การวิเคราะห์วงจรเงินสด (Cash Cycle)

สิ่งหนึ่งที่เรารู้มาจนถึงตอนนี้ว่าแม้ธุรกิจจะสร้างกำไรได้มากมายขนาดไหน แต่ถ้าบริหารเงินสดไม่ได้ดี ไม่เข้าใจการไหลเวียนของเงิน อาจทำให้ธุรกิจของเราสะดุด เพราะไม่มีเงินมาซื้อสินค้าหรือจ่ายเจ้าหนี้ได้ ใน Ep ก่อนหน้านี้ได้สอนให้เราได้รู้แล้วว่ากิจการเรามีปัญหาเรื่องเงินสดไหม ไม่ว่าจะเป็นการเช็คเงินคงเหลือ การดูเงินสดเข้าออกในแต่ละกิจกรรมของงบกระแสเงินสด รวมถึงการคำนวณระยะเวลาคงเหลือก่อนที่กิจการจะไม่มีเงินใช้ แต่คำตอบที่ยังไม่ได้หา คือ แล้วปัญหาเงินสดที่เกิดขึ้น มีสาเหตุมาจากอะไร? เรามีสิ่งหนึ่งที่จะนำมาช่วยไขคำตอบนี้ได้ คือ การวิเคราะห์ ‘วงจรเงินสด (Cash Cycle)’

วงจรเงินสด (Cash Cycle) คืออะไร?

ในทางทฤษฎีเรามีตัววัดหนึ่งที่เรียกกันว่า ‘วงจรเงินสด (Cash Cycle)’ ซึ่งค่าที่ได้จะบอกจำนวนวันที่กิจการจะได้รับเงินสดจากการดำเนินงาน เราเรียกมันว่า ‘วงจร’ เพราะสูตรจะคำนวณระยะเวลาตั้งแต่ซื้อสินค้า ระยะเวลาที่สินค้าที่อยู่ในคลัง จนถึงระยะเวลาที่จะเก็บเงินจากลูกหนี้ได้เมื่อสินค้าถูกขายออกไป

สรุปอีกครั้งคือ วงจรเงินสด จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะเวลา ได้แก่ 

1. การซื้อสินค้าและจ่ายเงินให้เจ้าหนี้ 

2. การเก็บสินค้าในสต๊อกไว้นานแค่ไหน 

3. เมื่อขายสินค้าแล้วเก็บเงินจากลูกหนี้ได้ภายในกี่วัน

ซึ่งถ้าเราคำนวณทั้ง 3 เรื่องนี้ได้ ก็จะรู้ทันทีว่าปัญหาเงินสดไปอยู่ที่ส่วนไหนของกิจการ แต่ก่อนที่จะคำนวณขึ้นเป็นวงจรเงินสดได้นั้น เราต้องแยกคำนวณแต่ละส่วนก่อน จึงค่อยนำมาบวกหรือลบกัน เรามาเริ่มทีละส่วนกันได้เลยครับ

3 วงจรเงินสด (Cash Cycle) ที่ผู้ประกอบการควรวิเคราะห์

วงจรที่ 1 : วงจรสินค้า (ยิ่งขายสินค้าเร็ว ยิ่งดี)

วงจรสินค้าหรือระยะขายสินค้า คือ ตั้งแต่วันที่สินค้าเข้ามาในสต๊อก จนเอาออกจากสต๊อกเพราะขายได้ ใช้เวลากี่วัน ถ้า ‘จำนวนวันเยอะ’ แปลว่า ใช้เวลานานกว่าจะขายของแต่ละชิ้นได้ ความเสี่ยงคือ เงินจม หรือสินค้าอาจเสียหรือล้าสมัยไปแล้ว ถ้า ‘จำนวนวันน้อย’ แปลว่า ทุกๆครั้งที่สินค้าเข้ามาในสต๊อก ไม่กี่วันก็มีคนซื้อ อาจเกิดจากเป็นสินค้าขายดี หรือกิจการบริหารสินค้าให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่สต๊อกของมากจนเกินไป ดังนั้น จำนวนวันยิ่งน้อย ยิ่งดี เพราะสินค้าเข้ามาและขายออกได้เร็ว โดยในสูตรจะใช้

ระยะขายสินค้า = ยอดสินค้าคงเหลือ ณ สิ้นงวด ÷ ต้นทุนสินค้าที่ขาย x จำนวนวัน (ขึ้นอยู่กับการวัดผล ปกติจะวัดผลทุกสิ้นปี จะใช้ 365วัน)

วงจรที่ 2 : วงจรลูกหนี้ (ยิ่งเก็บหนี้เร็ว ยิ่งดี)

วงจรลูกหนี้หรือระยะเก็บหนี้ คือ ตั้งแต่วันที่ขายสินค้า ใช้เวลากี่วันถึงจะเก็บเงินได้ ถ้า ‘จำนวนวันเยอะ’ แปลว่า ใช้เวลานานกว่าจะเก็บเงินจากลูกหนี้ได้ ซึ่งไม่ควรเกินกว่าเครดิตเทอมที่ให้ลูกค้า แต่ถ้าเกินแปลว่าลูกค้าส่วนใหญ่จ่ายเงินเกินกำหนดชำระ ถ้า ‘จำนวนวันน้อย’ แปลว่า ใช้เวลาเร็วในการเก็บเงินจากลูกหนี้ ถ้าค่าต่ำกว่าเครดิตเทอม แปลว่าลูกค้าส่วนใหญ่จ่ายเงินก่อนกำหนดชำระ ดังนั้น จำนวนวันยิ่งน้อย ยิ่งดี และจะดีมากขึ้นไปอีกถ้าจำนวนวันต่ำกว่าเครดิตเทอมที่ให้ลูกค้าโดยในสูตรจะใช้

ระยะเก็บหนี้ = ยอดลูกหนี้การค้า ณ สิ้นงวด ÷ ยอดรายได้ x จำนวนวัน (ขึ้นอยู่กับการวัดผล ปกติจะวัดผลทุกสิ้นปี จะใช้ 365วัน)

วงจรที่ 3 : วงจรเจ้าหนี้ (ยิ่งจ่ายหนี้ช้า ยิ่งดี)

วงจรเจ้าหนี้หรือระยะจ่ายหนี้ คือ ตั้งแต่วันที่ซื้อสินค้า ใช้เวลากี่วันถึงจะจ่ายเงินให้เจ้าหนี้ ถ้า ‘จำนวนวันเยอะ’ แปลว่า ใช้เวลานานที่จะจ่ายเงินให้เจ้าหนี้ ซึ่งอาจหมายถึงการได้รับเครดิตเทอมที่นาน หรือเราตั้งใจจ่ายหนี้ช้ากว่ากำหนดก็ได้ ถ้า ‘จำนวนวันน้อย’ แปลว่า ใช้เวลาเร็วในการจ่ายหนี้เร็ว ซึ่งอาจหมายถึงกิจการมีความน่าเชื่อถือน้อยจึงได้รับเครดิตเทอมน้อย หรืออาจเพราะของที่เราซื้อมักจะซื้อขายเป็นเงินสดมากกว่าการให้เครดิตเทอม ดังนั้น จำนวนวันยิ่งมาก ยิ่งดี แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ ค่าควรมากเพราะเราได้เครดิตเทอมที่นาน ไม่ใช่จากการที่จ่ายเกินกำหนดชำระ เพราะจะทำให้ความสัมพันธ์ทางธุรกิจพังลงได้ โดยในสูตรจะใช้

ระยะจ่ายหนี้ = ยอดลูกหนี้การค้า ณ สิ้นงวด ÷ ยอดรายได้ x จำนวนวัน (ขึ้นอยู่กับการวัดผล ปกติจะวัดผลทุกสิ้นปี จะใช้ 365วัน)

ดังนั้น เทคนิคบริหารวงจรกระแสเงินสดให้ธุรกิจคล่องตัว คือ
1.ขายสินค้าได้เร็ว
2.เก็บเงินได้เร็ว 
3.จ่ายหนี้ให้ช้า โดยนำจำนวนวงจรย่อยทั้ง 3 วงจรมาบวกลบกันตามสูตร

วงจรเงินสด = ระยะเวลาขายสินค้า + ระยะเวลาเก็บหนี้ – ระยะเวลาชำระหนี้

ถ้า ‘จำนวนวันน้อย’ แปลว่า เงินทุนจมอยู่ในลูกหนี้ และสินค้าคงเหลือเยอะ ซึ่งเกิดความเสี่ยงที่กิจการจะไม่มีเงินหมุนเวียนที่เพียงพอในการชำระหนี้ได้ทัน หรือไม่มีเงินมาซื้อสินค้าล็อตใหม่มาขายได้
ถ้า ‘จำนวนวันมาก’ แปลว่าเราสามารถบริหารจัดการเปลี่ยนลูกหนี้ และสินค้าคงเหลือได้ดี และมีเงินหมุนเวียนที่เพียงพอจะนำไปชำระหนี้ และซื้อสินค้าล็อตใหม่มาขายต่อได้ ดังนั้น กิจการที่มีสภาพคล่องที่ดี ไม่มีปัญหาเรื่องเงิน เมื่อคำนวณวงจรเงินสด (Cash Cycle) มักได้จะค่าจำนวนวันติดลบ 

การคำนวณวงจรเงินสด จะทำให้เรารู้ว่าภาพรวมการหมุนเวียนของเงินสดว่ามีปัญหาไหม ซึ่งถ้าค่าที่คำนวณเป็นบวก แสดงว่ากิจการกำลังมีปัญหาเรื่องการดำเนินงาน
เมื่อรู้ว่ามีเงินสดมีปัญหาแล้ว เราสามารถเข้าไปค้นหาต้นตอที่วงจรย่อยทั้ง 3 วงจรต่อได้ และลองดูว่าอะไรที่ทำให้แต่ละวงย่อยมีปัญหา เช่น ลูกหนี้จ่ายเกินกำหนดชำระเสมอ หรือสินค้าส่วนใหญ่ที่สต๊อกไว้ขายไม่ค่อยดี เป็นต้น สรุปอีกครั้ง คือ วงจรสินค้า (ยิ่งขายสินค้าเร็ว ยิ่งดี) วงจรลูกหนี้ (ยิ่งเก็บหนี้เร็ว ยิ่งดี) วงจรเจ้าหนี้ (ยิ่งจ่ายหนี้ช้า ยิ่งดี)

ตอนนี้เราทราบกันแล้วทั้งวิธีดูว่าเงินสดมีปัญหาหรือไม่ และปัญหานั้นเกิดจากอะไร คำถามถัดมาคือ เงินสดต้องมีจำนวนเท่าไหร่ถึงจะเพียงและปลอดภัยในการทำธุรกิจ? ผมเตรียมวิธีคำนวณให้ง่ายๆ ไว้ให้ทุกท่านแล้ว แล้วเจอกันใน Ep หน้าครับ!

โปรแกรมบัญชีออนไลน์ PEAK ช่วยผู้ประกอบการจัดการบัญชีอย่างเป็นระบบ รองรับการเติบโต ช่วยให้ธุรกิจก้าวไปสู่ความสำเร็จ
ทดลองใช้งานโปรแกรมบัญชี PEAK ฟรี! 30 วัน มูลค่า 1,200 บาท
คลิก https://peakaccount.com (ไม่มีค่าใช้จ่าย)
PEAK Call Center : 1485
LINE : @peakaccountสอบถามเพิ่มเติม คลิก https://m.me/peakengine