ภาษีซื้อ ภาษีขาย ภพ30 VAT จดเมื่อไหร่ ยื่นตอนไหน ตัวอย่างภพ 30
Table of Contents

ในทุกเดือนเจ้าธุรกิจต้องทำการยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับบัญชีและด้านภาษีมากมาย ซึ่งหนึ่งในเอกสารที่ธุรกิจส่วนใหญ่จำเป็นต้องยื่นคือ ภพ 30 ที่เป็นเอกสารภาษีสำหรับธุรกิจที่จด VAT แล้ว สำหรับเจ้าของธุรกิจท่านไหนที่กำลังเตรียมตัวขยายธุรกิจเริ่มจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ในบทความนี้เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับ ภพ 30 ให้มากขึ้น เตรียมความพร้อมสู่ธุรกิจที่เติบโตกัน

ภาษีซื้อ ภาษีขาย ภพ30 ตัวอย่างใบ ภ.พ30

ภ.พ.30 คืออะไร?

ภพ 30 คือ รายการแสดงภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT นั่นเอง โดยรายการแสดง VAT นี้จะเป็นในรูปแบบของภาษีซื้อ และภาษีขาย ซึ่งใช้สำหรับการยื่นให้แก่กรมสรรพากร เป็นเอกสารที่เจ้าของธุรกิจจำเป็นต้องรวบรวมรายการ VAT ที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน รวบรวมออกเป็นเอกสารนำส่งทุกเดือน

ภ.พ.30 คืออะไร? เมื่อไหร่ที่ธุรกิจจะต้องจด VAT (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ?

แบบ ภ.พ. 30 คือแบบแสดงภาษีซื้อและภาษีขาย ที่ทางบริษัทต้องแจ้งกับกรมสรรพากรทุกเดือน ซึ่งภาษีทั้ง 2 ประเภทมีความหมายดังนี้

  1. ภาษีซื้อ จะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่จ่ายให้กับบริษัทที่ขายสินค้า หรือบริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว
  2. ภาษีขาย คือภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากสินค้าและบริการ ที่คู่ค้าชำระให้เราครับ

แล้วธุรกิจของคุณจะต้องยื่นจด VAT หรือไม่? คุณจะต้องยื่นหากธุรกิจของคุณเป็นอย่าง 2 กรณีนี้

1. กรณีธุรกิจที่มีรายรับมากกว่า 1.8 ล้านบาท/ปี จะต้องยื่นเอกสารคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือยื่นแบบ ภ.พ.01 ที่สำนักงานสรรพากรในพื้นที่ หลังจากนั้นทุกเดือนทางบริษัทที่ยื่นขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ก็จะต้องยื่น ภ.พ.30 ก่อนวันที่ 15 ของเดือนถัดๆ ไป เป็นประจำทุกเดือน

2. กรณีเริ่มกิจการ หรือจัดตั้งธุรกิจใหม่ และมีการซื้อสินค้า หรือบริการอยู่ตลอด เมื่ออยู่ในช่วงก่อสร้าง หรือติดตั้งเครื่องจักร คุณจะต้องยื่นเอกสารคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภายใน 6 เดือน ก่อนวันเริ่มทำธุรกิจ และหลังจากยื่นเอกสารขอจด VAT แล้ว ก็ต้องยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่มทุกเดือนเป็นประจำเหมือนกรณีแรกเลยครับ

รายละเอียดสำคัญใน ภ.พ.30 ที่เจ้าของธุรกิจต้องรู้

สำหรับเอกสาร ภพ 30 นั้น จากที่เราได้เกริ่นไปข้างต้น ว่ามีภาษีซื้อ และภาษีขาย ซึ่งทั้งสองประเภทนั้นมีความคล้ายคลึงกันแต่ต่างกันเล็กน้อยดังนี้

  • ภาษีซื้อ คือ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เจ้าของธุรกิจจำเป็นต้องเสีย ในการซื้อสินค้า วัตถุดิบสำหรับใช้ดำเนินธุรกิจและจ่ายค่าใช้จ่าย การผลิตสินค้ามาขาย หรือในที่นี้จะรวมไปถึงการซื้ออุปกรณ์ในออฟฟิศด้วย โดยสินค้าที่ซื้อต้องเป็นสินค้าจากร้านค้าหรือบริษัทที่มีการจดภาษีมูลค่าเพิ่มเรียบร้อย และมีการเก็บค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
  • ภาษีขาย คือ ตรงกันข้ามกับภาษีซื้อ เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากการที่ธุรกิจของเราขายสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้า โดยจะเป็น 7% จากจำนวนเงินที่ลูกค้าจ่ายให้กับบริษัทของเรา

ซึ่งการคำนวณภาษีทั้งสองส่วนนี้จะเป็นการนำยอดรวม และยอดภาษีรวมที่อ้างอิงจากใบกำกับภาษีทั้งหมดในแต่ละเดือน

ธุรกิจไหนต้องยื่น ภ.พ.30 บ้าง

สำหรับธุรกิจที่ต้องยื่น ภพ 30 คือ ธุรกิจที่มีการจด VAT หรือธุรกิจที่มีรายได้ 1.8 ล้านบาทต่อปี โดยจำเป็นต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับทางกรมสรรพากรภายใน 30 วันหลังจากที่บริษัทมีรายได้ถึงจำนวนที่กำหนด  

ซึ่งเจ้าของธุรกิจสามารถทำการยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ทั้งผ่านช่องทางออนไลน์ หรือเดินทางไปจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่กรมสรรพากรด้วยตัวเอง สามารถศึกษารายละเอียดขั้นตอนการยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ที่นี่

ต้องยื่น ภพ 30 เมื่อไหร่

สำหรับ ภพ 30 เป็นอีกหนึ่งเอกสารที่ต้องยื่นรายเดือนให้แก่กรมสรรพากร โดยต้องทำการยื่นก่อนวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ซึ่งรายละเอียดที่นำมายื่นจะเป็นรายละเอียดภาษีซื้อ ภาษีขายของเดือนก่อนหน้า ด้วยเหตุนี้เพื่อให้การเตรียมเอกสารให้เรียบร้อยรวดเร็ว แนะนำให้จัดระเบียบเอกสารด้านบัญชีให้เป็นระบบ

ยื่น ภ.พ. 30 ที่ไหนได้บ้าง

เจ้าของธุรกิจสามารถยื่นเอกสาร ภพ 30 ได้ที่กรมสรรพากรในเขตพื้นที่ที่บริษัทตั้งอยู่ หรือสามารถยื่นเอกสารผ่านระบบออนไลน์ของกรมสรรพากรโดยสามารถเข้าไปยื่นได้ที่ระบบ E-Filing ของกรมสรรพากร

นอกจากนี้ทางกรมสรรพากรยังมีการทำปฏิทินภาษีอากรสำหรับให้เจ้าของธุรกิจเข้าไปดูตารางในแต่ละเดือนว่าสามารถส่งเอกสารได้ถึงวันที่เท่าไหร่ เพราะหากวันที่ 15 นั้นตรงกับวันหยุด วันสุดท้ายในการยื่นจะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย สามารถดูปฏิทินภาษีอากรได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร

ตัวอย่างความแตกต่างของภาษีซื้อ และภาษีขาย

บริษัท A ทำธุรกิจขายเสื้อผ้า โดยเป็นการซื้อเสื้อผ้าจากผู้ผลิตมาขายต่ออีกที นอกจากนี้ยังมีการซื้ออุปกรณ์สำหรับนำไปใช้ที่หน้าร้านสาขาต่าง ๆ ด้วย ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนดังกล่าวจะอยู่ในฝั่งของภาษีซื้อ 

ยกตัวอย่างเช่น

ซื้อเสื้อผ้า 100 บาท มีภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% จำนวนเงินที่จ่ายจริง คือ 107 บาท

ในส่วนของรายได้จากการขายสินค้าให้ลูกค้า ต้องมีการเก็บข้อมูลในแต่ละเดือน คำนวณ VAT ออกมาและทำการยื่นให้สรรพากร ส่วนนี้จะเป็นภาษีขายนั่นเอง

ยกตัวอย่างเช่น

ขายเสื้อผ้าในราคา 100 บาท คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% จำนวนเงินที่ลูกค้าต้องจ่ายคือ 107 บาทนั่นเอง

เจาะลึกแต่ละส่วนในแบบ ภ.พ.30 ที่คุณต้องรู้

ตัวอย่างการกรอกใบภพ 30

จากภาพแบบฟอร์ม ภ.พ.30 เราสามารถแบ่งออกเป็นส่วนสำคัญๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นดังนี้:

1. ส่วนบน: ข้อมูลพื้นฐานของกิจการ (ส่วนที่ 1 ในภาพ)

ส่วนนี้เป็นข้อมูลระบุตัวตนของบริษัทหรือกิจการของคุณ รวมถึงรอบระยะเวลาภาษีที่ยื่น:

  • ข้อมูลผู้ประกอบการ: ประกอบด้วย ชื่อบริษัท/กิจการ ที่อยู่สำนักงานใหญ่ หรือสาขา (หากยื่นแยกสาขา) และที่สำคัญคือ เลขประจำตัวผู้เสียภาษี ซึ่งต้องระบุให้ถูกต้องครบถ้วน
  • เดือนและปีภาษีที่ยื่น: ระบุเดือนและปีของรอบระยะเวลาบัญชีที่คุณกำลังยื่นแบบ ภ.พ.30 (เช่น หากยื่นของเดือนมกราคม 2568 ก็จะระบุ “เดือน 01” “ปี 2568”)
  • ประเภทการยื่นแบบ: เลือกประเภทของการยื่นแบบว่าเป็น:
    • ยื่นปกติ (ครั้งที่ 1): สำหรับการยื่นครั้งแรกในแต่ละเดือน
    • ยื่นเพิ่มเติม (ครั้งที่ 2, 3…): สำหรับการยื่นแก้ไขข้อมูลที่เคยยื่นไปแล้ว ซึ่งอาจเกิดจากข้อผิดพลาดหรือมีการปรับปรุงรายการในภายหลัง

2. ส่วนกลาง: รายการคำนวณภาษี (ส่วนที่ 2 ในภาพ)

นี่คือส่วนสำคัญที่สุดของการกรอกแบบ ภ.พ.30 ที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณภาษีซื้อและภาษีขาย เพื่อหาว่าต้องชำระภาษีเพิ่ม หรือได้คืนภาษี:

  • ยอดขายและภาษีขาย:
    • ยอดขายที่ต้องเสีย VAT: มาจากรายรับทั้งหมดที่คุณได้จากการขายสินค้าหรือให้บริการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
    • ภาษีขาย (Output Tax): คือภาษีมูลค่าเพิ่มที่คุณเรียกเก็บจากลูกค้า เมื่อคุณขายสินค้าหรือบริการ
  • ยอดซื้อและภาษีซื้อ:
    • ยอดซื้อที่ต้องเสีย VAT: มาจากรายจ่ายทั้งหมดที่คุณจ่ายไปในการซื้อสินค้าหรือบริการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
    • ภาษีซื้อ (Input Tax): คือภาษีมูลค่าเพิ่มที่คุณจ่ายไปเมื่อซื้อสินค้าหรือบริการมาใช้ในกิจการ
  • การคำนวณภาษีที่ต้องชำระ / ขอคืน:
    • ถ้า ภาษีขาย > ภาษีซื้อ: คุณจะต้องชำระภาษีส่วนต่างนั้นให้กับกรมสรรพากร
    • ถ้า ภาษีซื้อ > ภาษีขาย: คุณจะมีภาษีส่วนเกิน ซึ่งสามารถเลือกขอคืนได้ (โดยระบุในแบบฟอร์ม) หรือยกยอดไปใช้เป็นเครดิตภาษีในเดือนถัดไป
  • เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม: ส่วนนี้จะปรากฏขึ้นหากคุณมีการยื่นแบบล่าช้า หรือชำระภาษีไม่ครบถ้วน ซึ่งจะถูกคำนวณตามอัตราที่กรมสรรพากรกำหนด

3. ส่วนล่าง: การรับรองและคำลงท้าย (ส่วนที่ 3 ในภาพ)

ส่วนนี้เป็นการยืนยันความถูกต้องของข้อมูลทั้งหมดในแบบฟอร์ม:

  • ข้อมูลผู้ลงนาม: ระบุชื่อ นามสกุล และตำแหน่งของผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท หรือเจ้าของกิจการที่รับรองความถูกต้องของแบบฟอร์ม
  • ลายเซ็น: การลงลายมือชื่อถือเป็นการยืนยันว่าข้อมูลที่ระบุในแบบฟอร์มทั้งหมดถูกต้องและเป็นความจริงตามหลักฐานที่มี

3 ข้อควรรู้เกี่ยวกับการยื่น ภ.พ.30

สำหรับการยื่น ภพ 30 นอกจากความรู้ด้านภาษีมูลค่าเพิ่มที่เจ้าธุรกิจหรือทีมบัญชีในบริษัทต้องทราบ รวมไปถึงวิธีการคำนวณเพื่อให้สามารถคิดภาษีมูลค่าเพิ่มออกมาได้ถูกต้อง ยังมีข้อควรรู้อื่นที่ควรต้องรู้เช่นเดียวกัน เพื่อลดโอกาสเกิดข้อผิดพลาด ไม่ต้องเสียค่าปรับในภายหลัง ซึ่งมีทั้งหมด 3 ข้อหลักด้วยกันดังนี้!

1. ต้องกระทบยอดก่อนเสมอ

การกระทบยอดหรือการที่เจ้าของธุรกิจต้องนำเอกสาร ภพ 30 ที่เป็นการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นตรงกับเอกสารบันทึกบัญชี ภ.ง.ด 50 หรืองบการเงินของบริษัทหรือไม่ เป็นการตรวจเช็กตัวเลข ข้อมูลต่าง ๆ ให้ตรงกัน เพื่อป้องกันความผิดพลาดด้านการบันทึกบัญชี และในการยื่นภาษี ลดโอกาสโดนปรับย้อนหลังหากยื่นภาษีไม่ครบถ้วน ซึ่งการกระทบยอดนั้นเจ้าของธุรกิจควรทำเป็นประจำทุกเดือน เพื่อให้ตัวเลขถูกต้องและสอดคล้องกัน โดยสามารถศึกษาวิธีการกระทบยอดเพิ่มเติมได้ที่บทความ “นักบัญชีต้องรู้! ก่อนยื่นภ.พ.30 ออนไลน์ ต้องกระทบยอดรายได้ก่อน”

2. อย่าลืมเก็บเอกสารจำเป็น

งานบัญชีคืองานที่มีเอกสารค่อนข้างเยอะ และเพื่อป้องกันข้อผิดพลาดทั้งในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือรวมไปถึงการกระทบยอดที่ได้แนะนำไปในข้อก่อนหน้านี้ เจ้าของธุรกิจควรเก็บเอกสารที่จำเป็นไม่ว่าจะเป็นใบเสร็จการซื้อ ขาย ใบกำกับภาษีต่าง ๆ หากมีปัญหาตัวเลขไม่ตรง ยอดขาด หรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับตัวเลขยังสามารถหยิบเอกสารเหล่านี้มาตรวจสอบอ้างอิงเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้เพื่อลดขั้นตอนที่ต้องค้นเอกสารที่เยอะในแต่ละเดือน แนะนำให้เก็บเอกสารในรูปแบบออนไลน์ เพื่อช่วยลดปัญหาในส่วนนี้ลงไปได้

3. บทลงโทษหากไม่ยื่น ภ.พ.30

ในกรณีที่เจ้าของธุรกิจที่จด VAT แล้ว แต่ไม่ทำการยื่น ภพ 30 ในช่วงเวลาที่กำหนด จะมีบทลงโทษโดยเป็นการปรับเงิน 2 เท่าจากเบี้ยปรับ และการปรับ เงินเพิ่ม จำนวน 1.5 ต่อเดือน

สรุปท้ายบทความ : ลดโอกาสเกิดข้อผิดพลาดด้านภาษี ให้โปรแกรมบัญชีช่วยเหลือคุณ

เจ้าของธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจประเภท SME ที่อาจยังไม่ได้มีทีมบัญชีใหญ่มาก หนึ่งคนต้องดูแลหลายส่วน และแน่นอนว่าสามารถเกิดข้อผิดพลาดได้ และข้อผิดพลาดเหล่านั้นอาจนำไปสู่รายจ่ายที่ไม่จำเป็นของธุรกิจที่กำลังเติบโต 

โปรแกรมบัญชีออนไลน์ครบวงจรอย่าง PEAK เข้าใจในปัญหานี้ดี จึงทำการออกแบบโปรแกรมที่ใช้งานง่าย สะดวก สามารถปรับใช้ในองค์กรได้อย่างรวดเร็ว มาพร้อมฟีเจอร์มากมายที่ช่วยให้คุณสามารถดำเนินธุรกิจได้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น มาพร้อมคู่มือการใช้งานเบื้องต้นเข้าใจง่าย อธิบายครบทุกขั้นตอน!

โปรแกรมบัญชีออนไลน์ ตัวช่วยจัดการ ภาษีซื้อ ภาษีขาย ภพ 30 และภาษีธุรกิจอย่างมั่นใจ

ทดลองใช้งานโปรแกรมบัญชี PEAK ฟรี! 30 วัน มูลค่า 1,200 บาท
คลิก https://www.peakaccount.com (ไม่มีค่าใช้จ่าย)
PEAK Call Center : 1485
LINE : @peakaccount
สอบถามเพิ่มเติม คลิก https://m.me/peakengine