เมื่อโลกเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันก็ต้องมีการปรับตัวให้รองรับกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เช่น เรื่องช่องทางการขาย การชำระเงิน การจัดการบัญชี ภาษีต่างๆ ก็มีการนำเครื่องมือต่างๆ เข้ามาช่วยสร้างการทำงานในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น
โดยรัฐบาลเองมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจด้านดิจิทัลอย่างเป็นระบบ ดังตัวอย่างของมาตรการภาครัฐต่อไปนี้ที่จะช่วยส่งเสริมการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
e-Payment ชำระเงิน สะดวก รวดเร็ว ทุกที่ ทุกเวลา ทุกธุรกิจ
ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์มาตรการภาครัฐที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้มีระบบรองรับการชำระเงินทางออนไลน์ที่ได้มาตรฐาน สอดคล้องกับการใช้งานเทคโนโลยีที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์จะช่วยลดความซับซ้อนในกระบวนการการเงินและทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำธุรกรรม โดยเฉพาะในส่วนของผู้ประกอบการที่นำระบบ e-Payment มาใช้ในธุรกิจ นอกจากจะเป็นการเพิ่มความสะดวกสบายแก่ลูกค้าแล้ว ยังเสริมสร้างประสิทธิภาพในการบริหารจัดการการเงินของธุรกิจได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
สำหรับเงื่อนไขของกฎหมายภาษี e-Payment เป็นสิ่งที่เจ้าของกิจการ ร้านค้าต่างๆ ควรศึกษารายละเอียดอย่างแม่นยำ เพื่อการปฏิบัติทางกฎหมายที่ถูกต้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 ที่มีสาระสำคัญคือการกำหนดให้สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ e-wallet ต้องรายงานข้อมูลผู้มีบัญชีธุรกรรมเฉพาะให้กรมสรรพากร ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา นิติบุคคล โดยมีเงื่อนไขดังนี้
- มียอดฝาก หรือโอนเงินเข้าทุกบัญชี ตั้งแต่ 3,000 ครั้งต่อปีขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นการรับโอนครั้งละจะเป็นจำนวนเท่าใด
- ฝากหรือโอนเงินเข้าทุกบัญชีตั้งแต่ 400 ครั้งต่อปีขึ้นไป และมียอดเงินรวมกันตั้งแต่ 2,000,000 บาทต่อปีขึ้นไป ซึ่งต้องเข้าเงื่อนไขทั้งจำนวนครั้งและมูลค่าของเงินที่รับฝากหรือโอนนั้น
e-Tax Invoice ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ตอบโจทย์ธุรกิจในยุคดิจิทัล
e-Tax Invoice หรือใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ เป็นมาตรการภาครัฐในการออกใบกํากับภาษีในรูปแบบใหม่ที่กรมสรรพากรได้พัฒนาขึ้นมาใช้แทนการออกใบกำกับภาษีแบบกระดาษ โดยจะปรับเปลี่ยนข้อมูลทั้งหมดเป็นในรูปแบบของอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางระบบออนไลน์ ซึ่งจะช่วยให้เจ้าของธุรกิจสามารถส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ถึงกรมสรรพากรได้อย่างสะดวกรวดเร็วผ่านช่องทางอีเมล หรือเว็บไซต์กรมสรรพากรได้ในทันท่วงที ไม่ต้องจัดเตรียม และรวบรวมใบกํากับภาษีแบบกระดาษอีกต่อไป นอกจากนั้นการจัดทำใบกำกับภาษีอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ยังมีประโยชน์ต่อเจ้าของธุรกิจอีกหลายประการ ได้แก่ การลดต้นทุนแฝงอย่างเช่น ค่ากระดาษ ค่าหมึกพิมพ์ ค่าจัดส่ง ค่าจัดเก็บใบกำกับภาษี การป้องกันเอกสารสูญหายหรือได้รับความเสียหาย นอกจากนั้น e-Tax Invoice ยังรองรับสิทธิประโยชน์จากทางภาครัฐ อย่างโครงการ การช้อปดีมีคืนในปี 2566 และล่าสุดกับโครงการ Easy E-Receipt เป็นต้น
โดย e-Tax Invoice นั้นแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่
1. e-Tax Invoice by Time Stamp
เป็นระบบการจัดทำใบกำกับภาษีโดยการประทับรับรองเวลา (Time Stamp) เกิดขึ้นจากความร่วมมือของกรมสรรพากรกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่มีรายได้ ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี หรือมีการออกใบกำกับภาษีจำนวนไม่มาก ได้ตระหนักถึงความสะดวกของการออกและใช้งานใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนสำหรับผู้ประกอบการที่จะพัฒนาไปสู่ระบบการออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์อย่างสมบูรณ์แบบในอนาคต
2. e-Tax Invoice & e-Receipt
เป็นระบบที่กรมสรรพากรพัฒนาขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ประกอบการจัดทำใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ และใบเสร็จรับเงินในรููปแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ส่งมอบให้ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วยช่องทางทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่ตกลงกัน รวมถึงการนำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรผ่านช่องทางที่กรมสรรพากรกำหนดด้วย
Easy E-Receipt โอกาสสำหรับผู้ประกอบการในยุคดิจิทัล
Easy E-Receipt คือ โครงการลดหย่อนภาษีประจำปี 2567 ที่กรมสรรพากรกำหนดให้ผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดาสามารถนำใบกำกับภาษีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกกันว่า e-Tax Invoice และ e-Receipt ที่ได้รับจากการซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าที่จดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อใช้ลดหย่อนภาษีในปีภาษี 2567 โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมีเงื่อนไขการใช้จ่ายดังต่อไปนี้
1. ต้องเป็นผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
2. ซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียน VAT ที่ออกใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากรเท่านั้น
3. ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามจริง จำนวนไม่เกิน 50,000 บาท
นับเป็นโอกาสดีอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มที่สามารถออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ที่จะสร้างการขายสินค้าและบริการตามที่โครงการกำหนด
2 มาตรการภาษี โอกาสดีๆ สำหรับผู้ประกอบการ
เป็นการขยายเวลาต่อเนื่องสำหรับมาตรการภาครัฐที่กำหนดขึ้นเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์และส่งเสริมการใช้ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์
สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถหักรายจ่ายการลงทุนในระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt และระบบ e-Withholding Tax รวมถึงหักรายจ่ายค่าบริการระบบดังกล่าวได้ 2 เท่าของรายจ่ายที่จ่ายจริง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 – 31 ธันวาคม 2568
มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax)
สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินผ่านระบบ e-Withholding Tax ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 -31 ธันวาคม 2568” จะมีการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เหลืออัตราร้อยละ 1
ทั้ง 2 มาตรการดังกล่าวจะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการในการลดต้นทุนในการจัดทำและการจัดเก็บเอกสาร รวมทั้งยังช่วยให้ผู้ประกอบการมีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นในช่วงระยะเวลาดำเนินมาตรการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายได้อีกด้วย
PromptBiz ตอบโจทย์ธุรกิจดิจิทัล สร้างระบบการทำงานแบบมืออาชีพ
PromptBiz คือ โครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินกลางสำหรับภาคธุรกิจ ทำให้เกิดการทำธุรกิจแบบดิจิทัลที่สามารถข้ามธนาคารได้อย่างครบวงจร โดยจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลการค้าและการชำระเงิน ตั้งแต่ข้อมูลใบแจ้งหนี้ การวางบิล การชำระเงิน จนถึงการออกใบเสร็จ โดย PromptBiz จะมีบริการ 2 ด้านสำคัญ ได้แก่ บริการด้านการค้าและการชำระเงิน และบริการด้านสินเชื่อ
PromptBiz จะเปลี่ยนเอกสารทางการค้าจากรูปแบบกระดาษมาเป็นเอกสารดิจิทัลในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การวางบิล รับวางบิล ตรวจสอบความถูกต้อง และชำระเงินผ่านแพลตฟอร์ม พร้อมจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ครอบคลุมไปถึงการทำรายการหักและนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายอัตโนมัติ ขณะเดียวกันระบบ PromptBiz จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ พัฒนากระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs ได้เป็นอย่างดี