ผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่คงคุ้นหูกับคำว่าผู้สอบบัญชี หรือออดิท แต่มีหลายคนไม่ทราบว่าผู้สอบบัญชีมีกี่ประเภทแต่ละประเภทมีหน้าที่อย่างไร และกิจการของตัวเองมีความจำเป็นต้องจ้างผู้สอบบัญชีหรือไม่
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าผู้สอบบัญชีมีกี่ประเภทแต่ละประเภทมีหน้าที่อย่างไร เกี่ยวข้องกับธุรกิจประเภทใด
ประเภทของผู้สอบบัญชี
ผู้สอบบัญชีสำหรับธุรกิจSMEs แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท
1. ผู้สอบบัญชีภาษีอากร (Tax Auditor : TA)
เป็นผู้ขอขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพากร ทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองบัญชี สำหรับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดเล็ก(ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท และรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท)
2. ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (Certified Public Account : CPA)
เป็นผู้สอบบัญชีที่ขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตจากสภาวิชาชีพบัญชีฯ ทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองงบการเงินสำหรับบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และให้ความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้งบการเงินว่าข้อมูลในงบการเงินเป็นไปตามข้อเท็จจริง
ส่วนกิจการที่เป็นบุคคลธรรมดานั้นไม่มีความจำเป็นต้องจัดจ้างผู้สอบบัญชีมาตรวจบัญชีของกิจการ เนื่องจากเป็นกิจการขนาดเล็ก กฎหมายจึงไม่ได้กำหนดให้ต้องจัดทำงบการเงิน ในการยื่นแบบเสียภาษีก็ยื่นในนามบุคคลธรรมดามีเพียงการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นหลักฐานประกอบการยื่นแบบเท่านั้น
การทำงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA)
กิจการส่วนใหญ่ที่เป็นบริษัทจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งในแต่ละปีต้องนำส่งงบการเงินให้แก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าและนำส่งรายงานภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี (ภ.ง.ด.50) ที่มีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบและรับรอง ดังนั้นจึงขออธิบายถึงแนวทางการทำงานของผู้สอบบัญชีหรือ CPA ดังนี้
1. มีความเป็นอิสระ และมีความซื่อสัตย์สุจริต
ในการปฏิบัติงานผู้สอบบัญชีต้องมีความเป็นอิสระคือไม่มีส่วนได้เสียในกิจการที่เข้าตรวจสอบ มีความซื่อสัตย์สุจริตไม่ปกปิดข้อเท็จจริงที่พบจากการตรวจสอบ
2. ใช้ความรู้ความสามารถ มีความระมัดระวังรอบคอบในการปฎิบัติงาน
CPA จะใช้ความรู้ความสามารถ ความชำนาญในวิชาชีพ ด้วยความระมัดระวังรอบคอบในการวางแผนและรวบรวมหลักฐานการตรวจสอบที่เพียงพอต่อการแสดงความเห็น นอกจากนี้ ยังต้องพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่องหรือที่เรียกว่า CPD (Continuing Professional Development) เพื่อดำรงสถานะของวิชาชีพและเพิ่มพูนความรู้ใหม่ๆด้านวิชาชีพบัญชีและความรู้ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจของวิชาชีพ
3. รักษาความลับของกิจการที่ตรวจสอบ
CPA ต้องไม่นำข้อมูลความลับของกิจการที่ตรวจสอบไปเปิดเผย ยกเว้นได้รับความยินยอมจากลูกค้าหรือการให้ถ้อยคำในฐานะพยาน
4. ไม่ละทิ้งงานตรวจสอบโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
5. มีจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ
CPA ต้องไม่ปฎิบัติงานตรวจสอบโดยนำความเสื่อมเสียมาสู่วิชาชีพ เช่น ในการแสดงความเห็นต่องบการเงิน โดยมิได้ปฎิบัติงานตรวจสอบ หรือการแนะนำให้ลูกค้าทำบัญชี 2 ชุด หรือการจัดทำหลักฐานเท็จต่อทางราชการ
PEAK เป็นโปรแกรมบัญชีออนไลน์ มีเครือข่ายพันธมิตรสำนักงานบัญชีกว่า 350 รายทั่วประเทศพร้อมช่วยแนะนำสำนักงานที่ใกล้และมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจของคุณ ช่วยผู้ประกอบการพัฒนาธุรกิจไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน
สนใจบริการรับทำบัญชีจากพันธมิตรของ PEAK
คลิก https://peakaccount.com/accounting-service
อ้างอิง: https://tg.jobdb.com/th-th/articles/ประเภทผู้สอบบัญชี/ บทความ:ประเภทผู้สอบบัญชี มีหน้าที่แตกต่างกันอย่างไร 23 ธ.ค. 2562 www.rd.go.th หัวข้อ: กรมสรรพากร/ความรู้เกี่ยวกับผู้สอบบัญชีภาษีอากร/ความแตกต่างระหว่างTA และ CPA