ทำไมนักบัญชีต้องเก็บชั่วโมง cpd

อาชีพนักบัญชีนอกจากจะต้องทำบัญชีและยื่นภาษีแล้ว ในแต่ละปีนักบัญชีที่เป็นผู้ทำบัญชีของแต่ละกิจการต้องเข้าอบรมความรู้ทางด้านบัญชีและภาษี หรือที่เรียกกันว่าเก็บชั่วโมงCPD  CPD ย่อมาจากคำว่า Continuing Professional Development หมายถึงการพัฒนาความรู้ทางวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง เป็นการเพิ่มพูนความรู้และอัปเดตความรู้ใหม่ๆให้กับนักบัญชี

ชั่วโมง CPD คืออะไร

ชั่วโมง CPD คือจำนวนชั่วโมงในการอบรมสัมมนาหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่กำหนดให้นับชั่วโมงCPDได้ 

ตามประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่องกำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชี พ.ศ.2557 ข้อ6(3) ได้กำหนดกิจกรรมที่สามารถนับชั่วโมงCPD ได้ดังนี้

1 การอบรมหรือสัมมนา 

การอบรมสัมมนาหลักสูตรด้านบัญชีหรือหลักสูตรอื่นเช่นภาษีอากร ซึ่งหน่วยงานที่จัดอบรมจะแจ้งล่วงหน้าว่าหลักสูตรใดนับชั่วโมงCPD เป็นชั่วโมงการบัญชีเท่าใดเป็นชั่วโมงอื่นๆเท่าใด ทั้งนี้รวมถึงการอบรมหรือสัมมนาในรูปแบบสื่อทางอิเล็กทรอนิกส์(e-learning)ด้วย

ตามประกาศสภาวิชาชีพบัญชีที่ 94/2560 ได้ระบุหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดอบรมหรือสัมมนาหลักสูตร CPD ไว้ดังนี้

ก สภาวิชาชีพบัญชี

ข กระทรวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า

ค สถาบันการศึกษา

ง หน่วยงานภายในที่เป็นต้นสังกัดของผู้รับการอบรมหรือการประชุมสัมมนา

จ หน่วยงานอื่น

โดยหน่วยงานในช้อ(ง)-(จ) ต้องได้รับความเห็นชอบตามหลักเกณฑ์ที่สภาวิชาชีพบัญชีประกาศกำหนด

2 การเป็นวิทยากร ผู้บรรยาย ผู้ดำเนินการสัมมนาในกิจกรรมอบรมสัมมนาในข้อ (1)

3 การเป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษาของรัฐ หรือสถาบันการศึกษาของเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันการศึกษาของเอกชน ซึ่งมีการสอนไม่ต่ำกว่าระดับอนุปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) ทางการบัญชีหรือเทียบเท่า ไม่ว่าจะเป็นการสอนในฐานะอาจารย์ประจำหรืออาจารย์พิเศษ

4 การสำเร็จการศึกษาในคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพบัญชีไม่ว่าคุณวุฒิใหม่นั้นจะสูงกว่าคุณวุฒิเดิมหรือไม่ก็ตาม

5 การผ่านการศึกษาเฉพาะรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพบัญชีจากสถาบันการศึกษาของรัฐ หรือสถาบันการศึกษาของเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันการศึกษาเอกชนซึ่งมีการสอนไม่ต่ำกว่าระดับอนุปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) ทางการบัญชีหรือเทียบเท่า

6 กิจกรรมอื่น นอกจากที่ระบุตาม (1)-(5) ตามที่สภาวิชาชีพบัญชีประกาศกำหนด

ทำไมนักบัญชีต้องอบรมเก็บชั่วโมง CPD

ตามประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่องกำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชี พ.ศ.2557 ซึ่งออกตามความในมาตรา7(6) แห่งพระราชบัญญัติการบัญชีพ.ศ.2543 กำหนดว่า ผู้ทำบัญชีต้องเข้ารับการพัฒนาต่อเนื่องทางวิชาชีพ เพื่อมิให้ขาดคุณสมบัติการเป็นผู้ทำบัญชีตามกฎหมาย และเป็นการพัฒนาความรู้ในวิชาชีพบัญชีอย่างต่อเนื่อง

หลักเกณฑ์การเก็บชั่วโมงCPD ของผู้ทำบัญชี

ในการเก็บชั่วโมงCPDของผู้ทำบัญชีมีหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

1 ผู้ทำบัญชีต้องเข้ารับการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพบัญชี ไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมงต่อปี โดยต้องอบรมภายในวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม ของทุกปี 

2 จำนวนชั่วโมงในการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพ ต้องมีเนื้อหาเกี่ยวกับการบัญชี ไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมงตามที่สภาวิชาชีพบัญชีกำหนด หมายถึงในจำนวน 12 ชั่วโมงจะเป็นเนื่อหาเกี่ยวกับการบัญชีทั้ง12 ชั่วโมง หรือ เป็นเนื้อหาทางบัญชึ 6 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อยส่วนที่เหลือที่ต้องเก็บให้ครบ 12 ชั่วโมงเป็นเนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ภาษีอากร เป็นต้น

3 กรณีผู้ทำบัญชีที่แจ้งเป็นผู้ทำบัญชีปีแรก และระยะเวลาที่เหลือหลังจากการแจ้งนั้นจนถึงสิ้นปีน้อยกว่า 6 เดือน ให้เริ่มเก็บชั่วโมง CPD ได้ในปีถัดไป เช่น ผู้ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำบัญชีในเดือนพฤศจิกายน 2563 ไม่ต้องอบรมCPD ในปี2563 แต่ให้เริ่มเก็บชั่วโมงCPD ในปี 2564 

ช่องทางการแจ้งชั่วโมง CPD

เมื่อผู้ทำบัญชีทำกิจกรรมเพื่อนับชั่วโมงCPDแล้ว มีหน้าที่ต้องแจ้งต่อสภาวิชาชีพบัญชี ภายในเวลาไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันสิ้นปี(ภายในวันที่ 30 มกราคม ของปีถัดไป) ซึ่งสามารถแจ้งผ่านระบบออนไลน์ได้ 2 ช่องทางคือ

1 เว็บไซต์สภาวิชาชีพบัญชี

ซึ่งมีขั้นตอนในการแจ้งชั่วโมงCPDดังต่อไปนี้

1.1 เข้าสู่ www.tfac.or.th 

1.2 ไปยังเมนู บริการ>ผู้ทำบัญชี>แจ้งพัฒนาความรู้ต่อเนื่องCPD

1.3 เมื่อเข้าสู่หน้าจอ CPD Online Login ระบบจะให้กรอกเลขบัตรประชาชนและกรอกรหัสผ่าน

แล้วกดเข้าสู่ระบบ ดังรูป

รูปที่1  หน้าจอ CPD Online Login

1.4 จากนั้นผู้ทำบัญชีทำการกรอกข้อมูลเพื่อบันทึกชั่วโมงCPD สำหรับการอบรมหรือสัมมนาให้กรอกรหัสหลักสูตรด้านล่างซ้ายของหน้าจอ โดยรหัสหลักสูตรจะเป็นเลข 14 หลัก ขึ้นต้นด้วยปีพ.ศ. เมื่อกรอกรหัสหลักสูตรแล้วระบบจะทำการค้นหาชื่อหลักสูตรและระบุจำนวนชั่วโมงCPDของผู้ทำบัญชีแยกเป็นชั่วโมงการบัญชีและชั่วโมงอื่นๆตามที่หลักสูตรนั้นกำหนดไว้

ตัวอย่างเช่น

รหัสหลักสูตร 6208-01-001-047-02 

เมื่อกรอกรหัสหลักสูตรแล้วชื่อหลักสูตรจะแสดงขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ได้แก่ การบริหารความเสี่ยงขั้นพื้นฐาน-COSO ERM 2017 รุ่นที่2/62 เป็นหลักสูตรที่จัดอบรมในปี 2562 ซึ่งระบุจำนวนชั่วโมงCPD เป็นชั่วโมงการบัญชี จำนวน 7 ชั่วโมง เมื่อการบันทึกข้อมูลเรียบร้อยข้อมูลจะแสดงในระบบแยกตามปีที่เข้าอบรม ดังรูป

รูปที่2 หน้าจอสำหรับบันทึกข้อมูลหลักสูตรที่ผู้ทำบัญชีเข้าอบรม

2 เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

2.1 เข้าสู่ www.dbd.go.th 

2.2 ไปยังเมนูบริการออนไลน์>การกำกับบัญชีและธุรกิจ>ผู้ทำบัญชี(e-Accountant) 

จากนั้นเลือกเข้าสู่ระบบงานผู้ทำบัญชี(e-Accountant) กดยอมรับ

2.3 เมื่อเข้าสู่หน้าจอเพื่อ Login เข้าสู่ระบบผู้ทำบัญชี ระบบจะให้กรอกเลขที่บัตรประชาชน และกรอกรหัสผ่านเพื่อเข้าสู่ระบบ ดังรูป

รูปที่3 หน้าจอเข้าสู่ระบบผู้ทำบัญชี

2.4 เลือกเมนูแจ้งพัฒนาความรู้ต่อเนื่อง (CPD) 

รูปที่4 เมนูแจ้งพัฒนาความรู้ต่อเนื่อง(CPD)

2.5 ระบบจะเชื่อมต่อไปยังเว็บไซต์ของสภาวิชาชีพบัญชีในข้อ1.4 สำหรับบันทึกข้อมูลหลักสูตรที่ผู้ทำบัญชีเข้าอบรม

นอกจากนี้ผู้ทำบัญชีต้องเก็บหลักฐานการอบรมหรือเข้าร่วมกิจกรรมCPD เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปีนับแต่วันสิ้นสุดการอบรมหรือเข้าร่วมกิจกรรมในแต่ละครั้ง

ถ้าผู้ทำบัญชียื่นชั่วโมงCPDไม่ครบหรือแจ้งไม่ทันภายในกำหนดเวลาจะมีผลอย่างไร

บทกำหนดโทษ

ผู้ทำบัญชีที่เก็บชั่วโมงCPD หรือแจ้งไม่ทันภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท 

แนวทางการแก้ไข

หากผู้ทำบัญชีได้รับจดหมายเรียกค่าปรับจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้ผู้ทำบัญชีไปดำเนินการชำระค่าปรับให้เรียบร้อย 

อย่างไรก็ตามผู้ทำบัญชีต้องพัฒนาความรู้ต่อเนื่อง(CPD)ให้ครบจำนวนชั่วโมงตามระยะเวลาที่ขาดหายไปให้ครบถ้วนแต่เมื่อรวมกันแล้วไม่เกิน 24 ชั่วโมง

ตัวอย่างเช่น

ในปี2563 ผู้ทำบัญชีอบรมCPDรวมทั้งสิ้น 5 ชั่วโมง ซึ่งไม่ครบ 12 ชั่วโมงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

ในปี 2564 ผู้ทำบัญชีต้องอบรมชดเชยของปี2563 อีก 7 ชั่วโมงให้ครบ ดังนั้นจำนวนชั่วโมงCPDทั้งสิ้น ในปี 2564 จะเป็น 7+12=19 ชั่วโมง

การอบรมCPD ในแต่ละปี นอกจากจะทำให้นักบัญชีไม่ขาดคุณสมบัติการเป็นผู้ทำบัญชีและไม่โดนค่าปรับแล้ว ประโยชน์ที่สำคัญคือเป็นการพัฒนาและอัปเดตความรู้ทางด้านบัญชี ภาษีอากรและอื่นๆที่เกี่ยวข้องให้กับนักบัญชีอย่างสม่าเสมอ ช่วยให้นักบัญชีปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลดีต่อองค์กรธุรกิจด้วยเช่นกัน

ติดตามความรู้จากโปรแกรมบัญชี PEAK ได้ที่ peakaccount.com
หรือเข้าใช้งานโปรแกรมคลิก เข้าสู่ระบบ PEAK