"ที่ปรึกษาภาษี" อาชีพนี้มีหน้าที่อะไร?
Table of Contents

ปัจจุบันมาตรการทางภาษีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความสลับซับซ้อนขึ้นตามทิศทางการดำเนินธุรกิจ การวางแผนภาษีที่ดี นอกจากจะช่วยให้ชำระภาษีได้อย่างถูกต้องครบถ้วนยังเป็นการรักษาผลประโยชน์ขององค์กรในการบริหารค่าใช้จ่ายทางด้านภาษี อีกทั้งหลายธุรกิจประสบปัญหาจากการจัดการทางด้านภาษี ทำให้การชำระภาษีล่าช้าหรือไม่ถูกต้อง ต้องเสียเงินเพิ่มและเบี้ยปรับทางภาษีในมูลค่าสูง การมีที่ปรึกษาทางภาษีจึงเป็นกลยุทธที่สำคัญในการจัดการปัญหาด้านภาษีหรือเพื่อการวางแผนทางภาษีให้กับองค์กร

ที่ปรึกษาภาษีคืออะไร

ที่ปรึกษาภาษี(Tax Consultant/Tax Advisor) เป็นอาชีพที่ให้บริการให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายภาษีอากร เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านภาษี ช่วยกิจการดูแลจัดการเรื่องภาษี ติดต่อประสานงานกับกรมสรรพากรในการจัดการประเด็นปัญหาภาษีเพื่อลดความเสี่ยงของกิจการในการถูกประเมินเบี้ยปรับและเงินเพิ่มหรือเพื่อการประหยัดภาษีของกิจการ ช่วยกิจการวางแผนภาษี ส่วนใหญ่กิจการในประเทศไทยจะใช้บริการผู้สอบบัญชีรับอนุญาตหรือสำนักงานบัญชี เป็นที่ปรึกษาภาษี เนื่องจากมีความรู้ภาษีที่ดีและดูแลเรื่องบัญชีซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับงานภาษีของกิจการอยู่แล้ว กิจการบางแห่งก็จ้างบุคลากรจากสำนักงานกฎหมาย

ทำไมธุรกิจจึงต้องใช้ที่ปรึกษาภาษี

ถึงแม้ที่ปรึกษาภาษีจะไม่ได้เป็นข้อกำหนดทางกฎหมายที่กิจการต้องมี แต่มีกิจการที่มีแนวโน้มจะจ้างที่ปรึกษาภาษีอันเนื่องมาจาก สาเหตุดังต่อไปนี้

1. กิจการประสบปัญหาจากการถูกกรมสรรพากรเรียกตรวจสอบ

มีกิจการหลายแห่งที่ประสบปัญหาจากการที่กรมสรรพากรเรียกตรวจสอบได้แก่ การตรวจสอบภาษีย้อนหลัง การตรวจสอบภาษีที่เสียไว้ไม่ถูกต้อง เป็นค้น

2. กิจการขาดบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญในการจัดการทางภาษี

กิจการที่ขาดผู้ที่มีความรู้ความชำนาญที่เพียงพอทางด้านภาษี ทำให้เกิดความผิดพลาดและถูกประเมินภาษีเพิ่มเติมพร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่มเป็นจำนวนเงินที่สูงรวมทั้งขาดผู้ติดต่อประสานงานและชี้แจงต่อกรมสรรพากรเมื่อมีประเด็นทางภาษี

3. กิจการต้องการการวางแผนเพื่อการประหยัดภาษี

กิจการที่ต้องการเสียภาษีโดยถูกต้องครบถ้วน ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายภาษีอากรกำหนดและเป็นผลให้จำนวนเงินภาษีอากรเป็นจำนวนเงินที่น้อยที่สุดและประหยัดที่สุด รวมทั้งการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุด ซึ่งไม่เป็นการทุจริตหรือหลีกเลี่ยงการเสียภาษี

4. กิจการที่ต้องการระบบควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ

อย่างบริษัทที่กำลังจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์,บริษัทขนาดใหญ่หรือบริษัทข้ามชาติที่ต้องมีระบบการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือระบบบัญชีและภาษีต้องมีความเป็นมาตรฐานที่ดี

หน้าที่ของที่ปรึกษาภาษี

ที่ปรึกษาภาษีมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

1. การให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการในการปฎิบัติตามกฎหมายภาษีอากร

2. จัดเตรียมแบบภาษีและยื่นแบบภาษีให้แก่ผู้เสียภาษี การจัดทำเอกสารทางด้านภาษีมูลค่าเพิ่มได้แก่ รายงานภาษีซื้อ ภาษีขาย รวมทั้งการจัดทำแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีและประจำปี เป็นต้น

3. การติดต่อประสานงานกับกรมสรรพากร รวมทั้งเป็นตัวแทนของผู้เสียภาษีในการชี้แจงต่อกรมสรรพากรและเคลียร์ประเด็นปัญหาทางภาษีให้แก่กิจการ

4. การวางแผนภาษีให้กับองค์กร ส่วนใหญ่องค์กรขนาดใหญหรือบริษัทข้ามชาติ (Multinational Company) ซึ่งมีโครงสร้างทางภาษีที่ซับซ้อนหรือมีหลายธุรกิจ มักใช้ที่ปรึกษาในกลุ่มบริษัทผู้ให้บริการตรวจสอบบัญชีขนาดใหญ่ (Big Four) ซึ่งมีหน่วยงานที่ให้คำปรึกษาด้านภาษีโดยเฉพาะ ส่วนองค์กรขนาดกลางและขนาดเล็กที่ต้องการวางแผนภาษีมักใช้บริการผู้ตรวจสอบบัญชี สำนักงานบัญชีหรือสำนักงานกฎหมาย เป็นต้น

หน้าที่ของที่ปรึกษาภาษี

แนวทางการเลือกที่ปรึกษาภาษี

เพื่อเป็นแนวทางสำหรับกิจการในการเลือกที่ปรึกษาภาษี มีคำแนะนำให้แก่ผู้ประกอบการในการพิจารณาคุณสมบัติของที่ปรึกษาภาษีอากรดังต่อไปนี้

  1. จบการศึกษาด้านบัญชีหรือนิติศาสตร์ มีความรู้ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายภาษีอากร ที่ปรึกษาภาษีส่วนใหญ่เป็นนักบัญชีหรือผู้สอบบัญชีรับอนุญาตซึ่งมีประสบการณ์ด้านบัญชีภาษี และดูแลงานบัญชีของกิจการซึ่งมีความเกี่ยวโยงกันกับเรื่องภาษีอยู่แล้ว
  2. มีความเข้าใจในธุรกิจของกิจการเป็นอย่างดี เข้าใจในวัตถุประสงค์ของกิจการ ที่มาที่ไปของรายการซื้อขายหรือให้บริการ อย่างบริษัทข้ามชาติจะเน้นการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการการลงทุนจากต่างประเทศ ประโยชน์ที่ได้รับจากอนุสัญญาภาษีซ้อน เป็นต้น
  3. มีทักษะในการคิดวิเคราะห์ มีความละเอียดรอบคอบ มีภาพลักษณ์ที่ดี มีบุคลิกน่าเชื่อถือ มีความเป็นมืออาชีพ
  4. มีทักษะการรวบรวมข้อมูล การใช้คอมพิวเตอร์ และการนำเสนองานที่ดี มีความสามารถในการเจรจาสื่อสารที่ชัดเจนตรงประเด็นสามารถอธิบายข้อความในภาษากฎหมายให้ผู้ประกอบการเข้าใจ สามารถให้ความคิดเห็นที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ (Practical Suggestion) ทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อถือ คล้อยตามและเห็นประโยชน์
  5. เป็นผู้ติดตามความรู้ใหม่ๆเกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากรอย่างสม่ำเสมอ จากการสัมมนา การอบรมหลักสูตรทางภาษี และติดตามความเคลื่อนไหวทางธุรกิจ ข่าวสาร เหตุการณ์ปัจจุบันทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เป็นต้น

นอกจากพิจารณาคุณสมบัติข้างต้นแล้ว กิจการควรเลือกที่ปรึกษาให้เหมาะสมกับงบประมาณการจ้างที่ปรึกษา การประหยัดภาษี ประเด็นปัญหาทางภาษี ความซับซ้อนของโครงสร้างทางภาษี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร

ประโยชน์ของการมีที่ปรึกษาภาษี

การมีที่ปรึกษาภาษีเป็นแนวทางที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจ มีข้อดีหลายประการดังต่อไปนี้

1. ช่วยให้การคำนวณภาษีของกิจการถูกต้อง การยื่นแบบตรงตามกำหนดเวลา

การยื่นแบบภาษีที่ถูกต้องและตรงตามกำหนดเวลา ช่วยลดความเสี่ยงทางภาษีอากร (Tax Exposure) ของธุรกิจในการถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง การประเมินภาษี เบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่เป็นจำนวนเงินสูง ที่ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของธุรกิจอย่างเป็นสาระสำคัญ

2. ช่วยกิจการประหยัดภาษี

ที่ปรึกษาภาษีช่วยกิจการวางแผนและบริหารจัดการเรื่องภาษี การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งเป็นการวางแผนที่ดีให้กิจการประหยัดภาษีอย่างถูกกฎหมาย เป็นการบรรเทาภาระภาษีของผู้ประกอบการ โดยมิได้เป็นการทุจริตหรือหลบเลี่ยงภาษีแต่อย่างใด

3. เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดทางภาษีในอดีต กำหนดแนวทางที่ถูกต้องในปัจจุบันและการวางแผนในอนาคต

บริษัทที่ประสบปัญหาโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง หลังจากจ้างที่ปรึกษาภาษีมาช่วยแก้ไขข้อผิดพลาดทางภาษีในอดีตแล้ว ที่ปรึกษาจะช่วยวางแนวทางปฎิบัติที่ถูกค้องทางภาษีให้กับองค์กรในปัจจุบันเพื่อมิให้กิจการถูกประเมินภาษีย้อนหลังอีก และเป็นการวางแผนระยะยาวอนาคตด้วย ซึ่งคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่ปรึกษาของบริษัทเมื่อเทียบจำนวนเงินภาษีที่ประหยัดได้(Tax saving from tax planning and compliance) 

สำหรับนิติบุคคลขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งมีงบประมาณในการจ้างไม่สูงนักสามารถจ้างนักบัญชีเป็นที่ปรึกษาทางภาษีควบคู่กับการให้คำปรึกษาทางบัญชี เนื่องจากนักบัญชีมีความรู้และประสบการณ์ทางด้านภาษี

PEAK มีสำนักงานบัญชีที่เป็นพันธมิตรมากกว่า 600 แห่งทั่วประเทศช่วยผู้ประกอบการในการให้คำแนะนำทางบัญชีและภาษีได้

อ้างอิง:

บทความ คุณสมบัติและองค์ความรู้ของที่ปรึกษาภาษีอากรในประเทศไทย,วิกานดา รสชุ่ม ,วารสารสภาวิชาชีพบัญชี ปีที่1, ฉบับที่1 มกราคม-เมษายน 2562, 

ทำไมต้องจ้างที่ปรึกษาทางภาษี, Mr.Tax one-stop shop, 

ที่ปรึกษาด้านภาษี,AMT Group