tax-juristic-refunding

เมื่อนิติบุคคลมีรายได้จากการประกอบการในแต่ละรอบปี มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี ถ้ากิจการใดจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งจัดเก็บจากมูลค่าการซื้อขายสินค้าหรือการให้บริการในประเทศ และการนำเข้าสินค้า ในกรณีที่กิจการมีรายได้จากดอกเบี้ยรับจากการให้กู้ยืม ก็ต้องยื่นแบบชำระภาษีธุรกิจเฉพาะด้วย

ในการเสียภาษีดังกล่าว กิจการอาจจะเสียภาษีเกินกว่ายอดที่ต้องชำระ ทั้งจากการชำระเองหรือถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย อย่างไรก็ตามผู้เสียภาษีสามารถขอคืนภาษีจากกรมสรรพากรได้ ตามเงื่อนไขของแต่ละประเภทภาษีอากรดังนี้

1. การขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย

1.1 มาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร

เป็นการขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ ค่าบริการ ค่าจ้างทำของ ค่าขนส่ง ค่าโฆษณา เป็นต้น

เงื่อนไขการขอคืนภาษี

ก. ผู้มีสิทธิขอคืนภาษีเป็นผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งภาษีแล้ว แต่นำส่งเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษี

ข. ระยะเวลาในการขอคืนภาษี โดยผู้มีสิทธิขอคืนภาษีสามารถยื่นคำร้องได้ภายในสามปี นับแต่วันครบกำหนดยื่นแบบภาษี ตัวอย่างเช่น บริษัท ก มีรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2561 มีภาษีถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้เกินกว่าจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษี บริษัทมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัท (ภ.ง.ด.50) ภายใน 150 วัน นับแต่วันสิ้นรอบบัญชี หมายถึง ภายใน 30 พฤษภาคม 2562 ดังนั้นระยะเวลาในการขอคืนภาษี หมายถึงภายใน 30 พฤษภาคม 2565

1.2 มาตรา 27ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

เป็นการขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่มิใช่การขอคืนตามมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร เช่น การขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากรได้แก่เงินได้ประเภท ค่านายหน้า ค่าฝึกอบรม ค่าซ่อมแซมเครื่องจักร เป็นต้น กรณีบริษัทต่างประเทศที่มีเงินได้ในประเทศไทย

เงื่อนไขการขอคืนภาษี

ก. ผู้มีสิทธิขอคืนภาษีเป็นผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งภาษีแล้ว แต่นำส่งเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษี

ข. ระยะเวลาในการขอคืนภาษี โดยผู้มีสิทธิขอคืนภาษีสามารถยื่นคำร้องได้ภายในสามปี นับแต่วันครบกำหนดยื่นแบบภาษี

วิธีการขอภาษีเงินคืน

ก. ยื่นคำร้องขอคืนภาษีต่อเจ้าพนักงานประเมิน ตามแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.50

ข. ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (ค.10)

ปัจจุบันกรมสรรพากรมีบริการคืนภาษีเงินได้ผ่านระบบพร้อมเพย์ โดยนิติบุคคลต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ 1 เป็นนิติบุคคลที่มีพร้อมเพย์ 2 มีเงินคืนภาษีไม่ถึง 100 ล้านบาท 3 ไม่เปลี่ยนแปลงสถานะนิติบุคคล

โดยนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและได้สมัครลงทะเบียนพร้อมเพย์แล้ว กรมสรรพากรจะพิจารณาคืนเงินเข้าบัญชีเงินฝากที่ผูกเข้ากับเลขทะเบียนนิติบุคคล 13 หลัก แต่ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขดังกล่าวกรมสรรพากรจะยังคงคืนเป็นเช็คหรือโอนผ่านบัญชีธนาคาร

2. การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม

2.1 มาตรา 84 แห่งประมวลรัษฎากร

เป็นการนำเครดิตภาษีที่มีเหลืออยู่ในแต่ละเดือนภาษี ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย ไปใช้สิทธิชำระภาษีมูลค่าเพิ่มได้

วิธีการขอภาษีเงินคืน

ก. เมื่อยื่นแบบภ.พ.30 และมีเครดิตภาษีเหลืออยู่ของเดือนนั้น ถ้าไม่ลงชื่อขอคืนภาษี ให้ถือว่ามีความประสงค์จะนำเครดิตภาษีไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนถัดไป แต่ถ้าในเดือนถัดไป ไม่ได้นำเครดิตภาษีที่เหลืออยู่มาชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม จะยกยอดเครดิตภาษีข้ามไปเดือนอื่นอีกไม่ได้ แต่ให้ขอคืนเป็นเงินสด โดยยื่นคำร้องขอคืนภาษีด้วยแบบค.10

ข. การขอคืนภาษีเป็นเงินสดหรือขอโอนเข้าบัญชีธนาคาร ให้ผู้ประกอบการลงลายมือชื่อในแบบ ภ.พ.30

2.2 มาตรา 84/1 แห่งประมวลรัษฎากร

เป็นการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้าหรือให้บริการ

เงื่อนไขการขอคืนภาษี

กรณีที่ผู้ประกอบการไม่ได้ขอคืนภาษีด้วยการเครดิตภาษีในข้อ 2.1 ให้ผู้ประกอบการมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีภายในสามปีนับตั้งแต่วันพ้นกำหนดยื่นแบบแสดงรายการภาษีสำหรับเดือนภาษีนั้น

2.3 มาตรา 84/2 แห่งประมวลรัษฎากร

เป็นการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้า

เงื่อนไขการขอคืนภาษี

ก. กรณีผู้นำเข้ามีข้อโต้แย้งตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรหรือเป็นคดีในศาล การขอคืนภาษีให้กระทำภายในหกเดือนนับแต่วันที่ได้รับแจ้งข้อโต้แย้งอากรขาเข้าเป็นหนังสือ

ข. ถ้าผู้นำเข้าเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้ยื่นคำร้อง ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ แต่ถ้าไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ให้ยื่นคำร้องขอคืน ณ ด่านศุลกากรขาเข้า

3. การขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะ

มาตรา 91/11 แห่งประมวลรัษฎากร

เงื่อนไขการขอคืนภาษี

ก. ผู้มีสิทธิขอคืนภาษีได้นำส่งภาษีแล้ว แต่นำส่งเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษี

ข. ระยะเวลาในการขอคืนภาษี โดยผู้มีสิทธิขอคืนภาษีสามารถยื่นคำร้องได้ภายในสามปี นับแต่วันครบกำหนดยื่นแบบภาษี โดยยื่นคำร้องตามแบบ ค.10

ในการขอคืนภาษีผู้ประกอบการควรศึกษาเงื่อนไขในการขอคืนภาษีแต่ละประเภทดังกล่าวมาข้างต้นและควรจัดเตรียมข้อมูลและเอกสารที่ต้องใช้ให้พร้อม เพื่อความสะดวกในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่สรรพากร ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการได้รับเงินคืนเร็วขึ้น

PEAK โปรแกรมบัญชีออนไลน์ มีระบบจัดทำบัญชีอัตโนมัติ สรุปรายได้ ค่าใช้จ่าย แบบ Real Time ให้ผู้ประกอบการจัดงานบัญชีภาษีได้สะดวก ทุกที่ ทุกเวลา เพิ่มโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ

สมัครใช้งานโปรแกรมบัญชี PEAK ฟรี คลิก peakaccount.com
หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมทาง inbox ของ Facebook PEAK โปรแกรมบัญชีออนไลน์

อ้างอิง :
 
การขอคืนภาษีอากร ตอนที่ 1 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล
บทความ การขอคืนภาษีอากร ตอนที่1 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล 12 มิ.ย.2563
การขอคืนภาษีอากร ตอนที่ 2 ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ
บทความ การขอคืนภาษีอากร ตอนที่2 ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ 15 ส.ค.2563 http://download.rd.go.th/fileadmin/download/insight_pasi/vat_refund_120951.pdf บทความ สนใจสักนิดถ้าคิดขอคืน VAT https://www.taxguruthai.com/topic/103/การขอคืนภาษีอากรตามมาตรา-27-ตรี-และมาตรา-63-แห่งประมวลรัษฎากร- บทความ การขอคืนภาษีอากรตามมาตรา 27 ตรี และมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร 11 มี.ค.2561