biz-starting-business-registration
การจดทะเบียน เริ่มต้นทำธุรกิจใหม่

เมื่อตัดสินใจว่าจะทำธุรกิจเป็นของตัวเองและมั่นใจแล้วว่าจะทำธุรกิจอะไร สิ่งที่คุณต้องตัดสินใจต่อไปคือเลือกว่าจะดำเนินธุรกิจในรูปแบบไหนดี วันนี้เรามาลองดูกันดีกว่าครับ ว่ามีธุรกิจรูปแบบไหนให้เราจดทะเบียนได้บ้าง

บุคคลธรรมดา

ลักษณะของกิจการประเภทนี้ เป็น “ธุรกิจเจ้าของคนเดียว” การตัดสินใจต่าง ๆ เป็นสิทธิของผู้เป็นเจ้าของเพียงคนเดียว รวมไปถึงการคิด และทำคนเดียว ซึ่งผลดีก็คือสามารถตัดสินใจสิ่งต่างๆได้ง่ายและรวดเร็ว ถ้าได้ผลตอบแทนก็ได้เต็มจำนวนคนเดียว แต่หากคิดในมุมกลับกัน หากธุรกิจขาดทุนขึ้นมา เจ้าของเพียงคนเดียวนี่แหละครับ ที่จะเจ็บหนักคนเดียวได้เหมือนกัน

ธุรกิจประเภทนี้เหมาะกับคนที่มีเงินทุนหมุนเวียนที่มากพอ เพราะจะไม่สามารถระดมทุนจากใครได้นอกจากตัวเอง และเครดิตของผู้ประกอบการเองครับ

การเสียภาษีของผู้ประกอบธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา จะเป็นไปตาม “อัตราก้าวหน้า” ซึ่งหมายความว่า ถ้ามีรายได้มาก ก็จะเสียภาษีมาก โดยอัตราภาษี สูงสุดอยู่ที่ 35% ของกำไรหลังหักค่าใช้จ่าย ซึ่งสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2 วิธี คือ

1. แบบเหมาจ่าย อัตราต้งแต่ 40% ถึง 85% แล้วแต่ประเภทธุรกิจ

2. ตามความจำเป็นและสมควร ซึ่งต้องมีหลักฐานประกอบการหักค่าใช้จ่ายพร้อมให้ตรวจสอบ เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วต่อมาก็สามารถหักค่าลดหย่อนส่วนตัวต่างๆได้ เช่น 40% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 60,000 บาท เป็นต้น

นิติบุคคล

เป็นรูปแบบธุรกิจที่มีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ที่ตกลงทำกิจการร่วมกันโดยมีวัตถุประสงค์จะแบ่งเป็นผลกำไร ตามอัตราส่วนที่แต่ละคนลงทุน ซึ่งแบ่งได้ เป็น 2 ประเภท คือ

1. ห้างหุ้นส่วนสามัญ

ลักษณะธุรกิจประเภทนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นนิติบุคคล โดยถ้าไม่จดทะเบียนจะมีสถานะเป็นคณะบุคคล ซึ่งผู้ถือหุ้นทุกคนจะต้องรับผิดชอบในหนี้สินไม่จำกัดจำนวน แต่ถ้าจดทะเบียน จะมีสถานะเป็นนิติบุคคล เรียกว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล” ครับ

การจัดทำบัญชีและเสียภาษีเงินได้ของคณะบุคคลจะเสียภาษีเงินได้เหมือนกับบุคคลธรรมดาที่แยกออกจากตัวบุคคล ถือเป็นบุคคลอีกคนหนึ่งตามมาตรา 56 วรรค (2) ของประมวลรัษฏากร นอกจากนี้เงินส่วนแบ่งกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ด้วย

2. ห้างหุ้นส่วนจำกัด

เป็นลักษณะธุรกิจที่ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ธุรกิจจะอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของผู้เป็นหุ้นส่วน โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

2.1 ผู้เป็นหุ้นส่วนรับผิดชอบในหนี้สินจำกัด ไม่เกินเงินที่ได้ลงทุนไป ซึ่งหุ้นส่วน ประเภทนี้จะไม่มีสิทธิในการตัดสินใจในกิจการ

2.2 ผู้เป็นหุ้นส่วนรับผิดชอบในหนี้สิน “ไม่จำกัดจำนวน” ในที่นี้คือ “หุ้นส่วนผู้จัดการ” ซึ่งหุ้นส่วนประเภทนี้จะมีหน้าที่รับผิดชอบ และมีสิทธิเต็มที่ในการตัดสินใจใน เรื่องต่าง ๆ ของกิจการ

การจัดทำบัญชีและเสียภาษี ห้างหุ้นส่วนจำกัดมีหน้าที่ต้องจัดทำบัญชี เหมือนกรณีตั้งบริษัท และเสียภาษีตามอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

3. บริษัทจำกัด

มีลักษณะการจัดตั้งบริษัทที่มีผู้ก่อตั้งไม่น้อยกว่า 3 คน โดยแต่ละคนจะต้องแบ่งเงินลงทุนเป็นหุ้นที่มีมูลค่าหุ้นละเท่าๆกัน ไม่เกินไปกว่าจำนวนหุ้นที่ชำระ ซึ่งการจดทะเบียนประเภทนี้สามารถระดมทุนได้มากและง่าย โดยการออกหุ้นเพิ่มให้แก่ผู้ลงทุนในธุรกิจ

การตัดสินใจในการบริหารงานของ “บริษัทจำกัด” เป็นในรูปของคณะกรรมการบริษัท ทำให้ได้รับความน่าเชื่อถือมากกว่าแบบบุคคลธรรมดา

ส่วนจะจดทะเบียนด้วยทุนเท่าไหร่ สามารถดูได้ที่นี่

ติดตามความรู้ของ #โปรแกรมบัญชีPEAK ได้ที่ peakaccount.com
หรือสมัคร เพื่อทดลองใช้โปรแกรม คลิก สมัครใช้งาน PEAK ฟรี 30 วัน