tax-saving

พูดถึงเรื่องประหยัดภาษี เรามักจะได้ยินคนส่วนหนึ่งพูดกัน ว่าให้หาคนมารับค่าใช้จ่าย เอารายจ่ายของตัวเองมาเป็นรายจ่ายของบริษัท หรือเลยไปกันจนถึงกระทั้งซื้อใบกำกับภาษีปลอม มาเพื่อลดภาษีมูลค่าเพิ่มหรือการขอคืนภาษี ซึ่งวิธีพวกนี้เป็นวิธีที่ผิดกฎหมายและมีความเสี่ยงกับธุรกิจมาก แล้วถ้าธุรกิจของคุณเสี่ยงมากพออยู่แล้ว อย่าเพิ่มความเสี่ยงทางภาษีอีกโดยไม่จำเป็น คุณควรจะบริหารภาษีอย่างผู้มีความรู้กฎหมาย เพื่อที่คุณจะได้ไม่ต้องทำผิดกฎหมาย และยังได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ

ทำไมต้องประหยัดภาษีอย่างถูกกฎหมาย

       ผู้ประกอบการเมื่อมีกำไรก็ควรจ่ายภาษีครับ คิดไว้เสมอเลยว่ารัฐเป็นผู้ถือหุ้นของเรา ถือหุ้นเราอยู่ประมาณ 15-20% นี่แหละ พอเรามีกำไรก็ต้องแบ่งให้รัฐด้วย เพราะรัฐให้โครงสร้างพื้นฐานกับเราได้ใช้ เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ความปลอดภัย ความคุ้มครองตามกฎหมาย และยังเป็นข้อมูลให้ทางภาครัฐใช้ในการบริหาร หรือออกนโยบายต่างๆ อีกด้วย

       อย่างไรก็ตาม เมื่อเราจะเสียภาษีก็ควรเสียอย่างถูกต้อง และการเสียภาษีอย่างถูกต้องนั้น แม้จะต้องเสียภาษี แต่เราก็บริหารให้เสียตามสมควร ตามสิทธิของเรา ดีกว่าการพยายามหาช่องทางที่ผิดกฎหมายในการพยายามลดภาระภาษี ที่มีแต่จะเพิ่มความเสี่ยงให้กับธุรกิจในระยะยาว

       เรามาลองดูวิธีการวางแผนภาษีอย่างถูกฎหมาย แต่ละวิธีอาจจะยาก แต่จะทำให้คุณเสียภาษีน้อยๆ ภูมิใจ และสบายใจได้ว่าทำถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งวิธีการยากๆ คุณอาจจะลองปรึกษากับนักบัญชีของคุณ หรือผู้ที่เชี่ยวชาญด้านภาษีมาช่วยคุณก็ได้ ลองดูไว้เป็นแนวทางนะครับ

1. วางโครงสร้างเงินทุนของกิจการ

       การวางแผนภาษีควรเริ่มกันตั้งแต่ตั้งบริษัทเลยครับ แน่นอนว่าแม้กิจการที่ตั้งขึ้นมาแล้วก็สามารถปรับปรุงได้ แต่มันก็เหนื่อยกว่าการตั้งใหม่พอสมควรเลย โครงสร้างที่พูดถึงนี้ก็คือโครงสร้างเงินทุนของกิจการ เงินทุนของทุกธุรกิจประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ เงินทุนจดทะเบียน และเงินกู้ ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้ต้องการผลตอบแทนจากกิจการ

ถ้าทุนมาจากทุนจดทะเบียนหรือเจ้าของ คุณต้องจ่ายผลตอบแทนโดยเงินปันผล (เป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีไม่ได้) และถ้าเงินทุนมาจากเงินกู้ คุณต้องจ่ายดอกเบี้ย (เป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้)

       นั่นคือถ้าคุณกำลังจะเริ่มต้นธุรกิจ และมีเงินลงทุนอยู่จำนวนหนึ่ง แทนที่คุณจะนำมาเงินทั้งหมดเป็นทุนจดทะเบียน คุณสามารถแบ่งบางส่วนมาให้ธุรกิจของคุณกู้ยืมก็ได้ เพราะแทนที่คุณจะนำเงินออกจากบริษัทในรูปของเงินปันผลซึ่งกิจการไม่สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ คุณสามารถได้รับดอกเบี้ยแทนซึ่งกิจการสามารถบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ ทำให้ภาษีที่บริษัทต้องเสียก็จะลดลง

       ถ้าคุณเปลี่ยนเงินที่บริษัทจะจ่ายคุณในรูปของเงินปันผลเป็นการจ่ายดอกเบี้ยแทน ทุกๆเงิน 100 บาท คุณจะสามารถประหยัดภาษีได้ประมาณ 15-20 บาทเลยทีเดียว

       สำหรับธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจไปแล้ว คุณก็สามารถปรับโครงสร้างได้โดยการให้กิจการกู้เงินคุณเองเพิ่มขึ้นได้ โดยพิจารณาประเด็นอื่นๆประกอบ เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของคุณ หรือหากคุณต้องการกู้เงินจากธนาคาร การมีหนี้สินมากเกินไปก็อาจจะไม่ดีเท่าไหร่ อันนี้อาจจะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีมาช่วยจัดโครงสร้างให้

2. วางโครงสร้างผู้ถือหุ้นของกิจการ (การใช้สิทธิเครดิตภาษี)

       ตามมาตรา 47 ทวิ (เผื่อใครจะไปค้นดู) ผู้ถือหุ้นที่ได้รับเงินปันผลจะได้รับเครดิตภาษีเงินปันผล เท่ากับส่วนของภาษีที่กิจการได้จ่ายไป สรุปก็คือ ผู้รับเงินปันผล(คุณ) จะได้รับภาษีที่กิจการเสียให้สรรพากรไปคืนมาครับ เพราะว่าคุณจะต้องนำรายได้เงินปันผลนี้ไปยื่นภาษีบุคคลธรรมดาอีกครั้ง เค้ามีไว้เพื่อป้องกันการเก็บภาษีซ้ำซ้อน คือเสียภาษีรอบแรกที่นิติบุคคล แล้วยังต้องมาเสียอีกครั้ง 2 ที่บุคคลธรรมดาอีก แต่เราก็สามารถนำตรงนี้มาช่วยประหยัดภาษีได้ครับ

       ถ้าคุณทำธุรกิจคนเดียว หรือเป็นธุรกิจในครอบครัว การวางโครงสร้างผู้ถือหุ้นให้มาช่วยๆกันรับรายได้เงินปันผล จะเป็นประโยชน์ไม่น้อย เพื่อที่คุณจะได้สามารถขอภาษีของบริษัทที่คุณเสียไป คืนมาได้ โดยที่ภาระภาษีบุคคลธรรมดาของแต่ละคนก็จะไม่สูงนัก

       เช่น ถ้าบ้านคุณมีญาติพี่น้องที่ไม่ได้ทำงาน หรือไม่ได้มีรายได้ 4 คน ให้เค้าเหล่านั้นมาลงทุน และเป็นผู้ถือหุ้นให้หมดครับ สมมติว่าบริษัทคุณมีผู้ถือหุ้น 5 คน คนละเท่าๆกัน 20% คุณสามารถประหยัดภาษีได้สูงสุดถึง 150,000 x 5 หรือประมาณ 750,000 บาท บวกกับรายได้ที่ได้รับยกเว้นอีก 300,000 บาท คุณและครอบครัวของคุณก็สามารถมีกำไรที่ไม่ต้องเสียภาษี (หรือขอคืนได้) สูงถึง 1 ล้านกว่าเลยทีเดียว

       ความยากของวิธีนี้คือต้องพิจารณาภาพรวมของภาษีทั้งบุคคลธรรมดาที่รับเงินปันผล และบริษัทของคุณ เป็นการใช้ประโยชน์จากกฎหมาย 2 ส่วนหลักๆคือ 1. 47 ทวิที่คุณสามารถขอเครดิตภาษีได้ และ 2. คืออัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับการยกเว้น 150,000 บาทแรก โดยหลักการแล้วคุณสามารถมีรายได้ที่ไม่ต้องเสียภาษีได้สุงสุดเท่ากับ 300,000 + 150,000xN โดย N = จำนวนผู้ถือหุ้นที่อยู่ในบริษัท วิธีการนี้อาจจะค่อนข้างซับซ้อน แต่ทำครั้งเดียวแล้วก็อยู่ไปได้อีกนาน ดังนั้น มันก็อาจจะคุ้มค่าที่จะให้ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีมาช่วยดูแลให้

3. การจ้างรับเหมา หรือจ้างทำงานให้

       ถ้าคุณทำธุรกิจในลักษณะจ้างรับเหมา คือคุณหาวัสดุ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์มาทำงานเอง คุณอาจจะเปลี่ยนวิธีการรับรู้รายได้ของคุณ เพื่อลดภาระภาษีถูกหัก ณ ที่จ่าย เช่น

       คุณรับจ้างรับเหมา 10,000 บาท โดยปกติคุณจะต้องถูกหัก ณ ที่จ่าย 300 บาท นั่นคือได้เงินจริงๆ 9,700 บาท และ 300 บาทนั้นคุณก็อาจจะไม่กล้าขอคืนจากสรรพากรด้วย

       แต่ถ้าคุณรู้อยู่แล้วว่ามันมีต้นทุนค่าวัสดุอุปกรณ์อยู่ 4,000 บาท คุณก็ทำสัญญาเฉพาะค่าแรงเหมือนเป็นการจ้างทำงาน หรือจ้างทำของให้อย่างเดียว 6,000 บาท คุณจะถูกหัก ณ ที่จ่ายแค่ 180 บาทเท่านั้น ส่วนค่าวัสดุอุปกรณ์ที่เหลือเป็นความรับผิดชอบของผู้ว่าจ้าง (ซึ่งคุณเองอาจจะเป็นคนไปช่วยหาให้แทนลูกค้าตามปกติก็ได้)

       วิธีนี้จะช่วยอีกเรื่องคือถ้าเอกสารของวัสดุอุปกรณ์ไม่เรียบร้อย คุณก็ไม่ต้องรับผิดชอบตรงจุดนี้ด้วย เพราะค่าวัสดุเป็นความรับผิดชอบของลูกค้าเอง วิธีการนี้ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ทำเองได้เลยครับ แค่เปลี่ยนวิธีการรับรู้รายได้ และการทำสัญญา คุณก็ไม่ต้องถูกหัก ณ ที่จ่ายเยอะๆโดยไม่จำเป็น เพราะคุณก็คงไม่กล้าขอคืนภาษีที่ถูกหักไว้อยู่แล้ว

4. ทำเอกสารรายจ่ายอย่างถูกต้อง

       ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ส่วนหนึ่งเลยถูกนำไปเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้ามโดยที่ไม่จำเป็น เพราะว่าผู้ขายอาจจะไม่ได้มีหลักฐานการรับชำระเงิน หรือใบเสร็จที่สมบูรณ์ให้ แต่จริงๆแล้วสรรพากรก็มีวิธีต่างๆให้เราได้เลือกใช้ เพื่อที่แม้ว่าเราจะไม่ได้รับใบเสร็จที่สมบูรณ์ โดยการ

4.1 ทำใบสำคัญจ่าย และให้ผู้รับเงินเซ็น พร้อมสำเนาบัตรประชาชน

4.2 จ่ายเงินผ่านบัญชีธนาคาร (ถือว่าสามารถระบุผู้รับเงินได้แล้ว)

4.3 จ่ายด้วยเช็คขีดคร่อมผู้รับเงินไว้ (ถือว่าสามารถระบุผู้รับเงินได้แล้ว)

       หรือพยายามหา Supplier ที่สามารถออกเอกสารที่ถูกต้องได้ เพราะว่าถ้าเค้าไม่สามารถออกเอกสารที่ถูกต้องให้กับคุณ ต้นทุนคุณจะเพิ่มขึ้นมา 15-20% จากการที่ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นนั่นเอง

5. ใช้ขาดทุนสะสมมาหักภาษี

       หลายกิจการลืมเอาขาดทุนภายใน 5 ปีมาหักค่าใช้จ่ายภาษีได้ เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก ทำให้คุณต้องเสียภาษีมากกว่าที่ควร ผู้ประกอบการทุกคนอย่าลืมเตือนนักบัญชีของคุณด้วยนะครับ ว่าสามารถยกผลขาดทุนสะสม 5 ปีมาใช้ได้

       นี่เป็นส่วนหนึ่งของเทคนิคการประหยัดภาษี การจัดการงานภาษีได้อย่างถูกต้องและถูกกฎหมาย ย่อมดีกว่านะครับ