เรียกได้ว่ามาถึงครึ่งทางแล้วสำหรับเทศกาลยื่นภาษีของบุคคลธรรมดาที่มีรายได้จากปี 2567 หรือที่เรียกกันว่า “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ซึ่งถูกกำหนดให้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เพื่อเสียภาษีให้เสร็จภายใน 31 มีนาคม 68 แต่ถ้าใครยื่นผ่านอินเทอร์เน็ตเวลาสิ้นสุดจะขยายจนถึง 8 เมษายน 68 ขณะที่หลายคนยื่นแบบภาษีผ่านไปได้ราบรื่น ไม่มีปัญหา แต่ก็ยังมีคนอีกกลุ่มที่พบปัญหาว่า รายได้ในระบบยื่นภาษีบุคคลธรรมมดา ของกรมสรรพากรนั้นไม่เท่ากับรายได้ที่ตนเองได้รับจริงหรือจดบันทึกไว้ เช่น ระบบแสดงรายได้มาก หรือต่ำกว่าความเป็นจริง แบบนี้คงจะเริ่มปวดหัว ต้องสาเหตุเกิดจากอะไร และต้องทำอย่างไรต่อ ซึ่งเราจะมาหาคำตอบกันในบทความนี้

ตรวจสอบรายได้ในระบบยื่นภาษีบุคคลธรรมมดา ผ่านระบบ D-MyTax (Digital MyTax)

บางคนอาจยังไม่ทราบว่ากรมสรรพากรมีระบบที่สามารถดึงข้อมูลรายได้เราจากทุกๆ แหล่งที่เราเคยโดนหัก ณ ที่จ่ายไว้หรือมีคนนำส่งข้อมูลไว้ ซึ่งจะนำมาแสดงในระบบใหม่ของกรมสรรพากรที่ชื่อว่า ‘D-MyTax’ หรือ Digital MyTax

เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพมากขึ้น ขอแสดงตัวอย่างการเข้าไปดูข้อมูลรายได้ในระบบดังกล่าว ซึ่งสามารถทำตามขั้นตอนได้ดังนี้

1. เข้าสู่ระบบกรมสรรพากรเพื่อยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา https://efiling.rd.go.th/

2. เลือกยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91

ตรวจสอบ รายได้ในระบบยื่นภาษีบุคคลธรรมมดา ผ่านระบบ D-MyTax

3. หลังจากนั้นระบบจะแสดงหน้าต่างขึ้นมาให้เลือกว่าการยื่นแบบจะ ‘ใช้ข้อมูลที่กรมสรรพากรได้รับ’ หรือจะ ‘กรอกข้อมูลด้วยตนเอง’ ให้เลือก ‘ใช้ข้อมูลที่กรมสรรพากรได้รับ’ เพื่อดูว่าระบบสรรพากรมีข้อมูลรายได้อะไรของเราบ้าง

ตรวจสอบ รายได้ในระบบยื่นภาษีบุคคลธรรมมดา ผ่านระบบ D-MyTax

4. สิ่งที่เราจะเจออันดับแรกยังไม่ใช่ข้อมูล ‘รายได้’ แต่เป็นข้อมูล ‘ค่าลดหย่อน’ ต่างๆ ที่สรรพากรได้รับข้อมูลมาเช่นกัน บางครั้งเราลืมว่ามีสิทธิ์ลดหย่อนส่วนนี้ เช่น ค่าเบี้ยประกันชีวิต หรือค่าใช้จ่ายในโครงการ Easy E-Receipt ที่จำไม่ได้ว่าต้นปีที่แล้วจ่ายอะไรไปบ้าง ระบบก็จะแสดงข้อมูลต่างๆออกมาให้ แม้ข้อมูล ‘ค่าลดหย่อน’ จะไม่ได้เกี่ยวกับบทความนี้ แต่ก็เป็นเรื่องดีๆ ที่ผู้อ่านควรรู้ 

ตรวจสอบ รายได้ในระบบยื่นภาษีบุคคลธรรมมดา ผ่านระบบ D-MyTax

5. เลื่อนลงมาเรื่อยๆ จะเจอไฮไลท์ของบทความนี้แล้วก็คือ ข้อมูล ‘รายได้’ ซึ่งจะแสดงเป็นส่วนๆ  เช่น รายได้เงินเดือน, รายได้จากทรัพย์สิน/การทำธุรกิจ/อาชีพอิสระ เป็นต้น ซึ่งการแสดงข้อมูลในส่วนนี้จะบอกรายละเอียดของรายได้ เช่น

  • ประเภทรายได้
  • ชื่อบริษัทที่จ่ายรายได้
  • เลขทะเบียนนิติบุคคลบริษัทที่จ่ายรายได้
  • จำนวนรายได้ และ
  • จำนวนภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ตรวจสอบ รายได้ในระบบยื่นภาษีบุคคลธรรมมดา ผ่านระบบ D-MyTax

วิธีตรวจสอบรายได้ในระบบยื่นภาษีบุคคลธรรมมดาตรงกับรายได้จริงของเราไหม?

ถึงตอนนี้แล้วคิดว่าทุกคนคงเห็นภาพมากขึ้นว่าระบบแสดงข้อมูลรายได้เราอย่างไรบ้าง สิ่งที่เราจะทำได้ต่อจากนี้ คือ การตรวจสอบว่ารายได้ที่แสดงในระบบครบถ้วน ถูกต้องหรือไม่ สามารถทำได้หลายวิธี เช่น

  • เช็กกับหนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (นิยมเรียกว่า ใบ 50 ทวิ) ที่ได้รับจากคู่ค้า
  • เช็กกับระบบ e-Withholding Tax ผ่านเมนู ‘บริการคัดค้นข้อมูลภาษีและค่าใช้จ่าย’
    (เหมาะกับคนที่รับรายได้จากบริษัทที่จ่ายผ่านระบบ e-Withholding Tax)
  • เช็กกับจำนวนเงินรายได้ที่รับโอนผ่านบัญชีธนาคาร 
    (เหมาะกับคนที่รับรายได้ผ่านบัญชีธนาคารทั้งหมด และไม่ปะปนกับบัญชีส่วนตัว)
  • เช็กกับสมุดจดบันทึกรายได้ 
    (เหมาะกับคนที่บันทึกรายได้ทุกครั้ง จะช่วยให้เรามีข้อมูลรายได้ครบถ้วน)

เราสามารถตรวจสอบโดยใช้หลายวิธีรวมกันได้ ส่วนตัวของผู้เขียนจะทำบันทึกจดรายได้พร้อมบันทึกวันรับเงินและเก็บเอกสารหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่ายเพื่อเป็นหลักฐานการรับเงินในแต่ละครั้ง หลังจากตรวจสอบแล้ว ถ้าข้อมูลรายได้ที่เรามีและในระบบสรรพากรตรงกันเป๊ะ แบบนี้เรียกว่า ‘ราบรื่น’ ได้เลย แต่ถ้าข้อมูลไม่ตรงกันไม่ว่าจะมากกว่าหรือน้อยกว่า เราสามารถเตรียมรับมือได้ ดังนี้

กรณีข้อมูลรายได้จริง ‘มากกว่า’ รายได้ในระบบยื่นภาษีบุคคลธรรมมดา

1. รายได้ที่ผู้จ่ายเงินไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เช่น รายได้จากการขายสินค้า หรือรายได้จากการให้บริการแก่บุคคล ซึ่งปกติจะไม่มีการหักภาษี ณ ที่ จ่ายระหว่างกัน ในระบบฯ จึงไม่แสดงข้อมูลนี้

แก้ไข: เก็บข้อมูลรายได้ทั้งหมด และยื่นรายได้ให้ครบถ้วน

2. รายได้ที่เราบันทึกไว้ แต่ยังไม่ได้รับเงินจริง เนื่องจากการเสียภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาจะถือเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษีเมื่อได้รับชำระเงินแล้ว เช่น ให้บริการแก่บริษัทจำกัดแต่ยังไม่ได้รับชำระเงิน

แก้ไข: เก็บข้อมูลรายได้ที่ยื่นภาษี ต้องเป็นรายได้ที่ได้รับเงินแล้วในปี 2567

3. ผู้จ่ายเงินไม่ได้ยื่นแบบหรือส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้สรรพากร เช่น ผู้จ่ายเงินหักภาษีไว้ แต่ลืมนำส่งภาษีให้สรรพากร หรือบางกรณีที่ไม่มีภาษีต้องหักแต่ต้องยื่นแบบ ซึ่งผู้จ่ายเงินไม่ได้ยื่นแบบ เป็นต้น

แก้ไข: ติดต่อไปยังผู้จ่ายเงิน และแจ้งให้ทำการยื่นปรับปรุงภาษีให้ถูกต้อง กรณีผู้จ่ายเงินไม่ยอมปรับปรุง ควรแจ้งเรื่องต่อสรรพากรพื้นที่

4. ผู้จ่ายเงินส่งข้อมูลรายได้น้อยกว่าที่จ่ายจริง กรณีเกิดจากความผิดพลาดของผู้จ่ายเงินที่ยื่นแบบแจ้งสรรพากรต่ำกว่าความเป็นจริง เช่น รายได้ 100,000 แต่ระบุเป็น 10,000 เป็นต้น

แก้ไข: ติดต่อไปยังผู้จ่ายเงิน และแจ้งให้ทำการยื่นปรับปรุงภาษีให้ถูกต้อง กรณีผู้จ่ายเงินไม่ยอมปรับปรุง ควรแจ้งเรื่องต่อสรรพากรพื้นที่

5. ข้อมูลยังไม่เข้าระบบของกรมสรรพากร เช่น บริษัทที่จ่ายเงินเดือนยังไม่ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.1ก เนื่องจากยังไม่ถึงกำหนด ข้อมูลรายได้ส่วนนี้จึงยังไม่ปรากฏบนระบบ เป็นต้น

แก้ไข: สอบถามไปยังผู้จ่ายว่ายื่นแบบไปแล้วหรือไม่ หรืออาจรอให้ผู้จ่ายเงินยื่นแบบก่อน เพื่อให้ข้อมูลขึ้นในระบบ แล้วค่อยยื่นภาษีบุคคลก็ได้เช่นกัน

กรณีข้อมูลรายได้จริง ‘น้อยกว่า’ รายได้ในระบบยื่นภาษีบุคคลธรรมมดา

1. บันทึกรายได้ไม่ครบถ้วน อาจเกิดจากการที่เราบันทึกรายได้ตกหล่น หรือเก็บข้อมูลไม่เป็นระบบเอง

แก้ไข: เก็บข้อมูลรายได้ทั้งหมดให้ครบถ้วน เก็บข้อมูลวันที่เกิดรายได้และวันที่ได้รับเงิน

2. รายรับบางอย่างไม่รู้ว่าเป็นรายได้ทางภาษี เช่น รายได้ที่ไม่ถูกหัก ณ ที่จ่ายอาจคิดว่าไม่ต้องยื่นภาษี หรือรายได้ที่ผู้จ่ายออกภาษีหัก ณ ที่จ่ายแทนแต่ไม่ส่งใบ 50 ทวิมาให้

แก้ไข: เก็บข้อมูลรายได้ทั้งหมดให้ครบถ้วน ไม่สนใจว่าจะถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้แล้วหรือไม่ กรณีที่ผู้จ่ายเงินออกภาษีแทนต้องติดตามใบ 50 ทวิมาเก็บเป็นหลักฐานด้วย

3. ผู้จ่ายเงินส่งข้อมูลรายได้มากกว่าที่จ่ายจริง เกิดจากความผิดพลาดของผู้จ่ายเงินที่ยื่นแบบแจ้งสรรพากรสูงกว่าความเป็นจริง เช่น รายได้ 5,000 แต่ระบุเป็น 50,000 เป็นต้น

แก้ไข: ติดต่อไปยังผู้จ่ายเงิน และแจ้งให้ทำการยื่นปรับปรุงภาษีให้ถูกต้อง กรณีผู้จ่ายเงินไม่ยอมปรับปรุง ควรแจ้งเรื่องต่อสรรพากรพื้นที่

4. ผู้จ่ายเงินส่งข้อมูลรายได้ผิดบุคคล เช่น ผู้จ่ายเงินจ้างนาย A แต่ตอนแจ้งสรรพากรระบุว่าผู้รับเงิน คือ นาย B ซึ่งทำให้ข้อมูลรายได้ของนาย A และ นาย B จะไม่ตรงกัน

แก้ไข: ติดต่อไปยังผู้จ่ายเงิน และแจ้งให้ทำการยื่นปรับปรุงภาษีให้ถูกต้อง กรณีผู้จ่ายเงินไม่ยอมปรับปรุง ควรแจ้งความการแอบอ้างชื่อไปใช้และนำใบแจ้งความไปแจ้งที่สรรพากรพื้นที่ต่อ ทั้งนี้ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าเราเคยให้คนรู้จักใช้บัตรประชาชนเราไปรับเงินแทนหรือไม่

กรณีที่อยู่ระหว่างรอการแก้ไขภาษีจากผู้จ่ายเงิน และจำเป็นต้องยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90/91 สามารถยื่นแบบภาษีตามยอดรายได้ตามที่ถูกต้องแม้จะไม่ตรงกับยอดในระบบสรรพากร และให้ชี้แจงข้อเท็จจริงให้สรรพากรรับทราบอีกครั้ง

สรุป

การที่ระบบการยื่นภาษีของกรมสรรพากรสามารถเชื่อมโยงข้อมูลการมีรายได้ของผู้เสียภาษีบุคคลธรรมดาได้ ทำให้ผู้เสียภาษีสามารถเช็กข้อมูลที่ตนเองเก็บบันทึกไว้กับข้อมูลในระบบสรรพากรได้เร็วและง่าย กรณีเจอข้อมูลที่แตกต่างกัน สามารถดูรายชื่อและเลขผู้เสียภาษีของผู้จ่ายรายได้เพื่อติดต่อไปสอบถามและแก้ไขปัญหาร่วมกันได้ทันที ขอย้ำอีกครั้งว่าอย่าเข้าระบบเพื่อยื่นภาษีอย่างเดียว แต่ควรตรวจสอบข้อมูลรายได้ให้ครบถ้วน ถูกต้องเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต 

PEAK โปรแกรมบัญชีออนไลน์ มีฟังก์ชันรองรับการช่วยเก็บข้อมูลรายได้ ออกหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย(ใบ50ทวิ) และเอกสารบัญชีต่างๆ ได้อย่าง สะดวก รวดเร็ว ในไม่กี่ขั้นตอน สร้างเอกสารทางธุรกิจ ครบถ้วน ถูกต้อง แม่นยำ ป้องกันปัญหาอย่างมืออาชีพ

ทดลองใช้งานโปรแกรมบัญชี PEAK ฟรี! 30 วัน มูลค่า 1,200 บาท
คลิก https://www.peakaccount.com (ไม่มีค่าใช้จ่าย)
PEAK Call Center : 1485
LINE : @peakaccount
สอบถามเพิ่มเติม คลิก https://m.me/peakengine