biz-financialplanning-businessgrowth

ปัจจุบันหลายๆ คนมีความฝันที่อยากจะมีธุรกิจเป็นของตนเอง โดยเฉพาะในยุคดิจิทัล ที่เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยให้การดำเนินการต่างๆ เป็นเรื่องง่ายขึ้น  แต่สิ่งสำคัญที่มักจะเป็นปัญหากัผู้ที่ไม่มีความรู้ ความเข้าใจที่เพียงพอ ก็คือเรื่องของการวางแผนทางการเงินว่าจะทำให้ธุรกิจหรือกิจการของเรามีสภาพคล่องในระยะยาว และสามารถรับมือกับความเสี่ยงที่อาจขึ้นในอนาคตได้ ดังนั้นก่อนท่จะเริ่มประกอบธุรกิจ จะต้องมีการวางแผนทางการเงินเป็นอย่างดี

ปัญหาที่พบโดยทั่วไปของผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ประกอบการรายใหม่ คือ การขาดระบบบัญชีและงบการเงินที่ถูกต้องน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการจัดการด้านการเงิน และสามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการติดสินใจทางธุรกิจได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ไม่สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน หรืออาจทำให้ขาดคุณสมบัติที่จะได้รับการส่งเสริมตามาตรการของภาครัฐ ได้ ดังนั้นการประกอบธุรกิจจึงต้องการจัดการเรื่องการเงินการลงทุนอย่างถูกต้อง ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบัญชี และการทำธุรกรรมทางการเงินการจัดเก็บเอกสารเกี่ยวกับบัญชีภาษี และการบันทึกบัญชีรับ – จ่าย เป็นต้น

การวางแผนการเงิน คืออะไร

การวางแผนทางการเงินสำหรับธุรกิจ เป็นการบริหารจัดการเงินทุน เพื่อสร้างมูลค่าของกิจการให้อยู่ในระดับสูงสุด รวมถึงการวางแผนบริหารจัดการกิจกรรมต่าง ๆ ทางธุรกิจที่ล้วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของเงินทุน ทั้งการได้มาหรือใช้ไปของเงินทุน เช่น การซื้อเครื่องจักรใหม่ การกู้เงินจากธนาคาร การเพิ่มทุน  เป็นต้น

การวางแผนการเงิน ช่วยธุรกิจ SMEs ได้อย่างไร ?

การวางแผนการเงินธุรกิจมีความสำคัญในธุรกิจทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง หรือแม้กระทั่งธุรกิจ SMEs จะขาดการวางแผนเรื่องการเงินไปไม่ได้ หากกิจการมีการบริหารจัดการทางการเงินที่ดี ก็เป็นเหมือนฐานรากที่แข็งแกร่งที่จะส่งผลให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปได้อย่างมั่นคง แข็งแรง

สัญญาณอันตราย ปัญหาทางการเงินของธุรกิจ

ในการวางแผนธุรกิจ แน่นอนว่าวัตถุประสงค์ของหลายๆ กิจการก็คงไม่แตกต่างกันมากนักก็คือ การแสวงหาผลกำไรที่สูงที่สุด แต่หลายๆ ครั้งจะพบสัญญาณที่บ่งบอกว่าแผนธุรกิจที่ได้กำหนดไว้เพื่อสร้างผลกำไรให้กับกิจการนั้น นอกจากจะไม่ประสบความสำเร็จแล้ว ยังทำให้ประสบปัญหาทางด้านการเงินอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น

1. การเร่งทำกำไรมากเกินไปด้วยการลงทุนวิธีการต่างๆ ซึ่งแต่ละการลงทุนนั้นย่อใมีความเสี่ยง หากเลือกลงทุนผิดวิธี ย่อมก่อให้เกิดปัญหาทางการเงินอย่างแน่นอน ฉะนั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางการเงิน ผู้ประกอบการจึงควรคิดไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนลงทุนทุกครั้ง

2. กำไรขั้นต้นลดต่ำ กำไรจะเป็นตัวใช้วัดความสามารถในการจัดการค่าใช้จ่ายของธุรกิจ ซึ่งหากธุรกิจมีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูง นั่นแสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพในการทำกำไรของธุรกิจเป็นไปในทิศทางที่ดี แต่หากเมื่อใดที่อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจต่ำลง นั่นเป็นสัญญาณเตือนว่าธุรกิจอาจประสบปัญหาทางการเงินได้

3.  อัตราการเติบโตของยอดขายลดลง แม้ยอดขายจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ชะล่าใจไม่ได้ เพราะเจ้าของธุรกิจต้องคอยตรวจสอบอยู่เสมอว่าอัตราการเติบโตของยอดขายเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมามากน้อยเพียงใด หากอัตราการเติบโตของยอดขายโตน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ต้องจับตามองเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้ธุรกิจเกิดปัญหาทางการเงิน

4.  ธุรกิจได้กำไร แต่กระแสเงินสดติดลบ สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหานี้ คือ การขาดคนที่มีความเข้าใจด้านการเงินมาช่วยวิเคราะห์ตัวเลขทางการเงินของธุรกิจ จึงทำให้ผู้ประกอบการขาดการเตรียมพร้อมในการรับมือกับปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ในกิจการจึงควรเตรียมความพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ด้วย

สัญญาณอันตราย ปัญหาทางการเงินของธุรกิจ

กลยุทธ์วางแผนการเงิน สำหรับธุรกิจ SMEs

            เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ธุรกิจเกิดปัญหาทางการขาดสภาพคล่อง จึงควรมีการวางแผนการเงินการลงทุนตั้งแต่แรก ซึ่งหลักในการวางแผนบริหารจัดการการเงินของกิจการนั้นก็มีอยู่หลายประการด้วยกัน ได้แก่

วางแผนบริหารกระแสเงินสด

ในการวางแผนบริหารจัดการกระแสเงินสด ปัญหาสำคัญคือ เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ารายได้ที่เข้ามานั้นยังมีภาระที่ต้องจ่ายแฝงอยู่ด้วย เช่น รายจ่ายที่จำเป็น หนี้สินธุรกิจที่ต้องชำระ หรือค่าใช้จ่ายต่างๆ ในบริษัท ทำให้ไม่ทราบตัวเลขกระแสเงินสดที่แท้จริง มีผลทำให้การตัดสินใจใช้เงินค่อนข้างยาก และอาจผิดพลาดได้

การจะวางแผนบริหารกระแสเงินสดได้ดีนั้น ต้องมีการตรวจสอบกระแสเงินสดเข้า-ออกของกิจการ เพื่อให้รู้ว่าธุรกิจมีรายรับและรายจ่ายจากช่องทางไหนบ้าง โดยกระแสเงินสดเข้าหรือเงินสดรับ มาจากการขายสินค้า การขายสินทรัพย์ การขายเครื่องมือ การขายของเก่า การให้บริการ หรือการกู้เงินจากธนาคาร เป็นต้น  ส่วนกระแสเงินสดออก หรือการจ่ายเงิน เกิดเมื่อมีการนำเงินไปชำระค่าใช้จ่ายประจำวัน เช่น การซื้อสินค้าเข้ามาขาย การจ่ายค่าโฆษณา การจ่ายเงินเดือน เป็นต้น

สิ่งที่ผู้ประกอบการ SMEs  ควรทำคือ บริหารจัดการกระแสเงินสดอย่างถูกต้องแม่นยำเพื่อสามารถวางแผนบริหารจัดการเงินได้อย่างเป็นระบบ

ประเมินความเสี่ยงธุรกิจ

ความเสี่ยงเป็นสิ่งที่จะต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ผู้ประกอบจะต้องวิเคราะห์สถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง และเตรียมแนวทางแก้ปัญหา เพื่อให้ผลกระทบต่อกิจการน้อยที่สุด เช่น  มีการสั่งซื้อสินค้าจำนวนมากโดยไม่ทราบล่วงหน้า   ลูกค้ามีปัญหาและยกเลิกการสั่งซื้อกระทันหัน เป็นต้น  ผู้ประกอบการจะต้องมีมาตรการรับมือและบริหารจัดการที่ดี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อเนื่องในระยะยาว

สำรองเงินไว้เสมอ

เงินทุนหมุนเวียน หรือเงินทุนสำรอง คือความมั่นคงพื้นฐานของธุรกิจ สิ่งที่ผู้ประกอบการ SMEs ควรพิจารณา คือ ต้องเตรียมเงินทุนหมุนเวียนเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมกับแต่ละธุรกิจ นอกจากนี้ในการประกอบธุรกิจ อาจเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติภัย หรือสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง ดังนั้นผู้ประกอบการควรเตรียมเงินสำรองเอาไว้เสมอ หากกระแสเงินสดเกิดติดลบ ก็ยังมีเงินเอาไว้หมุนเวียนในธุรกิจ และเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อประคับประคองธุรกิจให้ดำเนินต่อไปได้ แต่หากกระแสเงินสดไม่มีเพียงพอ อาจจะต้องหาแหล่งกู้ยืมจากแหล่งต่าง ๆ ต่อไป

สิ่งที่ผู้ประกอบการควรทราบอีกอย่างหนึ่งคือ เงินสำรองมีน้อยก็เสี่ยง มีมากเกินไปก็ไม่ดี เพราะอาจเสียโอกาสที่จะนำเงินไปสร้างผลตอบแทนในด้านอื่น ๆ ดังนั้นจึงต้องประเมินการสำรองเงินไว้อย่างเหมาะสม

จัดเตรียมแหล่งเงินทุน

ในกรณีที่ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทางบริษัทก็จำเป็นจะต้องมองหาแหล่งเงินทุนภายในนอกเข้ามาช่วยผ่านการขอสินเชื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อ SMEs สินเชื่ออเนกประสงค์ สินเชื่อหุ้นค้ำประกัน  เป็นต้น  โดยแหล่งเงินทุนที่กิจการจะนำมาช่วยเสริมสภาพคล่องให้กิจการนั้น ควรเป็นแหล่งเงินทุนที่มีความน่าเชื่อถือเป็นสำคัญ

การบริหารจัดการลูกหนี้และเจ้าหนี้

การบริหารจัดการลูกหนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ ผู้ประกอบการควรมีวิธีจัดการเรียกเก็บเงินจากลูกหนี้ให้ได้เร็วที่สุด  โดยควรหาแรงจูงใจเพื่อให้ลูกหนี้ชำระเงินให้เร็วขึ้น มีการติดตามทวงหนี้อย่างสม่ำเสมอ และสำหรับหากกิจจการอยู่ในฐานะลูกหนี้ก็ควรชำระเงินให้ตรงตามเวลา ไม่ผัดผ่อนหนี้ เพื่อสร้างเครดิตให้เป็นที่น่าเชื่อถือ

การบริหารทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้งาน

หากธุรกิจของคุณมีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว หรือมีสินค้าค้างสต็อกเป็นจำนวนมาก ควรจำหน่ายทรัพย์สินเหล่านี้เป็นตัวเงินมากกว่าจะทิ้งให้เป็นสินค้าค้างสต็อก เพราะยิ่งเก็บนานวัน สินค้าก็ยิ่งเก่า  และมูลค่าจะลดลงตามไปด้วย 

มีการจัดเก็บข้อมูลให้เป็นระบบ

สำหรับการจัดเก็บข้อมูลทางการเงินที่ดีคือ การมีระบบบัญชีที่ถูกต้อง มีการจัดเก็บเอกสารและข้อมูลต่าง ๆ อย่างมีมาตรฐาน จะช่วยให้ไม่ต้องคอยกังวลเรื่องภาษีและการตรวจสอบย้อนหลัง ยังป้องกันการทุจริตได้ ช่วยให้การบริหารจัดการเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งองค์กร

เข้าใจงบการเงินให้ถี่ถ้วน

งบการเงินเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับผู้ประกอบการ SMEs  เพราะตัวเลขต่าง ๆ ในงบการเงินนั้นสามารถสะท้อนถึงประสิทธิภาพของการบริหารจัดการและผลการดำเนินงานของธุรกิจได้ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรอ่านงบให้เป็น อย่างน้อยต้องดูกระแสเงินสดที่หมุนเวียนอยู่ในธุรกิจ รู้สภาพคล่อง เพื่อจะได้ทราบสภาพการณ์ที่แท้จริงของกิจการได้ และนำมากำหนดแนวทางการบริหารจัดการต่อไป

แยกเงินส่วนตัวกับเงินบริษัทออกจากกันอย่างเด็ดขาด    

ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ผู้ประกอบการมักใช้เงินปะปนกันระหว่างเงินของตัวเองกับเงินของธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อว เพราะหากมองในแง่มุมการทำธุรกิจ การเสียภาษีของบุคคลธรรมดากับนิติบุคคลนั้นใช้คนละฐานภาษีกัน ดังนั้นการใช้จ่ายเงินส่วนตัว กับรายได้จากธุรกิจควรแยกกระเป๋าให้ชัดเจน หากไม่แยก เจ้าของธุรกิจจะไม่ทราบเลยว่าจริง ๆ แล้วธุรกิจมีกำไรหรือขาดทุน หากมีความจำเป็นต้องใช้เงินทุน ควรนำไปลงทุนในธุรกิจ หรือนำไปปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานให้มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ควรใช้เงินสดจนขาดสภาพคล่อง

กลยุทธ์วางแผนการเงิน สำหรับธุรกิจ SMEs

การที่จะดำเนินงานธุรกิจ SMEs ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้นั้น การวางแผนการเงินธุรกิจ จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องใส่ใจและให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก มีมาตรฐานในการดำเนินงาน ในการบริหาร การจัดการที่เป็นขั้นตอน เป็นระบบระเบียบอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ธุรกิจ SMEs ดำเนินการได้ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง

ให้ธุรกิจก้าวไปสู่ความสำเร็จกับโปรแกรมบัญชี PEAK peakaccount.com

ทดลองใช้งานโปรแกรมบัญชี PEAK ฟรี! ครบทุกฟีเจอร์ นาน 30 วัน!

คลิก https://peakaccount.com