ภาษีมูลค่าเพิ่ม คืออะไร
วันนี้เราจะมาดูกันที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT (Value Added Tax) หนึ่งในภาษีที่หลายคนไม่ชอบมากที่สุด แล้วภาษีมูลค่าเพิ่มนี้เป็นหนึ่งในรายได้หลักของภาครัฐด้วย วันนี้ PEAK ขอใช้ภาษาบ้านๆ มาเล่าเรื่องนี้อย่างง่ายๆ ให้ทุกคนทำความเข้าใจว่าภาษีมูลค่าเพิ่มคืออะไร โดยไม่ต้องใช้ภาษากฎหมายนะครับ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม คืออะไร?
ภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ภาษีที่เก็บจากมูลค่าการซื้อขายหรือการให้บริการและสินค้านำเข้า โดยกรมสรรพากรเป็นผู้รับผิดชอบในการเก็บภาษีนี้ ซึ่งอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 10% แต่มีการออกกฎหมายพิเศษลดลงมาเหลือ 7% และใช้วิธีต่ออายุแบบรายปี
ใครต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม (จด VAT)
กฎหมายกำหนดเอาไว้ว่าภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ภาษีที่ผู้ขายสินค้าหรือให้บริการที่มีการขายสินค้าหรือบริการเกิน 1.8 ล้านบาท / ปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
– จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบบริษัทหรือไม่?
ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบบริษัท ไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล หากรายได้จากการประกอบธุรกิจเกินกว่า 1.8 ล้านบาท การจดภาษีมูลค่าเพิ่ม คือสิ่งที่ไม่ควรลืม
– VATเก็บจากใคร? ใครจ่าย?
VATเป็นภาษีที่เรียกเก็บจากผู้บริโภค “ผู้บริโภคเป็นคนจ่ายภาษี” คนขายหรือผู้ให้บริการไม่ต้องจ่าย VAT นี้
– แล้วใครถือเป็นผู้บริโภค?
เพื่อเข้าใจง่ายๆ ผู้บริโภคก็คือคนที่ไม่ได้จด VAT นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นคนทั่วไป พนักงานบริษัท และรวมไปถึงบริษัทห้างร้านที่ไม่ได้จด VAT ด้วย
– ใครเป็นผู้ขายหรือผู้ให้บริการ?
ผู้ขายหรือผู้ให้บริการที่ไม่ต้องเสีย VAT นี้ คือผู้ขายหรือผู้ให้บริการที่จด VAT แล้วนั่นเอง ซึ่งเป็นได้ทั้งรูปแบบบุคคลธรรมดา เช่น ร้านค้าข้างทางหรือพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ไม่ได้เปิดบริษัท แต่ว่ายอดขายเกิน 1.8 ล้านบาทก็ต้องจด VAT
ภาษีมูลค่าเพิ่มใครเก็บ
ในข้อที่แล้วก่อนหน้านี้จะเห็นได้ว่า VAT จะถูกเก็บจากผู้บริโภค และคนที่มีหน้าที่เก็บVATก็คือ ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่จด VAT แล้วนั้นเอง
ภาษีขาย คือ
ภาษีขาย คือ VAT ที่เก็บจากลูกค้า และกิจการ ต้องนำส่งให้กรมสรรพากร โดยกิจการจะเรียกเก็บ VAT รวมกับค่าสินค้าหรือบริการ (ราคารวมภาษี) หรือจะแยกเก็บภาษี (ราคาแยกภาษี) ก็ได้
ราคารวมภาษี มักจะนิยมใช้กันในธุรกิจแบบ B2C หรือธุรกิจที่ขายสินค้าหรือบริการให้บุคคลทั่วไป เพราะบุคคลทั่วไป มักมองค่าสินค้าและบริการ รวมกันเป็นค่าใช้จ่ายของเขาทั้งหมด ส่วน ราคาแยกภาษี มักนิยมใช้กันในธุรกิจแบบ B2B หรือธุรกิจที่ขายสินค้าหรือบริการให้ภาคธุรกิจด้วยกัน เพราะลูกค้าในภาคธุรกิจจะมองต่างจากบุคคลทั่วไป คือไม่ได้มอง VAT เป็นค่าใช้จ่าย หรือต้นทุนที่รวมในสินค้า/บริการ เพราะในภาคธุรกิจลูกค้ามักจด VAT และสามารถขอ VAT ซื้อคืนได้
หลายคนอาจเข้าใจผิด ว่า VAT คือเงินของกิจการเรา แต่แท้จริงแล้ว VAT ที่กิจการเรียกเก็บจากลูกค้า “ไม่ใช่” เงินของกิจการ และ “ไม่ใช่” รายได้ของกิจการเลยครับ แต่เป็นเงินของรัฐบาลที่ฝากกิจการเก็บให้ ดังนั้นใจเย็นๆ อย่าดราม่า คิดว่าจะต้องเสียภาษีให้รัฐทุกเดือน เพราะ VAT ไม่ใช่เงินเรานะ
ภาษีซื้อ คือ
ภาษีซื้อ คือ VAT ที่ผู้ขายสินค้า/บริการเก็บจากเรา (กิจการผู้ซื้อ) และสามารถนำไปขอคืน หรือนำไปหัก กับภาษีขายได้
ภ.พ. 30 คือ?
ภ.พ. 30 คือ แบบแสดงรายการสรุปสำหรับภาษีซื้อและภาษีขาย เพื่อนำข้อมูลส่วนนี้ส่งไปยังกรมสรรพากรโดยต้องนำส่งทุกเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป หรือจะยื่นผ่านออนไลน์ก็ได้เช่นกัน ซึ่งการยื่นแบบ ภ.พ. 30 นี้ จะเป็นการรวบรวมกิจกรรมการซื้อขายทุกอย่างที่เกิดขึ้นภายในเดือนแต่ละเดือน ซึ่งถ้าหากไม่มียอดซื้อขายเลย ก็สามารถนำส่งแบบเปล่าได้
การยื่น ภ.พ. 30 ต้องเตรียมอะไรบ้าง
การเตรียมตัวและเตรียมเอกสารสำหรับยื่น ภ.พ. 30 นั้น ต้องมีการจัดเก็บเอกสารใบกำกับภาษีซื้อตัวจริง และสำเนาใบกำกับภาษีขายในแต่ละเดือน เพื่อนำมาทำเป็นรายงานภาษีซื้อและภาษีขาย แล้วการนำส่งสรรพากรนั้นจะต้องทำเอกสาร 2 ชิ้นด้วยกัน นั่นคือ ภ.พ. 30 และใบแนบ ภ.พ. 30 ซึ่งคือรายละเอียดภาษีซื้อและภาษีขายในรอบเดือนนั้นๆ
ต้องยื่น VAT ภายในเมื่อไร
กิจการที่จด VAT ต้องยื่นภาษีภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป เช่น ถ้ามีรายการซื้อขายสินค้า/บริการที่มี VAT เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน กิจการจะต้องยื่นแบบภาษีภายในวันที่ 15 ของเดือนกรกฎาคม และหากวันที่ 15 ของเดือนกรกฎาคมตรงกับวันหยุด ก็ยื่นแบบภาษีได้จนถึงวันทำการถัดไปครับ และหากกิจการไหนที่จดทะเบียนยื่นแบบภาษีผ่านทางอินเตอร์เน็ต ก็จะมีกำหนดเวลาในการยื่นภาษีมากกว่าปกติ เพิ่มอีก 8 วันด้วย
ต้องจ่าย VAT เท่าไร
– ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่งให้กับสรรพากร คือ “ภาษีขาย หักด้วย ภาษีซื้อ” หรือก็คือจำนวนที่เราต้องนำส่ง (ภาษีขาย) หักด้วยจำนวนที่เราต้องขอคืนจากสรรพากร (ภาษีซื้อ)
– ถ้า ภาษีขาย > ภาษีซื้อ ให้คุณนำส่งภาษีให้สรรพากร เท่าส่วนต่างระหว่างภาษีขาย กับภาษีซื้อ
– แต่ถ้า ภาษีซื้อ > ภาษีขาย คุณสามารถขอคืนส่วนต่างระหว่างภาษีขาย กับภาษีซื้อได้ (ขอคืน) หรือจะนำภาษีที่สามารถขอคืนนี้ไปใช้ได้ในเดือนถัดไปก็ได้ (ไม่ขอคืน)
รายงานภาษีหน้าตาอย่างไร
ตัวอย่างหน้ารายงานภาษีซื้อ ภาษีขาย: คุณสามารถออกรายงานภาษีซื้อขายได้อย่างง่ายดาย โดย PEAK จะจัดทำรายงานภาษีซื้อขายให้เองโดยอัตโนมัติ ถูกต้องตามสรรพากรกำหนด เปรียบดั่งนักบัญชีมืออาชีพ และถ้าคุณไม่อยากยุ่งเรื่องภาษี ทาง PEAK ก็มีบริการอื่น ช่วยให้คุณเตรียมภาษีต่างๆ ทั้ง VAT, ภาษีหัก ณ ที่จ่าย, ภาษีเงินได้, ประกันสังคม และการจัดทำบัญชีครบวงจร