บริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

จากความเห็นของผู้เขียน ปัจจุบันการจัดตั้งในรูปแบบบริษัทจำกัดมีความยืดหยุ่นในเรื่องผู้ก่อตั้งที่เริ่มต้นเพียง 2 คนเท่านั้น โครงสร้างทุนสะดวกต่อการระดมทุน และมีการจำกัดความรับผิดของผู้ถือหุ้นกรณีบริษัทล้มละลาย อีกทั้งไม่มีความแตกต่างในเรื่องอัตราภาษีเมื่อเทียบกับการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

จากบทความ ทำธุรกิจในนามบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลประหยัดภาษีที่สุด? (สำหรับท่านผู้อ่านที่อยากเป็นนิติบุคคลให้อ่านอันนี้) มีผู้อ่านหลายท่านสอบถามเข้ามาว่าถ้าอยากเป็นนิติบุคคลบ้าง จะต้องเลือกรูปแบบการจัดตั้งแบบไหนที่เหมาะกับเรา? มีข้อมูลอะไรที่สามารถศึกษาได้เบื้องต้นได้ก่อน? 

ครั้งนี้ผมจึงพาทุกคนมารู้จักประเภทของนิติบุคคลสำหรับบุคคลธรรมดาที่กำลังอยากปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจมาเป็นนิติบุคคลว่ามีตัวเลือกอะไรบ้าง ผมขอแนะนำ 2 รูปแบบกิจการที่เป็นที่นิยมในการดำเนินการในรูปแบบนิติบุคคล นั้นก็คือ รูปแบบบริษัทจำกัดและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

ทำความเข้าใจรูปแบบกิจการ

1. บริษัทจำกัด

เชื่อว่าหลายๆ คนคงจะคุ้นเคยกับรูปแบบนี้ที่สุด เพราะสามารถพบเห็นกันได้ทั่วไป และกว่า 80% ของนิติบุคคลที่จัดตั้งในปี 2565 เป็นรูปแบบบริษัท ซึ่งพอจะประมาณได้ว่ารูปแบบนี้ได้รับความนิยมเลยทีเดียวครับ

บริษัทจำกัด

2. ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

จากข้อมูลจำนวนนิติบุคคลที่จัดตั้งใหม่ในปี 2565 ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าหรือ DBD ระบุว่ามีสัดส่วนของห้างหุ้นส่วนเพียง 20% ของนิติบุคคลที่จดทะเบียนใหม่ แต่บางคนอาจเกิดคำถามหรือเคยเห็นทั้งห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน และห้างหุ้นส่วนจำกัดว่าแตกต่างกันอย่างไร ขอสรุปง่ายๆ ว่าแตกต่างกันที่ความรับผิดชอบในหนี้สินของกิจการ โดยห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนจะมีเพียงเฉพาะหุ้นส่วนที่ไม่จำกัดความรับผิดในหนี้สินของกิจการ แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัดจะหุ้นส่วน 2 ประเภท คือ หุ้นส่วนที่ไม่จำกัดความรับผิดและหุ้นส่วนที่จำกัดความรับผิดในหนี้สินของกิจการ

ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

สรุปแล้วจดบริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดีกว่ากัน?

หลังจากที่เราได้เข้าใจลักษณะเบื้องต้นของแต่ละรูปแบบกิจการไปแล้ว ต่อไปก็เป็นท่านที่ต้องเลือกและตัดสินใจว่าแบบไหนที่เราสนใจ ในส่วนที่ทั้งบริษัทจำกัดและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเหมือนกันคือ การจัดทำบัญชีต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีและส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) และกรมสรรพากร (RD) และด้านภาษีก็ต้องจัดทำให้ถูกต้องตามประมวลรัษฎากร ซึ่งเสียอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราเดียวกัน สำหรับในเรื่องที่แตกต่างที่ต้องพิจารณา ผมจะให้แนวทางเบื้องต้นไว้ 4 เรื่อง ดังนี้

1. ด้านความน่าเชื่อ

1.1 การรับรู้โดยทั่วไป(Public Perception) : คนทั่วไปมักมองว่าบริษัทจำกัดมีความน่าเชื่อถือกว่า และรูปแบบนี้ก็เป็นที่นิยมในระดับสากลเช่นกัน ขณะที่รูปแบบห้างหุ้นส่วนคนบางส่วนมองเป็นธุรกิจขนาดเล็ก หรือธุรกิจครอบครัว เพราะในอดีตการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจะทำได้ง่ายกว่าบริษัทจำกัด

1.2 ความรับผิดทางกฎหมาย : ในมุมมองของเจ้าหนี้การค้าจะคาดหวังเงินจากการค้าขายเมื่อครบเครดิตเทอม แต่ถ้าบริษัทจำกัดต้องปิดตัวลง เจ้าหนี้อาจได้รับเงินคืนไม่เต็มจำนวนเพราะถ้าหนี้สินที่บริษัทไม่สามารถจ่ายได้ ผู้ถือหุ้นไม่ต้องรับผิดชอบในส่วนที่ขาด แต่ห้างหุ้นส่วนจะมีหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดที่ต้องรับผิดชอบในหนี้สินส่วนนี้เพิ่ม กรณีที่เงินทุนของห้างหุ้นส่วนไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้สิน

2. ด้านความยืดหยุ่น

2.1 การรับรองงบการเงิน : บริษัทจำกัดถูกบังคับให้ต้องมีการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นปีละ 1 ครั้ง เพื่ออนุมัติงบการเงินและส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ภายในระยะเวลาที่กำหนด ขณะที่ห้างหุ้นส่วนไม่ได้มีข้อกำหนดนี้

2.2 การบริหารงาน : บริษัทจำกัดสามารถแต่งตั้งบุคคลภายนอกเป็นกรรมการบริษัทเพื่อบริหารงานในองค์กรได้ ขณะที่ห้างหุ้นส่วนต้องเป็นหุ้นส่วน (เฉพาะประเภทรับผิดไม่จำกัด) เท่านั้นที่จะสามารถบริหารงานในองค์กรได้

2.3 การขยายกิจการ : รูปแบบการลงทุนเป็นทุนเรือนหุ้นของบริษัทจำกัดซึ่งเอื้อต่อการขยายกิจการ และการระดมทุนจากบุคคลภายนอกได้ง่ายกว่า อีกทั้งสามารถแปรสภาพไปเป็นบริษัทมหาชนได้ง่ายเพราะมีรูปแบบการลงทุนเป็นหุ้นเช่นเดียวกัน ขณะที่ห้างหุ้นส่วนมีรูปแบบการลงทุนตามสัดส่วนจำนวนเงินที่นำมาลงทุนซึ่งยากต่อการระดมทุนมากกว่า

2.4 การเลิกกิจการ : ห้างหุ้นส่วนถือคุณสมบัติของผู้เป็นหุ้นส่วนเป็นสำคัญ เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดเสียชีวิตอาจทำให้ห้างหุ้นส่วนต้องเลิกกันได้ (ยกเว้นมีหุ้นส่วนคนอื่นๆ ตกลงเข้ารับซื้อหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนนั้นแทน) ขณะที่บริษัทจำกัดถือเรื่องทุนเป็นสำคัญ ไม่ได้มีข้อจำกัดในเรื่องนี้ เมื่อผู้ถือหุ้นเสียชีวิตไม่เป็นเหตุให้บริษัทต้องเลิกกัน

2.5 สิทธิที่ตกแก่ทายาท : สำหรับบริษัทจำกัดเมื่อผู้ถือหุ้นเสียชีวิต ความเป็นผู้ถือหุ้นจะตกทอดไปยังทายาททันทีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1599 และ 1600 ขณะที่ห้างหุ้นส่วนเมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนเสียชีวิต ความเป็นหุ้นส่วนจะไม่ตกทอดเป็นมรดกไปยังทายาทเพราะถือว่าเป็นสิทธิเฉพาะตน

3. ความรับผิดในหนี้สินของกิจการ

เมื่อเกิดกรณีที่หนี้สินของบริษัทมากกว่าสินทรัพย์หรือทุนของกิจการ บริษัทจำกัดจะถูกกำหนดให้รับผิดชอบในหนี้สินบริษัทไม่เกินกว่าค่าหุ้นที่ต้องชำระ กล่าวง่ายๆ คือ ถ้าหนี้สินมีมากกว่าทุน เจ้าของก็รับผิดชอบต่อบรรดาหนี้สินต่างๆ ไม่เกินกว่าจำนวนทุนที่ต้องชำระ แต่ในกรณีห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะมีหุ้นส่วนประเภทที่ไม่จำกัดความรับผิดทำให้เมื่อต้องชำระหนี้สินของห้างหุ้นส่วนแต่ทุนไม่เพียงพอหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดก็ต้องรับผิดชอบในหนี้สินส่วนที่เหลือด้วย

ตัวอย่าง : ห้างหุ้นส่วนเจริญจำกัด มีนาย ก เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด และนาย ข เป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิด ต่อมาห้างหุ้นส่วนล้มละลาย ห้างฯ มีหนี้สินที่ค้างชำระจากการล้มละลายจำนวน 10 ล้านบาท นาย ก ซึ่งเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดต้องรับผิดชอบในการชำระหนี้จนหมด ส่วนนาย ข กรณีที่ชำระเงินตามจำนวนที่ตนรับจะลงหุ้นในห้างฯ ครบถ้วนแล้ว ไม่ต้องร่วมรับผิดในหนี้สินที่เหลืออีกเนื่องจากเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด

4. ค่าธรรมเนียมจดจัดตั้ง

กรณีจดจัดตั้งบริษัทจำกัดจะมีค่าธรรมเนียมที่สูงกว่าการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนค่อนข้างมาก อาจเพราะรูปแบบบริษัทจำกัดต้องมีการจัดทำรายงานการประชุมหรือเอกสารทางกฎหมาย และรายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากกว่า รวมทั้งในอดีตบริษัทจำกัดต้องใช้ผู้เริ่มก่อตั้งถึงเจ็ดคน เลยอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าธรรมเนียมจดจัดตั้งสูงกว่าห้างหุ้นส่วน

จากความเห็นของผู้เขียน ปัจจุบันภาพรวมการจัดตั้งในรูปแบบบริษัทจำกัด มีความยืดหยุ่นและมีความน่าเชื่อถือที่มากกว่า อีกทั้งไม่มีความแตกต่างในเรื่องอัตราภาษี หรือความแตกต่างในเรื่องของจำนวนผู้ก่อของบริษัทจำกัดอย่างที่เคยเป็นในอดีตแล้ว แต่อย่างไรก็ตามผู้อ่านต้องใช้ดุลยพินิจหรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อการตัดสินใจในการเลือกรูปแบบนิติบุคคลอีกครั้งอย่างถี่ถ้วน

หลังจากอ่านบทความนี้แล้ว คุณยังไม่แน่ใจ หรือยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเลือกรูปแบบนิติบุคคลไหน แต่อยากได้คนที่ช่วยให้คำปรึกษาหรือช่วยเรื่องการจดจัดตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ PEAK เรามีพันธมิตรสำนักงานบัญชีมากกว่า 1,200 แห่งทั่วประเทศ พร้อมช่วยดูแลคุณ สนใจ คลิก