tax-important-purchasetax
Table of Contents

ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีหน้าที่ต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ ซึ่งในบทความนี้จะนำเสนอข้อควรรู้เกี่ยวกับภาษีซื้อ เพื่อเป็นแนวทางแก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในการจัดการเรื่องภาษีซื้อได้อย่างถูกต้อง

ภาษีซื้อ (Input Tax) คืออะไร

ภาษีซื้อคืออะไร

ภาษีซื้อ คือ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้จ่ายให้กับผู้ขายหรือผู้ให้บริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมี 4 กรณีดังนี้

  1. เมื่อซื้อสินค้า อุปกรณ์ต่างๆ หรือชำระค่าบริการเพื่อใช้ในการประกอบกิจการ
  2. เมื่อนำเข้าสินค้า
  3. เมื่อชำระราคาสินค้าหรือค่าบริการให้กับผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรซึ่งได้เข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราว
  4. เมื่อชำระค่าบริการให้กับผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร 

ข้อควรรู้เกี่ยวกับภาษีซื้อ

  1. ภาษีซื้อต้องห้าม คือ ภาษีซื้อที่กฎหมายไม่ให้นำมาหักออกจากภาษีขาย หรือขอคืนภาษีซื้อ 
  2. การเฉลี่ยภาษีซื้อ คือ การปันส่วนภาษีซื้อของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ประกอบกิจการทั้งได้จดและไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นภาษีซื้อที่เกิดจากการนำสินค้าหรือบริการที่ได้รับในการประกอบกิจการของตนเอง ไปใช้ในกิจการทั้งที่ได้จดและไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งไม่สามารถแยกได้ว่าใช้ในกิจการใด (หากไม่เฉลี่ยภาษีซื้อ จะถือว่าภาษีซื้อทั้งจำนวนเป็นภาษีซื้อต้องห้าม)

ภาษีซื้อต้องห้าม

ภาษีซื้อต้องห้ามมีลักษณะดังต่อไปนี้

ลักษณะของภาษีซื้อต้องห้าม

1. กรณีไม่มีใบกำกับภาษี ใบกำกับภาษีสูญหาย หรือไม่อาจแสดงใบกำกับภาษีได้

1.1 กรณีไม่มีใบกำกับภาษี เนื่องจากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการไม่ออกใบกำกับภาษี หรือออกใบกำกับภาษีแต่ระบุชื่อบุคคลอื่น
1.2 ใบกำกับภาษีสูญหายหรือไม่อาจแสดงใบกำกับภาษีได้ ในกรณีที่ได้ซื้อสินค้าหรือรับบริการจริง แต่ไม่อาจแสดงต่อเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรได้ ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยการร้องขอใบแทนใบกำกับภาษีจากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่ออกใบกำกับภาษี เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการนำภาษีซื้อไปหักจากภาษีขายหรือขอคืนภาษีซื้อ                                                                                                                    

2. กรณีใบกำกับภาษีมีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด

ใบกำกับภาษีที่นำมาหักภาษีขายหรือขอคืนภาษีซื้อ ต้องเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป โดยต้องมีรายการดังต่อไปนี้
2.1 คำว่า “ใบกำกับภาษี” สามารถมองเห็นได้ชัดเจน
2.2 รายการ ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ออกใบกำกับภาษี
2.3 รายการ ชื่อ และที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
2.4 รายการ และหมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี
2.5 รายการ ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือบริการ
2.6 รายการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการ โดยแยกออกจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการให้ชัดเจน
2.7 รายการ วัน เดือน และปีที่ออกใบกำกับภาษี หากใบกำกับภาษีฉบับใดมีข้อความไม่ครบถ้วนดังที่กฎหมายกำหนดข้างต้น ภาษีซื้อนั้นจะถือเป็นภาษีซื้อต้องห้าม

3. ภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจการของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

ภาษีซื้อที่นำมาหักออกจากภาษีขายหรือนำมาขอคืนได้นั้น ต้องเป็นภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายเพื่อกิจการหรือเพื่อแสวงหากำไรของกิจการ หากภาษีซื้อนั้นไม่เกี่ยวข้องกับกิจการจะถือเป็นภาษีซื้อต้องห้าม

4. ภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายเพื่อการรับรอง หรือเพื่อการอื่นใดอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน

รายจ่ายเพื่อการรับรอง หรือเพื่อการอื่นใดอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน ได้แก่ ค่ารับรองหรือค่าบริการ ไม่ว่าจะจ่ายเพื่อการรับรอง หรือให้บริการแก่บุคคลใดก็ตาม และไม่ว่าจะเป็นการให้ประโยชน์แก่กิจการหรือไม่ก็ตาม ได้แก่ ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่าที่พัก ค่ามหรสพ ค่าใช้จ่ายเพื่อการกีฬา รวมถึงค่าสิ่งของหรือประโยชน์อื่นใดที่ให้แก่บุคคลที่ได้รับการรับรองหรือรับบริการ หรือที่ให้บุคคลอื่น

5. ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ไม่มีสิทธิ์ออกใบกำกับภาษี

ผู้ไม่มีสิทธิ์ออกใบกำกับภาษีมีดังต่อไปนี้
5.1 บุคคลที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
5.2 ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่อยู่นอกราชอาณาจักร และมีตัวแทนออกใบกำกับภาษีในนามผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
5.3 ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ทรัพย์สินถูกขายทอดตลาด หรือขายโดยวิธีอื่น โดยบุคคลอื่น

6. ภาษีซื้อตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)

ภาษีซื้อตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) ซึ่งเป็นภาษีซื้อต้องห้ามมีดังนี้
6.1 ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ เช่า หรือรับโอนรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต
6.2 ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีอย่างย่อ
6.3 ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อทรัพย์สินเพื่อใช้ หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
6.4 ภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์อื่น เพื่อนำมาใช้ในกิจการของตนเอง ซึ่งเป็นกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่อมาผู้ประกอบการได้ขายหรือให้เช่าอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์นั้น หรือนำไปใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 3 ปี นับแต่เดือนภาษีที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์
6.5 ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีรายการในใบกำกับภาษี ไม่ได้พิมพ์หรือจัดทำขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์ กรณีจัดทำใบกำกับภาษีด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ
6.6 ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนดในใบกำกับภาษีที่ไม่ได้ทำขึ้นด้วยวิธีการตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
6.7 ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีเต็มรูปตาม 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีรายการในใบกำกับภาษีเป็นสำเนา (Copy) แต่ไม่รวมถึงใบกำกับภาษีที่ได้จัดทำรวมกับเอกสารทางการค้าอื่นซึ่งมีจำนวนหลายฉบับ และใบกำกับภาษีมีรายการในใบกำกับภาษีเป็นสำเนามีข้อความว่า “เอกสารออกเป็นชุด” ปรากฏอยู่ด้วย
6.8 ภาษีซื้อส่วนที่เฉลี่ยเป็นของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งได้คำนวณตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
6.9 ภาษีที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการ ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนฯ นำมาใช้ หรือจะใช้ในการประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มใช้สิทธิ์เลือกไม่นำภาษีซื้อทั้งหมดมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมีรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ของกิจการทั้งหมด
6.10 ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีเต็มรูป ซึ่งรายการได้ถูกแก้ไข เปลี่ยนแปลงเป็นภาษีซื้อต้องห้าม เว้นแต่รายการซึ่งได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
6.11 ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ หรือรับโอนรถยนต์ที่ไม่ใช่รถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งเกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และต่อมาภายใน 3 ปีนับแต่เดือนที่ได้รถยนต์ไว้ในครอบครอง ได้มีการดัดแปลงรถยนต์ดังกล่าวเป็นรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต
6.12 ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีเต็มรูปซึ่งมีรายการ ชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษี ตามมาตรา 86/4 (2)  แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ได้พิมพ์ขึ้นหรือจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ กรณีจัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ                   

ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีซื้อต้องห้ามนั้นกฎหมายไม่ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนฯ นำมาหักจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มหรือนำมาขอคืน แต่ภาษีซื้อต้องห้ามมีทั้งประเภทที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายทางภาษีในการคำนวณกำไรสุทธิ และประเภทที่กฎหมายไม่ให้นำมาหักเป็นรายจ่ายทางภาษีในการคำนวณกำไรสุทธิ 

สำหรับภาษีซื้อต้องห้ามที่กฎหมายไม่ให้นำมาหักเป็นรายจ่ายทางภาษีในการคำนวณกำไรสุทธิ ได้แก่

  1. กรณีไม่มีใบกำกับภาษี ใบกำกับภาษีสูญหาย หรือไม่อาจแสดงใบกำกับภาษีได้ว่ามีการชำระภาษีซื้อ
  2. กรณีใบกำกับภาษีมีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ
  3. กรณีภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของผู้ประกอบการ
  4. ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ไม่มีสิทธิ์ออกใบกำกับภาษี                                                                                  

การเฉลี่ยภาษีซื้อ

สำหรับการเฉลี่ยภาษีซื้อโดยทั่วไป มีวิธีการเฉลี่ยภาษีซื้อ 2 วิธี ดังนี้

1. กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนเพิ่งเริ่มประกอบการ หรือประกอบกิจการแล้วแต่ยังไม่มีรายได้

มีหลักเกณฑ์ในการเฉลี่ยภาษีซื้อดังต่อไปนี้                                                                             

1.1 การประมาณการรายได้ของกิจการของปีที่เริ่มมีรายได้ ทั้งกิจการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและกิจการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคาดการณ์ว่าปีใดจะเป็นปีที่เริ่มมีรายได้ และแต่ละประเภทกิจการจะมีรายได้เท่าไร ให้เฉลี่ยภาษีซื้อตามสัดส่วนของรายได้ สำหรับ “ปีที่เริ่มมีรายได้” หมายถึง ปีแรกที่มีรายได้เกิดขึ้นจริง โดยมีระยะเวลาในปีแรกไม่น้อยกว่า 6 เดือนขึ้นไป โดยมีวิธีพิจารณาดังนี้
ก. ถ้าผู้ประกอบการจดทะเบียนฯ เป็นบุคคลธรรมดา ต้องมีรายได้ของกิจการทั้งสองประเภทอย่างน้อยเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคมขึ้นไป จึงจะถือว่าเป็นปีที่เริ่มมีรายได้
ข. ถ้าผู้ประกอบการจดทะเบียนฯ เป็นนิติบุคคล ต้องมีรายได้ของกิจการทั้งสองประเภทอย่างน้อย 6 เดือนภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกัน เช่น บริษัท กขค จำกัด มีรอบระยะเวลาบัญชี 1 เมษายน 2564 ถึง 31 มีนาคม 2565 ต้องเริ่มมีรายได้อย่างน้อยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นไป จึงจะถือว่ารอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวเป็น “ปีที่เริ่มมีรายได้”       ทั้งนี้แม้จะประมาณการรายได้เท่าไรก็ตาม ในการเฉลี่ยภาษีซื้อดังกล่าวจะนำภาษีซื้อที่เฉลี่ยได้ตามส่วนของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม มาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเกินกึ่งหนึ่งของภาษีซื้อที่นำมาเฉลี่ยไม่ได้                                                                     

1.2 การปรับปรุงภาษีซื้อ เมื่อทราบว่าปีใดเป็นปีที่เริ่มมีรายได้แล้ว
ก. การปรับปรุงภาษีซื้อ ให้ทำในเดือนภาษีถัดจากเดือนภาษีสุดท้ายของปีที่เริ่มมีรายได้
ข. ให้ปรับปรุงภาษีซื้อตั้งแต่เดือนภาษีแรกที่ได้เฉลี่ยภาษีซื้อถึงเดือนภาษีสุดท้ายของปีที่เริ่มมีรายได้                   
ค. ในการปรับปรุงภาษีซื้อ ให้ปรับปรุงโดยการนำภาษีซื้อจำนวนที่เฉลี่ยตามประมาณการมาเปรียบเทียบกับการเฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของฐานรายได้ที่เกิดขึ้นจริง
ง. ยื่นปรับปรุงด้วยแบบ ภ.พ.30.2 โดยยื่นเพียงฉบับเดียว โดยปรับปรุงเป็นยอดรวมตั้งแต่เดือนแรกที่มีภาษีซื้อที่ต้องเฉลี่ยเกิดขี้น (ไม่ต้องแยกยื่นเป็นรายเดือน) และให้ยื่นภายในวันที่ 15 ของเดือนภาษีถัดจากเดือนภาษีที่มีการปรับปรุงภาษีซื้อ 

2. กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนฯ ประกอบการแล้ว มีรายได้ของปีที่ผ่านมา (รายได้ของปีก่อนปีปัจจุบัน 1 ปี)

เมื่อผู้ประกอบการเริ่มมีรายได้แล้ว ปีถัดจากปีที่เริ่มมีรายได้เป็นต้นไป ให้เฉลี่ยภาษีซื้อตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้                                                                                                                                                                          

 2.1 เฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ของปีที่ผ่านมาโดยไม่ต้องปรับปรุงภาษีซื้อเมื่อสิ้นปีอีก หรือ                             

 2.2 เฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ของปีที่ผ่านมา แล้วปรับปรุงภาษีซื้อให้เป็นไปตามส่วนของรายได้ที่เกิดขึ้นจริงทั้งปีของกิจการทั้งสองประเภทตอนสิ้นปี โดยนำหลักเกณฑ์ของการปรับปรุงภาษีซื้อของปีที่ยังไม่มีรายได้ หรือปีที่เริ่มมีรายได้มาใช้    

2.3 เมื่อได้เลือกปฏิบัติเป็นอย่างใดแล้วให้ถือปฏิบัติเป็นอย่างเดียวกันตลอดไปเว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เปลี่ยนแปลงจึงจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้       

แนวปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีซื้อต้องห้ามและการเฉลี่ยภาษีซื้อดังที่กล่าวมา จะช่วยเป็นแนวทางสำหรับผู้ประกอบการในการวางแผนและบริหารจัดการภาษีของกิจการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกิจการ                                                   

ติดตามความรู้ภาษีและบัญชีจากโปรแกรมบัญชี PEAK ได้ที่ peakaccount.com

หรือเข้าใช้งานโปรแกรม คลิก เข้าสู่ระบบ PEAK

อ้างอิง:

ภาษีซื้อ คืออะไรอ่านบทความนี้ไม่ปวดหัวแน่ๆ | Station Account (station-account.com)
เรื่องน่ารู้ของการ “เฉลี่ยภาษีซื้อ” | getInvoice
เอกสารกรมสรรพากร: การเฉลี่ยภาษีซื้อ โดยนางสาว กัลยานี ยิ้มย่อง
เอกสารกรมสรรพากร : ภาษีซื้อต้องห้าม