สำหรับนักธุรกิจที่ประกอบกิจการในไทย การจดทะเบียนบริษัทถือเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย เพราะจะช่วยให้ธุรกิจของคุณถูกต้องตามกฎหมาย สามารถดำเนินกิจการได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะเกิดปัญหาในภายหลัง แล้วต้องทำอย่างไร? สามารถจดทะเบียนบริษัทออนไลน์ได้ไหม? Peak Account ได้สรุปข้อมูลมาให้แล้ว เจ้าของธุรกิจคนไหนที่กำลังจะเปิดบริษัทใหม่ ห้ามพลาดบทความนี้เลย!
การจดทะเบียนบริษัทคืออะไร
ก่อนที่จะไปดูว่าการจดทะเบียนบริษัทมีขั้นตอนอย่างไร เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับการจดทะเบียนบริษัทก่อน โดยการจดทะเบียนบริษัท คือ การที่ผู้ประกอบการนำธุรกิจของตนเองไปจดทะเบียนให้มีสถานะเป็นนิติบุคคลรูปแบบหนึ่ง ซึ่งหมายถึงบุคคลที่กฎหมายสมมติให้มีสภาพบุคคลเหมือนกับคนธรรมดาทั่วไป ทำให้สามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ ในนามบริษัทได้ ไม่ว่าจะเป็น การทำธุรกรรมทางการเงิน การเสียภาษี การครอบครองสิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินต่าง ๆ รวมถึงการเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ได้นั่นเอง
ประเภทการจดทะเบียนบริษัท
การดำเนินธุรกิจในประเทศไทย จะสามารถจดทะเบียนบริษัทได้ 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ จดทะเบียนแบบพาณิชย์ (บุคคลธรรมดา) และจดทะเบียนแบบนิติบุคคล ซึ่งจะมีข้อกำหนดแตกต่างกัน ดังนี้
1. ประเภททะเบียนพาณิชย์ (บุคคลธรรมดา)
การจดทะเบียนบริษัทประเภทนี้ จะเหมาะกับธุรกิจขนาดเล็ก หรือธุรกิจที่มีเจ้าของคนเดียว มีข้อดีตรงที่สามารถทำธุรกิจได้อิสระมากกว่าแบบที่สอง ไม่ต้องคอยทำบัญชียื่นงบส่งให้ยุ่งยาก และจะเสียภาษีโดยคำนวณจากอัตราภาษีหลังหักค่าใช้จ่าย แต่ก็มีข้อเสียตรงที่ ถ้าธุรกิจขาดทุนก็ต้องรับผิดชอบเอง และสามารถมีหนี้สินได้ไม่จำกัด หากการเงินของบริษัทไม่เพียงพอ เจ้าของธุรกิจก็ต้องรับผิดชอบด้วยทรัพย์สินส่วนตัวเอง
2. ประเภททะเบียนนิติบุคคล
เป็นประเภทการจดทะเบียนบริษัทที่พบได้ทั่วไป เหมาะกับธุรกิจที่ต้องดำเนินการในรูปแบบบริษัท หรือมีผู้ประกอบการ หรือเจ้าของกิจการมาร่วมลงทุนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มีข้อดีตรงที่หนี้สินมีจำกัด เมื่อบริษัทเป็นหนี้ก็จะรับผิดชอบไม่เกินจำนวนเงินที่ได้ลงทุนไป และเสียภาษีน้อยกว่าแบบแรก โดยภาษีเงินได้ที่ต้องเสียจะไม่เกิน 20% ของอัตราภาษีหลังหักค่าใช้จ่าย ที่สำคัญยังช่วยให้บริษัทน่าเชื่อถือด้วย
7 ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทแบบฉบับเข้าใจง่าย
ในปัจจุบัน เราสามารถจดทะเบียนบริษัทได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น การจดผ่านสำนักงานบัญชี ไปจดที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าด้วยตนเอง หรือจดทะเบียนบริษัทออนไลน์ มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก แค่ 7 ขั้นตอนเท่านั้น!
1. ตั้งชื่อบริษัทที่ต้องการใช้ในการจดทะเบียน
สิ่งแรกที่คุณต้องทำก็คือการตั้งชื่อบริษัทที่จะใช้ในการจดทะเบียนบริษัท เพื่อให้ผ่านได้ง่าย ๆ แนะนำให้ตั้งชื่อที่ไม่ซ้ำกับบริษัทอื่น และตรงตามข้อกำหนดของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หลีกเลี่ยงการใช้คำที่อยู่ในข้อห้าม ไม่ว่าจะเป็น ชื่อประเทศ กลุ่มคำที่ทำให้คนเข้าใจผิด ชื่อที่มีความใกล้เคียงกับพระนามของมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ หรือชื่อที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับราชการต่าง ๆ เช่น ชื่อกระทรวง ชื่อกรม หรือชื่อทบวง โดยคุณสามารถเช็กผ่านระบบออนไลน์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เลยว่าใช้ได้หรือไม่
2. จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและยื่นต่อนายทะเบียน
หลังจากได้ชื่อบริษัทแล้ว เจ้าของธุรกิจจะต้องไปจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิต่อ ซึ่งเป็นเอกสารที่ระบุถึงวัตถุประสงค์ของบริษัท โครงสร้างทุน และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เอกสารนี้สามารถยื่นในขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทออนไลน์ได้เลย โดยหลังจากที่นายทะเบียนลงชื่อบนเอกสารแล้ว คุณจะต้องนำไปยื่นภายในระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน หากช้ากว่านั้นก็จะต้องทำใหม่
3. เปิดให้มีการจองซื้อหุ้นบริษัทและนัดประชุมผู้ถือหุ้นทั้งหมด
การเปิดจองให้ซื้อหุ้นบริษัทสำหรับผู้ถือหุ้นที่สนใจ และนัดให้ผู้ถือหุ้นทุกคนมาประชุมร่วมกัน เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญของการจดทะเบียนบริษัท เพราะจะช่วยให้เราสามารถกำหนดโครงสร้างและทิศทางของบริษัทให้ไปในทิศทางเดียวกันได้ตั้งแต่เริ่ม และลดโอกาสเกิดความขัดแย้งในภายหลัง โดยเจ้าของธุรกิจจะต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นทุกคนมีสิทธิ์จองซื้อหุ้นอย่างเท่าเทียม
4. การจัดประชุมเพื่อจัดตั้งจดทะเบียนบริษัท
ขั้นตอนการจัดประชุมจัดตั้งจดทะเบียนบริษัทจะทำหลังจากที่ผู้ถือหุ้นได้จองซื้อหุ้นกันเรียบร้อยแล้ว โดยผู้ถือหุ้นทุกคนจะต้องมาพิจารณาและอนุมัติเรื่องสำคัญต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการของบริษัท ทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัท การออกข้อบังคับต่าง ๆ หรือการออกหุ้น เป็นต้น
5. เลือกคณะกรรมการบริษัทเพื่อดำเนินการในกิจกรรมต่าง ๆ
เมื่อบริษัทได้รับการจัดตั้งแล้ว คณะกรรมการบริษัทจะต้องถูกเลือกให้เรียบร้อย เพื่อมาดำเนินการกิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัท เช่น การบริหารจัดการ การเงิน และการตลาด การเลือกคณะกรรมการที่มีความสามารถและความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ จะช่วยให้บริษัทดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6. ชำระค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนบริษัท
ในส่วนของการชำระค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนบริษัท ค่าธรรมเนียมจะขึ้นอยู่กับทุนจดทะเบียน และอาจมีค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมสำหรับบริการต่าง ๆ หากดำเนินการจดทะเบียนบริษัทออนไลน์ คุณสามารถเลือกชำระผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือสแกน QR Code Payment ผ่านโมบายแบงก์กิ้งได้เลย โดยค่าธรรมเนียมจะอยู่ที่ 500 – 25,000 บาท
7. รับใบสำคัญและหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท
หลังจากที่ทำทุกขั้นตอนเสร็จแล้ว เจ้าของธุรกิจจะได้รับใบรับรองการจดทะเบียนบริษัท ไว้ใช้เป็นหลักฐานว่า บริษัทมีการเปิดบริการถูกต้องตามกฎหมาย และมีสถานะเป็นนิติบุคคลแล้วนั่นเอง
ช่องทางในการจดทะเบียนบริษัท
การจดทะเบียนบริษัทในปัจจุบัน ผู้ประกอบการสามารถเลือกทำในช่องทางที่ตัวเองสะดวกได้เลย ซึ่งแต่ละช่องทางก็มีข้อดีที่น่าสนใจหรืออาจข้อจำกัดที่เราต้องพิจารณาเพิ่มมากขึ้น ทั้งในแง่ของค่าใช้จ่าย ระยะเวลา และความยุ่งยากในการดำเนินการ เราจึงได้รวบรวมช่องทางหลัก ๆ พร้อมรายละเอียดมาให้เปรียบเทียบก่อนตัดสินใจเลือก
จดทะเบียนบริษัทผ่านการใช้บริการสำนักงานบัญชี
การใช้บริการสำนักงานบัญชีเป็นตัวเลือกยอดนิยมสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการความสะดวกและรวดเร็ว โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ในการจดทะเบียนมาก่อน สำนักงานบัญชีจะดูแลตั้งแต่การเตรียมเอกสาร ช่วยดูความถูกต้องต่าง ๆ ไปจนถึงการติดต่อกับหน่วยงานราชการให้กับเรา โดยจะใช้เวลาดำเนินการเพียง 1-3 วันทำการ ซึ่งเหมาะมาก ๆ กับผู้ประกอบการที่ต้องการรับคำแนะนำเกี่ยวกับโครงสร้างบริษัท การวางแผนภาษี และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แม้จะมีค่าบริการเพิ่มเติมจากค่าธรรมเนียมปกติ แต่ถือว่าคุ้มค่าสำหรับการประหยัดเวลาและไม่ต้องกังวลใจว่าจะเกิดข้อผิดพลาดด้วย
จดด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ DBD e-Registration
ระบบ DBD e-Registration เป็นช่องทางที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าพัฒนาขึ้นเพื่อให้การจดทะเบียนบริษัทเป็นเรื่องง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น สามารถจดทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องเสียเงินและเวลาเดินทาง แต่ผู้ที่เลือกช่องทางนี้ต้องเตรียมเอกสารให้พร้อม และกรอกข้อมูลด้วยตนเอง ซึ่งอาจใช้เวลาดำเนินการ 3-5 วันทำการ และต้องมีความเข้าใจในขั้นตอนพอสมควร
จดด้วยตนเองแบบ walk-in ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
วิธีนี้เป็นการเดินทางไปจดทะเบียนถึงกรมพัฒนาธุรกิจการค้า สามารถดำเนินการเสร็จสิ้นภายในวันเดียว หากเอกสารครบถ้วนและถูกต้อง เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบและให้คำแนะนำได้ทันที ทำให้แก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว ไม่ต้องเสียค่าดำเนินการเพิ่มเติม เหมาะสำหรับผู้ที่พอมีความรู้หรือความเข้าใจเกี่ยวกับการจดทะเบียนอยู่แล้ว และมีเวลาในการเดินทางในจดทะเบียน แม้จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเต็มจำนวนและอาจต้องรอคิวนาน แต่ก็เป็นวิธีที่รวดเร็วที่สุดหากต้องการจดทะเบียนแบบเร่งด่วน
สรุปบทความ
การจดทะเบียนบริษัทเป็นขั้นตอนที่สำคัญสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจในประเทศไทย ผู้ประกอบการจะเลือกทำด้วยตัวเองหรือว่าจ้างสำนักงานบัญชีที่มีประสบการณ์ช่วยในการจดทะเบียนแทนก็ได้ ซึ่งจะช่วยลดเวลาในการเตรียมเอกสารและทำให้การจดทะเบียนสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น PEAK โปรแกรมบัญชีออนไลน์ เราพร้อมช่วยผู้ประกอบการจัดการเรื่องภาษีและบัญชีได้อย่างถูกต้องรองรับการเติบโต ช่วยให้ธุรกิจก้าวไปสู่ความสำเร็จ
ทดลองใช้งานโปรแกรมบัญชี PEAK ฟรี! 30 วัน มูลค่า 1,200 บาท
คลิก https://peakaccount.com (ไม่มีค่าใช้จ่าย)
PEAK Call Center : 1485
LINE : @peakaccount
สอบถามเพิ่มเติม คลิก https://m.me/peakengine