tax-missing-personal-income-tax

ในการยื่นแบบภาษี มีโอกาสที่จะยื่นภาษีไม่ครบ กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการลืมกรอกรายการต่างๆ เช่น ค่าลดหย่อน หรือรายได้ เป็นต้น ทำให้ตัวเลขภาษีที่คำนวณได้ไม่ถูกต้อง

เหตุใดจึงเกิดปัญหายื่นภาษีไม่ครบ

สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาการยื่นภาษีไม่ครบ  ได้แก่ การกรอกรายการไม่ครบถ้วน เช่น ค่าลดหย่อน,รายการเงินได้, รายการภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นต้น ซึ่งอาจเกิดจากการลืมกรอก การขาดการตรวจสอบความครบถ้วนของข้อมูล หรือ เอกสารที่รวบรวมไม่ครบถ้วน

การยื่นภาษีไม่ครบต้องทำอย่างไร

การยื่นภาษีไม่ครบต้องทำอย่างไร

ถ้ายื่นภาษีไม่ครบ เพื่อเป็นการแก้ไขตัวเลขภาษีให้ถูกต้อง ในการยื่นแบบแก้ไขจะเป็นการยื่นแบบเพิ่มเติม ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 กรณี ดังนี้

1. กรณียังไม่ครบกำหนดการยื่นแบบ

ผู้ยื่นแบบสามารถเข้าไปกรอกข้อมูลใหม่ที่ถูกต้องได้ ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ยื่นแบบภ.ง.ด.90 หรือ 91 ทางออนไลน์ เมื่อทำรายการยื่นแบบใหม่ระบบจะแจ้งว่าได้มีการยื่นแบบแล้ว การยื่นแบบใหม่จะเป็นการยื่นเพิ่มเติม โดยระบบจะเตือนว่า

“ ท่านได้ยื่นแบบภ.ง.ด.90/91 แบบปกติปี 2563 ผ่าน internet แล้ว
หากประสงค์จะยื่นแบบฯเพิ่มเติม โปรดกดปุ่ม  OK ”

เมื่อกดปุ่ม OK แล้ว สามารถกรอกข้อมูลใหม่ที่ถูกต้องได้

เช่น พนักงานเงินเดือน ในการยื่นแบบครั้งแรกกรอกรายการค่าลดหย่อนจากประกันชีวิต 50,000 บาท แต่ภายหลังลืมกรอกค่าลดหย่อนประกันชีวิตอีก 20,000 บาท สามารถเข้าไปทำรายการยื่นเพิ่มเติม กรอกค่าลดหย่อนใหม่ประกันชีวิตใหม่เป็น 70,000 บาท เพื่อให้ระบบคำนวณภาษีให้ใหม่ให้ถูกต้อง เป็นต้น

ในกรณีได้รับเงินคืนภาษีมาแล้ว และพบว่าได้รับเงินคืนภาษีมากกว่าหรือน้อยกว่าตัวเลขเงินคืนภาษีที่ถูกต้อง ผู้เสียภาษีควรติดต่อเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรในการชี้แจงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เพื่อให้กรมสรรพากรพิจารณาเป็นกรณีไป

2. กรณีพ้นกำหนดการยื่นแบบ

การกรอกแบบใหม่ไม่สามารถยื่นแบบทางอินเทอร์เนตได้เนื่องจากพ้นกำหนดการยื่นแบบแล้ว ต้องยื่นแบบเป็นกระดาษเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ยื่นแบบภ.ง.ด.90 หรือ 91 เมื่อยื่นแบบไปแล้วพบว่ามีภาษีที่ชำระไว้ไม่ครบ สามารถยื่นแบบเพิ่มเติม โดยกรอกแบบในแบบที่เป็นกระดาษและยื่นแบบที่สรรพากรพื้นที่สาขา

การยื่นแบบใหม่ดังกล่าว ในทางภาษีเรียกว่าเป็นการยื่นเพิ่มเติมเนื่องจากการยื่นแบบในครั้งแรกถือเป็นการยื่นปกติ อย่างผู้ที่เคยยื่นแบบปกติไปแล้วทางอินเทอร์เน็ต การยื่นแบบใหม่นี้ถือเป็นการยกเลิกการยื่นแบบในครั้งแรกแล้วยื่นแบบใหม่ทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น ในการยื่นแบบครั้งแรกมีรายได้จากเงินเดือน 500,000 บาท แต่พบว่ามีรายได้จากการขายของออนไลน์อีก 100,000 บาท ในการกรอกแบบใหม่ถือว่าเป็นการยกเลิกแบบในครั้งแรกที่ยื่นไว้เดิมคือยกเลิกรายได้ 500,000 บาท และยื่นแบบใหม่ทั้งหมดด้วยรายได้ที่ถูกต้องเป็น 600,000 บาท แต่ในทางสรรพากรเรียกว่าเป็นการยื่นเพิ่มเติม เป็นต้น

บทลงโทษ หากยื่นแบบไม่ครบ

อย่างไรก็ตาม ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ กรณีบุคคลธรรมดาที่กล่าวมาการยื่นภาษีไม่ครบ ถ้าผู้ยื่นแบบมีการยื่นแบบใหม่เพิ่มเติมภายในกำหนดเวลา ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะสรรพากรจะยึดตามแบบที่ยื่นใหม่เพิ่มเติม แต่ถ้ายื่นแบบเพิ่มเติมหลังจากพ้นกำหนดการยื่นแบบไปแล้ว จะมีบทลงโทษตามประมวลรัษฎากร ดังนี้

กรณียื่นแบบภ.ง.ด.90/91 เพิ่มเติม ภายหลังกำหนดเวลาการยื่นแบบ

1. ถ้ามีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ

2. ถ้าไม่มีเงินภาษีต้องชำระ ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มและค่าปรับ

หลักฐานที่ต้องเตรียมก่อนยื่นแบบภาษี

ก่อนการยื่นแบบ ควรจัดเตรียมข้อมูล รวบรวมหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน ประกอบด้วย

1. หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ
2. หลักฐานเอกสารการลดหย่อนภาษี ได้แก่ หนังสือรับรองการจ่ายเบี้ยประกันชึวิต, เอกสารการจ่ายค่าเบี้ยประกันสุขภาพ, หนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากธนาคาร, หนังสือรับรองการซื้อกองทุน SSF และ RMF, ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบจากมาตรการช้อปดีมีคืน, หนังสือการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา เป็นต้น

การเตรียมข้อมูลครบถ้วน จะทำให้มีการภาษีมีความถูกต้อง ในกรณีที่กรมสรรพากรติดต่อขอข้อมูลหรือเอกสารเพิ่มเติมก็สามารถส่งเอกสารให้ได้ทันที ทำให้ได้รับเงินคืนภาษีรวดเร็ว การยื่นภาษีครบถ้วนทำให้ไม่ต้องเสียเวลายื่นแบบใหม่และควรดำเนินการแต่เนิ่นๆภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อจะได้ไม่ต้องยุ่งยากในการยื่นแบบเพิ่มเติมและต้องเสียค่าปรับเงินเพิ่ม

ติดตามความรู้จาก โปรแกรมบัญชี PEAK ได้ที่ peakaccount.com
หรือเข้าใช้งานโปรแกรม คลิก เข้าสู่ระบบ PEAK