ในการขายสินค้าหรือบริการ ภาระภาษีของผู้ประกอบการที่จด VAT ของแต่ละประเภทกิจการ ไม่ว่าจะเป็น กิจการขายสินค้า กิจการให้บริการ กิจการนำเข้า มีความแตกต่างกัน เมื่อมีภาระภาษี ถือว่ากิจการมีสิทธิและหน้าที่ในการจัดเก็บ VAT จากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
หลักในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT ย่อมาจาก Value Added Tax) เป็นภาษีที่จัดเก็บจากการขายสินค้า หรือการให้บริการ ทั้งที่ผลิตภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ
กิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
1. การขายสินค้าในราชอาณาจักรโดยผู้ประกอบการ
2. การให้บริการในราชอาณาจักรโดยผู้ประกอบการ
ซึ่งครอบคลุมการให้บริการที่ทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการภายในราชอาณาจักร ได้แก่ การให้บริการแพลตฟอร์มโฆษณาออนไลน์ของบริษัทต่างประเทศที่มีการใช้บริการในประเทศไทย เป็นต้น รวมทั้งบริการที่ทำในราชอาณาจักรแต่ใช้บริการในต่างประเทศ ได้แก่ งานรับจ้างเขียนซอฟต์แวร์ในประเทศไทย แต่บริษัทผู้ว่าจ้างเป็นบริษัทต่างชาติซึ่งนำซอฟต์แวร์ไปใช้ในต่างประเทศ
3. การนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผู้นำเข้า
ผู้มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและกำหนดเวลาการจดทะเบียน
หน้าที่ของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
เมื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วผู้ประกอบการมีหน้าที่ดังนี้
1. การเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
2. การออกใบกำกับภาษี เมื่อมีการขายสินค้าและบริการ
3. การจัดทำรายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย รายงานสินค้าและวัตถุดิบ
4. การยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยช่องทางการยื่นแบบและชำระภาษีมีทั้งที่ผ่านอินเทอร์เน็ต ที่สรรพากรสาขา ที่ธนาคารพาณิชย์
จุดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (Tax Point)
Tax Point หมายถึง จุดที่ผู้ประกอบการถูกกำหนดโดยกฎหมายว่ามีภาระภาษีเกิดขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ในการเรียกเก็บ VAT จากผู้ซื้อหรือผู้รับบริการ Tax Point ของกิจการมีความแตกต่างกันไปตามประเภทของกิจการ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทดังนี้
1. ธุรกิจการขายสินค้า
การขาย หมายถึง จำหน่าย จ่าย โอนสินค้า ไม่ว่าจะมีประโยชน์หรือค่าตอบแทนหรือไม่ ธุรกิจขายสินค้าได้แก่
1.1 การขายสินค้าทั่วไป
Tax Point เกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้า ยกเว้นมีการกระทำต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนการส่งมอบสินค้า Tax Point จะเกิดขึ้นทันที
ก. โอนกรรมสิทธิ์สินค้า
ข. ได้รับชำระค่าสินค้า หรือ
ค. ได้ออกใบกำกับภาษี
1.2 การขายสินค้าตามสัญญาเช่าหรือสัญญาซื้อขายผ่อนชำระ ซึ่งกรรมสิทธิ์ของสินค้ายังไม่ได้โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อมีการส่งมอบสินค้า
Tax Point เกิดขึ้นเมื่อถึงกำหนดชำระตามงวดแต่ละงวด ยกเว้นได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนกำหนดชำระราคาแต่ละงวด ให้ถือว่า Tax Point เกิดขึ้นแล้ว
ก. ได้รับชำระค่าสินค้า หรือ
ข. ได้ออกใบกำกับภาษี
1.3 การขายสินค้าโดยมีการแต่งตั้งตัวแทนเพื่อขายและได้มีการส่งมอบสินค้าให้ตัวแทนแล้ว
Tax Point เกิดขึ้นเมื่อตัวแทนได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ ยกเว้นได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนส่งมอบสินค้า ให้ถือว่า Tax point เกิดขึ้นแล้ว
ก. ตัวแทนได้โอนกรรมสิทธิ์สินค้าให้ผู้ซื้อ
ข. ตัวแทนได้รับชำระราคาสินค้า
ค. ตัวแทนได้ออกใบกำกับภาษี หรือ
ง. ได้มีการนำสินค้าไปใช้ไม่ว่าโดยตัวแทนหรือบุคคลอื่น
1.4 การขายสินค้าโดยการส่งออก
Tax Point เกิดขึ้นในแต่ละกรณีดังนี้
ก. การส่งออกสินค้า เมื่อมีการชำระอากรขาออก วางหลักประกันขาออก หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันขาออกเว้นแต่ในกรณีที่ไม่เสียอากรขาออก หรือได้รับการยกเว้นอากรขาออก ให้ถือว่า Tax Point เกิดขึ้นวันที่มีการออกใบขนสินค้าขาออก
ข. กรณีที่มีการส่งออกที่นำสินค้าเข้าไปในเขตปลอดอากร Tax Point เกิดขึ้นเมื่อมีการนำสินค้าใน ราชอาณาจักรเข้าไปในเขตปลอดอากร
ค. กรณีที่มีการส่งออกที่สินค้าอยู่ในคลังสินค้าทัณฑ์บน Tax Point เกิดขึ้นพร้อมกับความรับผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
1.5 การขายสินค้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80(1)/5 โดยภายหลังได้มีการโอนกรรมสิทธิ์สินค้า ซึ่งทำให้ผู้รับโอนสินค้ามีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/1(2) Tax Point เกิดขึ้นเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์สินค้า
2. ธุรกิจบริการ
2.1 การให้บริการทั่วไป
Tax Point เกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการ ยกเว้นได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนชำระค่าบริการ ให้ถือว่า Tax Point เกิดขึ้นแล้ว
ก. ได้ออกใบกำกับภาษี
ข. ได้ใช้บริการนั้น ไม่ว่าจะด้วยตนเองหรือบุคคลอื่น
2.2 การให้บริการตามสัญญาที่กำหนดค่าตอบแทนตามส่วนของบริการ
Tax Point เกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการตามส่วนของบริการที่สิ้นสุดลง ยกเว้นได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนได้รับชำระราคาค่าบริการตามส่วนของบริการที่สิ้นสุดลงให้ถือว่า Tax Point เกิดขึ้นแล้ว
ก. ได้ออกใบกำกับภาษี หรือ
ข. ได้ใช้บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่น
2.3 การให้บริการที่ทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการในประเทศไทย
Tax Point ทั้งหมดหรือบางส่วนเกิดขึ้นเมื่อมีการชำระค่าบริการทั้งหมด หรือบางส่วน แล้วแต่กรณี
2.4 การให้บริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 (ตามมาตรา 80/1(5)) และในภายหลังมีการโอนสิทธิในบริการให้แก่ผู้รับโอนสิทธิในบริการที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (ตามมาตรา 82/1(2))
Tax Point เกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระค่าบริการกรณีที่รับชำระราคาค่าบริการ
ข้อสังเกต
คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.51/2537 กรณีกิจการขายสินค้าได้รับชำระค่าสินค้าด้วยเช็ค ซึ่งเช็คลงวันที่ก่อน ส่งมอบสินค้าหรือก่อนโอนกรรมสิทธิ์สินค้า หรือเป็นกิจการให้บริการ Tax Point คือวันที่ที่ลงในเช็ค โดย ผู้ประกอบการต้องออกใบกำกับภาษีและใบรับตามวันที่ที่ลงในเช็ค
กรณีกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ ได้รับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยเช็ค ที่ได้รับมอบเช็คลงวันที่ที่ผ่านมาแล้ว ให้ผู้ประกอบการออกใบกำกับภาษีและใบรับตามวันที่ที่ลงในเช็คใบนั้น ยกเว้นในกรณีดังต่อไปนี้ ให้ออกใบกำกับภาษีและใบรับตามวันที่ที่ได้รับมอบเช็คนั้น
ก. กรณีรัฐบาล องค์การรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เป็นผู้ออกเช็ค
ข. กรณีผู้ออกเช็คเป็นบุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งได้ออกเอกสารรับรองว่าได้มีการส่งมอบเช็คให้แก่ผู้ประกอบการในวันเดือนปีใด และได้ส่งมอบเอกสารดังกล่าวในวันเดียวกันกับที่ส่งมอบเช็ค โดยผู้ประกอบการต้องมีเอกสารดังกล่าวพร้อมให้เจ้าหน้าที่สรรพากรตรวจสอบได้ทันที
3. ธุรกิจนำเข้า
3.1 การนำเข้าสินค้าทั่วไป
Tax Point เกิดขึ้นเมื่อมีการชำระอากรขาเข้า วางหลักประกันอากรขาเข้า หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันอากรขาเข้า ยกเว้นกรณีไม่ต้องเสียอากรขาเข้า Tax Point เกิดขึ้นในวันที่มีการออกใบขนสินค้าของกรมศุลกากร
3.2 การนำเข้าสินค้าในราชอาณาจักรเข้าไปในเขตปลอดอากร แล้วนำสินค้าออกจากเขตปลอดอากร โดยมิใช่เพื่อการส่งออก
Tax Point เกิดขึ้นในวันที่นำสินค้านั้นออกจากเขตปลอดอากร โดยมิใช่เพื่อการส่งออก
3.3 การนำเข้าสินค้าในกรณีของตกค้างตามกฎหมายศุลกากร
Tax Point เกิดขึ้นเมื่อทางราชการได้ทำการขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่น เพื่อนำเงินดังกล่าวมาชำระภาษี ค่าเก็บรักษา ค่าขนย้าย หรือค่าภาระติดพันตามวิธีการตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
3.4 การนำเข้าสินค้าที่ได้รับยกเว้นอากรว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ถ้าภายหลังสินค้านั้นต้องเสียอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ทำให้มีผู้ที่มีความรับผิดตามกฎหมายดังกล่าวหรือผู้รับโอนสินค้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
Tax Point เกิดขึ้นพร้อมกับความรับผิดตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร
4. การขายสินค้าหรือให้บริการอื่นๆ ดังต่อไปนี้
4.1 การขายกระแสไฟฟ้า น้ำประปา หรือสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน
Tax Point เกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระค่าสินค้า หรือถ้ามีการออกใบกำกับภาษีก่อนการได้รับชำระค่าสินค้า ให้ Tax Point จะเกิดขึ้นเมื่อออกใบกำกับภาษี
4.2 การขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่าง เช่น สิทธิในสิทธิบัตร กู๊ดวิลล์ เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ สัมปทาน ค่าสิทธิ หรือการขายสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน หรือการขายสินค้าที่ไม่สามารถกำหนดได้แน่นอนว่ามีการส่งมอบเมื่อใด
Tax Point เกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาสินค้ายกเว้นได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนได้รับชำระค่าสินค้า ให้ถือว่า Tax Point เกิดขึ้นแล้ว
ก. โอนกรรมสิทธิ์สินค้าหรือ
ข. ได้ออกใบกำกับภาษี
4.3 การขายสินค้าหรือให้บริการด้วยเครื่องอัตโนมัติ โดยการชำระค่าสินค้าและบริการ โดยการหยอดเหรียญ หรือบัตรหรือในลักษณะทำนองเดียวกัน
Tax Point เกิดขึ้นเมื่อได้นำเหรียญ บัตร หรือสิ่งอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันออกจากเครื่องอัตโนมัติ
4.4 การขายสินค้าโดยชำระค่าสินค้าด้วยบัตรเครดิต หรือในลักษณะทำนองเดียวกัน
Tax Point เกิดขึ้นเมื่อส่งมอบสินค้า ยกเว้นได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ให้ถือว่า Tax Point เกิดขึ้นเมื่อได้กระทำการนั้นๆ ดังต่อไปนี้
ก. โอนกรรมสิทธิ์สินค้า
ข. เมื่อมีการออกหลักฐานการใช้บัตรเครดิต หรือ
ค. ได้ออกใบกำกับภาษี
4.5 การให้บริการโดยการชำระราคาค่าบริการด้วยการใช้บัตรเครดิตหรือในลักษณะทำนองเดียวกัน
Tax Point เกิดขึ้นเมื่อมีการออกหลักฐานการใช้บัตรเดรดิต ยกเว้นได้มีการออกใบกำกับภาษีก่อนการออกหลักฐานการใช้บัตรเครดิตก็ให้ Tax Point เกิดขึ้นเมื่อได้ออกใบกำกับภาษีนั้น
4.6 การขายสินค้าตามสัญญาจะขายสินค้า ตามมาตรา 77/1 (8) (ก)
Tax Point เกิดขึ้นเมื่อส่งมอบสินค้า ยกเว้นได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นให้ถือว่า Tax Point เกิดขึ้นเมื่อได้กระทำการนั้นๆ ดังต่อไปนี้
ก. โอนกรรมสิทธิ์สินค้า
ข. ได้รับชำระราคาสินค้า หรือ
ค. ได้ออกใบกำกับภาษี
4.7 การนำเข้าสินค้าโดยผู้ประกอบการ โดยนำสินค้าไปใช้โดยตนเองหรือบุคคลอื่น ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อการประกอบกิจการโดยตรง
Tax Point เกิดขึ้นเมื่อนำสินค้าไปใช้หรือส่งมอบสินค้าให้บุคคลอื่นไปใช้
4.8 ในกรณีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ
Tax Point เกิดขึ้นเมื่อมีการตรวจพบ
4.9 ในกรณีผู้ประกอบการมีสินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการมีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันที่เลิกประกอบกิจการ
Tax Point เกิดขึ้นเมื่อเลิกประกอบกิจการหรือแจ้งเลิกประกอบกิจการ ยกเว้นผู้ประกอบการได้รับอนุญาตให้ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ต่อไปอีกเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีการหยุดประกอบกิจการ ให้Tax Point เกิดขึ้นเป็นไปตามมาตรา 78 ตามประมวลรัษฎากร
4.10 ในกรณีผู้ประกอบการมีสินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สิน ที่ผู้ประกอบการมีไว้ในการประกอบกิจการ
Tax Point เกิดขึ้นแล้วแต่กรณีใดดังต่อไปนี้
ก. ณ วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม Tax Point จะเกิด ณ วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข. ณ วันที่ได้รับแจ้งการเพิกถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม Tax Point จะเกิด ณ วันที่ได้รับแจ้งการเพิกถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ยกเว้นผู้ประกอบการได้รับอนุญาตให้ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ต่อไปอีกเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีการหยุดประกอบกิจการให้ Tax Point เป็นไปตามมาตรา 78 ตามประมวลรัษฎากร
จากรายละเอียดของจุดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มดังที่กล่าวมา จะช่วยให้ผู้ประกอบการกิจการที่จดVAT มีความเข้าใจและนำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติที่ถูกต้องกับประเภทของกิจการ
ติดตามความรู้ทางบัญชี ภาษี ได้ที่ บทความ – PEAK Blog (peakaccount.com)
PEAK โปรแกรมบัญชีออนไลน์ ช่วยผู้ประกอบการจัดทำบัญชีและภาษีได้อย่างมืออาชีพ ให้ธุรกิจก้าวไปสู่ความสำเร็จกับโปรแกรมบัญชี PEAK
ทดลองใช้งานโปรแกรมบัญชี PEAK ได้ที่ https://peakaccount.com
สอบถามเพิ่มเติม คลิก https://m.me/peakengine
อ้างอิง:
มาตรา 77_79 | กรมสรรพากร – The Revenue Department (rd.go.th)
จุดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (TAX POINT) (greenprokspforsme.com)