tax-facebook-google-ads

ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เลือกลงโฆษณาทางออนไลน์เป็นอันดับแรกๆ และ Facebook, Google ก็เป็นช่องทางการทำโฆษณาออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพสูง เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างละเอียดและแม่นยำ แล้วรู้กันไหมครับ ว่าการยิงโฆษณาผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์ ก็ต้องเสียภาษีด้วย

ทำไม Facebook และ Google ต้องเสียภาษี

แพลทฟอร์มดิจิทัลอย่าง Facebook, Google มีผู้ใช้บริการในประเทศเป็นจำนวนมากแต่รัฐบาลไทยไม่สามารถเก็บภาษีจากการใช้บริการเหล่านี้ได บางแพลทฟอร์มอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายในการเรียกเก็บค่าบริการจากประเทศไทยผ่านบริษัทในต่างประเทศที่มีอัตราภาษีที่ถูกกว่า เช่น ประเทศไอร์แลนด์ หรือสิงคโปร์ หรือที่เรียกว่า Tax Haven เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจลักษณะเดียวกันนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มให้เหมาะสมกับรูปแบบการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ที่ประชุมครม.จึงได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรในเรื่องการจัดเก็บภาษีดังกล่าว

ภาษี E-Service คืออะไร

ภาษี E-Service คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ภาครัฐจัดเก็บจากผู้ประกอบการที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศและมีการใช้บริการในประเทศ ได้แก่ การให้บริการประเภทเกม วิดีโอ เพลง ภาพยนตร์ หรือดิจิทัลคอนเทนต์อื่นๆ เป็นต้น หรือที่เรียกว่า ภาษี E-Service โดยผู้ประกอบการดังกล่าวต้องไปดำเนินการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากเมื่อมูลค่ารายได้ของการให้บริการดังกล่าวเกิน1.8 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษี E-Service นี้ จะมีผลทำให้ค่าบริการแพลทฟอร์มเหล่านี้มีมูลค่าสูงขึ้น เนื่องจากมีการบวกภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไปด้วย แต่ผลกระทบจะมีมากน้อยเพียงใดต้องรอดูในอนาคตว่าผู้ให้บริการแต่ละรายจะมีการตอบรับแนวทางในการเก็บภาษีนี้อย่างไร

ขั้นตอนการจัดการเรื่องภาษีสำหรับการลงโฆษณาผ่าน Facebook, Google

1. ผู้ประกอบการขอหลักฐานการจ่ายเงินเป็นใบเสร็จรับเงินจาก Facebook, Google
ถ้าประกอบธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา ค่าโฆษณาถือเป็นเงินได้ประเภท 40(8) ในการยื่นแบบเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปี หากต้องการเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริงก็ขอหลักฐานใบเสร็จรับเงินจาก Facebook, Google แต่ถ้าเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาก็ไม่จำเป็นต้องขอหลักฐานเพื่อยื่นภาษีเพราะได้คิดค่าใช้จ่ายเหมารวมไปเรียบร้อยแล้ว

ถ้าเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ผู้ประกอบการสามารถนำค่าโฆษณามาเป็นค่าใช้จ่ายได้เช่นกัน แต่ต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจการและนำใบเสร็จรับเงินจาก Facebook, Google มาเป็นหลักฐานการจ่ายเงิน โดยไม่จำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายเนื่องจากค่าโฆษณาถือเป็นเงินได้ประเภท 40(8) ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฏากร ซึ่งกฎหมายกำหนดให้หักภาษี ณ ที่จ่ายเฉพาะเงินได้ประเภท 40(2), (3), (4), (5) หรือ (6) จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ไม่ได้ประกอบกิจการในประเทศไทย

2. ผู้ประกอบการยื่นแบบ ภ.พ.36 เพื่อนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ของค่าโฆษณา เช่น ค่าโฆษณาจำนวนเงิน 10,000 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่งเท่ากับ 700 บาท โดยยื่นแบบภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่มีการจ่ายค่าโฆษณานั้น

การจัดการภาษีจากค่าลงโฆษณาใน Facebook, Google หรือแพลทฟอร์มออนไลน์เป็นเรื่องใกล้ตัวของคนทำธุรกิจ หากรู้อย่างนี้แล้ว อย่าลืมขอใบเสร็จรับเงิน แล้วนำมายื่นแบบเพื่อส่งภาษี และที่สำคัญนำมาทำบัญชีอย่างถูกต้อง เพื่อให้เห็นผลประกอบการจริงของกิจการ

สมัครใช้งานโปรแกรมบัญชี PEAK ฟรี คลิก peakaccount.com หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมทาง inbox ของ Facebook PEAK โปรแกรมบัญชีออนไลน์