Table of Contents

ใครที่กำลังจะขายที่ดิน อาคาร สิ่งปลูกสร้าง ต้องสงสัยแน่ๆ ว่าเราต้องจ่ายค่าใช้จ่ายอะไรที่เกี่ยวข้องในทางภาษีบ้าง เพื่อเตรียมตัวและเตรียมเงินก่อนตกลงทำสัญญาซื้อขายและวางแผนทางการเงิน เช่น เราจะให้ผู้ซื้อเป็นผู้รับผิดค่าธรรมการโอน หรือภาษีอะไรบ้าง เป็นต้น วันนี้ผมจะพาทุกคนมารู้จักภาษีและวิธีคำนวณภาษีการขายอสังหาริมทรัพย์กันครับ

ทำความรู้จักก่อนว่า อสังหาริมทรัพย์คืออะไร ?

อสังหาริมทรัพยืคืออะไร

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 139 บัญญัติ กล่าวว่า อสังหาริมทรัพย์ คือ ที่ดินกับทรัพย์อันติดกับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวร หรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้น และหมายความรวมถึงทรัพย์สินอันเกี่ยวกับที่ดิน หรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดิน หรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้นด้วย” 

จากความหมายข้างต้นสามารถสรุปให้ง่ายๆ ก็คือ อสังหาริมทรัพย์ คือ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง เช่น อาคาร บ้านเรือน สำนักงาน โรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงสิ่งอื่นใดที่อยู่ติดกับที่ดินซึ่งเคลื่อนที่ไม่ได้ นอกจากนี้ทรัพย์ตามธรรมชาติที่ประกอบเป็นอันเดียวกับดิน เช่น แม่น้ำ บึง แร่ กรวด ทราย ที่อยู่ในอาณาบริเวณที่ดินนั้นก็จัดว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์ด้วย

ในทางภาษี เราต้องทราบว่าได้อสังหาริมทรัพย์มาได้อย่างไร?

กรมสรรพากร แบ่งการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ออกเป็น 2 กรณี คือ
1. การได้รับอสังหาริมทรัพย์โดยมุ่งค้าหรือหากำไร
เช่น เราซื้อที่ดินมาเพื่อเก็งกำไรและขาย หรือซื้อที่ดินเพื่อจัดสรร ปลูกสร้างอาคาร คอนโด ทาวน์เฮ้าส์ อาคารโรงงานเพื่อจำหน่าย เป็นต้น
2. การได้รับอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มุ่งค้าหรือหากำไร แบ่งออกเป็น
2.1 อสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับมาโดยทางมรดก หรือได้รับจากการให้โดยเสน่หา(ได้มาฟรี มีคนยกให้)
2.2 อสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยไม่มุ่งค้าหรือหากำไร เช่น ซื้อที่ดินมาเพื่อทำการเกษตรกรรม ซื้อที่ดินพร้อมปลูกสร้างมาเพื่ออยู่อาศัย เป็นต้น

ภาระภาษีจากการขายอสังหาริมทรัพย์ มีอะไรบ้าง?

ขายอสังหาริมทรัพย์ บ้าน ที่ดิน เสียภาษีอย่างไร

ไม่ว่าผู้ขายอสังหาริมทรัพย์จะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล จะมี 4 ภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อขาย ได้แก่ 

1. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย(Withholding Tax :WHT)
2. ภาษีธุรกิจเฉพาะ(Specific Business Tax :SBT)
3. อากรแสตมป์(Stamp Duty) 
4. ค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์

สำหรับฐานภาษีอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้คำนวณจะมี 2 ฐาน คือ ราคาซื้อขายจริง และราคาประเมินทุนทรัพย์จากกรมธนารักษ์ที่จะมีประเมินใหม่ทุกๆ 4 ปี สำหรับราคาประเมินที่ดินรอบปัจจุบันใช้สำหรับรอบบัญชีปี 2566 – 2569 (เริ่ม 1 มกราคม 2566 ถึง 31 ธันวาคม 2569) เบื้องต้นสามารถตรวจสอบราคาประเมินด้วยตนเองได้ที่

1. เว็บไซต์กรมธนารักษ์ https://assessprice.treasury.go.th/
2. แอปพลิเคชันของกรมธนารักษ์  TRD Property Valuation
3. Call Center กรมธนารักษ์ โทร 0-2270-0360-63 และ 0-2059-4999

การคำนวณภาษีเงินได้อสังหาริมทรัพย์ของบุคคลธรรมดา

อย่างแรกเราต้องเข้าใจว่า “บุคคลธรรมดา” ในทางภาษีไม่ได้หมายถึงเพียงแค่บุคคลที่มีชีวิตจริง แต่รวมถึงบุคคลธรรมดา ผู้ถึงแก่ความตาย กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลด้วย 

สำหรับหลักการคำนวณภาษีอสังหาริมทรัพย์ของบุคคลธรรมดามีดังนี้

1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่าย ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามอัตราก้าวหน้า เพราะถือว่ามีรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งการคำนวณจะผันแปรไปตามวิธีการได้มาของอสังหาริมทรัพย์นั้นว่าได้รับมาจากมรดก/เสน่หา ได้มาเพื่อจะนำมาค้าหากำไรหรือได้มาเพื่อใช้ไม่ได้มุ่งค้าหากำไร ถ้าได้มาเพื่อค้าหากำไรจะไม่สามารถเลือกใช้สิทธิ์ “ภาษีสุดท้าย Final Tax” ได้ ทำให้เมื่อบุคคลต้องนำรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพยไปยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ภ.ง.ด.90 อีกครั้ง ซึ่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่เคยถูกหักไว้ สามารถนำใช้เป็นเครดิตภาษีเพื่อลดยอดภาษีสิ้นปีที่ต้องชำระได้ 

2. ภาษีธุรกิจเฉพาะ ต้องเสียในอัตรา 3.3% กรณีผู้ขายเป็นผู้ค้าอสังหาริมทรัพย์ หรือบุคคลธรรมดาที่ขายอสังหาริมทรัพย์ภายใน 5 ปี (นับวันชนวัน) นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น หรือมีชื่อในทะเบียนบ้านหลังที่ขายเป็นเวลาน้อยกว่า 1 ปี (นับวันชนวัน) ถ้าเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแล้ว จะไม่ต้องเสียอากรแสตมป์อีก

3. อากรแสตมป์ ต้องเสียในอัตรา 0.5% กรณีผู้ขายมิได้มุ่งค้าหากำไร เช่น บุคคลธรรมดาที่ขายอสังหาริมทรัพย์เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น หรือมีชื่อในทะเบียนบ้านหลังที่ขายเกินกว่า 1 ปี ถ้าเสียอากรแสตมป์แล้ว จะไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะอีก

เมื่อโอนกรรมสิทธิ์และชำระค่าภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ ครบถ้วนแล้ว จะได้รับใบสีฟ้า เรียกว่า “ใบเสร็จรับเงินในราชการกรมที่ดิน” จะแสดงรายละเอียดค่าภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง หนึ่งในนั้นจะมีรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งใครที่เลือกนำรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ไปคำนวณภาษีสิ้นปีอีกครั้ง สามารถใช้ใบเสร็จดังกล่าวเป็นหลักฐานเพื่อใช้เครดิตภาษีได้ แต่คำแนะนำเบื้องต้น คือ ถ้าผู้ขายมีรายได้จากทางอื่นๆ ด้วย การนำรายได้จากการขายอสังริมทรัพย์มารวมด้วยมักจะทำให้ฐานภาษีสูงขึ้น และต้องจ่ายภาษีมากขึ้น จึงไม่ควรเลือกนำมารวมกับภาษีสิ้นปีครับ

วิธีการความคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ขั้นตอนที่ 1 คำนวณเงินได้สุทธิเฉลี่ยต่อปี

  • กรณี ได้รับมาโดยมรดกหรือโดยเสน่หา เงินได้สุทธิ = ราคาประเมิน – ค่าใช้จ่ายเหมา 50% /จำนวนปีที่ถือครอง
  • กรณี ได้มาโดยไม่มุ่งค้าหรือหากำไร และ ได้มาโดยมุ่งค้าหรือหากำไร เงินได้สุทธิ = ราคาประเมิน – ค่าใช้จ่ายเหมาตามปีถือครอง/จำนวนปีที่ปีถือครอง
    โดยค่าใช้จ่ายเหมาตามปีถือครองนั้น สามารถดูอัตราการหักการหักค่าใช้จ่ายได้ดูงภาพด้านบน
วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ขั้นตอนที่ 2 นำเงินได้สุทธิมาคำนวณภาษีเงินได้เฉลี่ยต่อปี

ช่วงเงินได้สุทธิ อัตราภาษีเงินได้
(ขั้นที่ 1) 1 – 300,000 บาท 5%
(ขั้นที่ 2) 300,001 – 500,000 บาท 10%
(ขั้นที่ 3) 500,001 – 750,000 บาท 15%
(ขั้นที่ 4) 750,001 – 1,000,000 บาท 20%
(ขั้นที่ 5) 1,000,001 – 2,000,000 บาท 25%
(ขั้นที่ 6) 2,000,001 – 4,000,000 บาท 30%
(ขั้นที่ 7) 4,000,001 บาท ขึ้นไป 40%

ขั้นตอนที่ 3 คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องชำระ

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา= ภาษีเงินได้เฉลี่ยต่อปี x จำนวนปีถือครอง

ตัวอย่าง การขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกหรือที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หา

นาย ก ได้รับที่ดินจากมรดก เมื่อ พ.ศ.2562 และได้จดทะเบียนขายที่ดิน เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2566 ถือครองมา 5 ปี (ปี2562-2566) ตกลงโอนในราคา 3,000,000 บาท และพนักงานเจ้าหน้าที่คำนวณราคาประเมินทุนทรัพย์ ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เป็นเงิน 2,000,000 บาท

ตัวอย่างการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ตัวอย่าง การขายอสังหาริมทรัพย์โดยการมุ่งการค้าหรือหากำไร

นาย ข ซื้อที่ดินเพื่อค้าขาย เมื่อ พ.ศ.2562 และได้จดทะเบียนขายที่ดิน เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2566 ถือครองมา 5 ปี (ปี2562-2566) ตกลงโอนในราคา 3,000,000 บาท และพนักงานเจ้าหน้าที่คำนวณราคาประเมินทุนทรัพย์ ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เป็นเงิน 2,000,000 บาท

ตัวอย่างการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

การคำนวณภาษีเงินได้ภาษีอสังหาริมทรัพย์ของนิติบุคคล

สำหรับหลักการคำนวณภาษีอสังหาริมทรัพย์ของนิติบุคคลมีดังนี้

1. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ต้องเสียในอัตรา 1%  เพราะถือว่ามีรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้นิติบุคคลต้องนำรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพยไปรวมคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี ภ.ง.ด.50 อีกครั้ง ซึ่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่เคยถูกหักไว้ สามารถนำใช้เป็นเครดิตภาษีเพื่อลดยอดภาษีสิ้นปีที่ต้องชำระได้ 

2. ภาษีธุรกิจเฉพาะ ต้องเสียในอัตรา 3.3% กรณีผู้ขายเป็นผู้ค้าอสังหาริมทรัพย์ หรือเข้าเงื่อนไขมุ่งค้าหากำไร ซึ่งปกตินิติบุคคลจะเข้าเงื่อนไขมุ่งค้าหากำไร เพราะกรมสรรพากรกำหนดให้การขายอสังหาริมทรัพย์ที่นิติบุคคลมีไว้ในการประกอบกิจการต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ทั้งนี้ถ้าเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแล้ว จะไม่ต้องเสียอากรแสตมป์อีก

3. อากรแสตมป์ ต้องเสียในอัตรา 0.5% ซึ่งในทางปฏิบัติค่อนข้างยากที่นิติบุคคลจะเข้ากรณีที่ต้องเสียอากรแสตมป์ เพราะปกติจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะมาก่อนอย่างที่อธิบายข้างต้น ทั้งนี้ถ้าเสียอากรแสตมป์แล้ว จะไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะอีก

ตัวอย่าง บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขายอสังหาริมทรัพย์

บริษัท ค จำกัด ซื้อที่ดินมาเมื่อปี พ.ศ. 2562 นำขายไป 3,000,000 บาท โดยได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และนิติกรรมใน พ.ศ. 2567 และราคาประเมินที่ 2,000,000 บาท

ตัวอย่างการคำนวณภาษีเงินได้บนิติบุคคล

อย่างไรก็ตาม ใครที่กังวลว่าการคำนวณดูยาก ซับซ้อน สบายใจได้เลยครับ เพราะภาษีทั้งหมดข้างต้นเมื่อเรามีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่กรมที่ดิน เจ้าหน้าที่กรมที่ดินจะเป็นคนคำนวณแทนเราเองครับ แต่ถ้าเราเข้าใจการคำนวณก็สามารถคำนวณตัวเลขเบื้องต้นเพื่อประมาณค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ข่าวดีคือไม่ว่าผู้ขายจะเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลก็สามารถใช้โปรแกรมคำนวณภาษีและค่าธรรมเนียมการโอนได้ง่ายๆ ผ่านเว็บไซต์ของกรมที่ดิน https://lecs.dol.go.th/rcal/#/ เพียงแค่กรอกข้อมูลที่จำเป็น ระบบก็จะคำนวณตัวเลขทั้งหมดให้อัตโนมัติครับ

หลังจากอ่านบทความนี้แล้ว หากคุณยังต้องการสอบถามเพิ่มเติม หรืออยากได้คนที่ช่วยให้คำปรึกษาในเรื่องภาษีอสังหาริมทรัพย์ ที่ PEAK เรามีพันธมิตรสำนักงานบัญชีมากกว่า 1,200 แห่งทั่วประเทศ พร้อมช่วยดูแลคุณ สนใจ คลิก