วิชาชีพบัญชีเป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลทางการเงินขององค์กร นักบัญชีมีหน้าที่รวบรวมข้อมูลทางการเงิน ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารทางบัญชี บันทึกรายการทางบัญชี สรุปข้อมูลทางบัญชีและจัดทำรายงานทางการเงิน โดยผู้ใช้ข้อมูลจากรายงานทางบัญชีและการเงินมีทั้งผู้ใช้ข้อมูลทั้งภายในและภายนอกองค์กร ซึ่งจะนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป ดังนั้นนักบัญชีซึ่งถือเป็นผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ต้องปฏิบัติงานบนพื้นฐานของจรรยาบรรณสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี
วิชาชีพบัญชีเป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลทางการเงินขององค์กร นักบัญชีมีหน้าที่รวบรวมข้อมูลทางการเงิน ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารทางบัญชี บันทึกรายการทางบัญชี สรุปข้อมูลทางบัญชีและจัดทำรายงานทางการเงิน โดยผู้ใช้ข้อมูลจากรายงานทางบัญชีและการเงินมีทั้งผู้ใช้ข้อมูลทั้งภายในและภายนอกองค์กร ซึ่งจะนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป ดังนั้นนักบัญชีซึ่งถือเป็นผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ต้องปฏิบัติงานบนพื้นฐานของจรรยาบรรณสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี
ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีคือใครบ้าง
นอกจากนักบัญชีซึ่งมีหน้าที่จัดทำบัญชี ผู้ประกอบวิชาขีพบัญชียังหมายรวมถึง ผู้สอบบัญชี ผู้วางระบบบัญชี ผู้ประกอบวิชาชีพด้านบัญชีภาษีอากร ด้านการศึกษาและเทคโนโลยีการบัญชีและการให้บริการเกี่ยวกับการบัญชีด้านอื่นๆ ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีมีทั้งที่ให้บริการในรูปของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณที่กำหนดขึ้นโดยสภาวิชาชีพบัญชีฯ ซึ่งถ้าไม่ปฏิบัติตามถือว่าประพฤติผิดจรรยาบรรณ อาจถูกพักใช้ใบอนุญาตหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตได้
หลักการพื้นฐานของจรรยาบรรณสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี
พระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีที่กำหนดขึ้นโดยสภาวิชาชีพบัญชีฯ ซึ่งได้ออกข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชีว่าด้วยจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2561 เพื่อบังคับใช้กับผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ให้ปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานของจรรยาบรรณสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพ 6 ประการ ซึ่งประกอบด้วย
1. ความซื่อสัตย์สุจริต (Integrity)
ความซื่อสัตย์สุจริต หมายถึง ความประพฤติอย่างตรงไปตรงมา จริงใจซื่อตรงต่อวิชาชีพ ไม่คดโกง ไม่หลอกลวง ได้แก่
- การปฏิบัติงานบนหลักฐานที่เป็นจริงและเชื่อถือได้
- การไม่อ้างหรือยินยอมให้บุคคลอื่น อ้างว่าได้ปฏิบัติงานถ้าไม่ได้ปฏิบัติงานจริง
2. ความเที่ยงธรรม (Objectivity) และความเป็นอิสระ (Independence)
ความเที่ยงธรรม หมายถึง การใช้ดุลพินิจเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพโดยปราศจากความลำเอียงอคติ ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และอิทธิพลของบุคคลอื่น ได้แก่
- การไม่ยอมให้อคติหรือความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หริออิทธิพลอันเกินควรของบุคคลอื่นมาลบล้างการใช้ดุลพินิจทางวิชาชีพ หรือทางธุรกิจ
- ความเป็นอิสระ หมายถึง การปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากอิทธิพลของบุคคลอื่นที่ทำให้เกิดความสงสัยในความเป็นกลาง หรือความเที่ยงธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ความเป็นอิสระนี้จะต้องเป็นที่ประจักษ์เพื่อให้ผลงานของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีเป็นที่เชื่อถือได้ ได้แก่
- การใช้ดุลยพินิจและปฏิบัติงานอย่างเป็นอิสระ ภายใต้กรอบวิชาชีพบัญชี
- การไม่ปฏิบัติงานที่ขาดความเป็นอิสระ ภายใต้กรอบวิชาชีพบัญชี
3. ความรู้ ความสามารถและความเอาใจใส่ทางวิชาชีพ (Professional Competence and Due Care) และการรักษามาตรฐานในการปฏิบัติงาน
ได้แก่ การรักษาไว้ซึ่งความรู้ความสามารถและความชำนาญทางวิชาชีพในระดับที่รับรองได้ว่าลูกค้าได้รับบริการทางวิชาชีพที่ถึงพร้อมด้วยวิวัฒนาการล่าสุดในวิธีการ หรือเทคนิคการปฏิบัติการหรือตามกฎหมาย และปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเอาใจใส่ให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง
4. การรักษาความลับ (Confidentiality)
ได้แก่ การให้ความสำคัญกับความลับของข้อมูลที่ได้มาจากความสัมพันธ์ทางวิชาชีพและทางธุรกิจ ดังนั้นจึงไม่พึงเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้กับบุคคลที่สาม โดยไม่ได้รับการอนุมัติจากผู้มีอำนาจอย่างถูกต้องและเฉพาะเจาะจง เว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามสิทธิ์ทางกฎหมายหรือสิทธิ์ทางวิชาชีพ หรือเป็นหน้าที่ที่ต้องเปิดเผย หรือไม่นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือเพื่อบุคคลที่สาม
5. พฤติกรรมทางวิชาชีพ (Professional Behavior)
ได้แก่ การปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องและหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่อาจทำให้เกิดความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพบัญชี
6. ความโปร่งใส (Transparency)
ได้แก่ การแสดงภาพลักษณ์ให้เห็นถึงการปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบต่างๆ และมาตรฐานวิชาชีพที่กำหนดไว้ และไม่ปกปิดข้อเท็จจริงหรือบิดเบือนความจริงอันเป็นสาระสำคัญซึ่งสามารถติดตามตรวจสอบได้
อัปเดตจรรยาบรรณวิชาชีพบัญชี
เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชีว่าด้วยจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2561 สภาวิชาชีพบัญชีฯ จึงได้จัดทำคู่มือประมวลจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ตามแนวทางหลักการพื้นฐานประมวลจรรยาบรรณของคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานจรรยาบรรณระหว่างประเทศ (IESBA) ตามประกาศสภาวิชาชีพบัญชี ที่ 39/2564 เรื่อง คู่มือจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป และยกเลิกประกาศสภาวิชาชีพบัญชีที่ 7/2562 เรื่องข้อมูลประมวลจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ทั้งนี้เพื่อให้ข้อมูลทันกับการเปลี่ยนแปลงตามแนวทางประมวลจรรยาบรรณของ (IESBA) ฉบับ 2020
วัตถุประสงค์ของประมวลจรรยาบรรณ
- เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์พื้นฐานของจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ซึ่งสะท้อนการรับรู้ซึ่งความรับผิดชอบของผู้ประกอบวิชาชีพฯ ที่มีต่อส่วนได้เสียสาธารณะ
- เพื่อเป็นกรอบแนวคิดให้ผู้ประกอบวิชาชีพฯ นำไปปรับใช้เพื่อระบุ ประเมินและจัดการอุปสรรคในการปฏิบัติตามหลักการพื้นฐาน
- เพื่อกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศในเรื่องความเป็นอิสระ ในกรณีของงานสอบบัญชี งานสอบทาน หรืองานที่ให้ความเชื่อมั้นอื่นๆ ซี่งเป็นการนำกรอบแนวคิดไปใช้กับอุปสรรคต่อความเป็นอิสระที่เกี่ยวข้องกับงานเหล่านี้
โครงสร้างประมวลจรรยาบรรณ
โครงสร้างของประมวลจรรยาบรรณ ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 การปฏิบัติตามประมวลจรรยาบรรณ หลักการพื้นฐานและกรอบแนวคิด
ว่าด้วยการปฏิบัติตามประมวลจรรยาบรรณ หลักการพื้นฐาน และกรอบแนวคิด และที่สามารถนำไปปรับใช้กับผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีทุกคน
ส่วนที่ 2 ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีในหน่วยงานธุรกิจ (Professional Accountants in Business-PAIB)
ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีในหน่วยธุรกิจ หมายถึง ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีที่ได้รับการว่าจ้างเป็นพนักงาน การ จ้างงานหรือการทำสัญญาในฐานะผู้บริหารหรือผู้บริหารที่ไม่ได้เป็นผู้บริหารในองค์กรเหล่านี้ ได้แก่ พาณิชยกรรม อุตสาหกรรมหรือบริการ, ภาคการศึกษา, หน่วยงานที่ไม่แสวงหากำไร, องค์กรกำกับดูแลหรือองค์กรทางวิชาชีพ นอกจากนี้ส่วนที่ 2 ยังนำไปปรับใช้กับบุคคลที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีที่ให้บริการสาธารณะ เมื่อปฏิบัติกิจกรรมทางวิชาชีพตามความสัมพันธ์ของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี กับสำนักงานของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีไม่ว่าจะเป็นในฐานะคู่สัญญา ลูกจ้างหรือเจ้าของ
ส่วนที่ 3 ผู้ประกอบวิชาชีพที่ให้บริการสาธารณะ(Professional Accountants in Public Practice-PAPP)
ได้กำหนดคำอธิบายเพิ่มเติมที่นำไปปฏิบัติกับผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีที่ให้บริการสาธารณะ เมื่อให้บริการทางวิชาชีพ
ส่วนที่ 4ก และ 4ข มาตรฐานระหว่างประเทศเรื่องความเป็นอิสระ
ได้กำหนดคำอธิบายเพิ่มเติมที่นำไปปฏิบัติกับผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีที่ให้บริการสาธารณะ เมื่อให้บริการให้ความเชื่อมั่นดังต่อไปนี้
ส่วนที่ 4 ก ความเป็นอิสระ สำหรับงานสอบบัญชีและงานสอบทานที่นำไปใช้เมื่อปฏิบัติงานสอบบัญชีหรืองานสอบทาน
ส่วนที่ 4 ข ความเป็นอิสระสำหรับงานที่ให้ความเชื่อมั่น นอกเหนือจากงานสอบบัญชีและงานสอบ ทาน ซึ่งนำไปใช้เมื่อปฏิบัติงานที่ให้ความเชื่อมั่นที่ไม่ใช่งานสอบบัญชีหรืองานสอบทาน
ดังแสดงในรูปที่ 1-3
รูปที่ 1 โครงสร้างประมวลจรรยาบรรณ
ที่มา: คู่มือประมวลจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์
รูปที่ 2 ภาพรวมคู่มือประมวลจรรยาบรรณ-ส่วนและหมวด ส่วนที่ 1- ส่วนที่ 3
รูปที่ 3 ภาพรวมประมวลคู่มือจรรยาบรรณ-ส่วนและหมวด ส่วนที่ 4ก และ 4ข
หลักการพื้นฐาน และกรอบแนวคิด
หลักการพื้นฐาน
เป็นการกำหนดมาตรฐานของพฤติกรรมที่คาดหวังไว้จากผู้ประกอบวิชาชีพฯ ประกอบด้วย ความซื่อสัตย์สุจริต ความเที่ยงธรรม ความรู้ความสามารถและความเอาใจใส่ทางวิชาชีพ การรักษาความลับ พฤติกรรมทางวิชาชีพ และความโปร่งใส โดยแสดงไว้ในหมวดย่อย 111-115 สำหรับจรรยาบรรณเรื่องความเป็นอิสระไม่ได้แสดงไว้ในส่วนของหลักการพื้นฐานแต่แสดงไว้ในส่วนที่4 ก และ 4 ข เรื่องมาตรฐานความเป็นอิสระ โดยหลักการพื้นฐานทั้ง 5 ประการมีข้อกำหนดและการนำไปปฏิบัติ ใช้ดังนี้
1. ความซื่อสัตย์สุจริต ได้แก่
- การปฏิบัติต่อกันอย่างยุติธรรม ความจริงใจ และมีลักษณะนิสัยที่เข้มแข็งในการกระทำอย่างเหมาะสม แม้เมื่อเผชิญกับแรงกดดันให้ปฏิบัติเป็นอย่างอื่น
- การกระทำอย่างเหมาะสม เกี่ยวข้องกับการมีจุดยืนอย่างมั่นคงเมื่อเผชิญกับสภาวะลำบากในการตัดสินใจและสถานการณ์ที่ยาก หรือการโต้แย้งผู้อื่น เมื่อมีเหตุการณ์แวดล้อมที่มีเหตุผลสมควร
- การไม่เข้าไปเกี่ยวข้องทั้งๆ ที่รู้ กับรายงาน แบบแสดงรายการภาษี การสื่อสารหรือ ข้อมูลอื่น ที่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี เชื่อว่าข้อมูลนั้นประกอบด้วยข้อผิดพลาดที่มีสาระสำคัญ หรือรายงานที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด
2. ความเที่ยงธรรม ได้แก่
- การใช้ดุลยพินิจทางวิชาชีพ หรือทางธุรกิจ โดยปราศจากการรอมชอมจากอคติ ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรืออิทธิพลอันเกินควรของบุคคล องค์กร เทคโนโลยี หรือปัจจัยอื่น หรือการพึ่งพิงอันเกินควรต่อบุคคล องค์กร เทคโนโลยี หรือปัจจัยอื่น
- การไม่ดำเนินกิจกรรมทางวิชาชีพ ถ้าเหตุการณ์แวดล้อมหรือความสัมพันธ์ ทำให้เกิดอิทธิพลอันเกินควรต่อดุลพินิจทางวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมนั้น
3. ความรู้ ความสามารถ และความเอาใจใส่ทางวิชาชีพ (การรักษามาตรฐานในการปฏิบัติงาน) ได้แก่
- การมีและรักษาไว้ซึ่งความรู้และทักษะทางวิชาชีพในระดับที่รับรองได้ว่าลูกค้าหรือองค์กรผู้ว่าจ้างได้รับบริการทางวิชาชีพที่ถึงพร้อมด้วยเทคนิคการปฏิบัติงาน มาตรฐานวิชาชีพและกฎหมายที่เกี่ยวข้องล่าสุด
- การรักษาไว้ซึ่งความรู้ ความสามารถทางวิชาชีพ ต้องการให้ตระหนักรู้อย่างต่อเนื่องและมีความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาทางเทคนิค ทางวิชาชีพ ทางธุรกิจและทางเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาทางวิชาชีพบัญชีอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพฯ พัฒนาและรักษาไว้ซึ่งความสามารถในการให้บริการอย่างมีความชำนาญในสภาพแวดล้อมทางวิชาชีพ
4. การรักษาความลับ ได้แก่
การระมัดระวังความเป็นไปได้ที่จะเปิดเผยข้อมูลโดยพลั้งเผลอ รวมทั้งในสภาพแวดล้อมทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อบุคคลที่เป็นผู้ร่วมงานทางธุรกิจที่ใกล้ชิด หรือสมาชิกในครอบครัวที่ใกล้ชิดที่สุดหรือสมาชิกในครอบครัวที่ใกล้ชิด
- การรักษาความลับของข้อมูลภายในสำนักงานหรือองค์กรผู้ว่าจ้าง
- การรักษาความลับของข้อมูลที่เปิดเผยโดยผู้ที่มีโอกาสเป็นลูกค้าหรือองค์กรผู้ว่าจ้าง
- การไม่เปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับ ที่ได้มาจากผลของความสัมพันธ์ทางวิชาชีพและทางธุรกิจภายนอกสำนักงานหรือองค์กรผู้ว่าจ้าง โดยไม่มีอำนาจหน้าที่ที่เหมาะสมและเฉพาะเจาะจง เว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามหน้าที่ทางกฎหมายหรือหน้าที่ทางวิชาชีพหรือเป็นสิทธิที่ต้องเปิดเผย
5. พฤติกรรมทางวิชาชีพ ได้แก่
- การปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
- การประพฤติตนในลักษณะที่สอดคล้องกับความรับผิดชอบทางวิชาชีพในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะในกิจกรรมทั้งทางวิชาชีพและความสัมพันธ์ทางธุรกิจ
- การหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่รู้หรืออาจรู้ว่าอาจทำให้เกิดความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพบัญชี
- การประพฤติตนในลักษณะที่สอดคล้องกับความรับผิดชอบทางวิชาชีพในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะในกิจกรรมทั้งทางวิชาชีพและความสัมพันธ์ทางธุรกิจ
- การหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่รู้หรืออาจรู้ว่าอาจทำให้เกิดความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพบัญชี
กรอบแนวคิด
ด้วยในการปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานอาจเกิดอุปสรรค กรอบแนวคิดจะช่วยให้ผู้ประกอบวิชาชีพฯ ปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานและบรรลุความรับผิดชอบที่มีต่อประโยชน์สาธารณะ สามารถนำไปปรับใช้กับข้อเท็จจริงและเหตุการณ์แวดล้อมในวงกว้างได้ เนื่องด้วยกิจกรรมทางวิชาชีพ ผลประโยชน์ และความสัมพันธ์ที่หลากหลายอาจก่อให้เกิดอุปสรรคในการปฏิบัติตามหลักการพื้นฐาน
กรอบแนวคิด มีแนวทางสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพฯ ดังนี้
1. ระบุอุปสรรคต่อการปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานของจรรยาบรรณ
อุปสรรค ได้แก่
ก. อุปสรรคจากผลประโยชน์ส่วนตน เป็นอุปสรรคที่เกิดจากผลประโยชน์ทางการเงิน หรือผลประโยชน์อื่นที่มีอิทธิพลอย่างไม่เหมาะสมต่อการใช้ดุลยพินิจหรือพฤติกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี
ข. อุปสรรคจากการสอบทานผลงานตนเอง เป็นอุปสรรคที่ผู้ประกอบวิชาชีพฯ ไม่สามารถประเมินได้อย่างเหมาะสมเกี่ยวกับผลของการใช้ดุลพินิจที่ผ่านมาของตน หรือกิจกรรมที่ทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพเองหรือโดยบุคคลอื่นในสำนักงานหรือองค์กรผู้ว่าจ้างที่เกี่ยวข้อง
ค. อุปสรรคจากการเป็นผู้ให้การสนับสนุน เป็นอุปสรรคที่ผู้ประกอบวิชาชีพฯ ให้การสนับสนุนสถานภาพของลูกค้าหรือองค์กรผู้ว่าจ้าง จนถึงจุดที่กระทบต่อความเที่ยงธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพฯ
ง. อุปสรรคจากความคุ้นเคยกับลูกค้าหรือผู้ว่าจ้าง
จ. อุปสรรคจากการถูกข่มขู่
2. ประเมินอุปสรรคที่ระบุไว้
เป็นการประเมินว่าอุปสรรคนั้นอยู่ในระดับที่ยอมรับได้หรือไม่ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ประกอบวิชาชีพฯ ได้ใช้การทดสอบอย่างที่บุคคลที่สามที่มีความรอบรู้และได้ใช้วิจารณญาณเยี่ยงวิญญูชน
3. จัดการอุปสรรคโดยขจัดหรือลดอุปสรรคให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
เมื่อผู้ประกอบการวิชาชีพฯ พบอุปสรรคที่ไม่อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ในการจัดการอุปสรรคทำได้ด้วยการขจัดหรือลดอุปสรรคนั้น ให้อยู้ในระดับที่ยอมรับได้โดย
ก. การขจัดเหตุการณ์แวดล้อม ผลประโยชน์หรือความสัมพันธ์ที่มำให้เกิดอุปสรรคนั้น
ข. การใช้มาตรการป้องกันเท่าที่มีอยู่และสามารถนำมาปฏิบัติได้เพื่อลดอุปสรรคนั้น ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
ค. การปฏิเสธหรือยุติกิจกรรมทางวิชาชีพที่ปฏิบัติอยู่นั้น
การนำประมวลจรรยาบรรณไปใช้
จากหลักการพื้นฐานและกรอบแนวคิดดังที่กล่าวมาข้างต้น พอจะสรุปแนวทางในการนำประมวลจรรยาบรรณไปใช้ดังนี้
1. ประมวลจรรยาบรรณช่วยกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพฯ ปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานทางจรรยาบรรณและนำกรอบแนวคิดไปใช้ระบุ ประเมิน และจัดการอุปสรรค โดยใช้ดุลยพินิจทางวิชาชีพ การมีความตื่นตัวในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัย ความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงของข้อเท็จจริงและเหตุการณ์แวดล้อม รวมทั้งการใช้การทดสอบอย่างบุคคลที่สามที่มีความรอบรู้และได้ใช้วิจารณญาณเยี่ยงวิญญูชน
2. กรอบแนวคิดช่วยในการรับรู้เงื่อนไข นโยบายและวิธีปฏิบัติที่กำหนดโดยวิชาชีพ กฎหมายและข้อบังคับที่ส่งผลกระทบต่ออุปสรรคต่างๆ และเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่อการประเมินอุปสรรคว่าอยู่ในระดับที่ยอมรับได้หรือไม่
3. ประมวลจรรยาบรรณ เป็นเครื่องมือที่กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพฯ ต้องมีความเป็นอิสระเมื่อปฏิบัติงานสอบบัญชี งานสอบทาน โดยใช้กรอบแนวคิดในการระบุ การประเมินและการจัดการอุปสรรคต่อความเป็นอิสระ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันกับกรอบแนวคิดในการจัดการอุปสรรคต่อการปฏิบัติตามหลักการพื้นฐาน
นักบัญชีในฐานะที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพฯ ควรศึกษาและทำความเข้าใจประมวลจรรยาบรรณดังที่กล่าวมา เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานและเพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานของวิชาชีพบัญชีของนักบัญชีซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการปฏิบัติงานให้เป็นที่น่าเชื่อถือ และไว้วางใจของผู้ที่มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายทั้งที่เป็นองค์กรธุรกิจและหน่วยงานของรํฐ
ติดตามความรู้ภาษีและบัญชีจากโปรแกรมบัญชี PEAK ได้ที่ peakaccount.com
หรือเข้าใช้งานโปรแกรม คลิก เข้าสู่ระบบ PEAK
อ้างอิง:
สภาวิชาชีพบัญชี: มาตรฐาน (tfac.or.th)
บทความ : จรรยาบรรณสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี | มหาวิทยาลัยศรีปทุม (spu.ac.th)
จรรยาบรรณของ ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี (jarataccountingandlaw.com)