ใบกำกับภาษีคืออะไร และตัวอย่างใบกํากับภาษีเป็นอย่างไร

ใบกำกับภาษี หรือ Tax Invoice เป็นหนึ่งในเอกสารที่มีความสำคัญกับการทำธุรกิจที่ผู้ประกอบการทุกคนควรรู้และควรทำความรู้จักกับมันจริงๆ ไม่ใช่แค่ฟังต่อๆ กันมา หรือรู้จักเพียงตัวอย่างใบกำกับภาษีเท่านั้น สิ่งที่สำคัญเลยคือการที่คุณจะได้เรียนรู้และทำความเข้าใจว่าใบกำกับภาษีคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร และดูตัวอย่างใบกำกับภาษีได้ที่ภาพด้านล่าง ดังนั้น ในบทความนี้จะเปรียบเทียบทั้งข้อกฎหมายและวิธีที่นิยมปฏิบัติกัน เพื่อที่จะได้เข้าใจมันอย่างแท้จริงทั้งภาคทฤษฎี (กฎหมาย) และภาคปฏิบัติ (ที่คนนิยมทำกัน) 

ใบกำกับภาษีเป็นเอกสารที่ผู้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ผู้ขายที่จด VAT) ต้องออกให้ผู้ซื้อสินค้า หรือผู้รับบริการ (ผู้ซื้อ) เพื่อแสดงมูลค่าสินค้าหรือบริการ และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งฝั่งผู้ซื้อก็จะนำเอกสารนี้ไปใช้เป็นภาษีซื้อ ส่วนผู้ขายเองก็เป็นหลักฐานในการทำภาษีขาย ดูตัวอย่างใบกำกับภาษีได้ที่ภาพด้านล่าง

ตัวอย่างใบกำกับภาษี

ใบกำกับภาษีต้องมีรายละเอียดของบริษัทและลูกค้าครบถ้วน ทั้งเลขที่นิติบุคคล, ชื่อ, ที่อยู่, และต้องมีข้อมูลสำคัญอื่นๆ เช่น เลขที่ใบกำกับภาษี, วันที่ออก, ข้อมูลสินค้า, ราคาสินค้า, จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งในตัวอย่างใบกำกับภาษีนั้นจะเห็นได้ว่ามีรายละเอียดสำคัญที่ต้องกรอกลงไปในใบกำกับภาษีจริงๆ นอกจากนี้แล้วตัวอย่างใบกำกับภาษีนั้นอาจจะไม่เหมือนกับตัวอย่างใบเสร็จรับเงิน ซึ่งคุณสามารถดูและทำความเข้าใจความแตกต่างได้ง่ายๆ ดังตัวอย่างใบกำกับภาษีในภาพ

ผู้ที่มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษี

สำหรับผู้ที่มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีนั่นก็คือ “ผู้ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม” หรือ ผู้ประกอบกิจการ ทั้งในรูปแบบบุคคลธรรมดา (กรณีที่ไม่ได้เปิดบริษัท) หรือนิติบุคคล (กรณีที่เปิดบริษัท) ที่จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร ซึ่งหากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านต่อปี ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

หากมีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

โดยกิจการจะต้องยื่นขอจดทะเบียนภายใน 30 วัน นับจากวันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทในปีนั้น เช่น ถ้าคุณทำธุรกิจ และคุณมีรายได้ครบ 1.8 ล้านบาท ในวันที่ 30 มิถุนายน คุณต้องไปยื่นขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายในวันที่ 30 กรกฎาคม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารายได้คุณจะยังไม่ถึง 1.8 ล้านบาท แต่ถ้าต้องการเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ยังสามารถจด VAT ได้ รายละเอียดเพิ่มเติม อ่านต่อได้ที่ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มดีหรือไม่

การออกใบกำกับภาษี เป็นหน้าที่ของผู้ที่จด VAT ครับ นั่นหมายความว่าคุณไม่ได้มีทางเลือกว่าจะออก หรือไม่ออกก็ได้ ถ้าคุณขายสินค้า หรือให้บริการ คุณก็ต้องออกใบกำกับภาษีด้วยทุกครั้ง เว้นแต่จะเป็นไปตามข้อยกเว้นนี้

การขายสินค้า หรือให้บริการรายย่อย ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้

การขายสินค้า หรือให้บริการรายย่อยที่มีมูลค่าครั้งละไม่เกิน 1,000 บาท ถ้าลูกค้าไม่ได้ขอ ก็ไม่ต้องออกใบกำกับภาษีก็ได้ (ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ) โดยที่

  • ผู้ขายสินค้า หรือให้บริการ ไม่เคยมีฐานภาษี (รายได้) ในเดือนใดถึง 300,000 บาท 
  • ผู้ขายสินค้า หรือให้บริการ ที่มีสถานประกอบการเป็นรถเข็น แผงลอย 
  • การให้บริการการแสดง การเล่น กีฬา ที่มีการขายตั๋วให้กับผู้เข้าชม หรือผู้เข้าร่วมแข่งขัน 
  • การประกอบกิจการโทรศัพท์สาธารณะ
  • การประกอบกิจการทางพิเศษ หรือทางหลวงสัมปทาน 
  • การประกอบกิจการสนามบิน
  • การประกอบการกิจการขนส่งมวลชน
  • การขายน้ำมันเชื้อเพลิงของสถานบริการน้ำมัน

โทษของการขายสินค้า หรือบริการ แต่ไม่ได้ออกใบกำกับภาษี 

การขายสินค้า หรือให้บริการของผู้ที่จด VAT แต่ไม่ได้ออกใบกำกับภาษี หรือเมื่อลูกค้าขอใบกำกับภาษี แต่ไม่ให้ใบกำกับภาษี จะมีโทษครั้งละ 5,000 บาท และมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน

ผู้ที่ห้ามไม่ให้ออกใบกำกับภาษี คือ

1. ผู้ที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม 
แน่นอนครับ เนื่องจากใบกำกับภาษีเป็นผู้ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือจด VAT ดังนั้นผู้ประกอบการที่ไม่ได้จด VAT ออกใบกำกับภาษีไม่ได้นะครับ และรวมไปถึงใบกำกับภาษีที่ได้รับจากคนที่ไม่ได้จด VAT ก็ไม่ถือเป็นใบกำกับภาษีที่ใช้ได้ตามกฎหมายเช่นกัน ดังนั้นถ้าเราไปได้รับใบกำกับภาษีมาจากผู้ขายที่ไม่ได้จด VAT ก็ให้ระวังไว้ด้วยว่าอย่านำไปใช้ ไม่งั้นเราเองนี่แหละจะโดนค่าปรับ

2. ผู้ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ไม่ได้มีการขายสินค้าหรือให้บริการจริง 
ผู้ประกอบการที่จด VAT จริง แต่ว่าไม่มีการขายสินค้าหรือให้บริการจริง ก็ไม่ได้สามารถออกใบกำกับภาษีได้ และใบกำกับภาษีที่ได้รับมาก็ไม่สามารถใช้เป็นภาษีซื้อได้เช่นกัน หรืออันที่เขาเรียกกันว่า “ใบกำกับภาษีปลอม” นั่นเอง

การออกใบกำกับภาษีปลอมนั้น เป็นอันตรายต่อทั้งผู้ที่ออกและผู้ที่นำเอาภาษีซื้อนั้นไปใช้ เพราะว่าจะมีความผิดทั้งผู้ออกและผู้ที่ใช้ภาษีซื้อ และมีโทษจำคุกอีกด้วย ไม่ใช่แค่โทษปรับเพียงอย่างเดียว

หวังว่าในบทความนี้ คุณผู้อ่านจะเข้าใจเกี่ยวใบการออกใบกำกับภาษีมากขึ้น ว่าใครมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษี ดูตัวอย่างใบกำกับภาษี และเข้าใจว่าเราสามารถยกเว้นการออกใบกำกับภาษีได้ในกรณีไหน และใครที่ไม่สามารถออกได้ สำหรับความรู้อื่นๆ เกี่ยวกับใบกำกับภาษี สามารถดูได้ที่ด้านล่างนี้

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความชุด “ใบกำกับภาษีต้องรู้”