การดำเนินธุรกิจนำเข้า-ส่งออกสินค้าและบริการ ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีโอกาสสร้างรายได้สูง แต่ในขณะเดียวกันก็มีความซับซ้อนในด้านภาษี เพื่อป้องกันความผิดพลาดและลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ ผู้ประกอบการควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประเภทนี้ บทความนี้จะอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับภาษีที่ธุรกิจนำเข้า-ส่งออกควรทราบเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่นและถูกต้องตามกฎหมาย
ทำความรู้จักการนำเข้าสินค้าและภาษีนำเข้า
การนำเข้า คือ การนำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามายังประเทศไทย โดยต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบและเสียภาษีที่ด่านศุลกากร สินค้าที่นำเข้ามักถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่แตกต่างกันตามประเภทสินค้า เช่น
- สินค้าฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์หรู น้ำหอม จะมีอัตราภาษีที่สูง
- สินค้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พลาสติก อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บางประเภท
ภาษีนำเข้า คือ ภาษีที่ต้องจ่ายเมื่อซื้อสินค้าจากต่างประเทศ โดยอัตราภาษีที่ต้องจ่ายจะขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า เช่น รถยนต์หรูหราหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มักถูกเก็บภาษีสูง เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศและสร้างรายได้ให้รัฐบาล
ทำความรู้จักการส่งออกสินค้าและภาษีส่งออก
การส่งออก คือ การส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ เช่นเดียวกับการนำเข้า สินค้าส่งออกต้องผ่านการตรวจสอบที่ด่านศุลกากร สินค้าบางประเภท เช่น ทรัพยากรธรรมชาติ อาจถูกเรียกเก็บภาษีเพื่อควบคุมการส่งออก
ภาษีส่งออก คือ ภาษีที่ต้องจ่ายเมื่อมีการส่งออกสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่มีปริมาณจำกัดหรือเป็นทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมันดิบ ประเทศผู้ส่งออกจะเก็บภาษีเพื่อควบคุมปริมาณการส่งออกและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ
ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้า
1. อากรขาเข้า (Import Duties)
อากรขาเข้า เป็นภาษีที่เรียกเก็บเมื่อสินค้ามีมูลค่าเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยจะคำนวณภาษีจากมูลค่าของสินค้า บวกด้วยค่าขนส่งและค่าประกันภัย (CIF – Cost, Insurance, Freight) หากสินค้าเข้าข่ายที่กฎหมายกำหนดให้ต้องเสียอากรขาเข้า
อัตราภาษีจะแตกต่างกันไปตามประเภทสินค้า โดยระบุไว้ใน พิกัดศุลกากร (HS Code – Harmonized System Code) ซึ่งเป็นระบบมาตรฐานสากลในการจัดประเภทสินค้าตัวอย่างเช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์อาจมีอัตราภาษีที่ต่ำกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากมีการกำหนดอัตราภาษีตามนโยบายเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
2. ภาษีสรรพสามิต (Excise Tax)
ภาษีสรรพสามิต เป็นภาษีที่เรียกเก็บเพิ่มเติมจากสินค้าฟุ่มเฟือยหรือสินค้าที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น รถยนต์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สุรา ยาสูบ เป็นต้น
อัตราภาษีสรรพสามิตคำนวณจาก
- มูลค่าศุลกากร (CIF): มูลค่าของสินค้า รวมค่าขนส่งและประกันภัยจากต่างประเทศ
- อัตราภาษีสรรพสามิต: กำหนดโดยกฎหมายและแตกต่างกันไปตามประเภทสินค้า
ภาษีสรรพสามิต=(มูลค่าศุลกากร + อากรนำเข้า)×อัตราภาษีสรรพสามิต
3. ภาษีเพื่อมหาดไทย (Interior Tax)
ภาษีเพื่อมหาดไทย เป็นการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมจาก ภาษีสรรพสามิต โดยมีจุดประสงค์เพื่อจัดสรรรายได้ให้แก่กรุงเทพมหานคร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรเงินภาษีสุรา โดยคำนวณจากมูลค่าภาษีสรรพสามิตที่กำหนดไว้ ด้วยอัตรา 10% ดังนี้
ภาษีเพื่อมหาดไทย=ภาษีสรรพสามิต×10%
4. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
ภาษีมูลค่าเพิ่ม เรียกเก็บจากมูลค่าของสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นในทุกขั้นตอนการผลิตและการค้า ผู้นำเข้าจะต้องเสีย VAT จากมูลค่าสินค้า พร้อมกับอากรขาเข้าและภาษีสรรพสามิต (ถ้ามี) โดยทั่วไปอัตรา VAT คือ 7%
ภาษีมูลค่าเพิ่มจะถูกคำนวณจากฐานภาษีซึ่งประกอบด้วย
- ราคา CIF: ราคาสินค้ารวมค่าประกันภัยและค่าขนส่งจนถึงท่าเรือหรือด่านศุลกากรในประเทศไทย
- อากรนำเข้า: ภาษีที่เรียกเก็บจากมูลค่าของสินค้าที่นำเข้า
- ภาษีสรรพสามิต (หากมี): เรียกเก็บในบางสินค้าตามกฎหมาย
- ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ (ถ้ามี): เช่น ค่าธรรมเนียมพิเศษหรือค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า
VAT สามารถขอคืนได้ในฐานะ “ภาษีซื้อ” ภายใน 6 เดือน อย่างไรก็ตาม อากรขาเข้าไม่สามารถขอคืนได้
ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้า
1. อากรขาออก (Export Duties)
อากรขาออกเป็นภาษีที่เรียกเก็บสำหรับการส่งออกสินค้าบางประเภทเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น
- สินค้าที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ เช่น หนังโค หนังกระบือ
- สินค้าที่มาจากพื้นที่พัฒนาร่วม เช่น สินค้าจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (Joint Development Area – JDA) (อ้างอิง: ประกาศกรมศุลกากร ที่ 103/2561)
โดยจะคำนวณจากมูลค่าของสินค้า บวกด้วยค่าขนส่งและค่าประกันภัย (CIF – Cost, Insurance, Freight) หากสินค้าเข้าข่ายที่กฎหมายกำหนดให้ต้องเสียอากรขาเข้า
อัตราภาษีจะแตกต่างกันไปตามประเภทสินค้า โดยระบุไว้ใน พิกัดศุลกากร (HS Code – Harmonized System Code) ซึ่งเป็นระบบมาตรฐานสากลในการจัดประเภทสินค้า อัตราภาษีขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า โดยระบุไว้ใน ประกาศกรมศุลกากร ซึ่งเป็นเอกสารที่กำหนดประเภทสินค้าและอัตราภาษีที่เกี่ยวข้อง เช่น ประกาศกรมศุลกากรที่ 103/2561
ตัวอย่างเช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์อาจมีอัตราภาษีที่ต่ำกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากมีการกำหนดอัตราภาษีตามนโยบายเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
การส่งออกสินค้าจากประเทศไทยได้รับการ ยกเว้น VAT หรือเรียกว่าอัตรา 0% (Zero Rate) เนื่องจากรัฐบาลสนับสนุนการส่งออกเพื่อเพิ่มรายได้จากต่างประเทศ แต่ผู้ส่งออกต้องจัดทำใบกำกับภาษีเพื่อแสดงมูลค่าของสินค้าและจำนวนภาษีที่เกี่ยวข้องและยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ.30) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการส่งออกสินค้า และต้องมีหลักฐานยืนยันการส่งออก เช่น ใบขนสินค้าขาออก (Export Declaration) และใบตราส่งสินค้า (Bill of Lading)
อย่างไรก็ตาม หากผู้ส่งออกไม่มีเอกสารหลักฐานครบถ้วน เช่น ไม่มีใบขนสินค้าขาออกที่สมบูรณ์ทไม่มีหลักฐานการรับชำระเงินจากต่างประเทศ สินค้านั้นอาจไม่ได้รับสิทธิยกเว้น VAT
เคล็ดลับในการดำเนินธุรกิจนำเข้า-ส่งออก
- ตรวจสอบพิกัดศุลกากร (HS Code) การระบุ HS Code ช่วยให้ทราบอัตราภาษีที่ถูกต้อง ลดปัญหาในขั้นตอนการผ่านด่านศุลกากร
- ศึกษาเงื่อนไขการคืนภาษี ผู้นำเข้าควรศึกษาเงื่อนไขการขอคืน VAT เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน
- ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ การทำธุรกิจนำเข้า-ส่งออกมีความซับซ้อนด้านกฎหมายและภาษี การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจะช่วยลดความเสี่ยงและข้อผิดพลาด
- ติดตามการเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย กฎหมายเกี่ยวกับภาษีและการนำเข้า-ส่งออกอาจมีการเปลี่ยนแปลง ผู้ประกอบการควรติดตามข่าวสารและปรับตัวให้ทันสถานการณ์
การดำเนินธุรกิจนำเข้า-ส่งออกเป็นโอกาสที่ดีในการขยายตลาดและสร้างรายได้ กาศึกษารายละเอียดภาษีอย่างครบถ้วน จะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสความสำเร็จในระยะยาว นอกจากนี้การออกเอกสารภาษีอย่างถูกต้องก็เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อป้องกันปัญหาและความล่าช้าในกระบวนการดำเนินธุรกิจ
โปรแกรมบัญชีออนไลน์ PEAK สามารถเป็นตัวช่วยสำคัญสำหรับธุรกิจนำเข้า-ส่งออก ด้วยฟีเจอร์ที่ช่วยจัดการงานด้านบัญชีและภาษีอย่างครบวงจร เช่น การออกใบกำกับภาษี การจัดเก็บเอกสารบัญชีอย่างเป็นระบบ ช่วยให้ค้นหาและตรวจสอบข้อมูลได้ง่ายและรายงานการเงินที่ครบถ้วนและทันสมัย ทำให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนธุรกิจได้อย่างมั่นใจ
ทดลองใช้งานโปรแกรมบัญชี PEAK ฟรี! 30 วัน มูลค่า 1,200 บาท
คลิก https://www.peakaccount.com (ไม่มีค่าใช้จ่าย)
PEAK Call Center : 1485
LINE : @systemseedwebs-com
สอบถามเพิ่มเติม คลิก https://m.me/peakengine