ผู้ประกอบการหลายคนมีข้อสงสัยว่าเพราะอะไรกิจการมีพนักงานบัญชีประจำหรือจ้างสำนักงานบัญชีแล้วยังต้องจัดหาผู้ตรวจสอบบัญชีมาตรวจสอบงบการเงินอีก ก่อนอื่นเจ้าของกิจการต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ผู้ตรวจสอบบัญชีเป็นใครและกิจการประเภทใดต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบบัญชี
ผู้สอบบัญชี คือใคร
ผู้ตรวจสอบบัญชีหรือผู้สอบบัญชี เป็นผู้มีหน้าที่ตรวจสอบ หาหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความถูกต้องของข้อมูลในงบการเงินและจัดทำรายงานเพื่อแสดงความเห็นต่องบการเงินของกิจการ
กิจการลักษณะใด ที่ต้องมีผู้สอบบัญชี
ตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ.2543 กิจการประเภทนิติบุคคล ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัดและบริษัทจำกัด มีหน้าที่ต้องจัดทำงบการเงิน ซึ่งงบการเงินต้องได้รับการตรวจสอบและแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชี
ผู้สอบบัญชีสำหรับกิจการที่เป็นนิติบุคคล มี 2 ประเภท คือ
ประเภทที่ 1 : ผู้สอบบัญชีภาษีอากร (Tax Auditor :TA)
มีคุณสมบัติเป็นผู้ขอขึ้นทะเบียนและได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร มีหน้าที่ตรวจสอบและรับรองบัญชีสำหรับกิจการที่เป็นห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดเล็ก(ทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท สินทรัพย์รวมไม่เกิน 30 ล้านบาทและรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท)
ประเภทที่ 2 : ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (Certified Public Auditor: CPA)
มีคุณสมบัติเป็นผู้สอบบัญชีที่ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตจากสภาวิชาชีพบัญชีฯ ทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองงบการเงินสำหรับกิจการที่เป็นนิติบุคคลไม่ว่าจะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยจัดทำรายงานเพื่อแสดงความเห็นต่องบการเงินของกิจการว่างบการเงินจัดทำขึ้นตามมาตรฐานรายงานทางการเงินหรือไม่
การแสดงความเห็นของผู้สอบบัญชีมี 4 แบบ คือ
1. แสดงความเห็น แบบไม่มีเงื่อนไข
เป็นการแสดงความเห็นว่างบการเงินมีความถูกต้องตามสมควร
2. แสดงความเห็น แบบมีเงื่อนไข
เป็นการแสดงความเห็นว่าข้อมูลบางส่วนในงบการเงินไม่ถูกต้องอย่างมีสาระสำคัญ หรือในกรณีผู้สอบบัญชีไม่สามารถหาหลักฐานได้อย่างเพียงพอและเหมาะสมโดยข้อมูลดังกล่าวมีสาระสำคัญ
3. แสดงความเห็น กรณีงบการเงินไม่ถูกต้อง
เป็นการแสดงความเห็นว่าการแสดงข้อมูลในงบการเงินขัดต่อข้อเท็จจริงอย่างเป็นสาระสำคัญ
4. ไม่แสดงความเห็น
เป็นการแสดงว่าผู้สอบบัญชีไม่สามารถหาหลักฐานที่เหมาะสมและเพียงพอและหรือการแสดงข้อมูลขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญอย่างร้ายแรง
อย่างไรก็ตามถึงแม้กิจการมีการจ้างพนักงานบัญชีเป็นพนักงานประจำ หรือ จ้างสำนักงานบัญชีในการจัดทำบัญชีของธุรกิจก็ยังคงไม่เพียงพอต่อการรับรองความถูกต้องของงบการเงิน เนื่องจากนักบัญชีมีหน้าที่บันทึกบัญชีตามประเภทรายการค้า ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารประกอบการลงบัญชี การจัดทำงบการเงินให้กับกิจการซึ่งงบการเงินยังขาดการตรวจสอบความถูกต้องที่เพียงพอ จึงเป็นหน้าที่ของผู้สอบบัญชีในการตรวจสอบหาหลักฐานเพื่อรับรองความถูกต้องของงบการเงิน ด้วยลักษณะงานของผู้สอบบัญชีดังกล่าวจึงมีความแตกต่างจากงานของนักบัญชี ผู้สอบบัญชีมีประสบการณ์ ความรู้ความชำนาญ ความระมัดระวังและความละเอียดรอบคอบที่สูงกว่านักบัญชี เพราะผ่านการตรวจสอบบัญชีในหลากหลายธุรกิจ และผ่านการอบรมเพื่อพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่องมากกว่า
ในการปฏิบัติงานสอบบัญชี ผู้สอบบัญชีจะใช้วิธีการทดสอบรายการบัญชี การประเมินระบบการควบคุมภายใน การประเมินความเหมาะสมของนโยบายการบัญชีที่กิจการใช้ การเปิดเผยข้อมูลงบการเงิน ในการเลือกผู้สอบบัญชี กิจการควรเลือกผู้สอบบัญชีที่มีความรู้ความสามารถ มีมาตรฐานในการทำงานที่ดี มีประสบการณ์ในธุรกิจของกิจการนั้นๆ เพื่อที่จะได้รู้จุดอ่อนหรือจุดบกพร่องของระบบและให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการได้ ผู้สอบบัญชีที่ดีควรมีการปฏิบัติงานจริง มีกระดาษทำการเป็นหลักฐานในการตรวจสอบ มีความรับผิดชอบต่องานของลูกค้า อีกประการหนึ่งที่สำคัญผู้ประกอบการควรตรวจสอบสถานะของผู้สอบบัญชีว่าอยู่ในระหว่างการพักหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตหรือไม่
การจัดให้มีผู้สอบบัญชีของกิจการที่เป็นนิติบุคคล นอกจากจะเป็นการปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว การตรวจสอบบัญชีทำให้พบจุดบกพร่องของระบบงาน อันเป็นการช่วยประเมินความเสี่ยงขององค์กรและนำไปสู่การวางแผนเพื่อกำหนดลดความเสี่ยงและกำหนดกลยุทธ์ของกิจการต่อไป ทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในงบการเงินของกิจการสำหรับผู้ถือหุ้น รวมทั้งบุคคลภายนอกไม่ว่าจะเป็นลูกค้า คู่ค้าพันธมิตรทางธุรกิจ สถาบันการเงิน หรือผู้ใช้งบการเงินของกิจการอีกด้วย
PEAK ผู้ให้บริการโปรแกรมบัญชีออนไลน์ มีสำนักงานบัญชีพันธมิตรทั่วประเทศกว่า 400 รายทั่วประเทศพร้อมช่วยแนะนำสำนักงานบัญชีที่ใกล้และมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจของคุณ ช่วยผู้ประกอบการพัฒนาธุรกิจไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน
สนใจบริการรับทำบัญชีจากพันธมิตรของ PEAK
คลิก https://peakaccount.com/accounting-service