biz-startup-vs-smes

ช่วงนี้ธุรกิจ Startup มาแรง แล้วด้วยกระแสซีรีส์เกาหลีเรื่อง Startup ทำให้ธุรกิจ Startup มีการพูดถึงมากขึ้น และพื้นฐานของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสนใจกับการสร้างธุรกิจของตัวเอง บวกกับการเริ่มต้นทำธุรกิจในปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีต่างๆช่วยให้สินค้าและบริการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคง่ายขึ้น สื่อ Social Media ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยให้กิจการเติบโตอย่างรวดเร็ว สร้างยอดขายได้มาก ซึ่งการเริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเอง ไม่ได้มีแต่ Startup เพียงอย่างเดียว แต่ยังมี SMEs หรือธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ด้วยเช่นกัน

ธุรกิจ Startup คืออะไร

ธุรกิจ Startup คือ องค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อค้นหาโมเดลธุรกิจที่ทำซ้ำได้และเติบโตแบบก้าวกระโดด” เป็นนิยามที่ Steve Blank นักลงทุนและนักเขียนชื่อดัง ทั้งยังเป็นอาจารย์บรรยายพิเศษที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เบิร์กลีย์ และโคลัมเบีย ผู้ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นบิดาแห่ง Startup ให้ไว้

จากคำนิยามข้างต้น อธิบายได้ว่า Startup คือ ธุรกิจที่วางโมเดลธุรกิจ (Business Model) นโยบายต่างๆในการสร้างรายได้ (Revenue Stream) ที่สามารถทำซ้ำๆได้อย่างไม่จำกัด (Repeatable) ตั้งแต่ยังเป็นธุรกิจขนาดเล็ก หรือ ธุรกิจใหม่ หรือ พึ่งก่อตั้งธุรกิจ โดยมีเป้าหมาย แผนงาน หรือ กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจให้ “สามารถขยายตัวได้” (Scalable) ในอนาคต หรือ หากอธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นให้เห็นภาพ คือ การก่อตั้งธุรกิจ(Start) ที่มีเป้าหมายในการเติบโตที่ชัดเจน เห็นภาพ สามารถวัดผลได้ จากนั้นเติบโตด้วยปริมาณผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้น และรายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือก้าวกระโดด

ธุรกิจ SMEs คืออะไร

ธุรกิจ SMEs ย่อมาจากคำว่า Small and Medium Enterprises หมายถึง ธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดกลาง มักดำเนินกิจกรรมด้านการผลิต จำหน่ายหรือบริการที่มีขนาดย่อม เป็นธุรกิจที่มีความเป็นอิสระ มีเอกชนเป็นเจ้าของ ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของบุคคลหรือธุรกิจอื่น มีต้นทุนในการดำเนินงานต่ำและมีพนักงานจำนวนไม่มาก

SMEs มีกี่ประเภท งานบัญชีภาษีที่ SMEs จำเป็นต้องจัดทำมีอะไรบ้าง คลิกอ่านที่นี่

ความแตกต่างของ Startup และ SMEs

1. ลักษณะธุรกิจ

Startup : ธุรกิจ Startup ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจบริการ เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นจุดขายของธุรกิจ และอาจมีพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ หรือ Business Partner ที่ทำธุรกิจประเภทที่มีความเชื่อมโยงและส่งเสริมกับธุรกิจของทั้ง 2 ธุรกิจ ช่วยให้ธุรกิจขยายอย่างรวดเร็ว ทำให้มีคนรู้จักธุรกิจในวงกว้างมากขึ้น

SMEs : ธุรกิจ SMEs ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจซื้อมาขายไปหรือธุรกิจผลิต เป็นกิจการขนาดเล็ก-ขนาดกลาง มีเจ้าของเพียงคนเดียวในการจัดการบริหาร หรือเป็นกิจการครอบครัว และมักจะมีสินทรัพย์ถาวรเป็นของตนเอง เช่น อาคาร  รถยนต์ เครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

2. แหล่งเงินทุน

Startup : มักระดมทุนจากนักลงทุนมาขยายธุรกิจ โดยนักลงทุนใน Startup แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ไดแก่

(ก) Angel Investor เป็นนักลงทุนที่ใจดี ที่ให้ความสนใจและลงทุนในธุรกิจ Startup ตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ เนื่องจากธุรกิจ Startup เป็นธุรกิจที่ขายไอเดีย เมื่อนักลงทุนประเภทนี้เห็นว่าไอเดียหรือวิสัยทัศน์ของ ผู้ประกอบการ Startup นั้นน่าสนใจ ก็จะให้ทุนแก่ธุรกิจ Startup โดยอาจจะให้เปล่า หรือแลกกับหุ้นในธุรกิจ Startup ที่เข้าไปร่วมลงทุน

(ข) Venture Capital  เป็นนักลงทุนที่ลงทุนในธุรกิจ Startup มักเป็นกิจการขนาดใหญ่มีศักยภาพในการลงทุน และเห็นแผนธุรกิจของ Startup จึงอยากลงทุนด้วย โดยผลตอบแทนอาจเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งมักจะต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินทั่วไป

SMEs : ผู้ประกอบการ SMEs มักใช้เงินทุนของเจ้าของกิจการเป็นหลัก และอาจมีการเงินกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินในการดำเนินกิจการบ้าง ซึ่งจะแต่ละกิจการจะมีความแตกต่างในการจัดหาเงินทุน

3. ความเสี่ยงทางการเงิน

Startup : ถึงแม้ Startup จะมีแหล่งเงินทุนสนับสนุนจาก Angel Investor และ Venture Investor แต่ก็มีความเสี่ยงในการนำแผนธุรกิจที่เสนอนักลงทุน มาสร้างธุรกิจให้เกิดขึ้นขึ้นจริงได้ นั่นหมายความว่าหาก Startup ดำเนินธุรกิจไม่เป็นอย่างที่นำเสนอนักลงทุน ก็มีโอกาสไม่ได้เงินสนับสนุน หรือลดโอกาสได้เงินทุนในการพัฒนากิจการในปีถัดไปได้

SMEs : ธุรกิจ SMEs มีเงินทุนที่จำกัดจากเจ้าของกิจการเป็นหลัก อาจมีความเสี่ยงทางการเงินได้ หากบริหารจัดการเงินทุนได้ไม่ดี มีวงจรรายได้ไม่สัมพันธ์กับรายจ่าย หรือขาดสภาพคล่อง และการมีรายได้เช่นนี้ ก็อาจขอกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อนำมาดำเนินกิจการได้ยาก

4. การบริหารจัดการ

Startup : มักมีเป้าหมายและโมเดลธุรกิจชัดเจน เพราะจะต้องนำแผนไปเสนอนักลงทุน และในกลุ่มนักลงทุนที่สนใจในธุรกิจ หรือโมเดลธุรกิจของ Startup ก็อาจมีที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำในการดำเนินธุรกิจ ให้ธุรกิจมีโอกาสเติบโตมากกว่าเดิม หรือเป็นไปตามเป้าหมายที่ Startup ตั้งไว้

SMEs : เนื่องจากอำนาจการตัดสินใจของ SMEs มักอยู่ที่เจ้าของกิจการเป็นหลัก การดำเนินธุรกิจ หรือการบริหารจัดการก็จะขึ้นกับเจ้าของธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ อาจมีการทำแผนดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน หรืออาจไม่มีแผนธุรกิจในการดำเนินกิจการก็ได้ แต่หากธุรกิจนั้นต้องการขออนุมัติเงินกู้จากสถาบันการเงิน ก็จะต้องจัดทำแผนธุรกิจและข้อมูลงบการเงินที่น่าเชื่อถือ

5. เงินทุนเหมุนเวียน

Startup : มักขึ้นกับโมเดลธุรกิจ โดยมากธุรกิจ Startup จะนำเงินทุนมาใช้พัฒนาธุรกิจ โดยอาจสร้างนวัตกรรมใหม่ จัดจ้างพนักงาน ทำให้ยังไม่เห็นรายได้ที่ชัดเจนในช่วงแรก แต่อาจเห็นภาพการทำงาน ผลิตภัณฑ์ของ Startup ได้มากขึ้น ซึ่งเมื่อผลิตภัณฑ์ของ Startup ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะมีรายได้เข้ามาจนเกิดเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น

SMEs : มักขึ้นกับการต่อรองของเจ้าของกิจการ SMEs และลูกค้าเป็นหลัก บางธุรกิจมีเงินทุนหมุนเวียนที่ดี บางธุรกิจให้เครดิตเทอมกับลูกค้า เช่น 30 วัน 60 วัน ซึ่งธุรกิจที่ให้เครดิตเทอมกับลูกค้ามักเกิดปัญหาในการเก็บหนี้จากลูกค้า หรือเก็บเงินไม่ได้ ในขณะที่ธุรกิจมีรายจ่ายอยู่เสมอ ทำให้วงจรรายได้และรายจ่ายไม่สัมพันธ์กัน เกิดการขาดสภาพคล่องของกระแสเงินสดได้

6. รายงานทางบัญชี

Startup : ธุรกิจ Startup จำเป็นต้องจัดทำบัญชีอยู่เสมอ เพื่อเข้าใจสภาพการเงินในกิจการ และเมื่อมีนักลงทุนเข้ามาร่วมลงทุนในกิจการแล้ว ก็จำเป็นต้องมีระบบบัญชีที่ดี จัดทำรายงานทางบัญชีเป็นประจำ เรียกได้ว่าทำรายงานทางบัญชีทุกไตรมาสเพื่อรายงานต่อนักลงทุนที่มาร่วมลงทุนในกิจการ

SMEs : ธุรกิจ SMEs มักมีความยืดหยุ่นในกาทำบัญชี บางธุรกิจอาจจัดการงานบัญชีทุกเดือน, ทุกไตรมาส หรืออาจจัดทำบัญชีเพื่อยื่นส่งงบเพียงอย่างเดียว ทั้งหมดขึ้นกับเจ้าของกิจการว่าจะจัดทำบัญชีอย่างไร หากเป็นธุรกิจที่ใส่ใจงานบัญชีมาก ก็จะมีการจัดจ้างสำนักงานบัญชี หรือจ้างนักบัญชีเพื่อทำรายงานทางบัญชีเป็นประจำ ซึ่งการทำบัญชีจะเป็นประโยชน์แก่เจ้าของกิจการในวิเคราะห์สถานการณ์และวางแผนทางธุรกิจได้อย่างแม่นยำ

การทำบัญชีเป็นเรื่องจำเป็นของธุรกิจ Startup และ SMEs เพราะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจของทุกกิจการ ทั้งในการขอเงินทุนในการพัฒนาธุรกิจ และการนำข้อมูลมาวิเคราะห์กิจการ รู้สถานการณ์ของบริษัท ทำให้กิจการเติบโตได้เร็วขึ้น

สมัครใช้งานโปรแกรมบัญชี PEAK ฟรี คลิก peakaccount.com 
หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมทาง inbox ของ Facebook PEAK โปรแกรมบัญชีออนไลน์