เกณฑ์การรับรู้รายการ
การรับรู้รายการ
หมายถึง การรวมรายการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของงบแสดงฐานะการเงินและงบกำไรขาดทุนหากรายการนั้นเป็นไปตามนิยามขององค์ประกอบและเข้าเกณฑ์การรับรู้รายการ
ซึ่งรับรู้รายการจะต้องเข้าเงื่อนไขทุกข้อ ดังต่อไปนี้
- มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตของรายการดังกล่าวจะเข้าหรือออกจากกิจการ
- รายการดังกว่ามีราคาทุนหรือมูลค่าที่สามารถวัดได้อย่างน่าเชื่อถือ
“ความน่าจะเป็นของประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคต”
เกณฑ์การับรู้รายการข้อแรกนี้เป็นการพิจารณาถึงความน่าจะเป็นของระดับความแน่นอนที่ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตของรายการค้าจะเข้าหรือออกจากกิจการ โดยระดับความแน่นอนแบ่งออกเป็น ความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ (ความน่าจะเป็น > 50%) และความไม่น่าจะเป็นไปได้ (ความน่าจะเป็น < 50%) ซึ่งรายการหรือเหตุการณ์ทางบัญชีที่มีความน่าจะเป็นสูงถึงระดับความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ รายการดังกล่าวจึงเข้าเงื่อนไขในข้อแรกข้างต้น
“ความเชื่อถือได้ของการวัดมูลค่า”
เงื่อนไขข้อที่สองกำหนดว่ากิจการสามารถที่จะวัดราคาทุนหรือมูลค่าของรายการนั้นได้อย่างน่าเชื่อถือหรือไม่ เมื่อรายการดังกล่าวเข้าเงื่อนไขทั้ง 2 ข้อแล้ว กิจการต้องรับรู้รายการในงบการเงิน แต่หากรายการเป็นไปตามคำนิยามขององค์ประกอบของงบการเงินแต่ไม่เข้าเกณฑ์การรับรู้รายการ กิจการควรเปิดเผยหรืออธิบายเพิ่มเติมในหมายเหตุประกอบงบการเงินด้วย
หลักการรับรู้รายการในงบแสดงฐานะการเงินและงบกำไรขาดทุน
การรับรู้สินทรัพย์
1. มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตจะเข้าสู่กิจการและ
2. สินทรัพย์นั้นมีราคาทุนหรือมูลค่าที่สามารถวัดได้อย่างน่าเชื่อถือ
การรับรู้หนี้สิน
1. มีความเป็นได้ค่อนข้างแน่ที่ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจของทรัพยากรจะออกจากกิจการเพื่อชำระภาระผูกพันในปัจจุบันและ
2. มูลค่าของภาระผูกพันที่ต้องชำระนั้นสามารถวัดได้อย่างน่าเชื่อถือ
การรับรู้รายได้
1. เมื่อประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตเพิ่มขึ้นเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์หรือ
2. การลดลงของหนี้สิน และ
3. สามารถวัดมูลค่าของประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตได้อย่างน่าเชื่อถือ
การรับรู้ค่าใช้จ่าย
1. เมื่อประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตลดลง เนื่องจากการลดลงของสินทรัพย์หรือ
2. การเพิ่มขึ้นของหนี้สิน และ
3. สามารถวัดค่าของประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตได้อย่างน่าเชื่อถือ
การรับรู้สินทรัพย์
จากหลักการรับรู้รายการในงบแสดงฐานะการเงินและงบกำไรขาดทุน แสดงให้เห็นว่าเงื่อนไขของการรับรู้สินทรัพย์ คือ ควรรับรู้สินทรัพย์ในงบแสดงฐานะการเงินเมื่อมีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตจะเข้าสู่กิจการ และสินทรัพย์นั้นมีราคาทุน หรือมูลค่าที่สามารถวัดได้อย่างน่าเชื่อถือ
หากรายการนั้นไม่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคต กิจการต้องรับรู้รายการดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุน เช่น กิจการสามารถผลิตสินค้าได้มากขึ้นเนื่องจากเครื่องจักรมีประสิทธิภาพหรืออายุการใช้งานมากขึ้น และเครื่องจักรนั้นมีราคาทุนที่สามารถวัดได้อย่างน่าเชื่อถือ กิจการต้องรับรู้เครื่องจักรนี้เป็นสินทรัพย์ในงบแสดงฐานะการเงิน เนื่องจากเข้าเกณฑ์ของการรับรู้สินทรัพย์ ในทางตรงกันข้าม กิจการจ่ายค่าซ่อมแซมเครื่องจักรมูลค่า 35,000 บาท ซึ่งรายการนี้ไม่ได้ทำให้กิจการได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจเกินกว่ารอบระยะเวลาบัญชีที่เกิดรายจ่ายนั้น กิจการต้องรับรู้ค่าซ่อมแซม 35,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุน เนื่องจากรายการดังกล่าวไม่เป็นไปตามคำนิยามของสินทรัพย์
การวัดมูลค่าสินทรัพย์ ประกอบไปด้วยการวัดมูลค่าดังต่อไปนี้
ราคาทุนเดิม (Historical Cost) เป็นราคาที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะเป็นราคาที่มีหลักฐาน ซึ่งสามารถตรวจสอบได้แน่นอน เนื่องจากเป็นราคาที่ตกลงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ข้อดีของราคาทุนก็คือช่วยแก้ปัญหาความยุ่งยากอันเนื่องมาจากมูลค่าของสินทรัพย์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม การวัดมูลค่าสินทรัพย์ตามราคาทุน ก็มีข้อเสียเช่นกัน เช่น สินทรัพย์ยังคงแสดงในราคาทุนเดิม ทั้งที่มูลค่าในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงจนราคาทุนเดิมไม่มีความหมาย ซึ่งควรคำนึงถึงกำไรขาดทุนอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงราคาของสินทรัพย์
ราคาทุนปัจจุบัน (Current Cost) หมายถึง ราคาที่กิจการจะต้องจ่ายในขณะนั้น เพื่อให้ได้มาซึ่งสินทรัพย์ชนิดเดียวกันหรือสินทรัพย์ที่เท่าเทียมกัน มูลค่าของสินทรัพย์อาจมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งทำให้ราคาทุนปัจจุบันของสินทรัพย์นั้นมีมูลค่าสูงหรือต่ำกว่าราคาทุนเดิมแล้วแต่สถานการณ์ เช่น กิจการบันทึกที่ดินในงบแสดงฐานะการเงินด้วยราคาทุนเดิม 10 ล้านบาท เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ราคาทุนปัจจุบันมีมูลค่า 20 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่กิจการต้องจ่ายในขณะนั้นเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินแปลงนี้ การวัดมูลค่าสินทรัพย์ด้วยราคาทุนปัจจุบัน ให้ผลดี คือ ช่วยให้กิจการสามารถเปรียบเทียบรายได้และค่าใช้จ่ายได้ชัดเจนมากขึ้น และใช้เป็นพื้นฐานในการพยากรณ์อนาคตอย่างสมเหตุสมผล
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นการยากในการหาหลักฐานอ้างอิงสำหรับราคาทุนปัจจุบัน ราคาทุนปัจจุบันจึงเหมาะสมสำหรับกิจการสามารถกำหนดและพิสูจน์ราคาทุนปัจจุบันของการจัดหาสินทรัพย์นั้นได้
มูลค่าที่จะได้รับ (Realizable Value) การวัดมูลค่าสินทรัพย์ด้วยมูลค่าที่จะได้รับเหมาะสมกับกิจการที่มีวัตถุประสงค์จะขายสินทรัพย์ในอนาคตอันใกล้ หากกิจการสามารถประมาณต้นทุนที่เกิดจากค่าใช้จ่ายในการขายได้กิจการต้องนำมูลค่าที่จะได้รับหักด้วยค่าใช้จ่ายในการขายที่ประมาณไว้มูลค่านี้ เรียกว่า มูลค่าสุทธิที่จะได้รับ อย่างไรก็ตาม การวัดมูลค่าสินทรัพย์ด้วยมูลค่าที่จะได้รับมีข้อจำกัดบางประการ คือ
- กิจการไม่สามารถวัดมูลค่าสินทรัพย์ด้วยมูลค่าที่จะได้รับสำหรับสินทรัพย์ทุกรายการเนื่องจากกิจการไม่มีเจตนาที่จะเก็บสินทรัพย์บางประเภทไว้ขาย หรือสินทรัพย์ไม่มีราคาตลาดในขณะนั้น
- การวัดมูลค่าสินทรัพย์ด้วยมูลค่าที่จะได้รับใช้ได้เฉพาะสินค้าที่มีไว้เพื่อขาย เช่น สินค้าหรือสินทรัพย์ที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์จะเก็บไว้ใช้
มูลค่าปัจจุบัน (Present
Value) การวัดมูลค่าสินทรัพย์ด้วยมูลค่าปัจจุบันเป็นวิธีวัดมูลค่าของสินทรัพย์ซึ่งคิดจากกระแสเงินสดที่กิจการคาดว่าจะได้รับในอนาคต
ข้อมูลที่ต้องใช้ในการวัดมูลค่าของสินทรัพย์ด้วยมูลค่าปัจจุบัน ประกอบไปด้วย
–
กระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้รับในอนาคตจากสินทรัพย์
– อัตราส่วนลด ซึ่งหมายถึงอัตราผลตอบแทนหรือต้นทุนของเงินที่เกี่ยวข้องกับมูลค่าสินทรัพย์ที่จะ ได้รับในอนาคต
– ระยะเวลาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหมายถึง ช่วงระยะเวลาจากปัจจุบันจนกระทั่งถึงวันที่เกิดรายการกิจการจะวัดมูลค่าของสินทรัพย์ด้วยมูลค่าปัจจุบัน เมื่อกิจการสามารถคาดคะเน หรือประมาณกระแสเงินสดรับ หรือรายการเทียบเท่าเงินสดที่จะได้รับในอนาคตได้ค่อนข้างแน่นอน ตัวอย่างเช่น ในกรณีของสัญญาเช่าการเงิน เมื่อสัญญาเช่าเข้าเกณฑ์ของสัญญาเช่าการเงิน ผู้เช่าจะบันทึกสินทรัพย์ตามสัญญาเช่าการเงินด้วยมูลค่าปัจจุบันของค่าเช่าขั้นต่ำ หรือมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ที่เช่า ณ วันทำสัญญาเช่าแล้วแต่ราคาใดจะต่ำกว่า
ตัวอย่างเช่น ในกรณีของสัญญาเช่าการเงิน เมื่อสัญญาเช่าเข้าเกณฑ์ของสัญญาเช่าการเงิน ผู้เช่าจะบันทึกสินทรัพย์ตามสัญญาเช่าการเงินด้วยมูลค่าปัจจุบันของค่าเช่าขั้นต่ำ หรือมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ที่เช่า ณ วันทำสัญญาเช่าแล้วแต่ราคาใดจะต่ำกว่า
PEAK Account โปรแกรมบัญชีออนไลน์ที่มีฟังก์ชันการทำงานระบบจัดการทะเบียนสินทรัพย์ (PEAK Asset) ที่จะช่วยนักบัญชีดูแลสินทรัพย์ของกิจการ ควบคุมการรับเข้ารับออก สรุปรายการมูลค่าสินทรัพย์ที่มี และคำนวณค่าเสื่อมราคาทางบัญชี พร้อมลงบันทึกบัญชีอัตโนมัติ หรือสามารถทำเป็นทะเบียนคุมสินทรัพย์แต่ละรายการ แนบไฟล์ภาพ เพื่อใช้ตรวจนับยอดคงเหลือให้ตรงกับทะเบียน ป้องกันสินทรัพย์สูญหายภายในกิจการได้อีกด้วย
ติดตามความรู้จาก โปรแกรมบัญชี PEAK ได้ที่ blog.peakaccount.com/
ทดลองใช้งานโปรแกรมบัญชี PEAK ฟรี! ครบทุกฟีเจอร์ นาน 30 วัน!