ในช่วงเทศกาลปีใหม่ถือเป็นประเพณีนิยมที่กิจการส่วนใหญ่ต้องจัดเตรียมของขวัญปีใหม่ให้แก่ลูกค้า ซึ่งถือเป็นผู้มีอุปการะคุณต่อองค์กร ของขวัญปีใหม่ที่กิจการโดยทั่วไปนิยมมอบให้แก่ลูกค้า ได้แก่ กระเช้าของขวัญ เช่น กระเช้าผลไม้ กระเช้าผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เป็นต้น ของขวัญหรือของชำร่วย ได้แก่ สมุดบันทึกประจำวัน (Diary) ปฏิทิน Thump drive เป็นต้น กรณีลูกค้า VIP กิจการอาจมอบเป็นบัตรของขวัญ หรือแพ็กเกจที่พักหรือโรงแรม การมอบของขวัญให้ลูกค้า เป็นการแสดงความขอบคุณและสร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้าเพื่อรักษาสัมพันธภาพที่ดีทางธุรกิจ
การแจกของขวัญปีใหม่ให้แก่ลูกค้า กิจการนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้หรือไม่เป็นจำนวนเท่าไรและนำมาใช้เป็นภาษีซื้อได้หรือไม่ เป็นประเด็นทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับภาษีนิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มที่กิจการควรรู้ ดังนี้
กรณีกระเช้าของขวัญ
ภาษีเงินได้นิติบุคคล
- การให้กระเช้าของขวัญปีใหม่แก่ลูกค้า ที่กิจการสามารถหักเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ ในการจ่ายซื้อควรเป็นไปตามประเพณีธุรกิจทั่วไป ในช่วงเทศกาล หรือโอกาสแห่งขบธรรมเนียมประเพณี เช่น เทศกาลปีใหม่ เทศกาลสงกรานต์ การเปิดตัวสินค้าใหม่ และเข้าลักษณะเป็นค่ารับรอง ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 143 (พ.ศ.2522) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 222 (พ.ศ.2542) ซึ่งหักเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ไม่เกิน 2,000 บาทต่อครั้ง แต่ถ้าราคาเกิน 2,000 บาทต่อครั้งส่วนที่เกินไม่สามารถหักเป็นรายจ่ายทางภาษีได้
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ภาษีซื้อที่เกิดจากค่ากระเช้าของขวัญที่เข้าลักษณะเป็นค่ารับรองดังกล่าวข้างต้น โดยมีนามบัตรของกิจการที่ระบุ ชื่อ ที่อยู่และเครื่องหมายการค้าของบริษัทติดอยู่ที่กระเช้า ไม่สามารถนำภาษีซื้อไปหักจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มหรือนำมาขอคืนภาษีซื้อได้ ตามมาตรา 82/5(4) แห่งประมวลรัษฎากรและข้อ 5 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มฉบับที่ 17
- สำหรับภาษีขาย ถ้ากระเช้าของขวัญเป็นสิ่งที่กิจการมอบให้ลูกค้าตามประเพณีทางธุรกิจทั่วไปและมีราคาไม่เกินสมควร (พิจารณาจากมูลค่าที่เหมาะสมตามที่ควรจากราคากระเช้าโดยทั่วไปในท้องตลาด) บริษัทไม่ต้องนำมูลค่าของกระเช้าดังกล่าวมาคำนวณภาษีขายเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากรและข้อ 2(6) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มฉบับที่ 40
กรณีของขวัญหรือของชำร่วยแจกลูกค้า
ภาษีเงินได้นิติบุคคล
มีหลักเกณฑ์ในการบันทึกค่าของขวัญเป็นค่าใช้จ่ายดังนี้
1. บุคคลที่ได้รับของขวัญหรือของชำร่วยต้องไม่ใช่ลูกจ้างของบริษัท
2. ค่าใช้จ่ายจากการซื้อของขวัญปีใหม่หรือของชำร่วย จะต้องมีกรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้จัดการ หรือ ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากบุคคลดังกล่าวเป็นผู้อนุมัติ
3. ต้องมีใบรับหรือหลักฐานของผู้รับเงินสำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่ารับรอง หรือเป็นค่าบริการ
4. ค่าของขวัญที่ให้นั้นต้อง ไม่เกิน 2,000 บาทต่อครั้ง โดยบันทึกค่าของขวัญเป็นค่าใช้จ่ายเท่าที่จ่ายจริง แต่ถ้าค่าของขวัญเกิน 2,000 บาทต่อครั้งส่วนที่เกินไม่สามารถหักเป็นรายจ่ายทางภาษีได้
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อของขวัญหรือของชำร่วยแจกลูกค้า ซึ่งค่าของขวัญถือเป็นค่ารับรอง ทำให้ไม่สามารถนำภาษีซื้อไปหักจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มหรือนำมาขอคืนภาษีซื้อได้
- สำหรับภาษีขาย การแจกของขวัญหรือของชำร่วยให้ลูกค้าถือเป็นการขายสินค้าต้องนำมาคำนวณภาษีขายเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและออกใบกำกับภาษี แต่ถ้าของขวัญหรือของชำร่วยเป็นสมุดบันทึกประจำวัน (Diary), สมุดบันทึกข้อความ, ปฏิทิน หรือสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกันที่มีชื่อของผู้ประกอบการ ชื่อการค้าหรือเครื่องหมายการค้าของผู้ประกอบการปรากฏอยู่ เป็นสิ่งที่ให้กันตามประเพณีทางธุรกิจทั่วไป และมีราคาไม่เกินสมควร(พิจารณาจากมูลค่าที่เหมาะสม ตามที่ควรจากราคาของขวัญหรือของชำร่วยโดยทั่วไปในท้องตลาด) ไม่ต้องนำค่าของขวัญหรือของชำร่วยดังกล่าว ไปคำนวณภาษีขายเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
การมอบของขวัญปีใหม่ให้ลูกค้าไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบกระเช้าของขวัญหรือของขวัญ ของชำร่วย เป้นประเพณีปฏิบัติที่กิจการส่วนใหญ่ให้ความสำคัญเพื่อสร้างสัมพันธ์ที่ดีอย่างต่อเนื่องกับลูกค้า แต่ผู้ประกอบการอย่าลืมวางแผนในการจัดซื้อของขวัญปีใหม่ให้ได้ประโยชน์ทางภาษีด้วย ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานเลี้ยงในบริษัท หรือซื้อของขวัญให้พนักงานจับฉลาก ก็สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ โดยมีเงื่อนไขตามบทความนี้ จัดเลี้ยงวันปีใหม่ หักเป็นค่าใช้จ่ายกิจการได้ไหม
PEAK เป็นโปรแกรมบัญชีที่ช่วยให้บัญชีภาษีง่ายสำหรับทุกคน มีระบบจัดการธุรกิจแบบออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา ช่วยคุณจัดการเรื่องภาษีอย่างเป็นระบบ สมัครใช้งานโปรแกรมบัญชี PEAK ฟรี คลิก peakaccount.com หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมทาง inbox ของ Facebook PEAK โปรแกรมบัญชีออนไลน์