ธุรกิจ SMEs เป็นธุรกิจที่มีการลงทุนไม่สูงมาก สามารถดำเนินการได้โดยมีเพียงตัวผู้ประกอบการและจ้างพนักงานไม่กี่คน เป้าหมายในการดำเนินธุรกิจย่อมหมายถึงกำไร ซึ่งการที่ผลประกอบการจะมีตัวเลขกำไรนั้น ธุรกิจย่อมเผชิญกับเหตุการณ์ที่ไม่แน่นอน ความผิดพลาด สิ่งที่ไม่ได้คาดคิด อันเป็นความเสี่ยงในการดำเนินกิจการ
ความเสี่ยงในการทำธุรกิจ SMEs
ความเสี่ยง หมายถึง โอกาสเกิดความผิดพลาด เหตุการณ์ความไม่แน่นอนที่จะเกิดความเสียหาย เหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์หรือการกระทำที่อาจเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคตและมีผลกระทบทำให้การดำเนินงานขององค์กรไม่ประสบความสำเร็จเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของงองค์กร
ความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานขององค์กร สามารถจัดจำแนกได้ 5 ประเภทดังนี้
1. ความเสี่ยงที่เกิดจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หรือเหตุการณ์ที่ไม่ดี ซึ่งเป็นความไม่แน่นอนที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร ได้แก่ อัคคีภัย การนัดหยุดงาน เหตุจลาจล การก่อการร้าย เหตุระเบิด การโจรกรรม เป็นต้น
2. ความเสี่ยงทางด้านกลยุทธ์ (Strategic Risk) เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากการกำหนดกลยุทธ์ นโยบายในการบริหารงาน แผนการดำเนินงานที่นำไปปฏิบัติไม่เหมาะสมหรือไม่สอดคล้องกับปัจจัยภายในเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้แต่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน ได้แก่ โครงสร้างองค์กร กระบวนการ วิธีการปฏิบัติงาน เป็นต้น และปัจจัยภายนอกได้แก่ สภาวะการแข่งขัน เทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลง การเมือง เศรษฐกิจ เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของงองค์กร
3. ความเสี่ยงทางด้านการเงิน (Financial Risk) เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากความผิดพลาดในการเบิกจ่ายเงิน การขาดสภาพคล่องทางการเงิน ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงไม่เป็นไปตามงบประมาณที่วางแผนไว้ งบประมาณที่จัดทำขึ้นไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทำให้การจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอ เป็นต้น
4. ความเสี่ยงทางด้านการปฏิบัติงาน (Operation Risk) เป็นความเสี่ยงจากความเสียหายที่เกิดจากการขาดการควบคุมการปฏิบัติงานภายในองค์กร หรือเกิดจากระบบปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการ บุคลากรในการปฏิบัติงาน เทคโนโลยี เป็นต้น
5. ความเสี่ยงทางด้านกฎระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นความเสี่ยงจากการไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎระเบียบหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หรือกฏระเบียบไม่เหมาะสมเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน
ความเสี่ยงสำหรับธุรกิจ เป็นสิ่งที่เจ้าของกิจการทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้นแต่เป็นสิ่งที่กิจการไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความเสี่ยงได้ เพียงแต่ผลกระทบจากความเสี่ยงจะมีมากน้อยขึ้นอยู่กับการเตรียมพร้อมหรือแผนการตั้งรับ การกำหนดนโยบายขององค์กรที่เหมาะสม การกำหนดมาตรการป้องกันความเสี่ยง โดยมาตรการป้องกันความเสี่ยงที่ธุรกิจนิยมใช้กัน ได้แก่ การทำประกันภัยธุรกิจ
การประกันภัยธุรกิจ คืออะไร
เป็นแผนการประกันภัยสำหรับหน่วยธุรกิจ ที่บริษัทประกันรับประกันภัยความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของธุรกิจ ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ ความปลอดภัยของพนักงาน เป็นต้น
สำหรับธุรกิจSMEs ประเภทของการประกันภัยที่ตอบโจทย์และมีความเหมาะสมกับธุรกิจ มีดังนี้
1. การประกันภัยทรัพย์สิน
เป็นการประกันภัยสำหรับธุรกิจSMEs ที่มีสถานประกอบการที่มีการผลิต การเก็บสต็อกสินค้า นอกเหนือไปจากการจำหน่ายสินค้า ได้แก่กิจการประเภทโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีความเสี่ยงจากความเสียหายในทรัพย์สินของกิจการ ได้แก่ ทรัพย์สินประเภท อาคารโรงงาน อาคารสำนักงาน เครื่องจักร เครื่องตกแต่ง เครื่องใช้สำนักงาน สต็อกสินค้า คลังสินค้า โกดังสินค้า ที่เกิดจาก ภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม แผ่นดินไหว ภัยอื่นๆได้แก่ ไฟไหม้ ฟ้าผ่า ระเบิด การจลาจล การนัดหยุดงาน เป็นต้น
2. การประกันอัคคีภัย
เป็นการประกันภัยที่รองรับความเสียหายจากอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจ สำหรับร้านค้า สถานประกอบการ โดยสิ่งที่บริษัทประกันรับประกันภัย ได้แก่ อาคาร ร้านค้า สำนักงาน ทรัพย์สินภายในอาคาร เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องมือเครื่องใช้ อุปกรณ์สำนักงาน เป็นต้น โดยความคุ้มครองครอบคลุมภัยที่เกิดจาก ไฟไหม้ รวมทั้งความเสียหายที่สืบเนื่องจากไฟไหม้ เช่น ความเสียหายจากควันไฟ น้ำที่ใช้ดับไฟ, การเกิดฟ้าผ่า, การระเบิดของแก็ส เป็นต้น
3. การประกันโจรกรรม
เป็นการประกันภัยจากความเสี่ยงในการถูกโจรกรรมทรัพย์สินของกิจการโดยบุคคลภายนอก ที่กระทำการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ของกิจการ
4. การประกันเงินสด
เป็นการประกันภัยสำหรับธุรกิจโรงแรม ปั๊มน้ำมัน กิจการที่มีการรับ-ส่งเงิน เป็นต้น การให้ความคุ้มครองจากความสูญเสียของเงิน ไม่ว่าเงินนั้นจะอยู่ในอาคารของผู้เอาประกัน ในตู้นิรภัย หรืออยู่ในระหว่างการขนส่งจากสถานที่หนึ่งไปอีกสถานหนึ่ง นอกจากนี้ยังให้ความคุ้มครองต่อตัวตู้นิรภัย ห้องนิรภัย ตัวอาคาร หรือทรัพย์สินอื่นๆ ซึ่งเกิดจากการชิงทรัพย์ การปล้นทรัพย์ การโจรกรรมเงินจากตู้นิรภัย ห้องนิรภัยและความเสียหายต่อเนื่องจากการจี้ปล้น
5. การประกันอุบัติเหตุกลุ่มสำหรับพนักงาน
เป็นการประกันภัยที่คุ้มครองการเกิดอุบัติเหตุสำหรับพนักงาน ทุกสถานที่ทั้งในเวลาและนอกเวลาทำงาน โดยเมื่อเกิดอุบัติเหตุกับพนักงานซึ่งเป็นเหตุให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต โดยบริษัทประกันจะจ่ายค่าชดเชยตามจำนวนเงินที่เอาประกันตามที่ตกลงตามกรมธรรม์ โดยเฉพาะธุรกิจที่เป็นโรงงานผลิตที่พนักงานฝ่ายผลิตมีความเสี่ยงจากการบาดเจ็บระหว่างการปฏิบัติงานในการใช้อุปกรณ์หรือควบคุมการใช้เครื่องจักร
6. การประกันภัยอื่นๆ
เช่น ธุรกิจร้านทองซึ่งมีความเสี่ยงสูงในการถูกโจรกรรม โดยการทำประกันภัยร้านทองจะให้ความคุ้มครองการโจรกรรมได้แก่ การปล้นทรัพย์ การชิงทรัพย์ การวิ่งราวทรัพย์ ทองแท่งหรือทองรูปพรรณ ภายในสถานที่เอาประกันภัย และให้ความคุ้มครอง ตัวอาคาร ตู้แสดงอาคารสินค้าทองคำ เครื่องชั่ง โทรทัศน์วงจรปิด รวมทั้งคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลและเงินชดเชย การเสียชีวิต การสูญเสียอวัยวะ การทุพพลภาพของเจ้าของร้าน บุคคลในครอบครัว ลูกจ้าง เป็นต้น
สำหรับเอกสารและข้อมูลที่ใช้ในการทำประกันภัยโดยทั่วไป สำหรับร้านค้า/บุคคลธรรมดา ได้แก่ ทะเบียนพาณิชย์ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของกิจการ สำหรับบริษัท ได้แก่หนังสือรับรองบริษัท นอกจากนี้ยังมีข้อมูลของธุรกิจ ได้แก่ สถานที่ตั้ง ชื่อที่อยู่ผู้เอาประกัน เลขประจำตัวผู้เสียภาษี สำหรับการประกันภัยประเภทประกันทรัพย์สินและอัคคีภัย มีข้อมูลเพิ่มที่ต้องจัดเตรียม ได้แก่ รายละเอียดทรัพย์สินที่เอาประกัน ทุนประกันภัย สถานที่ตั้งหรือบริเวณที่ใช้งานของทรัพย์สินนั้น ประวัติความสูญเสียหรือความเสียหายที่เคยเกิดขึ้น ระบบรักษาความปลอดภัยต่างๆ กรณีกิจการผลิต ควรจัดเตรียมข้อมูลกระบวนการผลิตด้วย
การทำประกันภัยจึงเป็นแผนและมาตรการสำคัญที่รองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นสำหรับธุรกิจ SMEs ช่วยให้ธุรกิจไม่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่มีมูลค่าสูงเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ทำให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการควรเลือกแผนการประกันภัยและประเภทของการประกันภัยที่เหมาะสมกับธุรกิจของตน มีการวิเคราะห์ผลประโยชน์ที่ได้รับรวมทั้งพิจารณาเลือกบริษัทผู้รับประกันที่ดีมีความมั่นคง เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์คุ้มครองเพียงพอกับค่าเบี้ยประกันที่ชำระ
ติดตามความรู้จาก โปรแกรมบัญชี PEAK ได้ที่ peakaccount.com
หรือเข้าใช้งานโปรแกรม คลิก เข้าสู่ระบบ PEAK