ก้าวเข้าสู่ปี 2568 ในยุคที่เกือบทุกสิ่งล้วนเปลี่ยนมาอยู่บนดิจิตอลแทบทั้งหมด ประเทศไทยก็พัฒนาตามยุคสมัยในหลายด้าน รวมไปถึงด้านเอกสารต่าง ๆ ที่หน่วยงานส่วนใหญ่เปลี่ยนมาใช้รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เกือบทั้งหมดแล้ว ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ e-Tax Invoice หรือใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ที่กรมสรรพากรส่งเสริมให้ผู้ประกอบปัจจุบันการเปลี่ยนมาใช้ เพราะช่วยลดความยุ่งยากด้านงานเอกสาร และเป็นรูปแบบที่สอดคล้องกับกฎหมายในปัจจุบันอีกด้วย ในบทความนี้ PEAK ขอพาผู้อ่านทุกท่านไปทำความรู้จักกับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้น จะเป็นอย่างไรบ้างมาติดตามกันได้เลย

e-Tax Invoice คืออะไร?

e-Tax Invoice หรือใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ คือ รูปแบบการออกใบกำกับภาษีอยู่ในรูปแบบออนไลน์เพื่อตอบสนองพฤติกรรมการซื้อขายของคนไทยที่นิยมซื้อผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น สามารถส่งเอกสารให้ผู้ซื้อสินค้าหรือบริการ รวมไปถึงสามารถส่งเอกสารออนไลน์ให้กรมสรรพากรได้ทันทีเช่นกัน ทำให้การเปลี่ยนมาใช้ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ช่วยให้ธุรกิจ SMEs สามารถจัดการกับเอกสารได้สะดวกมากยิ่งขึ้น 

ข้อมูลจำเป็นที่ต้องทราบเกี่ยวกับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์

เนื่องจากรูปแบบเอกสารเปลี่ยนมาอยู่บนโลกออนไลน์ ทำให้มีข้อมูลรายละเอียดจำเป็นเล็กน้อยที่เจ้าของกิจการควรรู้ เพื่อให้ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ของเรานั้นถูกต้องทุกประการ

  1. ประเภทของไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ ประเภทของไฟล์ที่สามารถใช้งานได้มีทั้งหมด 2 รูปแบบดังนี้
  • PDF/A3
  • XML
  1. ขนาดไฟล์ของเอกสาร ในส่วนของขนาดไฟล์ใบกำกับภาษีออนไลน์นั้นห้ามมีขนาดเกิน 3 MB
  1. ข้อมูลในเอกสารห้ามเป็นรูปภาพ สำหรับข้อมูลในเอกสารออนไลน์ห้ามเป็นรูปภาพเด็ดขาด นอกจากนี้ไม่สามารถแปลงรูปแบบจากเอกสารกระดาษเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์
  1. ต้องมีการลงลายมือชื่อดิจิตอล หรือมีการประทับรับรองเวลา

เพื่อให้ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์เป็นเอกสารที่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องมีการลงลายมือชื่อดิจิตอล (Digital Signature) หรือการปรับทับรับรองเวลา (Time Stamp) ด้วยเสมอ หลังจากลงลายมือชื่อหรือประทับแล้ว เอกสารฉบับดังกล่าวจะสามารถใช้เป็นหลักฐานในทางกฎหมายได้

ทำไมธุรกิจ SMEs ต้องใช้ e-Tax Invoice?

ทำไมธุรกิจ SMEs ต้องใช้ e-Tax Invoice

หลังจากที่เรารู้จักใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์กันมากขึ้นแล้ว ในส่วนถัดมาเรามาดูข้อดีที่เจ้าของเจ้าของกิจการ SMEs จะได้รับหากเปลี่ยนมาใช้ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์แทนที่ใบกำกับภาษีกระดาษรูปแบบเดิมกันดีกว่า ซึ่งข้อดีหลัก ๆ สามารถแบ่งได้ 4 ข้อดังนี้

ลดเวลาการทำงานด้านเอกสาร

หนึ่งในปัญหาที่เจ้าของกิจการ SMEs หลายท่านต้องประสบพบเจอคงหนีไม่พ้นเรื่องของเอกสารที่เยอะจนบางครั้งทำให้เกิดความยุ่งยาก ไม่สามารถโฟกัสกับธุรกิจได้เต็มที่เท่าที่ควร การเปลี่ยนมาใช้ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์จะช่วยลดปัญหาส่วนนี้ลงไปได้อย่างแน่นอน เพราะด้วยเอกสารที่อยู่บนออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องหาที่จัดเก็บ หรือคอยหาเอกสารให้วุ่นวาย นอกจากนี้ยังลดเวลาการทำงานด้านเอกสาร เพราะความสะดวกรวดเร็วในการส่งให้ผู้ซื้อและสรรพากรได้อย่างง่ายดาย

หมดห่วงเรื่องเอกสารสูญหาย

ต่อยอดจากข้อที่แล้ว นอกจากการลดเวลาการทำงานด้านเอกสาร ยังเป็นการป้องกันข้อมูลสูญหายที่เป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของการเก็บเอกสารแบบกระดาษ ซึ่งการเก็บเอกสารที่อยู่ในรูปแบบออนไลน์นั้น หากจัดให้เป็นระเบียบรับรองว่าข้อมูลไม่มีทางสูญหายแน่นอน อีกทั้งเวลาต้องการเรียกดูเอกสารก็ทำได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

ช่วยลดต้นทุน

หลายท่านอาจสงสัยว่าการเปลี่ยนมาใช้ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ช่วยลดต้นทุนให้แก่ธุรกิจ SMEs ได้อย่างไร แต่ถ้าลองคำนวนดูแล้วการออกใบกำกับภาษีแบบกระดาษ 1 แผ่นนั้น มีต้นทุนที่แฝงมาด้วยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นค่ากระดาษ ค่าหมึกสำหรับพิมพ์เอกสารออกมา อาจรวมไปถึงค่าซองเอกสาร และค่าจัดส่งอีกด้วย หากเปลี่ยนมาใช้รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ก็บอกลาต้นทุนเหล่านี้ไปได้เลย

ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากภาครัฐ

เพื่อกระตุ้นให้ธุรกิจเปลี่ยนมาใช้ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์กันมากขึ้น รัฐบาลจึงได้ออกนโยบายต่าง ๆ ที่ช่วยส่งเสริมในส่วนนี้ ยกตัวอย่างเช่น Easy E-Receipt นโยบายที่ในปีพ.ศ. 2568 ก็กลับมาอีกครั้ง โดยเป็นนโยบายที่ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถนำใบกำกับภาษีออนไลน์จากสินค้าหรือบริการที่ซื้อในช่วงเวลาที่กำหนด มายื่นเพื่อขอลดหย่อนภาษีได้ นอกจากจะเป็นการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ ยังช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจเปลี่ยนมาใช้ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์กันมากขึ้น 

“การเปลี่ยนมาใช้ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์นอกจากจะช่วยจัดการเอกสารแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนแฝง และช่วยเพิ่มโอกาสสร้างยอดขายผ่านนโยบายของภาครัฐอีกด้วย”

e-Tax Invoice มีกี่รูปแบบ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง?

e-Tax Invoice มีทั้งหมด 2 รูปแบบประกอบไปด้วย

  1. e-Tax Invoice & Receipt
  2. e-Tax Invoice by Time Stamp

ซึ่งแต่ละรูปแบบแตกต่างกันอย่างไร แต่ละแบบเหมาะกับธุรกิจประเภทไหน และมีขั้นตอนการทำงานอย่างไรบ้าง มาดูกันต่อเลย

1. e-Tax Invoice & Receipt

ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ประเภทแรกแบ่งได้เป็นสองส่วนคือ ส่วนที่เป็นใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) และ ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Recepit) ซึ่งเอกสารรูปแบบนี้เหมาะสำหรับธุรกิจที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) แบบไม่จำกัดรายได้เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ก่อนทำการส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือบริการ รวมไปถึงกรมสรรพากรจำเป็นต้องลงลายมือชื่อดิจิตอลให้เรียบร้อยเพื่อให้เอกสารนี้ถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้การส่ง e-Tax Invoice & Receipt ให้กรมสรรพากรจะต้องอยู่ในรูปแบบไฟล์ XML หรือ PDF/A3 เท่านั้น

คุณสมบัติของผู้ยื่นขอจัดทำ e-Tax Invoice & e-Receipt

  1. ต้องเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว
  2. มีใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Certificate) ที่อยู่ภายใต้การรับรองของผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (NRCA) และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)
  3. มีการจัดระบบการทำงานที่เป็นระเบียบเรียบร้อย สามารถพิสูจน์ได้ว่าเอกสารใบกำกับภาษีและใบรับอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งมอบแก่ลูกค้านั้นมีความถูกต้องทุกประการ
  4. ต้องไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับอนุมัติ หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติโครงการใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice by Time Stamp)

ขั้นตอนการจัดทำและส่งมอบ e-Tax Invoice & Receipt 

สำหรับขั้นตอนการใช้งานใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ประเภท e-Tax Invoice & Receipt มีขั้นตอนทั้งหมด 3 ส่วนที่สะดวก รวดเร็ว เข้าใจง่าย ไม่เป็นการเพิ่มงานแน่นอน

  1. ทำเอกสารใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์โดยสามารถเลือกเป็นไฟล์ประเภท .xml หรือไฟล์ประเภทอื่น ๆ ได้ทั้งนี้จำเป็นต้องลงลายมือชื่อดิจิตอลด้วยทุกครั้ง
  2. สามารถส่งมอบเอกสารให้ผู้ซื้อหรือผู้เข้ารับบริการได้เลย
  3. เมื่อครบกำหนดสามารถส่งเอกสารเพื่อให้กรมสรรพากรตรวจสอบได้ 3 วิธี ซื้อทั้งหมดสามารถทำได้ผ่านทางออนไลน์ ไม่ต้องส่งเอกสารให้ยุ่งยาก
  • ส่งเอกสารผ่านการอัปโหลดบนเว็บไซต์ etax.rd.go.th ซึ่งเอกสารจะต้องเป็นไฟล์ .xml เท่านั้น 
  • ส่งข้อมูลเอกสารใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ผ่านผู้ให้บริการส่งข้อมูลที่ได้รับการรับรองจากกรมสรรพากร
  • ในกรณีที่ต้องการส่งใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ในจำนวนมากกว่า 500,000 ฉบับ/เดือน ซึ่งจะเป็นการเชื่อมต่อระบบอิเล็กทรอนิกส์โดยตรงกับกรมสรรพากร โดยขั้นตอนนี้เรียกว่า Host to Host 

2. e-Tax Invoice by Time Stamp

ในส่วนของ e-Tax Invoice by Time Stamp จะเป็นการทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกิจ SMEs ขนาดเล็กที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30 ล้านบาท และได้ทำการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว เป็นรูปแบบที่ตอบโจทย์ธุรกิจที่มีการออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์จำนวนที่ไม่มาก โดยการส่งเอกสาร e-Tax Invoice by Time Stamp จะเป็นการที่ธุรกิจออกร่างใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หลังจากนั้นทำการส่งอีเมลให้ลูกค้า และ CC อีเมลไปที่ [email protected] เพื่อให้ระบบทำการ Time Stamp หรือประทับเวลาให้ หลังจากนั้นระบบจะส่งเอกสารที่ประทับเวลาแล้วให้ลูกค้าและธุรกิจอีกครั้ง

คุณสมบัติของผู้ยื่นขอจัดทำ e-Tax Invoice by Time Stamp

เจ้าของกิจการที่ต้องการยื่นขอการจัดทำ e-Tax Invoice by Time Stamp ต้องมีคุณสมบัติดังนี้ 

  1. เป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม 
  2. แนะนำว่าเหมาะสำหรับกิจการที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี (ไม่บังคับ)
  3. เป็นบุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด 
  4. ต้องไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับอนุมัติหรืออยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติในโครงการ e-Tax Invoice & Receipt 
  5. ไม่มีพฤติการณ์หลีกเลี่ยงการเสียภาษี ไม่มีประวัติการออกหรือใช้ใบกำกับภาษีปลอม หรือใบกำกับภาษีที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ขั้นตอนการจัดทำและส่งมอบ e-Tax Invoice by Time Stamp

ขั้นตอนของใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบ e-Tax Invoice by Time Stamp อาจมีขั้นตอนมากกว่าเล็กน้อย แต่สะดวกไม่แพ้กัน

  1. ใบกำกับภาษีต้องเป็นไฟล์ PDF/A3 เท่านั้น
  2. ผู้ขายต้องใช้อีเมลที่ลงทะเบียนไว้กับกรมสรรพากร โดยสามารถส่งอีเมลโดยตรงให้ผู้ซื้อ ซึ่งสามารถระบุได้ 1 อีเมล และในอีเมลสามารถแนบไฟล์ได้ 1 ไฟล์เท่านั้น และจำเป็นต้อง Email CC ให้ระบบกลาง สพธอ. (ETDA) ที่อยู่อีเมล [email protected]
  3. ใบกำกับภาษีที่ CC ออกไปจะได้รับการประทับรับรองเวลา หลังจากนั้นระบบจะส่งใบกำกับภาษีที่รับการประทับเวลาแล้วไปให้ผู้ขาย และผู้ซื้ออีกครั้ง

อยากลดความยุ่งยากเรื่องเอกสารใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ คือคำตอบ

ตอนนี้ทุกท่านรู้จักกับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นแล้ว ทราบถึงข้อดีที่ทำให้การเปลี่ยนมาใช้ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์นั้นช่วยธุรกิจของคุณได้อย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการลดปัญหาความยุ่งยากในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเอกสารต่าง ๆ รวมไปถึงเป็นการลดต้นทุน และช่วยเพิ่มโอกาสสร้างยอดขายให้แก่ธุรกิจผ่านนโยบายต่าง ๆ ที่รัฐบาลออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย 

สำหรับเจ้าของกิจการ SMEs ท่านไหนที่กำลังมองหาเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยให้การจัดการใบกำกับภาษีเป็นเรื่องง่าย ที่ PEAK โปรแกรมบัญชีออนไลน์ที่รองรับการทำ e-Tax Invoice ช่วยให้การจัดการบัญชีในธุรกิจของคุณสะดวก สามารถจัดการบัญชีได้อย่างเป็นระบบ เตรียมความพร้อมมุ่งสู่การเติบโตในอนาคต

ทดลองใช้งานโปรแกรมบัญชี PEAK ฟรี! 30 วัน มูลค่า 1,200 บาท
คลิก https://www.peakaccount.com (ไม่มีค่าใช้จ่าย)
PEAK Call Center : 1485
LINE : @peakaccount
สอบถามเพิ่มเติม คลิก https://m.me/peakengine