กลยุทธ์การระดมทุน SMEs

ธุรกิจ SMEs เป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยเงินทุนของเจ้าของเป็นหลักในการลงทุนและต่อยอดในการพัฒนาธุรกิจ นอกจากการมีแผนธุรกิจและไอเดียในการทำธุรกิจแล้ว ผู้ประกอบการ SMEs ยังจำเป็นต้องหาแหล่งเงินทุนเพื่อสร้างผลกำไรและเพื่อการเติบโตของธุรกิจอีกด้วย

แหล่งเงินทุนของ SMEs

โดยปกติแหล่งเงินทุนของ SMEs ประกอบด้วย

1. แหล่งเงินทุนระยะสั้น เป็นแหล่งเงินทุนที่ใช้เป็นทุนหมุนเวียนในกิจการ มีภาระผูกพันเป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ประกอบด้วย

1.1 แหล่งเงินทุนระยะสั้นที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ (Spontaneous Financing) เป็นแหล่งเงินทุนที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจปกติของกิจการ ได้แก่

  • ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย (Accruals) เป็นค่าใช้จ่ายของรอบบัญชีปัจจุบันแต่กิจการยังไม่ได้ชำระเงิน ทำให้กิจการสามารถหมุนเงินมาใช้ได้ในระยะเวลาสั้นๆ ในช่วงที่ยังไม่ถึงกำหนดการจ่ายเงิน เช่น ค่าโฆษณาค้างจ่าย ค่าขนส่งค้างจ่าย เป็นต้น
  • สินเชื่อทางการค้า (Trade Credits) เป็นสินเชื่อที่เกิดจากการที่กิจการซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบซึ่งกิจการตกลงกับผู้จำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบ ในการนำสินค้าหรือวัตถุดิบมาขายหรือใช้ก่อนแล้วค่อยจ่ายเงินทีหลัง เรียกว่าการขอเครดิตเทอม  โดยระยะเวลาที่ได้รับเครดิตเทอมมีตั้งแต่ 15 วัน 30 วัน 45 วัน หรือ 60 วัน เป็นต้น

1.2 แหล่งเงินทุนระยะสั้นที่ไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติตามยอดขาย (Non-Spontaneous Financing) เป็นแหล่งเงินทุนที่ไม่ได้มาจากการขายสินค้าหรือบริการ แต่เกิดจากการจัดหาเงินทุนจากแหล่งเงินทุนระยะสั้น เพื่อใช้ในการหมุนเวียนในกิจการได้แก่

  • เงินกู้ยืมจากบุคคลอื่น
  • เงินกู้ธนาคารพาณิชย์
  • การออกตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้น

2. แหล่งเงินทุนระยะยาว เป็นแหล่งเงินทุนที่กิจการจัดหามาใช้เพื่อการลงทุนระยะยาว ในการจัดหาสินทรัพย์ถาวร เช่น อาคาร โรงงาน เครื่องจักร เป็นต้น แหล่งเงินทุนระยะยาวมาจากกำไรสะสมของกิจการ เงินกู้ยืม การออกหุ้นเพื่อระดมทุนสาธารณะ เป็นต้น

สำหรับแหล่งเงินทุนของ SMEs สามารถแบ่งออกได้อีกลักษณะหนึ่ง เป็น 2 ประเภท ประกอบด้วย

1. แหล่งเงินทุนภายในกิจการ เป็นแหล่งเงินทุนที่กิจการสร้างขึ้นเอง ได้แก่

1.1  เงินทุนส่วนตัวของเจ้าของกิจการ เมื่อเริ่มดำเนินธุรกิจ เงินทุนเริ่มแรกของกิจการจะมาจากทุนส่วนตัวของเจ้าของ หรือกรณีเป็น  ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท เงินทุนเริ่มแรกมาจากหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นร่วมกัน

1.2 กำไรสะสม เป็นแหล่งเงินทุนที่มาจากผลประกอบการกำไรในการดำเนินงาน ตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการจนถึงสิ้นงวดบัญชีในปีปัจจุบัน เป็นแหล่งเงินทุนภายในกิจการที่ใช้วัดประสิทธิภาพและความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ

สำหรับกิจการที่เป็นบริษัท กำไรสะสมเป็นแหล่งเงินทุนที่ผู้ประกอบการนำมาจ่ายเป็นเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น บริษัทใช้เป็นเงินทุนสำรองตามกฎหมาย รวมทั้งเป็นเงินทุนที่กิจการเก็บไว้เพื่อการลงทุนขยายกิจการในอนาคต

1.3 ทรัพย์สินของกิจการ หมายถึง เงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินที่ไม่ได้ถูกใช้งานแล้ว หรือถูกใช้งานแต่ไม่เต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปลี่ยนทรัพย์สินเป็นเงินทุนของกิจการ ได้แก่

ก. สินทรัพย์หมุนเวียน เป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง ได้แก่ ลูกหนี้การค้า สินค้าคงเหลือ เป็นต้น ตัวอย่างเช่น การเร่งขายสินค้าคงเหลือที่เป็นสินค้าขายไม่ออกหรือค้างสต็อก (dead stock), การทำ Factoring คือการโอนลูกหนี้การค้า ที่กิจการยังไม่ได้รับชำระหนี้ไปให้กับบริษัท Factoring หรือบริษัทที่รับซื้อลูกหนี้การค้า โดยบริษัท Factoring จะจ่ายเงินให้กับผู้ขายบางส่วนก่อน (โดยประมาณ 80-90%)

ข. สินทรัพย์ถาวร การจำหน่ายสินทรัพย์ถาวร ได้แก่ การขายเครื่องจักร ที่ดิน อาคาร ซึ่งมีมูลค่าสูงอาจใช้เวลานานกว่าจะขายได้ ซึ่งทำให้เกิดต้นทุน ได้แก่ ค่าโฆษณา ค่านายหน้า เป็นต้น

2. แหล่งเงินทุนภายนอกกิจการ แหล่งเงินทุนจากภายนอกกิจการ ได้แก่

2.1. การกู้เงินจากบุคคล สถาบันการเงิน ตลาดสินเชื่อออนไลน์

2.2. การจัดหาเงินทุนจากส่วนของเจ้าของ ได้แก่ การออกหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิ

แหล่งเงินทุนของกิจการ SMEs
แหล่งเงินทุนของกิจการ SMEs

ทำไมกิจการ SMEs ต้องระดมทุน

ในช่วงเริ่มต้นของการประกอบกิจการ ผู้ประกอบการ SMEs ใช้เงินทุนส่วนตัวหรือหยิบยืมจากคนใกล้ตัว เช่น ครอบครัวและเพื่อน เป็นต้น เป็นเงินทุนเริ่มต้น แต่ในการดำเนินธุรกิจ การพึ่งพาเพียงแหล่งเงินทุนภายในของกิจการ SMEs มักจะไม่เพียงพอ ทำให้กิจการ SMEs ส่วนใหญ่เกิดการขาดสภาพคล่อง กิจการจึงต้องหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมหรือทำการระดมทุนเพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอในการดำเนินกิจการ รวมทั้งเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการลงทุนเพื่อขยายกิจการ

การเตรียมตัวในการระดมทุนของธุรกิจ SMEs

ในการระดมทุนของธุรกิจ SMEs ส่วนใหญ่จะใช้การกู้เงินจากสถาบันการเงินเป็นหลัก ผู้ประกอบการควรมีการวางแผนและเตรียมตัวในการจัดหาเงินทุนหรือการระดมทุน ดังต่อไปนี้

1. การกำหนดวัตถุประสงค์ในการกู้เงิน ก่อนการตัดสินใจกู้เงิน เจ้าของกิจการควรกำหนดวัตถุประสงค์ในการกู้เงิน เพื่อเป็นการวางแผนให้นำเงินที่กู้มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการนำเงินกู้มาใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น การก่อหนี้ของกิจการเพิ่มขึ้น เป็นต้น

สำหรับวัตถุประสงค์ในการกู้เงินของธุรกิจโดยทั่วไปมีดังนี้

1.1 การกู้เงินเพื่อลงทุน เป็นการกู้ยืมเงินเพื่อลงทุนในกิจการใหม่ หรือการกู้เงินมาลงทุนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือขยายธุรกิจให้เติบโต ได้แก่ การกู้เงินมาลงทุนซื้อเครื่องจักรเพื่อขยายกำลังการผลิต การกู้เงินมาลงทุนเพื่อสร้างคลังสินค้าเพิ่ม หรือการกู้เงินเพื่อนำเงินมาใช้ในการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ

1.2 การกู้เงินเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เป็นการกู้ยืมเงินเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในกิจกรรมการดำเนินงานปกติของธุรกิจ เช่น การจ่ายค่าเช่า ค่าวัตถุดิบหรือเงินเดือนพนักงาน เป็นต้น

1.3  การกู้เงินเพื่อรีไฟแนนซ์ เป็นการกู้ยืมเงินโดยนำเงินกู้ที่ได้มาใหม่ไปปิดเงินกู้ก้อนเก่า เพื่อให้ได้วงเงินสูงเพียงพอการใช้ หรือได้ดอกเบี้ยต่ำกว่าการกู้เงินในครั้งก่อน  

2. การเตรียมวางแผนธุรกิจก่อนเริ่มกู้เงิน โดยในการวางแผนการกู้เงิน เจ้าของกิจการควรเขียนแผนธุรกิจซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่จะเสนอต่อสถาบันการเงินหรือธนาคารผู้ให้กู้ ในการเขียนแผนธุรกิจ ผู้ประกอบการควรเตรียมข้อมูลดังนี้

2.1. รูปแบบการดำเนินงานของธุรกิจ ประเภทสินค้า

2.2. รายรับรายจ่ายโดยประมาณในแต่ละเดือน

2.3. ประมาณการผลกำไรที่ต้องการ

2.4. กลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้าของธุรกิจ

2.5. เป้าหมายของธุรกิจและแผนการดำเนินงานในอนาคต

3. การพิจารณาเงื่อนไขของสินเชื่อ ในการขอสินเชื่อ ผู้ประกอบการควรพิจารณาเงื่อนไขของสินเชื่อ ได้แก่ วงเงินกู้ อัตราดอกเบี้ย อายุสัญญา ระยะเวลาในการผ่อนชำระ หลักทรัพย์ที่ใช้ค้ำประกัน เป็นต้น โดยวงเงินกู้ควรเพียงพอต่อการนำมาใช้ ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้และไม่ควรมากกว่าที่ต้องการเพราะจะทำให้ผู้ประกอบการต้องรับภาระดอกเบี้ยจ่ายเกินกว่าความจำเป็น นอกจากนี้ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนใหญ่จะมีเงื่อนไขสำหรับสินเชื่อธุรกิจที่ให้ผู้กู้เงินวางหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ด้วย หลักทรัพย์ที่ใช้ในการค้ำประกัน เช่น โฉนดที่ดิน บ้าน ใบหุ้น เป็นต้น

4. การประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของกิจการ ผู้ประกอบการควรประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของกิจการ จากภาระหนี้ที่ต้องผ่อนจ่ายในแต่ละงวด ซึ่งไม่ควรเกินกว่าประมาณการกำไรในแต่ละเดือน เพื่อมิให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ซึ่งต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยผิดนัดซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยปกติ ซึ่งจะมีผลต่อประวัติการชำระหนี้ของกิจการ กิจการที่มีประวัติผิดนัดการชำระหนี้จะขอสินเชื่อในครั้งต่อๆ ไปได้ยากขึ้น

5. เอกสารที่ต้องเตรียมในการระดมทุนโดยทั่วไปในการจัดหาเงินทุนหรือการระดมทุนด้วยการขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจ เอกสารโดยทั่วไปที่ผู้ประกอบการต้องจัดเตรียมมีดังนี้

5.1. เอกสารประจำตัวของกิจการ

5.2 หนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท/หุ้นส่วน พร้อมวัตถุประสงค์ของบริษัท

5.3 หนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับของบริษัท

5.4 บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5)

5.5 ใบทะเบียนการค้าและทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20)

5.2. เอกสารทางการเงิน

     ก. งบการเงินพร้อมหมายเหตุประกอบงบการเงิน ที่มีผู้สอบบัญชีเซ็นรับรอง (ย้อนหลัง3ปี)

     ข. Bank Statement ย้อนหลัง 12 เดือน

     ค. สำเนาใบเสร็จชำระหนี้เงินกู้ระยะยาว ย้อนหลัง 6 เดือนทุกบัญชีเงินกู้

     ง. เอกสารแสดงภาระหนี้ทุกประเภท เช่น สัญญาเงินกู้ สัญญาเช่าซื้อ สัญญาจำนอง

5.3. เอกสารเกี่ยวกับธุรกิจ

     ก. ข้อมูลประวัติกิจการ (Profile)

     ข. โครงสร้างองค์กรและประวัติผู้บริหาร

     ค. รายละเอียดสินค้าและบริการ

     ง. รายละเอียดรายได้ หรือยอดขายเป็นรายเดือน

     จ. รายชื่อลูกค้ารายใหญ่

     ฉ. ข้อมูลต้นทุนผลิต/ต้นทุนขาย

     ช. ข้อมูลการซื้อวัตถุดิบและรายชื่อซัพพลายเออร์รายใหญ่

     ซ. ข้อมูลค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร

     ฌ. สำเนายื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ย้อนหลัง 12 เดือน

     ฎ. ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4 ถ้ามี), ใบอย., ใบรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม

การคำนวณเงินที่ขอระดมทุน

ในการระดมทุนของ SMEs ด้วยการกู้เงิน ผู้ประกอบการสามารถคำนวณเงินที่ขอระดมทุนโดยประมาณ ความสามารถในการกู้เงินของกิจการ

ตัวอย่าง

การแสดงความสามารถในการกู้เงินของกิจการ หรือการประมาณการจำนวนเงินที่จะขอระดมทุนกรณีสินเชื่อSMEs

การคำนวณประมาณการเงินที่ขอระดมทุนสำหรับสินเชื่อ SMEs
การคำนวณประมาณการเงินที่ขอระดมทุนสำหรับสินเชื่อ SMEs

ตัวอย่าง การคำนวณประมาณการจำนวนเงินที่จะขอกู้เงิน

ประเมินจากประมาณการรายได้และค่าใช้จ่ายต่อเดือนของกิจการ โดยกำหนดให้รายได้ต่อเดือนเป็น 100,000 บาท ค่าใช้จ่ายต่อเดือนเป็น 70,000 บาท อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่อปีที่ใช้ในการคำนวณ 6% ต่อปี ระยะเวลาที่ขอกู้ 15 ปี

ผลการคำนวณ กิจการสามารถกู้เงินได้ 556,200 บาท โดยภาระหนี้ที่ต้องผ่อนจ่ายต่องวดเท่ากับ

5,000 บาท

การระดมทุนของ SMEs ด้วยการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน ถือว่าเป็นวิธีการระดมทุนแบบดั้งเดิม ซึ่งกิจการ SMEs ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดังกล่าวได้เท่าที่ควร เนื่องจากมีอุปสรรคที่เกิดจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

  • การขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน หลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นอุปสรรคสำคัญ เพราะสถาบันการเงินผู้ให้กู้กำหนดให้กิจการ SMEs  ผู้กู้ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระหนี้ แต่ผู้ประกอบการSMEs มักไม่มีทรัพย์สินที่เพียงพอที่จะค้ำประกัน ทำให้ไม่สามารถกู้เงินได้
  • เงื่อนไขการชำระหนี้ที่เข้มงวดเกินไป กิจการที่รายได้มีความไม่แน่นอน อย่างบางกิจการที่ต้องสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้า หรือมีการเรียกเก็บเงินภายหลังการส่งสินค้าหรือให้บริการผ่านไปแล้วชั่วระยะเวลาหนึ่ง มีการบันทึกรายการรายรับ-รายจ่ายไม่สอดคล้องกัน ทำให้เกิดปัญหาเงินทุนหมุนเวียน ผู้ประกอบการดังกล่าวจึงไม่สามารถชำระหนี้ได้ตรงตามกำหนดเวลา จึงมีผลกระทบต่อการประเมินเครดิตบูโรของกิจการ
  • กิจการขาดประวัติธุรกรรมทางการเงินและไม่สามารถรับประกันรายได้ในอนาคต อย่างกิจการที่มีรูปแบบการทำธุรกิจที่ไม่ได้หารายได้ในทันทีที่เริ่มกิจการ แต่เน้นการสร้างฐานลูกค้า เน้นการลงทุนเพื่อดึงดูดผู้บริโภค มีการให้ส่วนลดแก่ผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก ทำให้ผลประกอบการในช่วงแรกมีผลขาดทุน

ปัจจุบันมีแหล่งเงินทุนที่เป็นทางเลือกใหม่สำหรับธุรกิจ SMEs ซึ่งเป็นทางเลือกในการระดมทุนผ่านระบบออนไลน์ที่กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นในประเทศไทย

วิธีการระดมทุนแบบ Crowdfunding

เป็นการระดมทุนจากบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่ธนาคารหรือสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นการระดมทุนทางระบบอินเทอร์เนต โดยกิจการที่ต้องการระดมทุนจะนำเสนอกิจกรรมหรือโครงการผ่านแพลตฟอร์มของตัวกลางซึ่งเป็นผู้ให้บริการ เรียกว่า Crowdfunding Portal โดยนักลงทุนที่สนใจกิจกรรมหรือโครงการสามารถโอนเงินลงทุนผ่านแพลตฟอร์มนั้นๆได้

โดยเฉพาะกิจการ SMEs ที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้ยากดังกล่าวข้างต้นการระดมทุนแบบ Crowdfunding จึงเป็นทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่สะดวกและเข้าถึงได้ง่ายขึ้นสำหรับธุรกิจ SMEs และเป็นโอกาสของนักลงทุนสำหรับการกระจายการลงทุนในธุรกิจที่หลากหลาย

การระดมทุนแบบ Crowdfunding สำหรับธุรกิจ SMEs มีด้วยกัน 3 รูปแบบดังนี้

1. Reward-Based Crowdfunding

เป็นการระดมทุนที่กิจการนำเสนอไอเดียและทำการผลิตสินค้า โดยผู้สนใจสินค้าจะนำเงินมาลงทุนและได้รับสินค้าเป็นผลตอบแทน

2. Peer-to-Peer Lending

เป็นการระดมทุนที่เป็นการกู้ยืมเงินระหว่างนักลงทุน (ผู้ให้กู้) กับผู้ประกอบการ(ผู้กู้) โดยแพลตฟอร์มจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรวบรวมเงินทุนจากนักลงทุน เพื่อให้ได้ตามจำนวนเงินที่ผู้ประกอบการต้องการ โดยผู้ประกอบการต้องชำระคืนเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่นักลงทุนตามข้อตกลง ซึ่งวิธีนี้ไม่มีสถาบันการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงเป็นการระดมทุนที่ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและเร็วขึ้น กว่าการกู้เงินจากสถาบันการเงิน ผู้ลงทุนได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากแต่ผู้ลงทุนมีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระเงินของผู้กู้ได้

3. Investment-Based Crowdfunding

เป็นการลงทุนในรูปแบบของหลักทรัพย์ ซึ่งมีด้วยกัน 2 รูปแบบคือ

3.1 .Equity Crowdfunding

กิจการทำการระดมทุนโดยการออกหุ้นสามัญให้แก่ผู้ลงทุน ซึ่งผู้ลงทุนเป็นเจ้าของกิจการในฐานะผู้ถือหุ้นและได้รับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผล

3.2. Debt Crowdfunding

กิจการทำการระดมทุนโดยการออกหุ้นกู้ให้แก่ผู้ลงทุน ซึ่งผู้ลงทุนจะเป็นเจ้าหนี้ของกิจการและได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย โดยผู้ลงทุนจะได้รับคืนเงินต้นเมื่อครบกำหนดอายุ วิธีนี้ต่างจากวิธี Equity Crowdfunding โดยวิธีนี้เจ้าของกิจการยังมีความเป็นเจ้าของธุรกิจอยู่

การระดมทุนด้วยวิธี Crowdfunding เป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจในการระดมทุนสำหรับธุรกิจ SMEs ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ทำให้กิจการ SMEs สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือขยายกิจการเพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต

การระดมทุนแบบ Crowdfunding

การระดมทุนแบบ Crowdfunding

ติดตามความรู้จาก โปรแกรมบัญชี PEAK ได้ที่ peakaccount.com 
ทดลองใช้งานโปรแกรมบัญชี PEAK ฟรี! ครบทุกฟีเจอร์ นาน 30 วัน!

คลิก https://peakaccount.com

อ้างอิง:

[ 4 วิธีจัดหา แหล่งเงินทุน SME ] สำหรับการประกอบธุรกิจ ที่ไหนดีที่สุด ปี 2021 (moneywecan.com)

แหล่งเงินทุนระยะสั้น คืออะไร มีอะไรบ้าง ไม่มีหลักประกันจะกู้เงินลงทุนผ่านหรือไม่ (moneywecan.com)

คำนวณความต้องการเงินทุน (สินเชื่อ SME) | ธนาคารกรุงศรี (krungsri.com)

Crowd Funding ทางเลือกการระดมทุนยุคอินเทอร์เน็ต (efinancethai.com)