรสำหรับการชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ใบเสร็จรับเงินที่กรมสรรพากรออกให้ใช้ในกรณีที่ผู้ประกอบการหรือบุคคลชำระภาษีมูลค่าเพิ่มโดยตรงกับกรมสรรพากร เช่น กรณีที่ไม่ได้ออกใบกำกับภาษีด้วยตนเอง
- ใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากรหรือกรมสรรพสามิตในการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแทนกรมสรรพากร ใบเสร็จรับเงินชนิดนี้ออกโดยกรมศุลกากรหรือกรมสรรพสามิตในกรณีที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น การนำเข้าสินค้าหรือการชำระภาษีในกรณีที่เกี่ยวข้อง
ในที่นี้จะขอกล่าวถึงรายละเอียดของใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบเท่านั้น เนื่องจากเป็นประเภทใบกำกับภาษีที่กิจการส่วนใหญ่ใช้งาน
การออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป
ผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยทั่วไปมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปให้แก่ผู้ซื้อสินค้า หรือบริการ (เว้นแต่ผู้ประกอบกิจการค้าปลีกซึ่งมีสิทธิ์ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ) โดยใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปต้องมีรายการดังต่อไปนี้
1. ตำแหน่งที่แสดงคำว่า “ใบกำกับภาษี”
คำว่า “ใบกำกับภาษี” จะต้องระบุไว้บริเวณส่วนหัวของเอกสารอย่างชัดเจน เพื่อให้ทราบว่าเอกสารดังกล่าวเป็นใบกำกับภาษีตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ซึ่งถ้ามีใบกำกับภาษีหลายฉบับอยู่ในชุดเดียวกัน แต่ใช่เอกสารฉบับแรกให้ทำดังนี้
- ใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษีของเอกสารชุดดังกล่าว ต้องมีข้อความว่า “เอกสารออกเป็นชุด” ไว้ด้วย
- ในสำเนาของใบกำกับภาษี ต้องมีข้อความว่า “เอกสารออกเป็นชุด” และ “สำเนาใบกำกับภาษี” และจะต้องตีพิมพ์ขึ้นหรือจัดทำขึ้นด้วย ระบบคอมพิวเตอร์ ในกรณีที่จัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ จะประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือกระทำให้ปรากฏขึ้นด้วย วิธีการอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันไม่ได้
2. ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียน ที่ออกใบกำกับภาษี
2.1 ชื่อของผู้ออกใบกำกับภาษี หรือ Tax invoice คือ ชื่อผู้ประกอบการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือชื่อสถานประกอบการตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ชื่อของผู้ออกใบกำกับภาษีจะใช้ชื่อย่อไม่ได้ แต่กรณีผู้ออกใบกำกับภาษีหรือผู้ได้รับใบกำกับภาษีที่เป็นนิติบุคคล สามารถใช้คำย่อสำหรับบอกสถานะได้ เช่น บริษัทจำกัด ใช้คำว่า บ. ……จก. หรือ บจ., ห้างหุ้นส่วนจำกัด ใช้คำว่า หจก. เป็นต้น
2.2 ที่อยู่ของผู้ออกใบกำกับภาษีหรือ Tax invoice คือ ที่ตั้งของสถานประกอบการตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20)
กรณีที่เป็นสำนักงานใหญ่ ให้ระบุคำว่า “สำนักงานใหญ่” หรือ “HO” หรือ “HQ” หรือ ระบุเป็น ตัวเลขศูนย์จำนวนห้าหลัก (00000) เพื่อแสดงรหัสของสำนักงานใหญ่ไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย
กรณีที่เป็นสาขา ให้ระบุคำว่า “สาขาที่…”, “Branch No. …”, “br.no. …” หรือระบุเป็นตัวเลขจำนวนห้าหลักเพื่อแสดงว่าเป็นรหัสของ “สาขาที่…” ไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย
ข้อสังเกต
- การระบุว่าเป็นสำนักงานใหญ่จะพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ ประทับตรา เขียนด้วยมือ หรือใช้พิมพ์ดีดก็ได้
- หากผู้ประกอบการมีหลายสาขาและสาขาที่ไม่ใช่สำนักงานใหญ่ การใช้ใบกำกับภาษีจากสำนักงานใหญ่ส่งมอบให้ผู้ซื้อหรือผู้รับบริการ ในใบกำกับภาษีต้องระบุข้อความว่า “สาขาที่ออกใบกำกับภาษี คือ…” ทุกครั้งที่มีการขายสินค้าหรือให้บริการ โดยข้อความนี้สามารถพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ ประทับตรา เขียนด้วยมือ ใช้พิมพ์ดีด หรือวิธีอื่นที่ให้ผลลัพธ์คล้ายกันได้
- การระบุว่าเป็นสำนักงานใหญ่หรือสาขานั้นสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การใช้คอมพิวเตอร์พิมพ์ การประทับตรายาง หรือการเขียนด้วยหมึกพิมพ์ดีด
- ในกรณีที่ผู้ประกอบการมีหลายสาขา และสาขาที่ไม่ใช่สำนักงานใหญ่ใช้ใบกำกับภาษีจากสำนักงานใหญ่ในการออกใบกำกับภาษีให้กับผู้ซื้อหรือผู้รับบริการ ทุกครั้งที่มีการขายหรือให้บริการ จะต้องระบุข้อความว่า “สาขาที่ออกใบกำกับภาษี คือ…” ในใบกำกับภาษี ซึ่งสามารถทำให้ข้อความนี้ปรากฏได้ด้วยการพิมพ์, การประทับตรา หรือวิธีการใด ๆ ที่เหมาะสม
2.3 เลขประจำตัวผู้เสียอากรของผู้ออกใบกำกับภาษี
- กรณีกิจการที่เป็นบุคคลธรรมดา ให้ใช้เลขประจำตัวบัตรประชาชน 13 หลัก
- สำหรับผู้เสียภาษีที่ไม่ใช่บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลดังกล่าว ให้ใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 13 หลัก ที่กรมสรรพากรออกให้
- กรณีกิจการนิติบุคคลที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจ ให้ใช้เลขทะเบียนนิติบุคคล 13 หลัก
ข้อสังเกต
ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มต้องระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการไว้ในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป เฉพาะกรณีผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ที่เป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น แต่ถ้าผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการไม่ใช่ผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ไม่จำเป็นต้องระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรเมื่อออกใบกำกับภาษี
3. ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
3.1 ชื่อของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ หมายถึง ชื่อผู้ประกอบการ ชื่อสถานประกอบการ หรือชื่อการค้าของสถานประกอบการตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
3.2 ที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ หมายถึง ที่ตั้งของสถานประกอบการตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อสังเกต
สามารถใส่ข้อมูลชื่อ-ที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการจากการพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ ประทับตรายาง เขียนด้วยมือ หรือใช้พิมพ์ดีด รวมถึงวิธีอื่น ๆ ที่ให้ผลลัพธ์คล้ายกันก็ใช้ได้เช่นกัน
4. รายการ “หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขของเล่ม (ถ้ามี)”
ใบกำกับภาษีที่ไม่มีหมายเลขลำดับ จะไม่สามารถนำไปคำนวณภาษีซื้อได้
5. รายการ “ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ”
ชื่อ ชนิด ประเภท ของสินค้าหรือของบริการ ให้ระบุเฉพาะชื่อ ชนิด ประเภทของสินค้าหรือบริการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในใบกำกับภาษี เว้นแต่ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องระบุชื่อ ชนิด ประเภทของสินค้าหรือของบริการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในใบกำกับภาษีด้วย ให้กระทำได้โดยต้องจัดให้มีเครื่องหมายหรือแยกรายการแสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นสินค้า หรือบริการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
6. รายการ “จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการให้ชัดแจ้ง”
7. รายการ “วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี”
วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี เป็นรายการที่เป็นสาระสำคัญที่ประมวลรัษฎากรกำหนดให้ต้องมีในใบกำกับภาษี และเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงวันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น คือ เป็นวันที่ได้มีการส่งมอบสินค้า โอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าให้กับผู้ซื้อได้มีการใช้บริการนั้นไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่น ได้รับชำระค่าสินค้าหรือบริการ หรือวันที่ออกใบกำกับภาษี โดยวัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี จะใช้ตัวเลขแทนการระบุชื่อเดือนก็ได้ และใช้พุทธศักราช (พ.ศ.) หรือคริสต์ศักราช (ค.ศ.) ก็ได้
ภาพตัวอย่างใบกำกับภาษี
วิธีการจัดทำรายการของใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป
- ภาษาในใบกำกับภาษี ใบกำกับภาษีต้องจัดทำเป็นภาษาไทย แต่สามารถใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษในฉบับเดียวกันได้ หากต้องการใช้ภาษาอื่น ต้องขออนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรก่อน
- หน่วยเงินในใบกำกับภาษี หน่วยเงินที่ใช้ต้องเป็นเงินไทย และสามารถใช้ตัวเลขไทยหรืออารบิกได้ หากต้องการใช้หน่วยเงินต่างประเทศ ต้องขออนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรเช่นกัน
- การรวมรายการสินค้าและบริการ ใบกำกับภาษีสามารถรวมการขายสินค้าและบริการหลายอย่างไว้ในใบเดียวกันได้
- ความครบถ้วนของรายการ ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปต้องมีข้อมูลครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด
- การห้ามแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลง รายการในใบกำกับภาษีต้องไม่มีการแก้ไข เช่น การขีดฆ่า ลบ หรือเติมข้อความ หากมีการเปลี่ยนแปลง จะถือว่าภาษีซื้อในใบกำกับภาษีนั้นเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามกฎหมาย
ออกใบกำกับภาษีได้เมื่อไร
หลักเกณฑ์การออกใบกำกับภาษีมีการกำหนดจุดรับรู้ภาษีซึ่งเป็นจุดที่ผู้ประกอบการถูกกำหนดว่ามีภาระภาษีเกิดขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดสิทธิ์และหน้าที่ในการเรียกเก็บ VATจากผู้ซื้อหรือผู้รับบริการรวมไปถึงการออกใบกำกับภาษีตามมา ซึ่งจุดรับรู้ภาษีแบ่งออกตามกิจกรรมในการดำเนินธุรกิจออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
1. การขายสินค้า
ในการขายสินค้า โดยส่วนใหญ่มีด้วยกัน 2 กรณี ได้แก่
- การส่งมอบสินค้าสำหรับการขายสินค้าทั่วไป
- การรับชำระค่าสินค้าในรูปแบบเงินมัดจำก่อนส่งมอบสินค้า
หลักเกณฑ์การออกใบกำกับภาษีในการขายสินค้า แบ่งออกเป็น 3 กรณี ขึ้นอยู่กับจุดที่รับรู้ภาษี
1.1 การออกใบกำกับภาษีเมื่อมีการส่งมอบสินค้า
ในการขายสินค้าทั่วไป กิจการออกใบกำกับภาษีเมื่อมีการส่งมอบสินค้าซึ่งเป็นจุดที่รับรู้ภาษี ถึงแม้ว่าผู้ขายยังไม่ได้รับชำระค่าสินค้า กรณีนี้พบมากที่สุดในการขายสินค้า
1.2 การออกใบกำกับภาษีเมื่อมีการรับชำระราคาสินค้าก่อนส่งมอบสินค้า
เมื่อมีการรับชำระเงินสำหรับค่าสินค้าซึ่งเป็นจุดที่รับรู้ภาษี ถึงแม้ยังไม่ได้มีการส่งมอบสินค้าก็ตาม กิจการก็ต้องออกใบกำกับภาษีให้ลูกค้า กรณีนี้เกิดจากการรับชำระค่าสินค้าใน รูปแบบเงินมัดจำก่อนส่งมอบสินค้า
1.3 การออกใบกำกับภาษีเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าให้แก่ลูกค้าก่อนส่งมอบสินค้า
เมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าให้แก่ลูกค้าก่อนส่งมอบสินค้าซึ่งเป็นจุดที่รับรู้ภาษี ก็ต้องออกใบกำกับภาษีทันทีที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ ถึงแม้ว่ายังไม่มีการส่งมอบสินค้า หรือยังไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าก็ตาม
2. การให้บริการ
ในการให้บริการของกิจการ
มีด้วยกัน 2 กรณี ได้แก่
- การรับชำระค่าบริการก่อนการให้บริการ
- การใช้บริการก่อนการรับชำระค่าบริการ
หลักเกณฑ์การออกใบกำกับภาษีในการให้บริการ
แบ่งออกเป็น 2 กรณี ขึ้นอยู่กับจุดที่รับรู้ภาษี
2.1 การออกใบกำกับภาษีเมื่อมีการรับชำระค่าบริการก่อนการให้บริการ
เป็นการออกใบกำกับภาษีเมื่อมีการรับชำระค่าบริการซึ่งถือเป็นจุดที่รับรู้ภาษี ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้มีการให้บริการ
2.2 การออกใบกำกับภาษีเมื่อมีการใช้บริการก่อนการรับชำระค่าบริการ
เป็นการออกใบกำกับภาษีเมื่อมีการใช้บริการซึ่งถือเป็นจุดที่รับรู้ภาษี ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้มีการรับชำระเงินก็ตาม
ในทางปฏิบัติการออกใบกำกับภาษีในการให้บริการ กิจการมักจะออกใบกำกับภาษีเมื่อรับชำระค่าบริการ โดยไม่ได้คำนึงถึงว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังการให้บริการก็ตาม ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในการออกใบกำกับภาษีในการให้บริการ กิจการควรออกใบกำกับภาษีถึงแม้ว่ากิจการจะยังไม่ได้รับชำระเงิน แต่มีการให้บริการก่อนรับชำระเงิน อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไป การให้บริการและการรับชำระเงินมักจะเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งโดยมากจะเป็นการรับชำระเงิน ก่อนการให้บริการ ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าในการให้บริการ การออกใบกำกับภาษี กิจการจะออกเมื่อมีการรับชำระเงิน
สิ่งที่สำคัญคือผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มต้องทำ ก็คือ การจัดทำทั้งต้นฉบับใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษี ตลอดจนเก็บรักษาเพื่อเป็นหลักฐานประกอบในการยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) โดยเก็บไว้ที่สถานประกอบการหรือสถานที่อื่นที่อธิบดีกำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันที่ได้จัดทำใบกำกับภาษี
“ออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปได้ง่ายๆ ด้วยระบบ PEAK“
ใบกำกับภาษีมีผลกับเรื่องภาษีหรือไม่
ใบกำกับภาษีถือเป็นเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ผู้ประกอบการที่จดทะเบียน VAT มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีให้ลูกค้า และหากไม่ปฏิบัติตามจะมีผลกระทบและบทลงโทษ ดังนี้
- ไม่ออกหรือไม่ส่งมอบใบกำกับภาษี หากผู้ประกอบการไม่จัดทำหรือไม่ส่งมอบใบกำกับภาษี จะมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องเสียเบี้ยปรับอีก 2 เท่าของภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกี่ยวข้อง
- ข้อมูลในใบกำกับภาษีไม่ครบถ้วน หากใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ มีข้อมูลสำคัญไม่ครบถ้วน ผู้ประกอบการจะถูกปรับไม่เกิน 2,000 บาท
- เจตนาหลีกเลี่ยงภาษี การไม่ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้โดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี จะมีโทษจำคุก 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับ 2,000 ถึง 200,000 บาท พร้อมเสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของภาษีที่หลีกเลี่ยง
- ออกเอกสารโดยไม่มีสิทธิ์ หากผู้ประกอบการออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้โดยไม่มีสิทธิ์ จะมีโทษจำคุก 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับ 2,000 ถึง 200,000 บาท ต้องเสียเบี้ยปรับอีก 2 เท่าของภาษีที่ระบุในเอกสาร และเสียเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ค้างชำระ
ใช้ใบกำกับภาษีปลอมหรือไม่ถูกต้อง การนำใบกำกับภาษีปลอมหรือไม่ถูกต้องมาใช้เครดิตภาษี จะมีโทษจำคุก 3 เดือนถึง 7 ปี ปรับ 2,000 ถึง 200,000 บาท และเสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของภาษี พร้อมเสียเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องชำระ
จุดที่ต้องระวังในการออกใบกำกับภาษี
ในการออกใบกำกับภาษีให้ถูกต้องตามมาตรฐานที่กรมสรรพากรกำหนดนั้นมีจุดที่ควรระวัง ดังต่อไปนี้
1. สิทธิ์ในการออกใบกำกับภาษี
สิ่งที่ต้องระวังเป็นอันดับแรกในการออกใบกำกับภาษี หรือ Tax invoice คือ สิทธิ์ในการออกใบกำกับภาษี กิจการใดที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กิจการนั้นสามารถออกใบกำกับภาษีได้ แต่หากกิจการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีการออกใบกำกับภาษี จะถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย
2. ระบุรายละเอียดในใบกำกับภาษีให้ครบถ้วน
ในการออกใบกำกับภาษีนั้น ผู้ประกอบการต้องตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ ให้ถูกต้อง ครบถ้วน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นชื่อที่อยู่ผู้ซื้อสินค้าและบริการ รายละเอียดราคาสินค้าและบริการ เป็นต้น
3. ออกใบกำกับภาษีให้ทันต่อสถานการณ์
ทุกครั้งเมื่อเกิดจุดความรับผิดในการเสียมูลค่าเพิ่ม (Tax Point) ในการขายสินค้าและบริการขึ้นมา ผู้ประกอบการจะต้องมีการออกใบกำกับภาษีเพื่อส่งมอบให้กับผู้ซื้อสินค้าและบริการนั้นทันที หากละเลย หรือฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. ไม่หลงลืมการเสียภาษี
เมื่อมีการออกใบกำกับภาษีจากการขายสินค้าและบริการขึ้นมาแล้วนั้น กิจการต้องไม่ลืมที่จะลงรายงานภาษีขาย และจ่ายภาษีให้ถูกต้องเป็นประจำ มิฉะนั้นจะถือว่ามีความผิดทางกฎหมายเช่นเดียวกัน
5. แสดงความรับผิดชอบต่อลูกค้า
ในกรณีที่ใบกำกับภาษีเกิดมีความผิดพลาดใดๆ ที่ทำให้ต้องมีการแก้ไขข้อมูล หรือยกเลิกใบกำกับภาษีดังกล่าวนั้น กิจการต้องดำเนินการให้เรียบร้อยโดยไม่ขาดตกบกพร่อง
การขายสินค้าและบริการที่ไม่ต้องออกใบกำกับภาษี
ตามปกติแล้วผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อมีการขายสินค้าและบริการ จะต้องมีการออกใบกำกับภาษีทุกครั้ง แต่ในบางกรณีกรมสรรพากรก็มีการยกเว้นเช่นกัน สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่มีการขายสินค้าหรือบริการครั้งละไม่เกิน 1,000 บาท โดยผู้ประกอบการที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องออกใบกำกับภาษีนั้นจะต้องเข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้
- กิจการที่ไม่เคยมีมูลค่าของฐานภาษีในเดือนใดถึง 300,000 บาท
- การขายสินค้าหรือให้บริการที่มีลักษณะเป็นรถเข็น แผงลอย
- การให้บริการงานแสดง การละเล่น การกีฬา การแข่งขัน การประกวดต่างๆ
สรุป
จากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าต้องออกใบกำกับภาษีกิจการก็จะมีความเข้าใจหลักเกณฑ์ในการออกใบกำกับภาษี จุดที่ต้องออกใบกำกับภาษี มีความเข้าใจว่าต้องออกใบกำกับภาษีเมื่อไร ซึ่งมีผลต่อการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มและการบันทึกบัญชีที่ถูกต้องตรงตามงวดเวลาในการขายสินค้าหรือให้บริการ
PEAK โปรแกรมบัญชีที่ช่วยกิจการเตรียมเอกสารทางบัญชีและสร้างเอกสารทางออนไลน์ซึ่งสามารถปรับแต่งได้ในแบบที่คุณต้องการได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นใบเสนอราคา ใบกำกับภาษี ใบแจ้งหนี้ ใบเสร็จรับเงิน ทั้งยังรองรับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์รวมถึงการรับชำระเงินผ่าน QR CODE เมื่อสร้างเอกสารแล้ว ระบบจะบันทึกรายการบัญชีให้โดยอัตโนมัติ ช่วยให้กิจการออกใบกำกับภาษี ได้อย่างถูกต้อง ตรงตามงวดเวลาและยื่นแบบได้ภายในกำหนดเวลา รวมทั้งบันทึกบัญชีได้อย่างครบถ้วนถูกต้อง
ทดลองใช้งานโปรแกรมบัญชี PEAK ฟรี! 30 วัน มูลค่า 1,200 บาท คลิก https://peakaccount.com (ไม่มีค่าใช้จ่าย)
PEAK Call Center : 1485
LINE : @peakaccount
สอบถามเพิ่มเติม
อ้างอิง:
ประเภทของใบกำกับภาษี | กรมสรรพากร – The Revenue Department (rd.go.th)
หลักเกณฑ์การออกใบกำกับภาษี ต้องออกใบกำกับภาษีเมื่อไหร่? หลักเกณฑ์การออกใบกำกับภาษี ต้องออกใบกำกับภาษีเมื่อไหร่? (peakaccount.com),7 ตุลาคม 2564
taxinvoice.pdf (rd.go.th), คู่มือใบกำกับภาษี, กรมสรรพากร