5 เรื่องต้องรู้! การกระทบยอดรายได้บัญชีและภาษี (ภ.พ.30 vs ภ.ง.ด.50)

หนึ่งในเรื่องที่ผู้ประกอบการจดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จะต้องโดนเวลาขอคืนภาษี คือ เจ้าหน้าที่สรรพากรจะขอรายงานหนึ่งที่เรียกว่า “รายงานกระทบยอดรายได้ทางบัญชีและภาษี” หรือที่นักบัญชีชอบเรียกกันว่า “กระทบยอด 30 vs 50” ซึ่งมีสมมติฐานว่ารายได้ที่บันทึกทางบัญชีควรต้องเท่ากับรายได้ที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)

แต่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อนว่าต้องทำด้วยเหรอ? ทำไมต้องขอ? แล้วต้องทำยังไง? ในบทความนี้ผมจะพาทุกท่านไปทำความเข้าใจว่าทำไมเราต้องกระทบยอดรายได้ไปจนถึงสาธิตการกระทบยอดรายได้ ภ.พ.30 vs ภ.ง.ด.50 ถ้าอยากรู้กันแล้วใช่ไหมล่ะครับ อ่านกันต่อได้เล้ยยยย⏩⏩⏩

1. ทำไมต้องกระทบยอดรายได้ ภ.พ.30 vs ภ.ง.ด.50 ?

 เหตุผลเบื้องหลังการกระทบยอดรายได้ ง่ายๆ คือ เพื่อตรวจสอบจำนวนรายได้ที่บันทึกบัญชี (ภ.ง.ด.50 หรือ งบการเงิน) กับ รายได้ที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ว่าตรงกัน และยื่นภาษีครบถ้วน

จริงๆ ผู้ประกอบการควรต้องกระทบยอดรายได้ทุกเดือนอยู่แล้ว(แต่คนส่วนใหญ่มักจะทำเป็นรายปี!) เพื่อดูว่ารายได้บันทึกบัญชีในแต่ละเดือนได้นำส่งภาษีครบถ้วนหรือไม่ ถ้าไม่ทำ แล้วมาพบทีหลัง ก็จะโดนค่าปรับย้อนหลัง ซึ่งบอกเลยว่าค่าปรับภาษีมูลค่าเพิ่มแพงสุดๆในบรรดาทุกภาษี

เช่น วันดีคืนดีโดนสรรพากรเรียกตรวจ พบว่ายื่นภาษีมูลค่าเพิ่มขาดไป 10,000 บาท เราจะต้องนำส่งภาษีที่ขาดและค่าปรับอีก 2 เท่า แปลว่าต้องจ่ายรวม 30,000 บาท (ภาษี 10,000 + ค่าปรับ 10,000*2เท่า) นอกจากนี้ยังมีเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือนอีกด้วย เรียกว่าโดนปรับทีหนึ่ง อาจเตรียมปิดกิจการได้เลย อ๊ากกก น่ากลัวมากก 😱😱

2. กิจการที่ต้องกระทบยอดรายได้ ภ.พ.30 vs ภ.ง.ด.50

ไม่ใช่ว่าทุกครั้งมีหน้าที่ต้องกระทบยอดรายได้ภ.พ.30 vs ภ.ง.ด.50 นะครับ เพราะภ.พ.30 นั้นจะเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบที่จดภาษีมูลค่า (VAT) เท่านั้น – เน้นว่า ถ้าใครไม่ได้จด VAT ก็ไม่ต้องทำครับ – ดังนั้นกลุ่มที่ต้องกระทบยอดรายได้ หลักๆจะประกอบด้วย

1. บุคคลธรรมดา ที่จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)
2. นิติบุคคล ที่จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)

3. ข้อมูลที่ใช้กระทบยอดรายได้ ภ.พ.30 vs ภ.ง.ด.50

ถ้าวันนี้เราเป็นผู้ประกอบการจด VAT รู้ตัวแล้วว่าทำไมต้องทำ คำถามถัดไป คือ ถ้าจะทำต้องใช้ข้อมูลอะไรบ้าง? ผมได้สรุปเอกสารออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ครับ

เอกสารประกอบการกระทบยอดและเอกสารประกอบกรณีหาผลต่าง

4. วิธีกระทบยอดรายได้ ภ.พ.30 vs ภ.ง.ด.50

เมื่อเตรียมเอกสารที่ได้บอกครบถ้วน ต่อไปเราจะเริ่มมากระทบยอดรายได้กันครับ สูตร  คือ

“ รายได้ทางบัญชี(ภ.ง.ด.50) ลบ รายได้ทางภาษีVAT(ภ.พ.30) = 0 ”

หือออ แค่นี้เองเหรอ! ใช่ครับและตาไม่ฝาดแน่นอน ถ้าธุรกิจไม่ซับซ้อน เช่น ธุรกิจขายสินค้า เมื่อนำรายได้ทางบัญชีและทางภาษีมาลบกันแล้วมักจะไม่มีผลต่างครับ แปลว่าอาจยื่นภาษีได้ถูกต้อง (ผมใช่คำว่า “อาจ” แม้บางครั้งไม่มีผลต่าง แต่ก็มีกรณีที่มีรายได้แต่ไม่บันทึกบัญชีและยื่นภาษีด้วย)

สำหรับธุรกิจที่เริ่มมีความซับซ้อนขึ้น เช่น ขายสินค้าแต่มีการเก็บมัดจำล่วงหน้า หรือธุรกิจให้บริการที่มีลูกหนี้การค้า วิธีกระทบยอดยังคงเป็นหลักการเดิม แต่จะเพิ่มรายการอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุของผลต่างเข้ามาคำนวณด้วย หลักๆ ผมจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ธุรกิจขายสินค้า และธุรกิจให้บริการ ดังนี้

ธุรกิจขายสินค้า

ตารางกระทบยอดธุรกิจขายสินค้า

ธุรกิจขายสินค้าที่ไม่มีการรับเงินมัดจำล่วงหน้า เมื่อนำรายได้ตามบัญชีหักรายได้ทางภาษีมักจะไม่เกิดผลต่าง แต่ถ้ามีการรับเงินมัดจำล่วงหน้า จะต้องนำเงินมัดจำคงค้างปลายงวดและต้นงวดมาปรับด้วยตามรูปภาพ

ธุรกิจให้บริการ

ตารางกระทบยอดธุรกิจบริการ

ธุรกิจให้บริการการรับรู้รายได้ทางบัญชีและทางภาษีVAT มักจะเป็นคนละวันกัน ทำให้ต้องนำลูกหนี้การค้าปลายงวดและต้นงวดมากระทบยอดด้วย อีกทั้งถ้ามีการรับเงินมัดจำก็ต้องนำมากระทบยอดด้วยเช่นกัน

ข้อผิดพลาดที่มักเกิดขึ้น คือ ยอดลูกหนี้การค้าปกติจะรวมภาษีมูลค่าเพิ่มไปด้วย ดังนั้นเมื่อนำลูกหนี้การค้ามากระทบยอด อย่าลืมว่าต้องถอด VAT ออกจากลูกหนี้การค้าเสมอ ไม่งั้นจะเกิดผลต่างขึ้นได้

5. สาเหตุผลต่างและวิธีแก้ไข

บางครั้งชีวิตก็ไม่ได้ราบเรียบเสมอไป ถ้าเราใส่ตัวเลขไปครบถ้วนแล้ว แต่เกิดผลต่าง ไม่ได้แปลว่าจะเกิดความผิดพลาดเสมอไป จริงๆมีหลายเหตุผลมากที่ทำให้เกิดผลต่าง ดังนั้นก่อนที่เราจะไปแก้ไขปัญหา เรามาเข้าสิ่งที่อาจทำให้เกิดผลต่างจากการกระทบยอดรายได้กันครับ

สาเหตุผลต่างที่ควรรู้

  • จุดรับรู้รายได้ของแต่ละธุรกิจ

กรณีธุรกิจขายสินค้าวันที่รับรู้รายได้ทางบัญชีและภาษีมูลค่าเพิ่มจะเป็นวันเดียวกัน คือ วันที่ส่งมอบสินค้า ทำให้ไม่เกิดผลต่าง แต่ถ้าเป็นธุรกิจบริการจะรับรู้รายได้ทางบัญชีเมื่อให้บริการเสร็จ แต่ภาษีจะรับรู้เมื่อได้รับชำระเงินแล้ว นี้จึงเป็นเหตุผลที่ธุรกิจบริการจะต้องนำลูกหนี้การค้ามากระทบยอดด้วย

  • ประเภทรายได้ 

รายได้ที่บันทึกบัญชีไม่ได้จำเป็นต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเสมอ เช่น ธุรกิจขายเนื้อหมูสดและขายมีดหั่นหมู ตอนบันทึกบัญชีจะบันทึกรายได้ทั้งขายหมูและขายมีด แต่ตอนเสียภาษีมูลค่าจะเสียจากรายได้ขายมีดเท่านั้น เพราะการขายเนื้อหมูเป็นรายได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 

  • กระทบยอดผิด ไม่ครบถ้วน 

รายการที่ใช้กระทบยอดผิด หรือไม่ครบ เช่น ธุรกิจขายสินค้า แต่ใช้วิธีกระทบยอดของธุรกิจให้บริการ หรือ ธุรกิจบริการใช้ยอดลูกหนี้ที่ยังไม่ได้ถอดVAT หรือ ไม่ได้นำเงินมัดจำ รวมถึงรายการอื่นๆ เช่น กำไรจากการขายทรัพย์สิน รายได้ที่ไม่ต้องเสียVAT มากระทบ เป็นต้น

  • ยื่นรายได้เพื่อเสียVAT หรือบันทึกรายได้ไม่ครบถ้วน

ข้อนี้จะเป็นเรื่องที่กิจการทำผิดจริงๆ เช่น บันทึกบัญชีรายได้แต่ไม่ได้นำไปเสียVAT หรือนำรายได้ไปเสียVAT แต่ไม่ได้บันทึกบัญชีรายได้ เป็นต้น

วิธีแก้ไขเมื่อเกิดผลต่าง

ถ้าผลต่างเกิดจากการกระทบยอดผิดวิธี ไม่ครบถ้วน หรือเข้าใจผิด เมื่อรู้สาเหตุแล้วต้องรีบแก้ไขทันทีก่อนยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละเดือน แต่ส่วนใหญ่มักจะมาทำหลังจากยื่นแบบ ภ.พ.30 ไปแล้ว จึงต้องยื่นแก้ไขแบบภาษีเพิ่มเติมให้ถูกต้อง ทำให้ผู้ประกอบต้องเสียทั้งค่าปรับและเงินเพิ่มครับ

สรุป

ท้ายนี้ผมหวังว่าผู้อ่านทุกคนจะเข้าใจและเห็นความสำคัญของการกระทบยอดรายได้ ภ.พ.30 vs ภ.ง.ด.50 มากขึ้นนะครับ ก่อนจากกันไป ผมได้สรุปเนื้อหาให้อีกครั้งเป็น checklist สั้นๆ ดังนี้ครับ

  • เป็นการกระทบยอดรายได้ทางบัญชีกับรายได้ทางภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)
  • ควรกระทบยอดรายได้ทุกเดือน จะแก้ไขข้อผิดพลาดได้เร็ว และไม่เกิดค่าปรับ
  • เข้าใจรูปแบบของธุรกิจตัวเอง ธุรกรรม จะรู้ว่าต้องใช้รายการไหนมากระทบรายการด้วย
  • บันทึกบัญชีผิดให้บันทึกแก้ไขการบันทึก ยื่นภาษีผิดให้ยื่นปรับปรุงภาษีพร้อมค่าปรับ
  • สุดท้าย กระทบยอดต้องใช้ความเข้าใจ ผู้ประกอบทำไม่ได้ไม่เป็นไร ให้นักบัญชีดูแลแทนได้ครับ😳😳