tax-bonus

‘โบนัส’ ไม่ใช่ ‘ค่าจ้าง’ ที่นายจ้างต้องจ่ายค่าตอบแทนตามสัญญาจ้างในระยะเวลาการทำงานปกติ ตามความหมายของ ‘ค่าจ้าง’ ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แต่ ‘โบนัส’ เป็นเงินจำนวนหนึ่งที่นายจ้างให้ลูกจ้างเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ และสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ซึ่งนายจ้างอาจจ่ายโบนัสให้แก่พนักงานเป็นรายปี รายครึ่งปี รายสี่เดือน หรือรายสามเดือนก็ได้

วิธีการจ่ายโบนัสให้กับลูกจ้าง

จากกฎหมายแรงงานไม่ได้บังคับว่าทุกบริษัทจะต้องการจ่ายโบนัสให้กับลูกจ้างนะครับ แต่ ‘โบนัส’ เป็นเพียงข้อตกลงในการทำงานเท่านั้น แม้ ‘โบนัส’ จะไม่ใช่สิ่งที่บังคับในข้อกฎหมาย แต่หลายๆบริษัทก็เพิ่มสิทธิ กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับลูกจ้าง และทางสำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พบว่าในปัจจุบันการจ่ายโบนัสมี 2 รูปแบบ คือ

1. โบนัสแบบจ่ายคงที่ (Fixed Bonus) คือการนำกำไรของผลประกอบการมาแบ่งให้กับพนักงานในจำนวนเท่าๆกัน เพราะเห็นว่าทุกคนที่อยู่ในบริษัท ล้วนเป็นพนักงานในองค์กรเดียวกัน มีส่วนขับเคลื่อนองค์กรไม่แพ้กัน

2. โบนัสแบบจ่ายผันแปร (Variable Bonus) คือการให้โบนัสตามผลงาน หรือประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานหรือลูกจ้างแต่ละคน ซึ่งหลายบริษัทเลือกที่จะจ่ายโบนัสแบบนี้ เพราะช่วยสร้างแรงจูงใจให้พนักงานสร้างผลงานและมีความสุขในการทำงานมากขึ้น

การให้โบนัสพนักงานคิดภาษียังไง

1. โบนัสตามความสามารถของพนักงาน เป็นโบนัสที่นับเป็นรายจ่ายทางภาษีอากร โดยจะมีการหักลบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ก่อนแล้วจึงค่อยคำนวณกำไรสุทธิ และนำส่งภาษี ซึ่งโบนัสประเภทนี้ ประกอบด้วย โบนัสจากยอดขาย โบนัสตามความสำเร็จจากงานที่ทำ เป็นต้น

2. โบนัสตามกำไรสุทธิของผลประกอบการ นับเป็นโบนัสที่ต้องนำส่งภาษีตามปกติ ตามมาตรา 65 ตรี (19) แห่งประมวลรัฐฎากร คือจะไม่นับเป็นรายจ่ายทางภาษีครับ

ใครเป็นคนตัดสินใจจ่ายโบนัสพนักงาน

หลายคนอาจคิดว่า HR หรือฝ่ายบุคคลจะเป็นผู้คิดและพิจารณาการให้โบนัส แต่จริงๆแล้วการพิจารณาการให้โบนัสเกิดจากความเห็นชอบของผู้บริหารระดับสูง หรือหากเป็น SMEs ก็จะเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่ง HR จะเป็นผู้รวมรวบข้อมูล ความประพฤติของพนักงานมาพิจารณาร่วมด้วย

โบนัสเป็นเหมือนรางวัลของคนทำงานและบริษัท ที่ให้พนักงานมีกำลังใจในการทำงาน ตั้งใจพัฒนาการทำงานให้ดีขึ้น ส่งผลให้บริษัทก้าวหน้าและเติบโตขึ้น เรื่องการทำบัญชีและภาษีของบริษัทก็สำคัญไม่แพ้กันครับ หากธุรกิจมีการจัดทำระบบบัญชี และจัดการภาษีได้ถูกต้อง แบบนี้บริษัทก็จะเติบโต มั่นคง และยั่งยืนได้ครับ

ติดตามความรู้ของ โปรแกรมบัญชี PEAK ได้ที่ peakaccount.com
หรือสมัคร เพื่อทดลองใช้โปรแกรม คลิก สมัครใช้งาน PEAK ฟรี 30 วัน