biz-company-registration-capital

การทำธุรกิจไม่ว่ารูปแบบใดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความพร้อมของเจ้าของธุรกิจ การเลือกรูปแบบธุรกิจในรูปของบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลต่างก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป ทั้งในเรื่องการเสียภาษี การจัดทำบัญชี กฎหมายธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความน่าเชื่อถือ ภาระหน้าที่ของผู้บริหาร ความรับผิดต่อหนี้สินของกิจการ ไปจนถึงการจัดหาแหล่งเงินทุน การประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคลเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ สำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการประกอบธุรกิจที่หวังผลต่อการเติบโตในอนาคต การจดทะเบียนนิติบุคคลถือเป็นการเริ่มต้นทำธุรกิจอย่างเป็นทางการ สำหรับธุรกิจในรูปของบุคคลธรรมดา สามารถจดทะเบียนพาณิชย์บุคคลธรรมดาออนไลน์ได้ง่าย ๆ เลย

วิธีการจดทะเบียนพาณิชย์บุคคลธรรมดาออนไลน์

การจดทะเบียนพาณิชย์บุคคลธรรมดาออนไลน์ในประเทศไทยสามารถทำได้ง่ายและสะดวกผ่านทางระบบของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยมีขั้นตอนดังนี้

ขั้นตอนการจดทะเบียนพาณิชย์บุคคลธรรมดาออนไลน์

  1. เข้าสู่ระบบ ที่เว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (https://www.dbd.go.th) และเลือกบริการ “จดทะเบียนธุรกิจออนไลน์” หากยังไม่เคยสมัครสมาชิก ให้สมัครบัญชีใหม่ก่อน โดยการใส่ข้อมูลส่วนตัว และยืนยันตัวตน OTP หรือระบบ e-Citizen เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านที่สมัครไว้
  2. กรอกข้อมูลการจดทะเบียนพาณิชย์  เลือกเมนู “จดทะเบียนพาณิชย์” และเลือกประเภทการจดทะเบียนที่ต้องการ (เช่น จดทะเบียนใหม่, เปลี่ยนแปลง, หรือล้มเลิกกิจการ) แล้วกรอกข้อมูลที่จำเป็น เช่น ชื่อธุรกิจ ที่ตั้งสถานประกอบการ ประเภทกิจการ รายละเอียดเจ้าของกิจการ และข้อมูลติดต่อ
  3. แนบเอกสารประกอบ เตรียมเอกสารที่จำเป็น เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หรือเอกสารยืนยันการใช้สถานที่ตั้งกิจการ (เช่น สัญญาเช่าหรือหนังสือรับรองจากเจ้าของพื้นที่) แล้วแนบไฟล์เอกสารที่สแกนไว้ในระบบ
  4. ตรวจสอบและยืนยันข้อมูล ตรวจสอบแล้วยืนยันข้อมูลทั้งหมด พร้อมส่งแบบฟอร์มการจดทะเบียนพาณิชย์
  5. ชำระค่าธรรมเนียม การจดทะเบียนตามที่กำหนดผ่านระบบออนไลน์ เช่น บัตรเครดิต/เดบิต หรือการโอนเงินผ่านธนาคาร
  6. รับใบรับรองการจดทะเบียน หลังจากการตรวจสอบและอนุมัติจากเจ้าหน้าที่ คุณจะได้รับใบรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์ในรูปแบบเอกสารดิจิทัล (PDF) สามารถดาวน์โหลดและพิมพ์ออกมาเก็บไว้ได้

เอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนพาณิชย์บุคคลธรรมดาออนไลน์

  • สำเนาบัตรประชาชนของผู้ประกอบการ
  • สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ประกอบการ
  • หลักฐานการใช้สถานที่ (เช่น สัญญาเช่าหรือหนังสือยินยอมจากเจ้าของสถานที่)
  • แผนที่แสดงที่ตั้งสถานประกอบการ

การจดทะเบียนนิติบุคคลมีกี่แบบ และต่างกันยังไง

สำหรับใครที่ต้องการจดทะเบียนพาณิชย์ในรูปแบบจดทะเบียนนิติบุคคล สามารถจดทะเบียนพาณิชย์บุคคลธรรมดาออนไลน์วิธีการเดียวกันได้เลย เพียงแต่เราต้องเข้าใจความแตกต่างของนิติบุคคล 3 รูปแบบดังนี้

การจดทะเบียนนิติบุคคล

1. ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล

ห้างหุ้นส่วนสามัญที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ซึ่งหุ้นส่วนทุกคนร่วมกันรับผิดชอบในหนี้สินแบบไม่จำกัดจำนวนแต่อาจตกลงให้คนใดคนหนึ่งเป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วนได้

2. ห้างหุ้นส่วนจำกัด

ห้างหุ้นส่วนจำกัดต้องมีผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ทำการจดทะเบียนนิติบุคคล โดยความรับผิดชอบของหุ้นส่วนจะแบ่งเป็น “จำกัด” และแบบ ”ไม่จำกัด” ความรับผิดในหนี้สินของกิจการ

หุ้นส่วนผู้รับผิดชอบในหนี้สินแบบ ”จำกัด” จะรับผิดในหนี้สินกิจการไม่เกินจำนวนเงินลงทุนของตน หุ้นส่วนประเภทนี้จะไม่มีสิทธิในการตัดสินใจในการบริหารงาน แต่มีสิทธิที่จะสอบถามถึงการดำเนินงานของกิจการได้

หุ้นส่วนผู้รับผิดชอบในหนี้สินแบบ ”ไม่จำกัด” จะรับผิดในหนี้สินทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากกิจการและจะมีสิทธิตัดสินใจต่างๆในกิจการได้อย่างเต็มที่

3. บริษัท

การจดทะเบียนในรูปของบริษัทต้องมีผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป โดยผู้ถือหุ้นทุกคนจะรับผิดชอบในหนี้สินกิจการแบบจำกัด กล่าวคือผู้ถือหุ้นมีภาระเพียงแค่จะต้องชำระเงินทุนตามค่าหุ้นที่ได้จดทะเบียนไว้เท่านั้น หากชำระครบแล้ว ผู้ถือหุ้นไม่ต้องรับผิดชอบในหนี้สินที่เกิดขึ้นในกิจการอีก ด้วยการจำกัดความรับผิดนี่เองที่ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่นิยมจดทะเบียนแบบบริษัทจำกัด

ควรใช้ทุนในการจดทะเบียนบริษัทเท่าไหร่

ทุนจดทะเบียนของนิติบุคคลมีผลต่อความน่าเชื่อถือในการติดต่อธุรกิจ ไม่ว่าลูกค้าหรือคู่ค้าของธุรกิจจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ยิ่งมูลค่าทุนจดทะเบียนมาก บริษัทยิ่งมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นในการรับงาน อย่างไรก็ตามทุนจดทะเบียนจะเป็นเท่าไรขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจด้วยดังนี้

1. ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล/ห้างหุ้นส่วนจำกัด

ในการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนไม่ต้องแบ่งทุนออกเป็นหุ้นเหมือนกรณีการจดทะเบียนบริษัท และไม่มีการกำหนดขั้นต่ำของทุนจดทะเบียน โดยส่วนใหญ่การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจะอยู่ที่ 250,000-1,000,000 บาท

ในกรณีห้างหุ้นส่วนจำกัด หุ้นส่วนที่จำกัดความรับผิด ไม่สามารถลงทุนด้วยแรงงานได้เนื่องจากหุ้นส่วนประเภทนี้มีความรับผิดชอบหนี้สินของกิจการไม่เกินจำนวนเงินลงทุนของตน จึงไม่ควรเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานของห้างหุ้นส่วนโดยตรงเหมือนหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด

2. บริษัทจำกัด

การจดทะเบียนบริษัท นิยมจดทะเบียนกันที่ 1 ล้านบาท ซึ่งทำให้เกิดความน่าเชื่อถือในระดับหนึ่งในการติดต่อทำธุรกิจ และอัตราค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจเป็น 5,000 บาท ไม่ว่าทุนจดทะเบียนจะมีมูลค่าเท่าใด เช่น ถ้ากิจการเริ่มต้นด้วยทุนจดทะเบียน 500,000 บาท ในการจดทะเบียนบริษัท กิจการต้องเสียค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนบริษัท 5,000 บาท ถ้าต่อมากิจการต้องการเพิ่มทุนเป็น 1 ล้านบาท กิจการก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนอีก 5,000 บาท ดังนั้นเพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะจดทะเบียนเมื่อเริ่มต้นธุรกิจที่ 1 ล้านบาทเลย

การดำเนินงานจดทะเบียนนิติบุคคลกับกรมพัฒนาธุรกิจปัจจุบันมีความทันสมัย สะดวกรวดเร็ว นอกจากผู้ประกอบการจะสามารถยื่นขอจดทะเบียนด้วยการยื่นเอกสารโดยตรงแล้วยังสามารถเลือกจดทะเบียนทางอิเล็คทรอนิคส์ (e-Registration) ได้

ขั้นตอนการจดทะเบียนธุรกิจแต่ละแบบจะเป็นอย่างไร อ่านต่อได้ที่บทความ การจดทะเบียนธุรกิจ มีกี่ประเภท และจดทะเบียนอย่างไร เลยครับ

ผลจากการจดทะเบียนที่มีต่อธุรกิจ

เมื่อนิติบุคคลดำเนินการจดทะเบียนแล้ว จะมีผลต่อธุรกิจในด้านต่างๆดังนี้

1. ในทางกฎหมายสรรพากร ทุนจดทะเบียนมีผลต่อการเสียภาษีดังนี้

กรณีที่ 1 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท กรมสรรพากรให้คำนวณภาษีในอัตราดังนี้

กำไรสุทธิ ไม่เกิน 300,000 บาท ได้รับยกเว้น
กำไรสุทธิเกิน 300,000 บาท แต่ไม่เกิน 3,000,000 บาท เสียภาษีในอัตราร้อยละ15
กำไรสุทธิเกิน 3,000,000 บาท ขึ้นไป เสียภาษีในอัตราร้อยละ20

กรณีที่ 2 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี มากกว่า 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีมากกว่า 30 ล้านบาท กรมสรรพากรให้คำนวณภาษีในอัตราร้อยละ20 ของกำไรสุทธิ

ผลจากการจดทะเบียนที่มีต่อธุรกิจ

2. ตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ.2543 หลังจากที่กิจการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว ผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนและกรรมการของบริษัทจำกัดเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี โดยต้องจัดให้มี

2.1 การจัดทำบัญชีรายวัน บัญชีแยกประเภท บัญชีสินค้าและบัญชีอื่น ๆ ตามความจำเป็นในการทำบัญชี

2.2 กิจการต้องจัดให้มีผู้ทำบัญชีเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำบัญชี มีการส่งมอบเอกสารที่เป็นหลักฐานในการลงบัญชีให้แก่ผู้ทำบัญชีอย่างครบถ้วน และต้องเก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไว้ที่สถานประกอบการเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี

2.3 การปิดบัญชีครั้งแรกภายใน 12 เดือนนับตั้งแต่นับตั้งแต่วันเริ่มทำบัญชีและปิดบัญชีทุกรอบ12 เดือน

2.4 การจัดทำงบการเงิน ได้แก่ งบแสดงฐานะการเงิน งบกำไรขาดทุน งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้นและหมายเหตุประกอบงบการเงิน โดยจัดให้มีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองงบการเงิน

กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล/ห้างหุ้นส่วนจำกัด มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวมไม่เกิน 30 ล้านบาทและมีรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท สามารถจัดให้มีผู้ทำบัญชีที่เป็นผู้จบการศึกษาระดับอนุปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงเป็นผู้ทำบัญชีได้ โดยผู้ประกอบการต้องควบคุมดูแลการทำบัญชีให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงและมาตรฐานการรายงานทางการเงิน และไม่ต้องมีผู้สอบบัญชีตรวจสอบรับรองงบการเงินแต่กิจการต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล(ภ.ง.ด.50) พร้อมรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตหรือผู้สอบบัญชีภาษีอากร

2.5 การนำส่งงบการเงินที่ได้รับการรับรองโดยผู้สอบบัญชีแล้ว ภายใน 5 เดือนนับแต่วันปิดบัญชี

3. ในด้านอื่น ๆ ได้แก่ กิจการมีความน่าเชื่อถือเพราะทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วสะท้อนถึงเงินหมุนเวียนที่กิจการมีอยู่เพียงพอและมีความสามารถในการชำระหนี้ ทำให้ลูกค้าและคู่ค้าของธุรกิจเกิดความเชื่อมั่นในฐานะการเงินของกิจการ ระบบบัญชี ระบบการบริหารของกิจการ และเอื้อต่อการขอระดมทุน รวมทั้ง การขอสินเชื่อและกู้เงินจากสถาบันการเงิน นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ เช่น กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานบีโอไอ เป็นต้น ในบางธุรกิจ เช่น ธุรกิจที่ปรึกษาที่จะรับงานภาครัฐ จากข้อมูลของศูนย์ที่ปรึกษา สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กำหนดคุณสมบัติของที่ปรึกษานิติบุคคลว่ากิจการต้องมีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป

การจดทะเบียนธุรกิจมีความสำคัญ เป็นสิ่งที่แสดงถึงศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ การมีเงินทุนหมุนเวียนที่เพียงพอ กิจการมีความสามารถในการชำระหนี้ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่เจ้าของธุรกิจไม่ควรละเลยคือไม่ว่ากิจการจะจดแจ้งด้วยทุนจดทะเบียนเท่าไรก็ตาม ควรเรียกชำระค่าหุ้นตามจริงเพื่อเป็นการแสดงถึงฐานะทางการเงินที่แท้จริงของกิจการและไม่ให้เกิดความยุ่งยากในการดำเนินงานในอนาคตติดตามความรู้ของ PEAK ที่
Blog: http://peakaccount.com/blog
Facebook: facebook.com/peakengine