TFRS เป็นศัพท์ที่คุ้นหูในวงการวิชาชีพบัญชี เป็นคำที่ใช้แพร่หลายทั้งในบริษัททั่วไปและบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ TFRSคืออะไร? ใครเป็นผู้จัดทำ? กระบวนการจัดทำเป็นอย่างไร? TFRS ที่สำคัญมีอะไรบ้าง? และมีความสำคัญกับนักบัญชีอย่างไร? เรามาติดตามกัน
TFRS คืออะไร?
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับว่า TFRS กันก่อน TFRS ย่อมาจากคำว่า Thai Financial Reporting Standard เป็นมาตรฐานรายงานทางการเงินของประเทศไทย ซึ่งเป็นภาษาทางธุรกิจและเป็นแนวทางที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจ ภายใต้การดูแลของสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ TFRSจัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี (Thai Accounting Standards-Setting Committee) ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์เกี่ยวกับการบัญชี จำนวนรวมทั้งสิ้น 15 ท่าน ประกอบด้วย ผู้ปฏิบัติงานทางบัญชี สำนักงานสอบบัญชี ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินและการลงทุน หน่วยงานกำกับดูแลทั้งภาครัฐและตลาดทุน รวมถึงมุมมองจากอาจารย์มหาวิทยาลัย
การจัดทำ TFRS
หลายคนเข้าใจว่า TFRS เป็นการแปลจาก IFRS(International Reporting Standards) หรือมาตรฐานสากลรายงานทางการเงิน แต่ที่จริงแล้วสภาวิชาชีพบัญชีฯมีการปรับปรุง TFRS ทุกปี โดยมีกระบวนการจัดทำมาตรฐานฯที่โปร่งใส ผ่านการสัมมนาพิจารณ์ กลั่นกรองประเด็นที่อาจเกิดขึ้นจากการนำมาตรฐานไปใช้ในการปฏิบัติงานจริง
กระบวนการในการจัดทำTFRS หรือ Due Process
มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำมาตรฐานฯไปใช้สามารถเข้าใจ และเตรียมข้อมูลสำหรับการปรับปรุงมาตรฐานฯใหม่ล่วงหน้าก่อนที่มาตรฐานฯจะมีผลบังคับใช้ กระบวนการในการจัดทำ TFRSมีด้วยกัน 6 ขั้นตอน ประกอบด้วย
1 การศึกษา วิจัยและติดตาม IFRS
คณะอนุกรรมการศึกษาและติดตามIFRS จะดำเนินการศึกษาและติดตามIFRS ที่อยู่ในระหว่างการจัดทำของIASB (คณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ) พิจารณาเนื้อหาของร่างIFRS นั้นตลอดจนวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจที่มีการนำTFRSไปใช้ ทั้งผลกระทบที่มีต่อระบบงาน การจัดทำรายงานทางการเงิน อัตราส่วนทางการเงิน รวมทั้งเงื่อนไขในสัญญาเงินกู้ โดยวิเคราะห์กับหลักการบัญชีและเผยแพร่สรุปเนื้อหาและผลกระทบของร่างIFRS ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญดังกล่าว ภายใน 1 เดือนนับจากวันที่ส่ง comment letter
2 การวางแผนงานในการจัดทำ TFRS
คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีจะวางแผนในการจัดทำTFRS โดยพิจารณาจากแผนการจัดทำ IFRS ของ IASB ถ้ามีมาตรฐานฯที่มีการเปลี่ยนแปลงซับซ้อนอย่างมีนัยสำคัญ คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีจะสื่อสารผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงล่วงหน้าอย่างน้อย 2 ปี ก่อนวันถือปฏิบัติของมาตรฐานฯฉบับดังกล่าว เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงของมาตรฐานฯ โดยการเผยแพร่ผ่านบทความในเว็บไซต์ของสภาวิชาชีพบัญชีฯ เป็นระยะๆ เพื่อให้เกิดการตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการจัดทำรายงานทางการเงินและเป็นการเตรียมพร้อมของนักบัญชีและผู้เกี่ยวข้อง
3 การจัดทำมาตรฐานรายงานทางการเงิน
คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีจะยกร่างมาตรฐานการรายงานทางการเงินเป็นภาษาไทยจากIFRS ที่เป็นภาษาอังกฤษ และนำผลกระทบในการนำมาใช้ในประเทศไทยจากการศึกษาของคณะอนุกรรมการติดตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศมาพิจารณาต่อไป โดยใช้ระยะเวลาในการยกร่างสำหรับฉบับที่จัดทำใหม่ ใช้เวลาอย่างน้อย 2 เดือน นับจากวันที่ได้รับมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เป็นภาษาอังกฤษ ถ้าเป็นฉบับที่ปรับปรุงจากฉบับเดิมใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือน นับจากวันที่ได้รับมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เป็นภาษาอังกฤษ
4 การจัดสัมมนาพิจารณ์เพื่อสร้างความเข้าใจ
คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีจะทำการเผยแพร่ร่างมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับภาษาไทยผ่านทางเว็บไซต์สภาวิชาชีพบัญชีฯ และดำเนินการจัดสัมมนาพิจารณ์เพื่อสร้างความเข้าใจ รับฟังความคิดเห็นและผลกระทบจากการนำมาตรฐานการรายงานทางการเงินไปใช้ โดยระยะเวลาที่ใช้ในการจัดการสัมมนาพิจารณ์จะต้องมีความเหมาะสม เพียงพอ และสอดคล้องกับความยากง่ายหรือความซับซ้อนของมาตรฐานการรายงานทางการเงินในแต่ละเรื่อง โดยกรณีมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่มีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำและการอ้างอิงมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับอื่น (ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหลักการใดในมาตรฐานการรายงานทางการเงิน) จะมีระยะเวลาการทำสัมมนาพิจารณ์ผ่านทางเว็บไซต์สภาวิชาชีพบัญชีฯอย่างน้อย 30 วัน นับจากวันที่มีการยกร่างแรกของมาตรฐานการรายงานทางการเงินเสร็จสิ้น หรือหากเป็นมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาแต่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ในทางปฏิบัติจะมีระยะเวลาการทำสัมมนาพิจารณ์อย่างน้อย 60 วัน นับจากวันที่มีการยกร่างแรกของมาตรฐานการรายงานทางการเงินเสร็จสิ้น หรือหากเป็นมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่มีความยุ่งยากซับซ้อนในทางปฏิบัติ จะมีระยะเวลาการทำสัมมนาพิจารณ์อย่างน้อย 120 วัน นับจากวันที่มีการยกร่างแรกของมาตรฐานการรายงานทางการเงินเสร็จสิ้น โดยคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีจะดำเนินการสื่อสารผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่มีความยุ่งยากซับซ้อนอย่างมีนัยสำคัญในทางปฏิบัติ ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการตระหนักถึงผลกระทบและเตรียมความพร้อมล่วงหน้าอย่างน้อย 2 ปี ก่อนวันถือปฏิบัติของมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับดังกล่าว
5 การนำเสนอร่างมาตรฐานฯ
การนำเสนอร่างมาตรฐานฯต่อคณะอนุกรรมการกลั่นกรองมาตรฐานการบัญชี คณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชี และคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยระยะเวลาในการนำเสนอใช้เวลา 1 เดือนในแต่ละคณะ พร้อมทั้งมีการรายงานความคืบหน้าเป็นระยะๆ ถึงการนำเสนอร่างมาตรฐานฯ ว่าได้การดำเนินการไปถึงคณะกรรมการชุดใดแล้วผ่านทางเว็บไซต์สภาวิชาชีพบัญชีฯ
6 กระบวนการหลังจากที่มาตรฐานฯได้รับการเผยแพร่
หลังจากที่มาตรฐานการรายงานทางการเงินประกาศลงราชกิจจานุเบกษา คณะอนุกรรมการเทคนิคมาตรฐานการบัญชีจะจัดทำคู่มืออธิบายมาตรฐานการรายงานทางการเงินดังกล่าวเพื่อสรุปการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบของมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป
TFRS ฉบับที่สำคัญ
ในที่นี้จะขอยกตัวอย่าง TFRS ฉบับที่สำคัญ ที่ประกาศใช้แล้วในปัจจุบัน ได้แก่
1 TFRS9
TFRS9 คือมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่9 เรื่องเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งกล่าวถึงเครื่องมือทางการเงิน ได้แก่ พันธบัตร หุ้นสามัญ สัญญาเงินกู้ ใบวางบิล ใบแจ้งหนี้ เป็นต้น
โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อ
1.กำหนดวิธีการปฏิบัติทางบัญชีเกี่ยวกับการรับรู้รายการและการวัดมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงิน หนี้สินทางการเงิน และสัญญาซื้อหรือขายรายการที่ไม่ใช่รายการทางการเงินบางประเภท
2.กำหนดหลักการสำหรับการรายงานทางการเงินสำหรับสินทรัพย์ทางการเงินและหนี้สินทางการเงินเพื่อเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจและเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงินในการประเมินถึงจำนวนเงิน จังหวะเวลา และความไม่แน่นอนของกระแสเงินสดในอนาคตของกิจการ
โดย TFRS9 ได้มีการปรับปรุงหลักการและวิธีการบัญชีสำหรับเครื่องมือการทางการเงิน เพื่อให้สะท้อนฐานะทางการเงินให้สะท้อนฐานะการเงินและผลการดำเนินงานที่แท้จริงของกิจการมากขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนดังนี้
1. การจัดประเภทรายการและการวัดมูลค่าของสินทรัพย์และหนี้สินทางการเงิน (Classification and Measurement)
2. การรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงิน (Impairment)
3. การบัญชีป้องกันความเสี่ยง (Hedge Accounting)
TFRS9 เป็นมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ โดยพิจารณาเหตุการณ์ในอดีต สถานการณ์ปัจจุบัน และการพยากรณ์สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในอนาคต
2 TFRS15
TFRS15 คือมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับที่15 เรื่องรายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า
TFRS15 มีที่มาจากโครงการพัฒนามาตรฐานการบัญชีให้เป็นมาตรฐานเดียว (Convergent Project) สำหรับการรับรู้รายได้ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง FASB (คณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีการเงิน) และIASB (คณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ)
หลักการสำคัญของTFRS15
TFRS15 กำหนดให้กิจการรับรู้รายได้ที่แสดงการส่งมอบสินค้าหรือบริการ ที่สัญญาให้ลูกค้าในจำนวนเงินที่สะท้อนถึงสิ่งตอบแทนที่กิจการคาดว่าจะมีสิทธิได้รับจากการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการนั้นๆ
โดยขั้นตอนในการรับรู้รายได้มี 5 ขั้นตอน ดังนี้
1 การระบุสัญญาที่ทำกับลูกค้า (Identify a Contract with a Customer)
2 การระบุภาระที่ต้องปฏิบัติในสัญญา (Identify the performance Obligations in the Contract)
3 การกำหนดราคาของรายการ (Determine the Transaction Price)
4 การปันส่วนราคาของรายการให้กับภาระที่ต้องปฎิบัติที่รวมอยู่ในสัญญา (Allocate the Transaction Price)
5 การรับรู้รายได้ (Recognize Revenue)
กิจการที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก TFRS15 ได้แก่ กิจการที่มีรายการขายซับซ้อนหรือขายแบบพ่วง(Bundle) เช่นธุรกิจโทรคมนาคม ที่ขายเครื่องโทรศัพท์พร้อมสัญญาณอินเทอร์เน็ตและแพ็กเกจต่างๆ หรือธุรกิจเทคโนโลยีขายระบบคอมพิวเตอร์ พร้อมอุปกรณ์แถมการติดตั้งและการบำรุงรักษาภายในระยะเวลาที่ตกลง เป็นต้น
3 TFRS16
TFRS16 คือมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับที่16 เรื่องสัญญาเช่า
โดยสาระสำคัญของมาตรฐานฉบับนี้ได้แก่
กำหนดหลักการเรื่องการรับรู้รายการ การวัดมูลค่า การแสดงรายการ และการเปิดเผยข้อมูลสำหรับสัญญาเช่า โดยมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับดังกล่าวได้แนะนำวิธีการบัญชีเดียวสำหรับผู้เช่า (single lessee accounting model) และกำหนดให้ผู้เช่ารับรู้สินทรัพย์และหนี้สินสำหรับสัญญาเช่าทุกสัญญาที่มีอายุของสัญญาเช่ามากกว่า 12 เดือน เว้นแต่สินทรัพย์อ้างอิงของสัญญาเช่านั้นมีมูลค่าต่ำ
ทั้งนี้ด้านผู้เช่ามาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับนี้กำหนดให้รับรู้สินทรัพย์สิทธิการใช้ซึ่งแสดงถึงสิทธิในการใช้สินทรัพย์อ้างอิงที่เช่า และรับรู้หนี้สินตามสัญญาเช่าซึ่งแสดงถึงภาระผูกพันที่จะทำการจ่ายชำระตามสัญญาเช่า สำหรับด้านผู้ให้เช่านั้นการบัญชีเกือบทั้งหมดนั้นยกมาตามข้อกำหนดในมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาเช่า กล่าวคือ ผู้ให้เช่ายังคงต้องจัดประเภทสัญญาเช่าเป็นสัญญาเช่าดำเนินงานหรือสัญญาเช่าเงินทุน (เดิมเรียกว่า “สัญญาเช่าการเงิน”) และต้องปฏิบัติตามหลักการที่แตกต่างกันในแต่ละประเภทของสัญญาเช่าทั้งสอง
TFRS มีความสำคัญกับนักบัญชีอย่างไรบ้าง
TFRS เป็นมาตรฐานรายงานทางการเงินที่สอดคล้องกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เป็นสากล เป็นแนวทางปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องและมีความสำคัญกับนักบัญชีดังต่อไปนี้
1 TFRS มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ ที่ช่วยในการสื่อสารและรวบรวมธุรกรรมที่เกิดขึ้นประจำวันได้แก่ รายการซื้อ ขาย จ่ายชำระเงินและรับชำระเงิน รวมถึงธุรกรรมใหม่ๆ ได้แก่ การควบรวมกิจการ เป็นต้น ให้อยู่ในรูปแบบงบการเงินที่นักลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทอ่านเข้าใจง่าย และเป็นรายงานทางการเงินที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งบการเงิน ได้แก่ สถาบันการเงิน กรมสรรพากร เป็นต้น
2 TFRS เป็นมาตรฐานรายงานทางการเงินที่เป็นกรอบแนวทางของการปฏิบัติงานสำหรับนักบัญชี ทำให้งบการเงินของกิจการมีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ ของนักลงทุนและผู้ใช้งบการเงิน
3 TFRS สะท้อนให้เห็นเนื้อหาที่แท้จริงของรายการที่แสดงอยู่ในรูปแบบงบการเงิน โดยใช้แนวทางที่กำหนดไว้
4 TFRS กำหนดแนวทางในการรับรู้และวัดมูลค่าของรายการธุรกรรมต่างๆในงบการเงิน
สภาวิชาชีพบัญชีฯมีเป้าหมายที่จะพัฒนามาตรฐานฯของไทยให้มีความทัดเทียมกับมาตรฐานฯสากล ปัจจุบันมีการจัดทำร่างมาตรฐานฯสำหรับSMEs ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาและทบทวน
ติดตามความรู้จาก โปรแกรมบัญชี PEAK ได้ที่ peakaccount.com
หรือเข้าใช้งานโปรแกรม คลิก เข้าสู่ระบบ PEAK
หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมทาง inbox ของ Facebook
อ้างอิง:
มาตรฐานการจัดทำรายงานทางการเงินมีขั้นตอนการจัดทำอย่างไร, สภาวิชาชีพบัญชีฯ, 31 ต.ค.2560
มาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทย(TFRS) คืออะไร? มีประโยชน์อย่างไร?, Admission Premium, 27 ม.ค.2560
พร้อมรับมือกับมาตรฐานใหม่ TFRS9, BOTพระสยาม Magazine
Journal of Federation of Accounting Professions Volume1 January to April 2019, รายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า: หลักการรับรู้รายได้ โดย ดร.ศิลปพร ศรีจั่นเพชรและอนุวัฒน์ ภักดี
มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่16 เรื่องสัญญาเช่า(TFRS16), สภาวิชาชีพบัญชีฯ, 11 เมษายน 2562