tax-fortune-teller

หมอดูเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน ด้วยกระแสความเชื่อของคนไทยในเรื่องโชคชะตาราศี การทำนายดวงชะตาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้อาชีพหมอดูเป็นอาชีพที่ได้รับความสนใจอย่างมากอาชีพหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการดูดวงความรัก การงาน การเงิน ปัจจุบันการดูดวงผ่านสื่อออนไลน์ได้รับความนิยมอย่างมากในรูปแบบการดูด้วยไพ่ยิปซี ไพ่ทาโรต์ ลายมือ หรือดูจาก วัน เดือน ปีเกิด มีหลายคนเกิดความสงสัยว่าอาชีพดูดวงต้องเสียภาษีหรือไม่ ถ้าต้องเสียภาษี เงินได้จากการดูดวงเป็นเงินได้ประเภทใด ยิ่งหมอดูที่มีชื่อเสียง มีผู้คนสนใจใช้บริการดูดวงจนมีรายได้ต่อปีเกิน 1.8 ล้านบาท ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่

รายได้จากอาชีพดูดวง

รายได้จากอาชีพดูดวง

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจถึงที่มาของรายได้จากอาชีพดูดวง โดยอาชีพหมอดูมีรายได้จากช่องทางต่างๆดังต่อไปนี้

1. ดูดวงช่องทางออนไลน์

ในยุคดิจิทัลการดูดวงผ่านสื่อออนไลน์เป็นบริการที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ผู้คนสามารถเข้าไปใช้บริการฟังดูดวงโดยรวมใน You Tube ทั้งที่แยกตามราศีลัคนาหรือการ live สดทำนายเปิดไพ่ยิปซีหรือไพ่ทาโรต์ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด หมอดูแต่ละคนจะมี Channel ของตนเอง โดยมีผู้เข้าไปกดติดตาม แชร์ หรือ เป็นสมาชิก ซึ่งรายได้ของหมอดูมาจากส่วนแบ่งรายได้จาก You Tube ในบาง Channel มียอดผู้เข้าฟังเกิน 100,000 วิวในการทำนาย หมอดูบางคนรับรีวิวสินค้าที่เกี่ยวกับโชคลาภตามความเชื่อ เช่น กระเป๋าสตางค์ หรือวัตถุมงคล เป็นต้น ยังมีการรับดูดวงส่วนตัวผ่านช่องทางไลน์ ซึ่งเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมมากโดยตกลงค่าบริการกับผู้สนใจดูดวงส่วนตัว แต่การดูดวงผ่านไลน์อาจจะต้องรอคิวนานยิ่งถ้าดูดวงกับหมอดูที่มีชื่อเสียง นอกจากนี้ยังมีการดูดวงผ่านแอพพลิเคชั่น สามารถเลือกหมอดูได้โดยพิจารณารีวิวจากลูกค้าและเลือกดูได้ตามงบประมาณของผู้สนใจดูดวง และมีบริการการดูดวงทั้งแบบ Video Call/Voice Call แบบส่วนตัว

2. ดูดวงช่องทางโทรศัพท์

          ก่อนหน้าที่ช่องทางออนไลน์จะเป็นช่องทางการสื่อสารที่ได้รับความนิยม การดูดวงทางโทรศัพท์ผ่านทางหมายเลข 1900 ตามด้วยรหัส 6 หลักหรือเรียกว่า ระบบ Audio Text เป็นบริการข้อมูลด้วยเสียงทางโทรศัพท์ โดยมีรายได้ค่าบริการคิดเป็นรายนาที ซึ่งเป็นช่องทางที่สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้หมอดูมาก่อน อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังมีผู้ให้บริการดูดวงทางโทรศัพท์ ซึ่งเน้นการดูดวงสด คุยสดสายตรงตัวต่อตัว โดยกำหนดเวลาประมาณ 5-15 นาที

3. การเปิดร้านรับดูดวง

          การรับดูดวงโดยเปิดเป็นร้านหรือสำนักงานในการประกอบการ โดยมีอาคารสำนักงานเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองหรือเช่าจากบุคคลอื่นโดยมีหลักฐานสัญญาเช่าสำนักงาน บางแห่งมีการจ้างพนักงาน มีการลงทุนจัดหาเครื่องมือในการดำเนินงาน เป็นต้น ในอดีตมีการดูดวง มีรายได้จากการให้บริการดูดวงจากลูกค้า walk-in หรือลูกค้าที่ทำการนัดหมายล่วงหน้า

เงื่อนไขของการเสียภาษี

รายได้จากอาชีพดูดวง ถือเป็นเงินได้ที่ต้องนำมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยพิจารณาแยกตามประเภทของรายได้ดังนี้

1. รายได้จาก You Tube ประกอบด้วย

  1. รายได้จากการโฆษณา รายได้มาจากส่วนแบ่งค่าโฆษณาที่แทรกในคลิป (Adsense) รวมทั้งรายได้จาก ผู้ใช้ YouTube Premium โดยพิจารณาจากยอดFollowerและยอดวิวทุกคลิปรวมกันใน 1 ปี ซึ่งถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร
  2. รายได้จากการรับรีวิวสินค้า (Sponsor Review) รายได้ส่วนนี้มาจากการที่หมอดูรับรีวิวสินค้า ซึ่งถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร

2. รายได้จากค่าบริการดูดวงออนไลน์, แอปพลิเคชันดูดวง และทางโทรศัพท์

รายได้ค่าบริการรับดูดวงถือเป็นเงินได้ตามมาตรา40(2) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อพิจารณาสาระสำคัญถือว่าเป็นการรับทำงานให้ ที่คำนึงถึงผลสำเร็จของงานเนื่องจากการทำนายโชคชะตาให้แก่ผู้ว่าจ้างเสร็จสิ้นถือเป็นผลสำเร็จของงาน

3. รายได้จากการเปิดร้านรับดูดวง

การเปิดร้านรับดูดวง เป็นรายได้จากการประกอบธุรกิจ มีการลงทุนจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ มีค่าใช้จ่ายสำนักงาน ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฏากร

สำหรับหมอดูที่มีชื่อเสียง และมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก ถ้ามีรายได้ต่อปีเกินกว่า 1.8 ล้านบาท จะต้องดำเนินการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย โดยการให้บริการดูดวงถือเป็นบริการตามคำนิยาม “บริการ” ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร ได้แก่ การกระทำใดๆอันหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า

และยื่นแบบของอาชีพดูดวง

การคำนวณและยื่นแบบภาษีของอาชีพดูดวง

ในการคำนวณและยื่นแบบภาษีสำหรับผู้มีเงินได้จากอาชีพดูดวงขึ้นอยู่กับประเภทของรายได้ที่กล่าวมา โดยจำแนกตามประเภทของภาษีที่เกี่ยวข้องได้ดังนี้

1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

กรณีเงินได้ประเภท 40(2) หักค่าใช้จ่ายร้อยละ 50 แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
กรณีเงินได้ประเภท 40(8) หักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามจริง

โดยผู้มีเงินได้ประเภท 40(2) และ 40(8) ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ภายในวันที่ 31 มีนาคมของปีถัดไป

สำหรับผู้มีเงินได้ประเภท40(8) ยังต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีด้วย โดยมีกำหนดการยื่นตั้งแต่ 1 กรกฏาคม จนถึง 30 กันยายน ของทุกปี

2 ภาษีมูลค่าเพิ่ม

การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มคิด7%จากฐานมูลค่าบริการ โดยผู้ประกอบการมีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีทุกครั้งที่มีการให้บริการหรือการชำระเงิน การจัดทำรายงานภาษีซื้อและภาษ๊ขาย รวมทั้งนำรายการภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มและนำส่งด้วยแบบ ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

ติดตามความรู้จาก โปรแกรมบัญชี PEAK ได้ที่ peakaccount.com
หรือเข้าใช้งานโปรแกรม คลิก เข้าสู่ระบบ PEAK