ปัจจุบันกิจการส่วนใหญ่ใช้การเซ็นเอกสารผ่านทางออนไลน์แทนการลงนามในกระดาษ เพื่อลดการใช้กระดาษและยิ่งในยุคNew Normal ที่สถานการณ์ปัจจุบันทำให้มีการพบปะกันน้อยลง การลงนามผ่านระบบออนไลน์ด้วยลายเซ็น e-Signature จึงเป็นประโยชน์และตอบโจทย์ในการดำเนินธุรกิจ ด้วยระบบการทำงานผ่านช่องทางออนไลน์ที่สะดวก รวดเร็ว และยังมีความปลอดภัยใกล้เคียงการทำงานรูปแบบเดิม และคาดว่า e-signature จะมีความแพร่หลายมากขึ้นในการทำงานออนไลน์ในอนาคต
e-signature คืออะไร
e-signature ย่อมาจากคำว่า “Electronic Signature“ แปลว่า ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ หมายถึง ลายเส้นที่บ่งบอกข้อมูล เอกลักษณ์ หรือตัวตนของเจ้าของลายเซ็นนั้นในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการทำสัญลักษณ์หรือลายเซ็นที่จัดทำโดยบุคคลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ในการลงนามในเอกสารหรือเพื่อเป็นการยืนยันข้อความในเอกสาร
โดยข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ว่าด้วยแนวทางการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์เลขที่ ขมธอ. 23-2563(Electronic Signature Guidelines) ได้ระบุคำนิยามของ e-signature ไว้ดังนี้
“อักษร อักขระ ตัวเลข เสียงหรือสัญลักษณ์อื่นใดที่สร้างขึ้นให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งนำมาใช้ประกอบกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุตัวบุคคลของผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น และเพื่อแสดงว่าบุคคลดังกล่าวยอมรับข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น”
การใช้งาน e-signature
การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์แบ่งออกเป็น 3 แบบดังนี้
1 การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป (Standard Signature)
เป็นการลงลายมือชื่อที่เป็นไปตามข้อกำหนด พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาตรา9 ที่ว่า
“ในกรณีที่บุคคลพึงลงลายมือชื่อในหนังสือ ให้ถือว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีการลงลายมือชื่อแล้ว ถ้า
(1) ใช้วิธีการที่สามารถระบุตัวเจ้าของลายมือชื่อ และสามารถแสดงได้ว่าเจ้าของลายมือชื่อรับรองข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นว่าเป็นของตน และ
(2) วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการที่เชื่อถือได้โดยเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการสร้าง หรือส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์แวดล้อมหรือข้อตกลงของคู่กรณี “
ลักษณะของการลงนาม
เป็นการทำสัญลักษณ์หรือลงลายมือชื่อในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ในการยืนยันตัวตนหรือลงนามในเอกสาร โดยอยู่ในรูปแบบของ รูปภาพลายเซ็นที่เซ็นด้วยปากกาแล้วสแกนเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์, การใช้เมาส์ หรือนิ้วมือ หรือ Stylus ในการวาดรูปลายเซ็นลงบนหน้าจอคอมพิวเตอร์, การพิมพ์ชื่อด้วยคีย์บอร์ด, ลายเซ็นแนบท้ายทางอีเมล์, รูปภาพลายนิ้วมือ, การ tick หน้าข้อความ I agree ใน Electronic Formต่างๆ รวมถึงการคลิกปุ่มตอบรับในข้อมูลใดๆ ไปจนถึงการใช้งานระบบอัตโนมัติ ที่มีการระบุว่าผู้ตอบคือใคร ก็ถือว่าเป็นการลงลายมือชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ประสิทธิภาพการใช้งาน
การลงลายมือชื่อด้วยวิธีนี้เป็นการลงลายมือชื่อที่มีกฎหมายรองรับ ถึงแม้จะเป็นวิธีที่มีข้อบกพร่องในด้านความปลอดภัย เพราะที่มาของลายเซ็นเป็นการอัปโหลดรูปเข้าระบบ หรือเป็นการลงนามบนหน้าจออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ สำหรับในองค์กรผู้ที่มีไฟล์ลายเซ็นของพนักงานหรือผู้บริหารอยู่ในมือ สามารถนำไปปลอมแปลงลงนามในเอกสารได้ การใช้งานลายเซ็นประเภทนี้จึงเหมาะกับการลงนามในเอกสารที่ไม่มีความเสี่ยงสูงมากนัก ได้แก่เอกสารที่ใช้ภายในองค์กร เช่น ใบลางาน ใบอนุมัติภายใน ใบเบิกจ่าย ใบขอใช้ทรัพย์สินในองค์กร เป็นต้น
2 การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ (Advance e-signature หรือ Digital Signature)
เป็นการลงลายมือชื่อที่มีความน่าเชื่อถือมาก เพราะมีการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการยืนยันการลงลายมือชื่อ การลงลายมือชื่อประเภทนี้เป็นไปตามข้อกำหนดพ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามมาตรา 26
มาตรา 26 ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่เชื่อถือได้
- ข้อมูลสำหรับใช้สร้างลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์นั้นได้เชื่อมโยงไปยังเจ้าของลายมือชื่อ โดยไม่เชื่อมโยงไปยังบุคคลอื่นภายใต้สภาพที่นำมาใช้
- ในขณะสร้างลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์นั้น ข้อมูลสำหรับใช้สร้างลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์อยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าของลายมือชื่อ โดยไม่มีการควบคุมของบุคคลอื่น
- การเปลี่ยนแปลงใดๆที่เกิดแก่ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ นับแต่เวลาที่ใช้สร้างขึ้นสามารถจะตรวจพบได้
- ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นไปเพื่อรับรองความครบถ้วนและไม่มีการเปลี่ยนแปลงของข้อความ การเปลี่ยนแปลงใดแก่ข้อความนั้นสามารถตรวจพบได้นับแต่เวลาที่ลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์
โดยสรุป ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ ประกอบด้วย
- ข้อมูลสำหรับใช้สร้างลายมืออิเล็กทรอนิกส์ เชื่อมโยงไปยังเจ้าของลายมือชื่อได้
- ข้อมูลที่ใช้สร้างลายมือชื่อ อยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าของลายมือชื่อ
- สามารถตรวจพบการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เกิดแก่ลายมือชื่อ/ข้อความ นับแต่เวลาที่ได้สร้างขึ้น
ตัวอย่างลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้
Digital Signature(ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์)
คือ ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ได้จากการเข้ารหัสลับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์(Encrypt) ซึ่งช่วยให้สามารถยืนยันตัวตนผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่อและตรวจพบการเปลี่ยนแปลงของข้อความและลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ รวมทั้งการทำให้เจ้าของลายมือชื่อไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดจากข้อความที่ตนเองลงลายมือชื่อได้
ตัวอย่างเทคโนโลยีที่สร้างลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้หลักการเข้ารหัส/ถอดรหัส(Encryption )อาศัยโครงสร้างพื้นฐานกุญแจสาธารณะ(Public Key Infrastructure: PKI) โดยผู้สร้างลายมือชื่อจะนำข้อมูลของตนไปแปลงให้อยู่ในรูปแบบข้อความเข้ารหัส ถ้าคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะเข้าถึงข้อความดังกล่าว จำเป็นต้องถอดรหัสด้วยกุญแจคู่รหัส ขั้นตอนทางเทคนิคเหล่านี้เป็นหลักฐานที่แสดงความแท้จริงของเอกสาร ซึ่งมาจากเจตนาที่ยอมรับข้อความต่างๆที่ปรากฎในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
3 การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ซึ่งมีใบรับรองที่ออกให้โดยผู้ให้บริการออกใบรับรอง
เป็นการลงลายมือชื่อตามมาตรา 26 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และการลงลายมือชื่อประเภทนี้ต้องมีใบรับรองจากผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ตามข้อกำหนดพ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา 28 ร่วมด้วย
ตัวอย่างของลายมือชื่อประเภทนี้ เป็นลายมือชื่อดิจิทัลที่ให้บริการโดยผู้ให้บริการรับรอง(Certification Authority:CA) โดยมีขั้นตอนดังนี้
- การเข้ารหัสลับ(Encrypt) เป็นการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของลายมือชื่อและข้อความอิเล็กทรอนิกส์
- ในขณะลงนาม เจ้าของข้อมูลเป็นผู้ควบคุมการลงนามของตนเอง
- มีตัวกลางเป็นผู้ให้บริการออกใบรับรอง ซึ่งเป็นการยืนยันในการลงนามว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเจตนาของผู้ลงนาม
องค์ประกอบของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์
การลงนามที่ถือว่าเป็นการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ต้องประกอบด้วย 3 องค์ประกอบดังนี้
1 สามารถระบุได้ว่าเจ้าของลายมือชื่อเป็นใคร
การระบุตัวตนของเจ้าของลายมือชื่อ สามารถทำได้หลายวิธีไม่ว่าจะเป็นการใช้ตัวอักษร ตัวหนังสือ ตัวเลข หรือสัญลักษณ์อื่นๆที่สร้างขึ้นให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถใช้ระบุตัวตนได้ ได้แก่ การเข้าถึงเอกสารผ่านอีเมล์หรือไลน์ส่วนตัว, การใช้OTP(One time password), การกรอกUser Password เข้าใช้งาน เป็นต้น
2 มีการระบุเจตนาของเจ้าของลายมือสำหรับข้อความที่ลงนาม
เป็นการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรับรองข้อความในข้อมูลสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อแสดงเจตนาในการลงลายมือชื่อ เช่นการลงนามในสัญญาโดยที่สัญญาระบุว่า “ เพื่อเป็นหลักฐานคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างได้อ่านและเข้าใจข้อความโดยตลอดของสัญญานี้แล้ว จึงลงลายมือชื่อ ณ วันเดือน ปี ที่ปรากฎข้างล่างนี้” หรือ การกดยอมรับหลังจากอ่านข้อความเพื่อเป็นการดำเนินการต่อ เป็นต้น
3 การใช้วิธีการที่เชื่อถือได้
โดยพิจารณาจากลักษณะและประเภทของธุรกรรมที่ทำ ความรัดกุมของวิธีการที่ใช้และระบบติดต่อสื่อสาร เป็นต้น
มาตรฐานการใช้งาน e-signature
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(สพธอ.)กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ETDA ได้กำหนดมาตรฐานการใช้งาน e-signature ในประเทศไทยเพื่อให้การใช้งานธุรกรรมออนไลน์มีความปลอดภัย โดยการจัดทำ ข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ว่าด้วยแนวทางการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์เลขที่ ขมธอ. 23-2563(Electronic Signature Guidelines) ดังต่อไปนี้
จากตารางจะเห็นว่าลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทที่2 และประเภทที่3 มีระดับความเข้มงวดในการพิสูจน์ตัวตน(IAL) และระดับความเข้มงวดในการยืนยันตัวตน(AAL) ดังรายละเอียดต่อไปนี้
จากตารางจะเห็นว่าลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทที่2 และประเภทที่3 มีระดับความเข้มงวดในการพิสูจน์ตัวตน(IAL) และระดับความเข้มงวดในการยืนยันตัวตน(AAL) ดังรายละเอียดต่อไปนี้
1 Identity Assurance Level (IAL)
IAL หมายถึง ระดับความเข้มงวดในการพิสูจน์ตัวตน โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ซึ่ง IAL ระดับที่ 1 แบ่งออกเป็น 3 ระดับย่อย ๆ เป็นการใช้บัตรประชาชนและหนังสือเดินทาง (Passport) ยืนยันตัวตนซึ่งสามารถทำได้ทั่วไป แต่ในลายเซ็นดิจิทัลในไทยนั้น จะต้องพิสูจน์ตัวตนที่ระดับ IAL 2 ขึ้นไป และยืนยันตัวตนที่ระดับ AAL 2 ได้แก่ การแสดงตนแบบพบเห็นต่อหน้า, การใช้บัตรประชาชน, หนังสือเดินทางหรือวิธีการพิสูจน์ตัวตนแบบอื่น ๆ เช่น ภาพใบหน้า ลายนิ้วมือ อีเมล หมายเลขโทรศัพท์ เป็นต้น
- IAL 1 หรือระดับเริ่มต้น หลักฐานที่ใช้แสดงตนได้แก่ บัตรประชาชน, พาสปอร์ตบางกรณีจำเป็นต้องใช้ตัวจริง หรือจะเป็นสำเนาก็ได้
- IAL 2 เป็นการเพิ่มระดับการพิสูจน์ตัวตน ด้วยการแสดงตัวตนต่อหน้าหรือไม่ก็ได้ (เช่น ผ่านตู้ Kiosk สำหรับลงทะเบียน หรือแอปพลิเคชัน) พร้อมหลักฐานแสดงตัวตน ได้แก่ บัตรประชาชน, พาสปอร์ต หากใช้บัตรประชาชนในการพิสูจน์ตัวตน จะต้องนำบัตรไปอ่านข้อมูลในชิปการ์ดร่วมด้วย และประกอบกับหลักฐานอื่น ๆ เช่น ลายนิ้วมือ ใบหน้าแบบ Biometric รูปถ่าย อีเมล เบอร์โทรศัพท์ เป็นต้น
- IAL 3 เป็นการพิสูจน์ตัวตนระดับสูงสุด จำเป็นต้องใช้บัตรประชาชนหรือพาสปอร์ต แสดงต่อเจ้าหน้าที่แบบต่อหน้าหรือ VDO Call และต้องนำบัตรประชาชนไปอ่านข้อมูลในชิปการ์ดและตรวจสอบสถานะบัตรแบบออนไลน์ รวมทั้งนำหลักฐานอื่น ๆ มาช่วยพิสูจน์ เช่น ลายนิ้วมือ ใบหน้าแบบ Biometric รูปถ่าย อีเมล เบอร์โทรศัพท์ เป็นต้น
2 AAL (Authenticator Assurance Level)
AAL หมายถึง ระดับความเข้มงวดในการยืนยันตัวตนของผู้ใช้บริการ (Authenticator) ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ซึ่ง AAL ที่เหมาะสมจะช่วยลดโอกาส ความผิดพลาดในการยืนยันตัวตน โดยเทคโนโลยีที่ใช้ใน AAL ทั้ง 3 ระดับก็คือ Single-Factor Authentication และ Multi-Factor Authentication
- AAL1 คือ การยืนยันตัวตนแบบ Single-Factor Authentication เพื่อป้องกัน MitM Attack (Man in the Middle Attack) หรือการดักจับรหัสผ่านข้อมูล ได้แก่ การใช้รหัสผ่านหรือถามคำถามที่คำตอบเป็นความลับเฉพาะบุคคล (Memorized Secret), การส่ง SMS รหัส OTP เพื่อยืนยันตัวตน, การใช้ OTP Device, Crypto Software, Crypto Device เป็นต้น
- AAL2 คือ การยืนยันตัวตนแบบ Multi-Factor Authentication ด้วยการใช้ Memorize Secret ร่วมกับวิธีอื่น ได้แก่ ชุดข้อมูล Biometric, OTP Device และ Crypto Software นอกจากวิธีนี้จะป้องกัน MitM Attack แล้ว ยังป้องกัน Replay Attack หรือการนำข้อมูลที่ได้ไปกระทำการเลียนแบบ เช่น Login ซ้ำจาก Username และ Password ที่ได้มา
- AAL3 ซึ่งเป็นการยืนยันตัวตนระดับสูงสุด เป็นการยืนยันตัวตนแบบ Multi-Factor Authentication และมี Factor หนึ่งเป็น Cryptographic Key ในการยืนยันตัวตนระดับนี้จะมีความซับซ้อน ต้องจับคู่ Crypto Software และ Crypto Device เข้ากับวิธีอื่น ๆ เพื่อป้องกันทั้ง MitM Attack, Replay Attack และ IdP Impersonation Attack
การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ในนามนิติบุคคล
ในการลงลายมือชื่อมีความสำคัญต่อการดำเนินการกิจการขององค์กรนิติบุคคล เพราะแสดงถึงอำนาจในการดำเนินการของผู้ลงนามซึ่งมีผลต่อการทำธุรกรรมในการดำเนินธุรกิจ ETDAจึงได้แนะนำการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ในนามนิติบุคคล ไว้ในแนวทางการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์เลขที่ ขมธอ. 23-2563 ดังนี้
1 การลงลายมือชื่อในนามนิติบุคคลโดยผู้มีอำนาจลงนาม
เป็นการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยบุคคลธรรมดาซึ่งเป็นผู้มีอำนาจลงนามหนึ่งคน คนใดคนหนึ่งหรือหลายคนกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อันเดียวกัน โดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการกำหนดผู้มีอำนาจลงนามของนิติบุคคลนั้น ดังนั้นผู้มีอำนาจลงนามตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ทุกคน ต้องใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ของตนในการลงลายมือชื่อ และลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อันเดียวกันควรใช้ลายมืออิเล็กทรอนิกส์ประเภทและรูปแบบเดียวกัน เพื่อช่วยให้การเก็บรักษาหลักฐานเกี่ยวกับลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
2 การลงลายมือชื่อในนามนิติบุคคลโดยบุคคลอื่นที่รับมอบอำนาจ
เป็นการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ในนามนิติบุคคลจดทะเบียนโดยบุคคลอื่นที่ได้รับมอบอำนาจให้กระทำการแทนนิติบุคคล กิจการควรจัดทำหลักฐานการมอบอำนาจเป็นหนังสือที่ระบุชื่อผู้รับมอบอำนาจและข้อจำกัดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ในนามนิติบุคคลเพื่อให้สามารถระบุตัวตนของเจ้าของลายมือและขอบเขตความรับผิดได้
หากผู้ใช้งานเลือกใช้ลายมือชื่ออิเล้กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ ซึ่งใช้ใบรับรองสำหรับนิติบุคคลที่ออกโดยผู้ให้บริการออกใบรับรอง ไม่ว่าข้อมูลของใบรับรองสำหรับนิติบุคคลดังกล่าวจะมีการระบุชื่อผู้รับมอบอำนาจให้กระทำการแทนนิติบุคคลไว้หรือไม่ก็ตาม กิจการควรจัดทำหนังสือมอบอำนาจหรือมีระบบการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการระบุตัวตนของเจ้าของลายมือชื่อและขอบเขตความรับผิดจากการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์
วิธีนำลายเซ็นมาใส่ในเอกสารของPEAK
PEAK ช่วยให้การลงนามเอกสารทางบัญชีและภาษีของผู้ประกอบการง่ายและสะดวกรวดเร็ว โดยผ่านระบบการเพิ่มลายเซ็นผู้ใช้งานของPEAKตามลิงก์ข้างล่างนี้
เพิ่มลายเซ็นต์ของผู้ใช้งานด้วย โปรแกรม PEAK
ทดลองใช้งานฟรี 30 วัน https://secure.peakengine.com/Home/Register
ดูวีดีโอแนะนำการใช้งานได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=9puaO6s7I8k
อ้างอิง: ขอขอบคุณ
ลายมือชื่อดิจิทัลและลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ เรื่องเดียวกันมั้ย? ต้องเซ็นยังไง? – สพธอ. (etda.or.th)
ลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) เเทนกระดาษ ถูกกฎหมาย? (codium.co)
ประกาศเมอวนท-29-พฤษภาคม-พ-ศ-2563-โดยขอเสนอแนะมาตรฐ.aspx (etda.or.th)