tax-full-invoice

ใบกำกับภาษีเต็มรูป คือใบกำกับภาษีแบบที่เรามักจะได้ยินกัน เป็นใบกำกับภาษีแบบที่ผู้ซื้อสามารถนำไปใช้เป็นภาษีซื้อได้ คือต้องมีรายละเอียดที่ครบถ้วนตามข้อความสำคัญในใบกำกับภาษี (ม. 86/4) ซึ่งประกอบไปด้วย 7 ส่วน ลองดูตัวอย่างใบกำกับภาษีตามรูปด้านล่างนี้ได้เลยครับ

ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ
ตัวอย่างใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบ
  1. ต้องมีคำว่า “ใบกำกับภาษี” ที่เห็นได้ชัดเจน : การแสดงความ “ใบกำกับภาษี” นั้น จะแสดงเป็นใบกำกับภาษี อย่างเดียวก็ได้ หรือใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี หรือออกพร้อมกับเอกสารอื่นๆก็ได้
    1. หากมีการออกเอกสารเป็นชุด มีเอกสารหลายฉบับในชุดเดียวกัน จะต้องมีข้อความว่า “เอกสารออกเป็นชุด” แสดงในใบกำกับภาษี หรือสำเนาใบกำกับภาษีนั้นด้วย
    2. หากมีการออกสำเนาของใบกำกับภาษี จะต้องมีคำว่า “สำเนาใบกำกับภาษี” แสดงบนสำเนาใบกำกับภาษีด้วย
  2. ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวภาษีอากร สาขา หรือสำนักงานใหญ่ของผู้ที่ออกใบกำกับภาษี (ผู้ขายสินค้า/ให้บริการ)
    1. จะต้องเป็นชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวภาษีอากร ตามใบ ภ.พ.20 หรือเอกสารที่รับรองการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม
    2. หากเป็นสำนักงานใหญ่ จะต้องแสดงข้อความว่า “สนญ”,”HQ”, หรือ “สาขา 00000” (เลขห้าหลัก)
    3. หากเป็นสาขา จะต้องแสดงข้อความว่า “สาขาที่…” หรือ “สาขา….” ตามดัวเลขสาขา 5 หลัก เช่น 00001 เป็นต้น
  3. ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวภาษีอากร สาขา หรือสำนักงานใหญ่ของผู้ที่รับใบกำกับภาษี (ผู้ซื้อสินค้า/รับบริการ)
    1. หากเป็นสำนักงานใหญ่ จะต้องแสดงข้อความว่า “สนญ”,”HQ”, หรือ “สาขา 00000” (เลขห้าหลัก)
    2. หากเป็นสาขา จะต้องแสดงข้อความว่า “สาขาที่…” หรือ “สาขา….” ตามดัวเลขสาขา 5 หลัก เช่น 00001 เป็นต้น
    3. ประเด็นด้าน เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลข 13 หลัก) ของผู้รับใบกำกับภาษี มีแนวทางปฏิบัติดังนี้
      1. ถ้าผู้รับใบกำกับภาษี (ลูกค้า/ผู้ซื้อ/ผู้รับบริการ) ไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ไม่ได้จด VAT) ผู้ออกใบกำกับภาษี (ผู้ขาย) ไม่จำเป็นต้องใส่ข้อมูลเลข 13 หลักของผู้ซื้อก็ได้
      2. ถ้าผู้ขาย แจ้งให้กับผู้ซื้อ แล้วว่าต้องการทราบเลข 13 หลักของลูกค้า แต่ลูกค้าไม่ได้แจ้งว่าเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษี หรือแค่ไม่แจ้งเลข 13 หลักให้ทราบ การที่ผู้ขายไม่ได้ใส่เลข 13 หลักลงไปในใบกำกับภาษี ก็ถือว่าไม่ได้ตั้งใจออกใบกำกับภาษีไม่ถูกต้อง ไม่ได้มีความผิดแต่อย่างใด
      3. ใบกำกับภาษีที่ไม่มีข้อมูลเลข 13 หลักของผู้ซื้อ ผู้ซื้อไม่สามารถนำใบกำกับภาษีนั้น ไปใช้เป็นภาษีซื้อได้ แม้ว่าจะเป็นผู้ซื้อจะจด VAT ก็ตาม
      4. ลูกค้าที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษี ไม่มีความจำเป็นต้องแจ้งเลข 13 หลักให้กับผู้ซื้อ
  4. หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี
    1. ใบกำกับภาษี จะต้องมีเลขที่ด้วย ถ้าไม่มีเลขที่ จะไม่สามารถนำมาใช้เป็นภาษีซื้อได้ และการออกใบกำกับภาษีที่ไม่มีเลขที่นั้น ผู้ออกใบกำกับภาษีมีความผิดฐานออกใบกำกับภาษีไม่ครบถ้วนด้วย โดยจะมีโทษปรับ 2,000 บาทเลยทีเดียว
  5. ชื่อ ชนิด ประเภท และมูลค่าของสินค้า หรือบริการ
    1. ต้องมีบอกว่าสินค้า/บริการแต่ละชนิดนั้น เป็นสินค้าที่ต้องเสียภาษี หรือไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
    2. ต้องมีข้อมูลรายการสินค้า/บริการ ในใบกำกับภาษี หมายความว่า ไม่สามารถใช้ใบวางบิล ที่มีแค่ข้อมูลรายการใบแจ้งหนี้ที่รอรับชำระ มาเป็นใบกำกับภาษีได้ เนื่องจากข้อมูลไม่ครบถ้วน
  6. จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้า หรือบริการที่แสดงอย่างชัดเจน
  7. วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
    1. วัน เดือน ปี ที่แสดง จะต้องเป็นวัน เดือน ปี ที่เกิดจุดรับรู้ภาษีมูลค่าเพิ่ม
    2. ปีที่ใช้ จะเป็น ค.ศ. หรือ พ.ศ. ก็ได้

วิธีในการจัดทำใบกับกับภาษีแบบเต็มรูป

  1. เป็นภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษได้ แต่ถ้าจะเป็นภาษาอื่นต้องขออนุญาตจากกรมสรรพากรก่อน
  2. เป็นเงินบาท แต่ถ้าจะเป็นค่าเงินอื่นต้องขออนุญาตจากกรมสรรพากรก่อน
  3. จะต้องมีรายการครบถ้วนทั้ง 7 ข้อตามองค์ประกอบด้านบน
  4. ใบกำกับภาษีจะต้องไม่มีการแก้ไข เปลี่ยนแปลง หากมีการแก้ไข ภาษีซื้อจะกลายเป็นภาษีซื้อต้องห้าม

อาจจะดูว่ามีเรื่องที่ต้องพิจารณาเยอะในการออกใบกำกับภาษี แต่ถ้าต้องการออกใบกำกับภาษีอย่างง่าย และถูกต้อง คุณสามารถใช้โปรแกรมบัญชี PEAK ในการออกใบกำกับภาษีให้กับลูกค้าของคุณง่ายดาย และถูกต้อง ทดลองได้เลยฟรี 30 วัน คลิกเลย!! รวมถึงสามารถออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกก็ได้ด้วย

หวังว่าในบทความนี้คุณผู้อ่านจะได้เข้าใจมากขึ้นว่า ใบกำกับภาษีเต็มรูปที่ถูกต้องประกอบด้วยข้อมูลอะไรบ้าง และผู้ประกอบการทุกท่านจะออกไม่ผิดกัน สำหรับความรู้อื่นๆเกี่ยวกับใบกำกับภาษี สามารถดูได้ที่ด้านล่างนี้