Calculation of personal income tax
โดยทั่วไปการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ใช้วิธีดังนี้วิธีที่ 1 = [เงินได้ทั้งปี หัก ค่าใช้จ่าย หัก ค่าลดหย่อน] คูณ อัตราภาษีขั้นบันได 0% – 35% = ภาษีที่ต้องชำระนอกจากนี้กรณีมีเงินได้ประเภท 40(2)-(8) ตั้งแต่ 1.2 แสนบาทขึ้นไป ให้คำนวณวิธีที่ 2 เปรียบเทียบ แล้วเสียภาษีจากวิธีที่คำนวณภาษีได้มากกว่า
วิธีที่ 2 = เงินได้ทั้งปี (ยกเว้นเงินได้ 40(1)) คูณ 0.5% = ภาษีที่ต้องชำระ
การเสียภาษีถือเป็นหนึ่งในหน้าที่ของประชาชนชาวไทยอย่างเราๆ แม้จะมีรายได้มากหรือน้อยก็ยังต้องเสียภาษีอยู่ดี เช่น พี่เอกเป็นพนักงานบริษัท PEAK เมื่อได้เงินเดือนเกินเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนดก็ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปี หรือแม้แต่ป้าชม้อยที่เป็นคนว่างงานเดินเข้าร้านสะดวกซื้อ ซื้อขนมซองละ 20 บาท ก็ยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยที่คุณป้าก็ไม่รู้ตัว นอกจากนี้ยังมีภาษีอีกหลายประเภทที่เราต้องจ่ายในชีวิตประจำวัน วันนี้ผมจะพาผู้อ่านทุกคนมารู้จักกับภาษีจากรายได้ที่บุคคลอย่างเราๆ ต้องจ่ายให้รัฐหรือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากันครับ

บุคคลธรรมดา คือ ใคร?

พอนึกถึงคำว่า “บุคคลธรรมดา” เราคงนึกถึงสิ่งมีชีวิตที่มีสองแขนสองขาที่เรียกว่ามนุษย์แบบเราใช่ไหมครับ แต่รู้หรือไม่ว่าในทางภาษี ไม่ได้หมายถึงแค่บุคคลที่มีชีวิตเท่านั้น แสดงว่าอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิตก็ได้เหรอ? ใช่เลยครับ กรมสรรพากรได้กำหนดให้นิยามของ “บุคคลธรรมดา” ครอบคลุมถึง 5 กลุ่ม ดังนี้

  1. บุคคลธรรมดา
  2. ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
  3. ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
  4. กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
  5. วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

เงินได้อะไรบ้างที่ต้องเสียภาษี?

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นภาษีที่จัดเก็บจากรายได้ที่บุคคลหามาได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหนก็ตาม เพื่อที่จะนำรายได้นั้นไปเป็นฐานเพื่อเสียภาษี ในทางภาษีจะเรียก “รายได้” ว่า “เงินได้” หรือเรียกชื่อเต็มๆ คือ “เงินได้พึงประเมิน” ได้แก่

  1. เงิน  
  2. ทรัพย์สินซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน เช่น รถยนต์ ทองคำ บ้าน
  3. ประโยชน์ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน เช่น ค่าเช่าบ้านที่นายจ้างจ่ายให้หรือให้อยู่ฟรี
  4. เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้
  5. เครดิตภาษีตามที่กฎหมายกำหนด

จะเห็นได้ว่าเงินได้เพื่อเสียภาษีไม่ได้จำกัดว่าต้องรับเป็นเงินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิ่งของ หรือผลประโยชน์อื่นๆ เช่น นายจ้างได้เช่าบ้านให้เป็นที่พักอาศัยของพนักงาน ค่าเช่าบ้านจึงถือเป็นเงินได้ของพนักงาน ถือเป็นผลประโยชน์ที่พนักงานได้รับทั้งสิ้น ซึ่งต้องนำมาเสียภาษีด้วย หรือแม้แต่ของที่มีคนเอาให้เราฟรีๆ ก็ยังถือเป็นเงินได้ด้วยนะครับ

ก่อนคำนวณภาษี ต้องรู้จักเงินได้พึงประเมิน 8 ประเภทก่อน

เนื่องจากแต่ละคนประกอบอาชีพแตกต่างกัน มีความยากง่ายหรือมีต้นทุนที่มากน้อยไม่เท่ากัน เพื่อความเป็นธรรม ในกฎหมายภาษีจึงได้แบ่งลักษณะเงินได้ (พึงประเมิน) ออกเป็นกลุ่มๆ ตามความยากง่ายของงาน และจำนวนเงินที่จ่ายค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนเพื่อกำหนดวิธีคำนวณภาษีให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด เพราะงานที่ใช้ต้นทุนสูงก็ควรหักค่าใช้จ่ายได้เยอะ ถ้าต้นทุนน้อยก็ควรหักค่าใช้จ่ายได้น้อย 

ตัวอย่างเช่น เงินได้ประเภทที่ 1 เงินเดือน กำหนดค่าใช้จ่ายให้หักเหมา 50% สูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท เพราะค่าใช้จ่ายในการทำงานของมนุษย์เงินเดือนไม่ได้สูงมากนัก หรือ เงินได้ประเภทที่ 7 ค่ารับเหมาก่อสร้างจะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้สูงถึง 60% เพราะการรับเหมาต้องมีค่าแรงงานและซื้อค่าวัสดุก่อสร้างซึ่งมีมูลค่าที่สูง ถ้าอยากเข้าใจเงินได้ทั้ง 8 ประเภทมากขึ้น ผมขอแนะนำให้อ่านบทความ ต้องรู้ก่อนเสียภาษี เงินได้ 8 ประเภทมีอะไรบ้าง? เพิ่มเติมครับ

มาเริ่มคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากัน?

หลังที่เรารู้ว่าใครบ้างที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อะไรบ้างที่ถือเป็นเงินได้และประเภทของเงินได้กันแล้ว ก็ถือเวลาที่เราต้องเข้าใจขั้นตอนถัดมา คือ การคำนวณภาษี เงินได้บุคคลธรรมดาครับ

สิ่งแรกที่เราต้องทำคือรวบรวมเงินได้ที่หามาได้ตลอดทั้งปีภาษีมารวมกันครับ (ยกเว้นเงินได้ที่ยกเว้นภาษีหรือที่ไม่ต้องเสียภาษี) และนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตาม 3 ขั้นตอน ดังนี้ครับ

ขั้นที่ 1 คำนวณหาจำนวนภาษีตาม วิธีที่ 1 ก่อน

คำนวณหาจำนวนภาษี

การหักค่าใช้จ่าย

ค่าใช้จ่ายเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการคำนวณภาษี ถือเป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างหนึ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับหักเป็นต้นทุนในการทำงาน โดยมีอัตราการหักค่าใช้จ่ายมากหรือน้อยตามแต่ละประเภทของเงินได้ และบางเงินได้ กรมสรรพากรได้เปิดโอกาสในการเลือกหักค่าใช้จ่ายตามที่จ่ายจริงหรือในอัตราเหมาได้ ดังนี้

การหักค่าใช้จ่าย

การหักลดหย่อน

ค่าลดหย่อนเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบในการคำนวณภาษีที่กฎหมายกำหนดให้นำไปหักออกจากเงินได้ได้อีกหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว การหักลดหย่อนกรณีต่างๆ แตกต่างกันออกไป สรุปค่าลดหย่อนพื้นฐานได้ดังนี้

  1. ผู้มีเงินได้ 60,000 บาท
  2. คู่สมรส (คู่สมรสต้องไม่มีเงินได้และจดทะเบียนสมรสถูกกฎหมาย) 60,000 บาท
  3. บุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม คนละ 30,000 บาท
  4. ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ละคราวไม่เกิน 60,000 บาท
  5. ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คนละ 30,000 บาท (พ่อแม่ต้องมีรายได้ไม่เกิน3หมื่น/ปี) และสามารถหักลดหย่อนสำหรับบิดามารดาของคู่สมรสได้อีกคนละ 30,000 บาท
  6. ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ คนละ 60,000 บาท
  7. ค่าเบี้ยประกันชีวิต (กรมธรรม์อายุ 10 ปีขึ้นไป) ของผู้มีเงินได้หักค่าลดหย่อนและได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  8. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรส หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท (พ่อแม่ต้องมีรายได้ไม่เกิน3หมื่น/ปี)
  9. เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่ได้จ่ายไปจริงในปีภาษี แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนที่เกิน 10,000 บาทแต่ไม่เกิน 490,000 บาท ซึ่งไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้างให้หักจากเงินได้
  10. เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ได้รับยกเว้นเท่าที่จ่ายเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น
  11. ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ หักค่าลดหย่อนในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ที่นำมาเสียภาษีเงินได้ในแต่ละปี แต่ไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี
  12. ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีนั้น แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
  13. ดอกเบี้ยกู้ยืมที่จ่าย สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืม หักค่าลดหย่อนตามจำนวนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  14. เงินสมทบประกันสังคม หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริงเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีนั้น แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
  15. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท แต่เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีกำหนดตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ต้องไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้
  16. เงินบริจาค

           –  เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา/กีฬา/พัฒนาสังคม หักลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน

           –  เงินบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) หักลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน

           –  เงินบริจาคทั่วไป หักลดหย่อนได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น

           –  เงินบริจาคแก่พรรคการเมือง หักลดหย่อนได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท

อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

อัตราภาษีที่ใช้คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีลักษณะเป็นอัตราก้าวหน้าหรือตามขั้นบันไดตั้งแต่อัตราภาษีต่ำสุด 0% จนถึงเพดานสูงสุดที่ 35% พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ ถ้ายิ่งมีฐานเงินได้สูง ระดับอัตราภาษีก็จะสูงขึ้นตาม และภาษีที่ต้องจ่ายก็จะมีจำนวนที่มากขึ้น ดังนี้

อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ขั้นที่ 2

ดูว่าเข้าเงื่อนไขที่ต้องคำนวณภาษีตาม วิธีที่ 2 หรือไม่ ถ้าเข้าเงื่อนไขให้คำนวณวิธีที่ 2 ถ้าไม่เข้าเงื่อนไข ข้ามไปที่ขั้นตอนที่ 3 ได้เลย

กรณีที่ต้องคำนวณภาษีตามวิธีที่ 2 ได้แก่ กรณีที่เงินได้ทุกประเภทในปี แต่ไม่รวมเงินได้ประเภทที่ 1 (เงินเดือน) มีจำนวนรวมกันตั้งแต่ 120,000 บาทขึ้นไป ให้คำนวณในอัตราร้อยละ 0.5 ดังนี้

รายได้ทั้งหมด (ยกเว้นรายได้ประเภทที่1) คูณ 0.5% = ภาษีที่คำนวณได้ตามวิธีที่ 2
จากตัวอย่างในวิธีที่ 1 นาย ก มีรายได้ที่มิใช่ประเภทที่ 1 (เงินเดือน) เฉพาะรายได้ค่าเช่ารถยนต์ 1.5 ล้านบาท จะคำนวณภาษีวิธีที่ 2 ได้ดังนี้
1,500,000 บาท คูณ 0.5% = 7,500 บาท (ภาษีที่คำนวณได้ตามวิธีที่ 2)
หมายเหตุ: หากคำนวณตามวิธีที่ 2 แล้วมีภาษีเงินได้ที่ต้องเสียจำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 5,000 บาท ผู้มีเงินได้ ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ตามวิธีที่ 2 แต่ยังต้องเสียภาษีตามจำนวนที่คำนวณได้ตามวิธีที่ 1 อยู่

ขั้นที่ 3 สรุปจำนวนภาษีที่ต้องเสีย

ให้คำนวณภาษีที่คำนวณได้ระหว่างวิธีที่ 1 และวิธีที่ 2 มาเปรียบเทียบกัน โดยต้องเสียภาษีจากภาษีที่คำนวณแล้วเสียสูงกว่า จากนั้นดูต่อว่าระหว่างปีมีภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย ภาษีที่ชำระตอนครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) ภาษีที่ได้ชำระล่วงหน้า หรือเครดิตภาษีเงินปันผล เพราะภาษีเหล่านี้เหมือนเราได้ชำระไปแล้วล่วงหน้า จึงต้องนำมาหักให้เหลือเพียงภาษีที่ต้องชำระเพิ่มเท่านั้น ในบางกรณีภาษีที่ชำระล่วงหน้าอาจสูงกว่าภาษีที่คำนวณได้ ผู้เสียภาษีสามารถทำเรื่องขอคืนภาษีส่วนเกินนั้นได้

สรุปจำนวนภาษีที่ต้องเสีย

สรุปก็คือ นาย ก จริงๆ ต้องมีภาษีที่ต้องเสียให้กรมสรรพากรรวม 212,500 บาท แต่เนื่องจากระหว่างปีมีการถูกหัก ณ ที่จ่ายภาษีไปบางส่วนแล้ว รวมถึงมีการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) ด้วย ทำให้เหลือภาษีที่ต้องชำระเพิ่มเติมอีกเพียง 57,500 บาทครับ

คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว ต้องยื่นภาษีเมื่อไหร่ อย่างไร?

เมื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเสร็จแล้ว ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีและเงินภาษีให้กรมสรรพากรภายในเวลาที่กำหนด แต่แบบภาษีที่ใช้ต้องสอดคล้องกับประเภทเงินได้ที่มีในปีนั้น โดยมีแบบภาษีที่เกี่ยวข้อง 3 แบบ ดังนี้

1. ภ.ง.ด.91 : แบบแสดงรายการภาษีเงินได้ประจำปี สำหรับผู้มีเงินได้จากการจ้างแรงงานประเภทที่ 1 ประเภทเดียว ต้องยื่นภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป

2. ภ.ง.ด.90 : แบบแสดงรายการภาษีเงินได้ประจำปี สำหรับผู้มีเงินได้ประเภทที่ 5-8 ต้องยื่นภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป

3. ภ.ง.ด.94 : แบบแสดงรายการภาษีเงินได้ครึ่งปี สำหรับผู้มีเงินได้ประเภทที่ 5-8 ต้องยื่นภายในเดือนกันยายนของทุกปี

โดยต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้พร้อมเงินภาษี ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา หรือกรณียื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ตจะขยายเวลาออกไปอีก 8 วัน

PEAK ขอเล่า

ผ่อนชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้หรือไม่?

เมื่อคำนวณแล้วมีภาษีที่ต้องเสีย กรมสรรพากรเปิดโอกาสให้บุคคลธรรมดาสามารถผ่อนชำระได้ถ้ามีภาษีที่ต้องชำระตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป ทั้งภาษีครึ่งปีและภาษีสิ้นปีสามารถขอผ่อนชำระได้ 3 งวดเท่าๆ กัน โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่มใดๆ ผู้เสียภาษีอาจติดต่อขอผ่อนชำระได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาโดยใช้แบบบ.ช. 35 จำนวน 1 ชุด 3 แผ่น ข้อความเหมือนกัน โดย

  • งวดที่ 1    ชำระพร้อมยื่นแบบแสดงรายการภายในวันที่ 30 กันยายน หรือวันที่ 31 มีนาคม
  • งวดที่ 2    ชำระภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ต้องชำระงวดที่ 1
  • งวดที่ 3   ชำระภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ต้องชำระงวดที่ 2

ถ้าภาษีงวดใดงวดหนึ่งมิได้ชำระภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ผู้เสียภาษีหมดสิทธิ์ที่จะชำระภาษีเป็นรายงวด และต้องชำระคืนภาษีที่เหลือทั้งหมดพร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีงวดที่เหลือ

ถ้าไม่ยื่นแบบแสดงรายการ หรือไม่ชำระภาษีจะมีความผิดอะไรบ้าง

เมื่อเราไม่ยื่นภาษีภายในเวลาที่กำหนดเท่ากับว่าเราจะไม่ได้ยื่นทั้งแบบภาษีและเงินภาษีให้กรมสรรพากรทำให้เราจะมีโทษที่เกี่ยวข้อง 2 เรื่องหลักๆ ดังนี้

1. กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท

2. กรณีไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลา จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีที่ต้องชำระนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี

บทความนี้ชวนผู้อ่านทำความเข้าใจตั้งแต่บุคคลธรรมดาคือใคร เงินได้อะไรที่ต้องเสียภาษี เกณฑ์การหักค่าใช้จ่ายและสิทธิลดหย่อนมีอะไรบ้าง วิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จนถึงการผ่อนชำระภาษีและค่าปรับต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น หวังว่าท่านผู้อ่านจะสามารถนำวิธีการคำนวณภาษีไปประยุกต์ใช้กับประเภทรายได้ของตนเองได้นะครับ

หลังจากอ่านบทความนี้แล้ว คุณต้องการที่ปรึกษาเพื่อวางแผนและจัดการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ PEAK เรามีพันธมิตรสำนักงานบัญชีมากกว่า 1,200 แห่งทั่วประเทศ พร้อมช่วยดูแลคุณ สนใจ คลิก