ปัจจุบันการติดต่อซื้อ – ขาย และการทำธุรกรรมเกิดขึ้นในระบบออนไลน์เป็นจำนวนมาก ทำให้การทำธุรกรรม หรือการจัดเก็บเอกสารหลักฐานต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนมาใช้ในรูปแบบ e-Service มากขึ้น
ใบกำกับภาษีเป็นเอกสารสำคัญซึ่งกิจการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มต้องจัดทำและส่งมอบให้กับลูกค้า ตลอดจนนำส่งให้หน่วยงานจัดเก็บภาษี ดังนั้น เพื่อความสะดวก ลดภาระต้นทุนในการนำส่งและจัดเก็บใบกำกับภาษีแบบกระดาษ กรมสรรพากรจึงได้มีการพัฒนาใบกำกับภาษีรูปแบบของอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น ที่เรียกกันว่า ใบกำกับอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Tax Invoice นั่นเอง ในบทความนี้เราจะพาท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักกับ e-Tax Invoice ให้มากขึ้น
e-Tax Invoice คืออะไร?
e-Tax Invoice หรือใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งนำมาใช้ทดแทนใบกำกับภาษีแบบกระดาษ กล่าวง่ายๆ คือ การเปลี่ยนจากรูปแบบกระดาษให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์แทนนั่นเอง แม้จะแตกต่างกันในเรื่องรูปร่างเอกสารที่เปลี่ยนไป แต่ยังคงใช้สิทธิ์ทางภาษีได้เช่นเดียวกับรูปแบบกระดาษ โดย e-Tax Invoice จะต้องจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) หรือได้มีการประทับรับรองเวลา (Time Stamp) เพื่อนำส่งให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ตลอดจนนำส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากรผ่านช่องทางออนไลน์
5 เอกสารที่สามารถจัดทำในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้
ไม่เพียงแต่ใบกำกับภาษีเท่านั้นที่สามารถเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบออนไลน์ได้ หากแต่กรมสรรพากรยังได้อนุมัติเอกสารอื่นๆ สามารถออกในรูปแบบเอกสารออนไลน์หรืออิเล็กทรอนิกส์ได้เช่นกัน ได้แก่
- ใบกำกับภาษี (เต็มรูป) ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
- ใบกำกับภาษี (อย่างย่อ) ตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร
- ใบเพิ่มหนี้ (Debit Note) ตามมาตรา 86/9 แห่งประมวลรัษฎากร
- ใบลดหนี้ (Credit Note) ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร
- ใบรับ (ใบเสร็จรับเงิน) ตามมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
ประโยชน์ของการจัดทำ e-Tax Invoice
การจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์นั้น ช่วยผู้ประกอบการตั้งแต่การลดต้นทุน การส่งเอกสารให้ลูกค้าได้เร็วขึ้น รวมถึงการสนับสนุนจากทางภาครัฐ ซึ่งสรุปพอสังเขปได้ดังนี้
- ลดต้นทุนแฝงทางธุรกิจ
ในการจัดทำเอกสารทางธุรกิจ ล้วนแล้วแต่มีค่าใช้จ่ายที่ถือว่าเป็นต้นทุนแฝงทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นค่ากระดาษ ค่าหมึกพิมพ์ ค่าจัดส่ง ค่าจัดเก็บ เป็นต้น เมื่อมีการปรับเปลี่ยนเอกสารอย่างใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ ให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เหล่านี้ลงไปได้ - ป้องกันการสูญหายของเอกสาร
การจัดเก็บเอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์จะช่วยลดปัญหาเอกสารสูญหาย หรือได้รับความเสียหายจากอุบัติภัยหรือสิ่งที่ไม่คาดฝันได้ - สามารถตรวจสอบความถูกต้อง โปร่งใส ของใบกำกับภาษีได้อย่างสะดวก รวดเร็ว
เนื่องจากใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์จะถูกเก็บในระบบเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (service provider) โดยอัตโนมัติ สามารถเข้ามาตรวจสอบย้อนหลังได้ตามต้องการ - รองรับสิทธิประโยชน์จากทางภาครัฐ
จะเห็นได้ว่าหลายๆ มาตรการของรัฐบาลที่ประกาศออกมา ส่งเสริมให้กิจการหรือร้านค้าที่สามารถออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้ เพื่อจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น เช่น มาตรการช้อปดีมีคืน 2566 มาตรการลดหย่อนภาษีประจำปี มูลค่า 30,000 บาท สำหรับผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และลดหย่อนเพิ่มได้อีก 10,000 บาท เมื่อใช้ใบกำกับภาษีหรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) และล่าสุดปี 2567 กับโครงการ Easy e-Receipt โดยประชาชนที่ใช้บริการหรือซื้อสินค้าจากผู้ประกอบร้านค้าที่ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice) จะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ในมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งช่วยเพิ่มยอดขายให้กับผู้ประกอบการ และคาดว่าทางภาครัฐจะออกโครงการสนับสนุนการใช้ e-Tax invoice ออกมาอย่างต่อเนื่อง
PEAK ขอเล่า:
การใช้ระบบ e-Tax Invoice จะช่วยให้กระบวนการทางธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเปลี่ยนจากรูปแบบกระดาษเป็นออนไลน์ แต่ผู้ประกอบการยังคงมีหน้าที่ทางบัญชีและภาษีเหมือนเดิม เช่น การจัดทำรายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย รวมถึงการยื่นแบบภาษีรายเดือน ภ.พ.30
รูปแบบของโครงการ e-Tax Invoice
การออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Tax Invoice นั้น มี 2 โครงการ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องเลือกเข้าสู่โครงการใดโครงการหนึ่งเท่านั้น
1. e-Tax Invoice by Time Stamp
e-Tax Invoice by Time Stamp (ชื่อเดิม e-Tax Invoice by Email) เป็นการจัดทำใบกำกับภาษีโดยการส่งอีเมลถึงผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการพร้อมสำเนา CC ไปยังระบบของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.หรือ ETDA) เพื่อให้ระบบประทับรับรองเวลา (Time Stamp) และระบบจะส่งใบกำกับภาษีที่ประทับรับรองเวลาแล้วให้กับผู้ซื้อและผู้ขายเพื่อเป็นหลักฐานในการทำธุรกรรม ซึ่งโครงการนี้จะเหมาะกับผู้ประกอบการรายเล็กที่ยังไม่พร้อมเข้าสู่โครงการ e-Tax Invoice และ e-Receipt
สนใจรายละเอียดโครงการ ขอแนะนำบทความ 👉 e-Tax Invoice by Time Stamp คืออะไร ขั้นตอนการสมัคร และการใช้งาน
2. e-Tax Invoice & e-Receipt
e-Tax Invoice & e-Receipt เป็นการจัดทำใบกำกับภาษี รวมถึงใบกำกับภาษีอย่างย่อ ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ และใบรับที่ได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ที่ต้องมีการลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ส่งมอบให้ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ และมีหน้าที่นำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร ซึ่งโครงการนี้จะเหมาะกับผู้ประกอบการรายเล็กและรายใหญ่ที่มีการออกใบกำกับภาษีต่อเดือนจำนวนมาก
สนใจรายละเอียดโครงการ ขอแนะนำบทความ 👉 e-Tax Invoice & e-Receipt คืออะไร ขั้นตอนการสมัคร และการใช้งาน
ความแตกต่างระหว่าง e-Tax Invoice by Time Stamp และ e-Tax Invoice & e-Receipt
สำหรับข้อแตกต่างที่สำคัญของทั้ง 2 โครงการ ขอสรุปความแตกต่างระหว่าง e-Tax Invoice by Time Stamp และ e-Tax Invoice & e-Receipt ดังนี้
PEAK ขอเล่า:
ความแตกต่างที่เห็นได้ชัด คือ e-Tax Invoice by Time Stamp จะใช้การประทับรับรองเวลา (Time Stamp) เพื่อรับรองความมีอยู่ของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ส่วน e-Tax Invoice & e-Receipt จะใช้วิธีการลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ซึ่งสามารถเชื่อมโยงตัวตนของผู้ออกเอกสารได้
การออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ทั้ง 2 รูปแบบ จะสร้างความสะดวก ลดปัญหาในการจัดเก็บเอกสารทั้งกับกิจการ ร้านค้า และผู้ซื้อ นอกจากนั้นยังรองรับสิทธิประโยชน์จากมาตรการภาครัฐในอนาคตอีกหลายๆ มาตรการ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ผู้ประกอบการในยุคดิจิทัลไม่ควรพลาด
PEAK ช่วยผู้ประกอบการให้สามารถออกเอกสารใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ได้ทั้ง 2 รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น e-Tax Invoice by Time Stamp หรือ e-Tax Invoice & e-Receipt เพียงแค่คลิกเชื่อมต่อกับ PEAK หลังจากนี้คุณก็สามารถออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้ง่ายๆ ผ่านโปรแกรม PEAK ได้แล้ว ถ้าอยากรู้ว่าง่ายขนาดไหน แนะนำให้ลองดูวิดีโอสั้นๆ การเชื่อมต่อระบบและวิธีการส่งใบกำกับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ได้เลย