
ปัจจุบันการยื่นแบบเสียภาษีทางออนไลน์เป็นที่นิยมมากขึ้น ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปยื่นแบบชำระภาษีที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ คุณสามารถยื่นแบบผ่านทางเว็บไซต์กรมสรรพากร (www.rd.go.th) ในการคำนวณภาษีเงินได้ประจำปี ถ้าในระหว่างปีคุณถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายมากกว่าภาษีที่ต้องชำระ คุณสามารถขอเงินคืนภาษีจากกรมสรรพากรได้ ซึ่งการเช็กสถานะเงินคืนก็สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตนเอง ดังนี้
ก่อนติดตามสถานะคืนภาษี ทำความรู้จักเงินคืนภาษีกันก่อน
เงินคืนภาษี คือ เงินที่กรมสรรพากรคืนให้กับผู้เสียภาษีที่มีสิทธิ์ที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี หรืออาจจะจ่ายเกินกว่าที่ต้องจ่ายจริงตามกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งการเสียภาษีบุคคลธรรมดา และ VAT โดยแบ่งเป็นประเภท ดังนี้
- เงินคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เกิดขึ้นเมื่อเราจ่ายภาษีไว้ล่วงหน้าหรือเกิดจากการหักภาษี ณ ที่จ่ายเกินไว้กว่าภาระภาษีที่จ่ายจริงในการยื่นภาษีรายปี ในกรณีนี้เราจะสามารถขอเงินภาษีส่วนเกินคืนจากกรมสรรพากรได้
- เงินคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT Refund) ธุรกิจที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสามารถขอคืนภาษีซื้อ (VAT จากสินค้าหรือบริการที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจ) หากมียอดภาษีซื้อเกินกว่าภาษีขาย (VAT ที่เรียกเก็บจากลูกค้า) ในเดือนนั้น ๆ
ได้เงินภาษีคืนเท่าไหร่ เช็กอย่างไร
การตรวจสอบยอดภาษีที่จะได้รับคืนสามารถทำได้ทันทีหลังจากยื่นแบบภาษีผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร เมื่อกรอกข้อมูลและส่งแบบภาษีเรียบร้อยแล้ว ระบบจะแสดงยอดภาษีที่ชำระไว้เกินในหน้าสรุป พร้อมตัวเลือกให้ “ต้องการขอคืนภาษี” ซึ่งเราสามารถคลิกเลือกได้ทันที โดยเมื่อเลือกขอคืนภาษีแล้วระบบจะให้เลือกวิธีรับเงินคืน เช่น การโอนเข้าบัญชีธนาคาร หรือการรับเป็นเช็ค
โดยหลังจากยืนยันการขอคืนภาษีเราสามารถติดตามสถานะการคืนภาษีได้ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร โดยเลือกเมนู “ตรวจสอบการคืนภาษี” และกรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษี โดยปกติจะได้รับเงินคืนภายใน 30-45 วัน หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการขอคืนภาษีหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อศูนย์บริการข้อมูลสรรพากร (RD Intelligence Center) ได้ที่หมายเลข 1161
ขั้นตอนการติดตามสถานะคืนภาษีด้วยตนเอง
1. เข้าเว็บไซต์กรมสรรพากร เลือก บริการข้อมูล/ข้อมูลสำหรับผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา/บริการสอบถามข้อมูลการคืนภาษี
2. กรอกข้อมูลเลขประจำตัวผู้เสียภาษี ชื่อผู้เสียภาษี(ไม่ต้องระบุคำนำหน้าชื่อ) ชื่อสกุล
3. กดสอบถาม

4. เมื่อเข้าสู่หน้าจอ “ผลการสอบถามข้อมูลการขอคืนภาษีภ.ง.ด.90/91” คุณสามารถตรวจสอบสถานะเงินคืนภาษีได้ กรณีที่กรมสรรพากรขอเอกสารเพิ่มเติมจะแสดงรายละเอียดในสถานะการสอบถามข้อมูล รวมถึงกำหนดเวลาและช่องทางการส่งเอกสาร

ช่วงเวลาขอคืนภาษี
ช่วงเวลาขอคืนภาษีเป็นช่วงที่หลายคนรอคอย โดยเฉพาะผู้ที่ยื่นภาษีและคาดหวังจะได้รับเงินคืนจากการจ่ายภาษีที่เกินไว้ การขอคืนภาษียังทำให้ได้รับเงินคืนกลับมาช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินได้อีกด้วย โดยทั่วไปช่วงเวลาขอคืนภาษีมี 2 ช่วงเวลาดังนี้
- การขอคืนภาษีก่อนครบกำหนดการยื่นภาษี เป็นการขอคืนภาษีหลังจากที่ทำการยื่นแบบทันที ซึ่งคนส่วนใหญ่นิยมขอคืนในช่วงเวลานี้เพราะจะได้รับคืนภาษีที่รวดเร็ว
- การขอคืนภายหลังการครบกำหนดการยื่นภาษี เป็นการขอคืนภาษีภายหลังจากยื่นแบบไปแล้ว โดยผู้เสียภาษีมานึกได้ภายหลังก็สามารถขอคืนภาษีได้โดยการยื่นเพิ่มเติม แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องขอคืนภายในระยะเวลา 3 ปี นับจากวันที่ครบกำหนดยื่นภาษี
ช่องทางในการรับคืนภาษี

1. ผ่านระบบพร้อมเพย์
2. รับคืนภาษีเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย โดยติดต่อที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขาและยื่นหนังสือแจ้งคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ค.21) ที่ได้รับจากกรมสรรพากร
3. รับคืนภาษีเข้าบัตร E-Money/E-Wallet เฉพาะธนาคารกรุงไทย โดยติดต่อที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขาและยื่นหนังสือแจ้งคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ค.21) ที่ได้รับจากกรมสรรพากร
คุณสามารถติดตามบทความดีๆ ด้านบัญชีภาษีได้ทาง https://peakaccount.com
หลังตรวจสอบคืนภาษีกี่วันถึงจะได้เงินคืน
หลังจากที่เรายื่นคำร้องขอคืนเงินทางภาษีกรมสรรพากรจะดำเนินการคืนเงินภาษีภายใน 3 เดือน กรณีมีเอกสารชัดเจนแสดงว่าได้มีการจ่ายภาษีไว้เกิน จริง ๆ หรือยังไม่ถึงเกณฑ์ที่เสียภาษี หากไม่พบปัญหาโดยทั่วไปกรมสรรพากรก็จะคืนภายใน 3-4 วัน ทำการ สามารถรับเงินคืนภาษีผ่านทางพร้อมเพย์ที่ผูกกับบัตรประชาชนได้เลย
เคล็ดลับได้เงินคืนภาษีเร็ว ๆ
ขั้นตอนการขอคืนภาษีที่นานเกินไปอาจทำให้หลายคนรู้สึกกังวลใจ เพราะบางครั้งอาจใช้เวลานานกว่าที่คาดไว้ แต่ไม่ว่าคุณจะเป็นเจ้าของธุรกิจหรือบุคคลธรรมดา หากคุณรู้เคล็ดลับและเทคนิคที่ถูกต้อง การขอคืนภาษีสามารถเป็นเรื่องง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น ดังนี้
- ยื่นแบบภาษีออนไลน์ การยื่นแบบภาษีผ่านระบบออนไลน์ (เช่น ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร) เป็นวิธีที่เร็วที่สุด เนื่องจากข้อมูลจะถูกส่งตรงเข้าสู่ระบบและสามารถตรวจสอบได้ทันที กรณีที่ขอคืนภาษีผ่านพร้อมเพย์จะได้รับเงินคืนเร็วกว่า เนื่องจากระบบสามารถโอนเงินคืนตรงเข้าสู่บัญชีธนาคารได้ทันทีเมื่อผ่านการตรวจสอบ
- ตรวจสอบเอกสารให้ครบถ้วน การเตรียมเอกสารให้ครบถ้วนตั้งแต่ต้น เช่น ใบเสร็จรับเงิน, ใบกำกับภาษี, รายการหักภาษี ณ ที่จ่าย และเอกสารประกอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขอคืนภาษี จะช่วยให้การตรวจสอบรวดเร็วมากขึ้น หากขาดเอกสารหรือข้อมูลบางอย่าง จะต้องใช้เวลาเพิ่มเติมในการติดตามและจัดเตรียม ส่งผลให้กระบวนการคืนภาษีช้าลง
- ยื่นภาษีภายในกำหนด การยื่นภาษีในช่วงต้น ๆ คนยื่นภาษียังไม่เยอะมาก ทำให้กรมสรรพากรตรวจสอบและคืนภาษีได้เร็วขึ้น หากยื่นในช่วงท้ายของกำหนดเวลา (ปลายเดือนมีนาคม) อาจเได้รับเงินคืนช้ากว่า
- ผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขบัตรประชาชน การขอคืนภาษีผ่านพร้อมเพย์จะทำให้การโอนเงินคืนภาษีเกิดขึ้นได้รวดเร็วที่สุด ระบบสามารถตรวจสอบและโอนเงินได้เร็วขึ้นหลังจากการอนุมัติ กรณีใช้บัญชีธนาคารทั่วไป อาจใช้เวลานานกว่าการโอนผ่านพร้อมเพย์
- ตรวจสอบการยื่นภาษีออนไลน์ หลังจากยื่นขอคืนภาษีแล้วควรติดตามสถานะคืนภาษีผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร หากพบว่าเอกสารขาดหรือต้องมีการเพิ่มเติมข้อมูล สามารถดำเนินการได้ทันที ช่วยลดเวลาในการรอคอย
การตรวจสอบการยื่นภาษีออนไลน์เป็นวิธีที่สะดวกและรวดเร็วสำหรับผู้เสียภาษีทุกคน คุณสามารถยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90/91 ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากรได้อย่างง่ายดาย หลังจากยื่นภาษีเรียบร้อยแล้ว คุณสามารถตรวจสอบการยื่นภาษีออนไลน์และติดตามสถานะคืนภาษีด้วยตนเองที่หน้าเว็บไซต์ของกรมสรรพากร หรือตรวจสอบผ่านข้อความที่แจ้งเตือนทางโทรศัพท์ที่ลงทะเบียนไว้ได้เลยคุณสามารถติดตามบทความดี ๆ ด้านบัญชีภาษีได้ทาง https://peakaccount.com